30 ก.ย. 2024 เวลา 01:41 • ความคิดเห็น
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า ที่เป็นการซ้ำเติมผู้ป่วยก็อย่างเช่น บอกให้รักตัวเอง คิดบวก สู้ๆอย่าคิดมาก ใครๆก็ผ่านไปได้ บอกให้ไปออกกำลังกาย ไปสวดมนต์ปฏิบัติธรรม กินเจ เข้าหาธรรมะ ให้ดูคนที่ลำบากกว่าเรา ฯลฯ
เหล่านี้กลับจะสร้างความสับสน ซ้ำร้ายยิ่งจะเป็นโทษในแง่ทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการรักษา จนโรคดำเนินไปไกล จนเรื้อรัง กระทบการใช้ชีวิต หน้าที่การงาน กระทบความสัมพันธ์กับคนที่เกี่ยวข้องถ้าคนเหล่านั้นไม่เข้าใจผู้ป่วย ปัญหาลุกลามบานปลาย
ถ้าคุณได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าป่วยเป็นซึมเศร้า หมอให้กินยาก็กินนะคะ ยาซึมเศร้ามีหลายกลุ่ม หลักๆเป็นเซโรโทนิน เป็นสารของความสุข-ความสงบ กลไกการทำงานของยาคือประคองให้เซโรโทนินอยู่กับร่างกายเรานานขึ้น
ทานยาควบคู่กับการปฎิบัติ (อะไรก็ได้ค่ะ แล้วแต่จริตความชอบของคุณเลย) อันนี้เราเห็นด้วยนะ สารในสมองก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของยาไป ด้านจิตใจก็ใช้ความตั้งใจที่แน่วแน่ของคุณ ใช้สองอย่างช่วยกัน
สารเคมีในสมองไม่สมดุล วิธีคิดมันผิดเพี้ยนไปหมด แถมยังอธิบายไม่ได้ จับต้องไม่ได้ คนอื่นไม่เข้าใจ ตัวผู้ป่วยเองก็ไม่เข้าใจ ตอนดีๆเคยคิดได้คิดเป็น แต่ตอนป่วยถึงจะรู้-ถึงจะคิดได้แต่ก็ทำไม่ได้ จึงสับสนวุ่นวายยุ่งเหยิงไปหมด หันไปหวังพึ่งธรรมะ พอไม่ได้ผลก็จะยิ่งดิ่งจม
เตรียมตัวไปบวชชี 1 อาทิตย์ สำคัญมากๆคือคุณควรแจ้งทางสำนักปฏิบัติธรรมไว้ก่อนถ้าคุณกินยาต้านเศร้าอยู่ คุณอาจมีอาการง่วงซึม & บอกวัตถุประสงค์ของคุณในการมาบวชชี รวมถึงความคาดหวังและข้อจำกัดของคุณ
ธรรมะไม่ใช่ยาวิเศษ ถ้าคุณรู้สึกว่าดีขึ้นบ้างก็นับว่าเป็นสัญญาณที่ดี เอาใจช่วยนะคะ ค่อยเป็นค่อยไปค่ะ
1
โฆษณา