29 ก.ย. 2024 เวลา 13:00 • ประวัติศาสตร์

สภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ตอนที่ 3.2

การบริหารงานภายใต้ประธานาธิบดี Dwight D. Eisenhower
เมื่อ Dwight D. Eisenhower เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1953 สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับความท้าทายรุนแรงในช่วงสงครามเย็น แทนที่ Eisenhower จะลังเลในการใช้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (NSC) เหมือนที่ประธานาธิบดี Harry Truman เคยทำ แต่ Eisenhower กลับเล็งเห็นถึงคุณค่าและศักยภาพของ NSC ซึ่งกลไกหลักสำหรับการกำหนดและดำเนินนโยบายด้านความมั่นคง เขาเชื่อว่า NSC สามารถเป็นเวทีสำคัญสำหรับการหารือประเด็นความมั่นคงที่มีความท้าทาย และช่วยให้การตัดสินใจของประธานาธิบดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้วยพื้นฐานทางการทหารของไอเซนฮาวร์ เขาเชื่อมั่นในความสำคัญของการทำงานเป็นทีมและการวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ เขามองว่ากระบวนการวางแผนที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างข้อเสนอแนะที่ทุกคนสามารถเห็นพ้องต้องกันได้ระหว่างที่ปรึกษาใน NSC
ไอเซนฮาวร์ได้สร้างระบบที่มีโครงสร้างสำหรับการทบทวนนโยบายอย่างบูรณาการทั้งด้านการทหาร ความมั่นคงระหว่างประเทศและความมั่นคงภายใน ตลอดจนการเน้นย้ำถึงความสำคัญของ ศูนย์รวมทางความคิดและความเชี่ยวชาญจากหลายฝ่าย เพื่อให้ได้มุมมองที่ครบถ้วนและรอบด้านในการตัดสินใจ ผ่านกลไกของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ส่งผลให้การกำหนดนโยบายเป็นไปอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
ไอเซนฮาวร์ ยอมรับและส่งเสริมแนวคิดการมีอยู่ของ NSC อย่างเต็มที่ การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ NSC กลายเป็นศูนย์กลางในการกำหนดนโยบายความมั่นคงของสหรัฐฯ ในยุคของเขา ซึ่งแตกต่างจากทรูแมนที่รู้สึกไม่สบายใจกับระบบการทำงานของ NSC และใช้กลไก NSC เฉพาะภายใต้ความกดดันในห้วงของสงครามเกาหลีเท่านั้น
การแต่งตั้งตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ครั้งแรกของสหรัฐฯ
ในช่วงต้นทศวรรษ 1950 สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับความท้าทายด้านความมั่นคงที่ซับซ้อน ไอเซนฮาวร์ จึงได้แต่งตั้งโรเบิร์ต คัทเลอร์ (Robert Cutler) เป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดีด้านกิจการความมั่นคงแห่งชาติหรือที่เรียกว่า “ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ” (Assistant to the President for National Security Affairs: APNSA / National Security Advisor: NSA) ขึ้นเป็นครั้งแรก
Cutler and President Eisenhower talk on the Eisenhower campaign train in 1952. ที่มาภาพ https://www.wbur.org/hereandnow/2019/06/26/robert-cutler-eisenhower-gay-federal-employees
โดยได้จัดทำรายงานด้านความมั่นคงเสนอต่อประธานาธิบดีในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1953 รายงานชิ้นนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงระบบของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (NSC)
Cutler เสนอแนวคิดของ "กระบวนการภูเขานโยบาย" (Policy Hill process) เพื่อให้การกำหนดนโยบายด้านความมั่นคงเป็นกระบวนการที่มีโครงสร้างและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยฐานของ "ภูเขา" หมายถึง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม จะเริ่มต้นด้วยการจัดทำร่างข้อเสนอแนะนโยบายในประเด็นที่เกี่ยวข้องหรือประเด็นเฉพาะเรื่อง หลังจากนั้น หน่วยงานจะทำงานร่วมกันเพื่อหาฉันทามติในระดับเบื้องต้น โดยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างละเอียด ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน
หลังจากนั้น จะนำไปสู่ระดับที่สูงขึ้นเพื่อการตัดสินใจต่อไปผ่านคณะกรรมการวางแผนของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (NSC Planning Board) ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อทบทวนและปรับปรุงข้อเสนอแนะ ก่อนที่จะส่งต่อไปยังสภาความมั่นคงแห่งชาติ (NSC) เพื่อพิจารณาอย่างเต็มรูปแบบ โดยคณะกรรมการวางแผนนี้ประชุมทุกบ่ายวันอังคารและวันศุกร์ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับผู้ช่วยรัฐมนตรีของหน่วยงานที่มีตัวแทนที่เป็นสมาชิกถาวรในสภาความมั่นคงแห่งชาติ รวมถึงที่ปรึกษาจากคณะเสนาธิการร่วม (JCS) และสำนักข่าวกรองกลาง (CIA)
คณะกรรมการวางแผนของ NSC จะใช้เวลาการพิจารณาหลายวันในการทบทวนและปรับปรุงร่างเอกสาร เพื่อให้แน่ใจว่านโยบายที่เสนอต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติจะมีความครอบคลุมและเหมาะสมกับสถานการณ์
ที่ยอดของภูเขาการกำหนดนโยบายด้านความมั่นคง คือ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (NSC) ซึ่งมีประธานาธิบดีเป็นประธาน โดยการประชุมของ NSC จัดขึ้นเป็นประจำทุกเช้าวันพฤหัสบดี เพื่อพิจารณาและตัดสินใจในประเด็นสำคัญที่ส่งมาจากคณะกรรมการวางแผนของสภาความมั่นคงแห่งชาติ
ในยุคของประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (NSC) ได้รับการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางในการกำหนดนโยบายความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา โดยมีสมาชิกตามกฎหมายของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประกอบด้วย
  • 1.
    ประธานาธิบดี
  • 2.
    รองประธานาธิบดี
  • 3.
    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
  • 4.
    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  • 5.
    ผู้อำนวยการสำนักงานการระดมสรรพกำลังป้องกันประเทศ (Office of Defense Mobilization)
ความพิเศษของ NSC ในยุคนี้คือ มีระบบการทำงานแบบยืดหยุ่น โดยพิจารณาให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงอื่น ๆ ตามประเด็นการประชุมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะพิจารณา ซึ่งอาจมีมากกว่า 20 คน บุคคลเหล่านี้รวมถึง:
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
  • ประธานคณะเสนาธิการร่วม (JCS)
  • ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง (CIA)
  • สมาชิกคณะรัฐมนตรีและที่ปรึกษาอาวุโสอื่น ๆ
วาระการประชุมของสภาความมั่นคงแห่งชาติ จะถูกจัดเตรียมอย่างละเอียด ประกอบด้วย:
  • การบรรยายสรุปประจำ โดยผู้อำนวยการ CIA เกี่ยวกับสถานการณ์ทั่วโลกที่มีผลต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ
  • การพิจารณาเอกสารเชิงนโยบาย ที่เสนอโดย คณะกรรมการวางแผนของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (NSC Planning Board)
ผลลัพธ์ของการประชุมในสภาความมั่นคงแห่งชาติ คือ ข้อเสนอแนะต่อประธานาธิบดีในรูปแบบของ "การดำเนินการของ NSC" (NSC Actions) ประธานาธิบดีซึ่งมีส่วนร่วมในการประชุม มักจะเห็นชอบและรับรองการดำเนินการเหล่านี้ จากนั้นกระบวนการตัดสินใจ จะถูกส่งลงมาตามขั้นตอนเพื่อดำเนินการโดยคณะกรรมการประสานงานการปฏิบัติการของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (NSC Operations Coordinating Board)
เมื่อสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อนในยุคสงครามเย็น ประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ตระหนักถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างการดำเนินนโยบายความมั่นคงแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนั้นเขาจึงได้ก่อตั้ง คณะกรรมการประสานงานการปฏิบัติการ (Operations Coordinating Board - OCB) ขึ้นมาเพื่อ ติดตามและดำเนินการตามการตัดสินใจทั้งหมดของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (NSC)
คำสั่งประธานาธิบดีที่ 10483 เรื่องการจัดตั้ง OCB ที่มาภาพ: https://www.cia.gov/readingroom/docs/CIA-RDP80B01676R002700040038-0.pdf
OCB จัดประชุมเป็นประจำทุกบ่ายวันพุธที่กระทรวงการต่างประเทศ ประกอบด้วยบุคคลสำคัญระดับสูง อาทิ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายกิจการการเมือง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง ผู้อำนวยการสำนักข้อมูลข่าวสารของสหรัฐฯ (USIA) ผู้อำนวยการสำนักบริหารความร่วมมือระหว่างประเทศ (ICA) ที่ปรึกษาประธานาธิบดีด้านกิจการความมั่นคงแห่งชาติและการประสานงานการปฏิบัติด้านความมั่นคง
บทบาทของ OCB คือการเป็น ผู้ประสานงานการดำเนินการของ NSC ในทุกด้านของนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ และเอกสารการดำเนินการของ NSC (NSC Actions) จะถูกมอบหมายให้คณะกรรมการ OCB เพื่อติดตามผลและดำเนินการต่อไป เพื่อเสริมสร้างการประสานงานให้เป็นไปอย่างราบรื่นและบรรลุผลสัมฤทธิ์ จึงได้มีการจัดตั้งกลุ่มทำงานระหว่างหน่วยงานมากกว่า 40 กลุ่ม ซึ่งมีหัวข้อและผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่แตกต่างกัน
โดยมีทีมงานของ OCB ประกอบด้วยสมาชิก 24 คน จะให้การสนับสนุนการทำงานของกลุ่มเหล่านี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ได้พบและทำงานร่วมกันเป็นครั้งแรก
ในยุคของ ประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ (NSA) กลายเป็นหัวใจสำคัญในการประสานงานนโยบายความมั่นคง บุคคลที่ดำรงตำแหน่งนี้ในสมัยไอเซนฮาวร์ ได้แก่
  • 1.
    โรเบิร์ต คัทเลอร์ (Robert Culter)
  • 2.
    ดิลลอน แอนเดอร์สัน (Dillon Anderson)
  • 3.
    กอร์ดอน เกรย์ (Gordon Gray)
โดย พวกเขามีหน้าที่ กำกับดูแลกระบวนการ ทิศทางของข้อเสนอแนะ และการกำกับติดตามการตัดสินใจของสภาความมั่นคงแห่งชาติใน "กระบวนการภูเขานโยบาย” และทำหน้าที่ในที่ประชุมของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (NSC) โดย บรรยายสรุปและสรุปสาระสำคัญของการอภิปราย
บทบาทของผู้ช่วยพิเศษเหล่านี้เป็น สิ่งเอื้ออำนวยที่สำคัญในระบบการตัดสินใจดังกล่าว แต่จะมีความแตกต่างจาก ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ถูกสร้างขึ้นในยุคของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี (John Fitzgerald Kennedy) ในยุคต่อมา เนื่องจากพวกเขา ไม่มีบทบาทเชิงเนื้อหาสารัตถะ ในกระบวนการกำหนดนโยบายด้านความมั่นคง
แม้ว่า ทีมงานของ NSC ที่บริหารโดยที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติจะเติบโตขึ้นในสมัยของไอเซนฮาวร์ แต่พวกเขายังคง ไม่มีบทบาทอิสระ ในกระบวนการนโยบาย มีบทบาทหลักเพียงแค่การจัดการและประสานงาน เพื่อให้ข้อเสนอแนะและการตัดสินใจของสภาความมั่นคงแห่งชาติถูกส่งต่อและดำเนินการอย่างราบรื่นเท่านั้น
เมื่อสหรัฐอเมริกาก้าวเข้าสู่ยุคสงครามเย็น ประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ มีวิสัยทัศน์ที่ต่างออกไปในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศ เขาเชื่อมั่นอย่างยิ่งในประสิทธิภาพของปฏิบัติการลับ (covert operations) ซึ่งเป็นเครื่องมือเสริมสร้างงานด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ หรือสามารถนำมาใช้แทนในกิจกรรมการต่างประเทศแบบปกติ
ความสำเร็จที่เห็นได้ชัดเจน คือ โค่นล้มผู้นำประชานิยมของอิหร่าน โมฮัมหมัด โมซาเดกห์ (Mohammad Mosaddegh) ในปี 1953 และ ประธานาธิบดีจาโคโบ อาร์เบนซ์ (Jacobo Arbenz) ที่มีแนวคิดซ้ายในกัวเตมาลาในปี 1954 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีวิกฤตในทำเนียบขาว แต่ทำให้สหรัฐฯ สามารถรักษาผลประโยชน์ของตนในภูมิภาคต่าง ๆ ได้
โมฮัมหมัด โมซาเดกห์ ที่มาภาพ:  https://www.pbs.org/newshour/world/in-first-cia-acknowledges-1953-coup-it-backed-to-overthrow-leader-of-iran-was-undemocratic
ประธานาธิบดี Jacobo Arbenz ที่มาภาพ:https://www.declassifieduk.org/how-british-intelligence-destabilised-democracy-in-central-america/
และเพื่อเสริมสร้างการควบคุมและประสานงาน ในปี 1954 ได้มีการจัดตั้ง NSC 5412 ซึ่งกำหนดให้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและกลาโหม เพื่อประชุมเป็นประจำในการ ทบทวนและแนะนำปฏิบัติการลับ
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโดยใช้ NSC 5412: ที่มาภาพ: https://www.cia.gov/readingroom/docs/CIA-RDP83-00036R001000030015-4.pdf
กอร์ดอน เกรย์ (Gordon Gray) ได้รับหน้าที่เป็นประธานของ "คณะกรรมการ 5412" ตามที่เรียกกัน ซึ่งต่อมา ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติทุกคน ได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานของคณะกรรมการสืบทอดที่คล้ายกัน ซึ่งมีชื่อเรียกต่าง ๆ เช่น "303", "40", และ "Special Coordinating Committee" ในการบริหารงานของประธานาธิบดีในยุคต่อมา คณะกรรมการเหล่านี้มีหน้าที่สำคัญในการทบทวนปฏิบัติการลับของ CIA
Gordon Gray ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ที่มาภาพ: https://www.masonrytoday.com/index.php?new_month=5&new_day=30&new_year=2022
ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ตระหนักถึงความจำเป็นในการจัดการข้อมูลที่มีปริมาณมากและซับซ้อนในยุคสงครามเย็นที่ความท้าทายด้านความมั่นคงเพิ่มขึ้น เขาจึงได้สร้างตำแหน่งใหม่คือ เลขาธิการประจำ (Staff secretary) ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการ กลั่นกรองและจัดระเบียบเอกสารนโยบายการต่างประเทศและการทหาร ที่ส่งถึงเขาโดยตรง
พันเอกแอนดรูว์ กู๊ดพาสเตอร์ (Colonel Andrew Goodpaster) ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนี้ ด้วยความเชี่ยวชาญและความรอบรู้ของเขา กู๊ดพาสเตอร์ สามารถจัดการข้อมูลที่มีความซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกลายเป็นบุคคลที่ประธานาธิบดีไว้วางใจในการให้คำแนะนำด้านนโยบาย
ในยุคของ ประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ สหรัฐอเมริกาสามารถเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติผ่านระบบสภาความมั่นคงแห่งชาติ (NSC) ที่มีประสิทธิภาพ NSC ได้จัดให้มี การทบทวนและประสานงานระหว่างหน่วยงานอย่างเต็มรูปแบบ ในประเด็นการต่างประเทศและความมั่นคงที่สำคัญ การดำเนินการนี้นำไปสู่การ อภิปรายและตัดสินใจในระดับสูงสุดของรัฐบาล ซึ่งช่วยให้แนวทางนโยบายมีความสอดคล้องและชัดเจนในทุกขั้นตอนของการดำเนินงาน
ความมุ่งมั่นของไอเซนฮาวร์ในการทำงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ปรากฏชัดเจนจากการที่เขาเป็นประธานในการประชุมสภาเกือบทุกครั้งที่สามารถเข้าร่วมได้ โดยเขาเข้าร่วมการประชุมถึง 329 ครั้งจากทั้งหมด 366 ครั้ง การประชุมของ NSC ซึ่งรวมถึงการบรรยายสรุปก่อนหน้าและการทบทวนการดำเนินการหลังจากนั้น เป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดในตารางงานประจำสัปดาห์ของเขา
ในยุคของ ประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ การกำหนดนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ได้รับการปรับปรุงผ่านระบบของ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (NSC) อย่างไรก็ตาม จอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส (John Foster Dulles) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีความกังวลและสงสัยเกี่ยวกับระบบการทำงานของ NSC
John Foster Dulles รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่มาภาพ https://www.si.edu/object/john-foster-dulles%3Anpg_NPG.83.76
Dulles เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลที่สุดในคณะรัฐมนตรีของไอเซนฮาวร์ เขาหวงแหนบทบาทของตนเอง ในฐานะที่ปรึกษาหลักด้านนโยบายการต่างประเทศ ต่อประธานาธิบดี ด้วยการเข้าถึงประธานาธิบดีโดยตรงอย่างสม่ำเสมอ เขาไม่เห็นด้วยกับการที่ ประเด็นที่ละเอียดอ่อนถูกนำมาหารือในกลุ่มใหญ่ เช่น การประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งมีประธานาธิบดีเป็นประธาน
Dulles ได้กำหนดขอบเขตอย่างชัดเจน ระหว่างกระบวนการทบทวนนโยบายของ NSC กับ การดำเนินงานนโยบายการต่างประเทศในแต่ละวัน ซึ่งเขายืนยันว่าเป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ นอกจากนี้ Dulles มีความไม่สบายใจกับระบบบริหารงานของ NSC ที่เปิดโอกาสให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จอร์จ ฮัมฟรีย์ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลอีกคนหนึ่งในคณะรัฐมนตรี เข้ามาแทรกแซงข้อจำกัดด้านงบประมาณในกระบวนการพิจารณานโยบาย
นอกจากนี้ ดัลเลสยัง ต่อต้านข้อเสนอที่จะให้รองประธานาธิบดีมาดำรงตำแหน่งประธานของคณะกรรมการประสานงานการปฏิบัติการ (OCB) แทนปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (Under Secretary of State) โดยเขาให้เหตุผลว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะกระทบต่อบทบาทของเขาในฐานะที่ปรึกษาหลักด้านนโยบายการต่างประเทศ ต่อประธานาธิบดี
ประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ มิใช่ประธานาธิบดีที่ถูกครอบงำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส (John Foster Dulles) แต่ความจริงแล้ว ไอเซนฮาวร์เป็นผู้นำที่มีความเข้มแข็งและมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบาย เขาใช้ระบบสภาความมั่นคงแห่งชาติ (NSC) อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองสถานการณ์ในประเด็นความมั่นคง
แม้ว่าจะมีการวิจารณ์ว่าระบบ NSC ในยุคของประธานาธิบดี Eisenhower ดูเหมือนถูกตีอยู่ในกรอบของกระบวนการราชการที่เข้มงวด แต่คำวิจารณ์นี้อาจมองข้ามจุดสำคัญ นั่นคือไอเซนฮาวร์และดัลเลส ไม่ได้เน้นการใช้งาน NSC ในการจัดการวิกฤตที่ต้องการการตอบสนองอย่างรวดเร็ว หรือการดำเนินนโยบายการต่างประเทศ
ในช่วงสถานการณ์ปกติ แต่พวกเขาเลือกที่จะใช้ NSC เพื่อจัดการปัญหานโยบายที่ต้องการการพิจารณาอย่างรอบคอบ และหลีกเลี่ยงการใช้ NSC ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องอาศัยการการตัดสินอย่างเร่งด่วน
เมื่อพิจารณาปัญหานโยบายการต่างประเทศที่สำคัญ ในห้วงของรัฐบาลไอเซนฮาวร์ เราจะพบว่า ระบบ NSC ถูกใช้ในการจัดการบางเรื่องและถูกมองข้ามไปในบางเรื่อง ตัวอย่างเช่น การโต้เถียงระหว่างกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมในปี 1956-1957 ในการหารือร่างนโยบายสามฉบับที่เกี่ยวข้องกับสงครามเกาหลีและการพิจารณานำอาวุธรุ่นใหม่เข้าสู่เกาหลี
ในกรณีนี้ กระบวนการของ NSC ช่วยให้การอภิปรายมุ่งเน้นและนำไปสู่การตัดสินใจที่เห็นพ้องต้องกัน นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ความตึงเครียดและวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศเกิดขึ้นในยุค ไอเซนฮาวร์ ที่ที่ต้องอาศัยการการตัดสินอย่างเร่งด่วนและเด็ดขาด เช่น
  • วิกฤตสุเอซในปี 1956 เมื่ออียิปต์ภายใต้การนำของประธานาธิบดีนัสเซอร์ (Gamal Abdel Nasser) ประกาศโอนย้าย Suez Canal Company ที่ดำเนินงานด้านการขนส่งทางเรือผ่าน "คลองสุเอซ" ให้มาอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลอียิปต์ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความขัดแย้งกับอังกฤษ ฝรั่งเศส และอิสราเอล
  • วิกฤตเกาะนอกชายฝั่ง (The offshore Island Crises) ในปี 1955 และ 1958 โดยเป็นความขัดแย้งระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) บนเกาะเครมอยและมัตสึ (Quemoy-Matsu Crisis) เกิดการปะทะกันระหว่างกองทัพจีนกับกองทัพไต้หวัน ส่งผลให้นำไปสู่การทำสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐอเมริกากับไต้หวัน
  • วิกฤตเลบานอนในปี 1958 เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งภายในประเทศเลบานอน และความกังวลของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์และลัทธิชาตินิยมอาหรับในตะวันออกกลาง
เหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น ไอเซนฮาวร์เลือกที่จัดการวิกฤตผ่านการสนทนาทางโทรศัพท์และการประชุมขนาดเล็กในทำเนียบขาว โดยมี จอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และที่ปรึกษาหลักอื่น ๆ เข้าร่วม วิธีการนี้ช่วยให้ การตัดสินใจเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แทนที่จะพึ่งพาระบบ
สภาความมั่นคงแห่งชาติ (NSC) ซึ่งอาจใช้เวลานานและมีขั้นตอนซับซ้อน
นอกจากนี้ ไอเซนฮาวร์ยัง ใช้บุคลากรที่เชื่อถือได้จาก NSC เพื่อรับข้อมูลนอกสายการบังคับบัญชา ตัวอย่างเช่น ในวิกฤตเกาะเครมอยปี 1955 เขาได้มอบหมายให้ พันเอกแอนดรูว์ กู๊ดพาสเตอร์ (Colonel Andrew Goodpaster) ทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและตรงไปตรงมา
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์วิกฤตในเลบานอน ปี 1958 การจัดการสถานการณ์ทางการทูตและความมั่นคงในพื้นที่ต้องพึ่งพาบุคคลสำคัญ เช่น โรเบิร์ต เมอร์ฟี (Robert Murphy) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งถูกส่งไปยังเลบานอนเพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง โดยคำสั่งที่ Murphy ได้รับมานั้นมาจากกระทรวง
การต่างประเทศ และเขามีหน้าที่รายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโดยตรง การดำเนินงานของเขาจึงอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ใช่ทำเนียบขาว
โรเบิร์ต เมอร์ฟี (ซ้าย) และ โรเบิร์ต แมคคลินท็อก เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเลบานอน  (ขวา) พบกับประธานาธิบดีเลบานอน คาโมอิล ชามูน ที่มาภาพ: https://www.photorientalist.org/exhibitions/operation-blue-bat-the-1958-u-s-invasion-of-lebanon/article/
กระบวนการจัดการวิกฤตของไอเซนฮาวร์ มีความคล้ายคลึงกับที่ประธานาธิบดีคนต่อมา เช่น จอห์น เอฟ. เคนเนดี ลินดอน บี. จอห์นสัน และ ริชาร์ด นิกสัน อย่างไรก็ตาม ข้อแตกต่างคือ การประชุมเฉพาะกิจในยุคของไอเซนฮาวร์ไม่มีที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้เข้าร่วมที่มีบทบาทเชิงเนื้อหาสารัตถะ ซึ่งแตกต่างจากยุคต่อมาซึ่งที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายด้านความมั่นคง
เมื่อการเปลี่ยนผ่านอำนาจของสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1960 ประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ได้ทำการบรรยายสรุปอย่างละเอียดให้กับ จอห์น เอฟ. เคนเนดี ประธานาธิบดีคนใหม่ เขาเน้นย้ำถึง ความสำคัญของกลไกและระบบของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (NSC) ในการกำหนดและจัดการนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงแห่งชาติ
ในขณะเดียวกัน กอร์ดอน เกรย์ (Gordon Gray) ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของไอเซนฮาวร์ ก็ได้สรุปบทบาทและการทำงานของ NSC ให้กับ แม็คจอร์จ บันดี (McGeorge Bundy) ผู้ที่จะมารับตำแหน่งต่อจากเขา ทั้งไอเซนฮาวร์และเกรย์ เน้นถึงความสำคัญของกลไกและโครงสร้างของ NSC ที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารนโยบายระดับชาติ
แต่ในความเป็นจริง ระบบ NSC ในยุคของไอเซนฮาวร์ถูกจำกัดอยู่ที่การทบทวนนโยบายเป็นหลัก และไม่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการ จัดการวิกฤตหรือการดำเนินนโยบายการต่างประเทศในช่วงปกติ หากไอเซนฮาวร์และเกรย์ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อพิจารณาสำคัญนี้แก่เคนเนดีและบันดี เพื่อให้พวกเขาเข้าใจข้อจำกัดและศักยภาพของ NSC ได้ดียิ่งขึ้น และสามารถปรับใช้ระบบนี้ให้สอดคล้องกับความต้องการของยุคสมัยใหม่
เตรียมพบกับตอนต่อไปของสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ และเหตุการณ์สำคัญ ตอนที่ 3.3 ในช่วงการบริหารงานของประธานาธิบดี Kennedy ในห้วงปี 1961-1963
โฆษณา