Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ธเนศเล่าขาน "ทานทางปัญญา"
•
ติดตาม
13 ต.ค. เวลา 02:42 • ปรัชญา
“ศรัทธา” กับ “ปัญญา” ในพุทธศาสนา
มีปราชญ์ท่านหนึ่งพูดไว้น่าฟัง ท่านเปรียบเทียบระหว่าง “ศรัทธา” กับ “ปัญญา” หรือ ระหว่างความเชื่อกับการเห็นความจริง เหมือนอย่างว่า..อาตมภาพนี้กำมือขึ้นมาแล้วก็ตั้งคำถามว่า โยมเชื่อไหม? ในมือของอาตมานี่มีดอกกุหลาบอยู่ดอกหนึ่ง พออาตมาถามอย่างนี้ โยมก็คงจะคิดว่า เอ! เชื่อดีไหมหนอ บางท่านก็ว่า อ๋อ! องค์นี้เรานับถือเชื่อทันทีเลยไม่ต้องคิด หรืออาตมภาพอาจจะมีมือปืนไว้บังคับว่า ถ้าไม่เชื่อจะยิงตายเลย อย่างนี้ก็จำใจ ใจเชื่อหรือไม่เชื่อแต่ปากก็บอกว่าเชื่อ
…. ทีนี้ สำหรับบางท่านก็จะคิดว่า เออ! เชื่อได้ไหมนะ? ขอคิดดูก่อน ท่านองค์นี้มีประวัติมาอย่างไร เป็นคนพูดจาขล่อกแขล่กหรือเปล่า น่าเชื่อไหม? อือ! องค์นี้ท่านไม่เคยพูดเหลวไหลนะ! เท่าที่ฟังมาท่านก็พูดจริงทุกที ท่าจะน่าเชื่อ นี่เรียกว่า..เอาเหตุผลในแง่เกี่ยวกับประวัติบุคคลมาพิจารณา
…. แต่บางท่านก็มองในแง่ของเหตุผลแวดล้อมอย่างอื่นว่า เป็นไปได้ไหม? มือแค่นี้จะกำดอกกุหลาบได้ เอ! ก็เป็นไปได้นี่ แล้วก็พิจารณาต่อไปอีกว่า ท่านนั่งอยู่ในที่นี้จะมีดอกกุหลาบมาให้กำได้หรือเปล่า? ท่านจะเอามาจากไหนได้ไหม? ท่านเดินผ่านที่ไหนมาบ้าง? อะไรต่างๆ ทำนองนี้ ก็คิดไป ในตอนนี้ก็จะเป็นการพิจารณาด้วยเหตุผลว่าเป็นไปได้ไหม?
…. ทั้งหมดนี้จะเห็นว่า “ศรัทธา” ของคนหลายคนนั้นต่างกัน ของบางคนเป็นศรัทธาที่เชื่อโดยไม่มีเหตุผลเลยงมงาย บอกให้เชื่อก็เชื่อ บางคนก็เชื่อเพราะถูกบังคับ บางคนก็เชื่อโดยใช้เหตุผล แต่การใช้เหตุผลก็มากบ้างน้อยบ้าง ไม่เท่ากัน แต่ทั้งหมดนั้นก็อยู่ในระดับของ “ศรัทธา” หรือความเชื่อทั้งนั้น ไม่ว่าจะแค่ไหนก็ตาม ตอนนี้ก็อยู่ในขั้นที่ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ว่าอาตมภาพนี่มีดอกกุหลาบอยู่ในกำมือ โยมก็คิดเอาเองว่าจะเชื่อไหม?
.
…. ทีนี้ สุดท้ายอาตมภาพก็แบมือ พอแบมือออกมาแล้วเป็นอย่างไร โยมก็เห็นเลยใช่ไหม เห็นด้วยตาของโยมเอง ว่าในมือของอาตมภาพนี่มีดอกกุหลาบหรือไม่ ตอนนี้ไม่ต้องพูดเรื่องเชื่อหรือไม่เชื่ออีกแล้ว ใช่หรือเปล่า มันคนละขั้น
…. ปัญหาความเชื่อมันอยู่ที่ตอนยังกำมืออยู่ แต่ตอนแบมือแล้ว เห็นด้วยตาแล้ว ไม่ต้องพูดเรื่องความเชื่อ มันเป็นเรื่องของการประจักษ์ว่ามีหรือไม่มี
.
….เพราะฉะนั้น จึงได้บอกว่า พระอรหันต์ท่านถึงขั้นที่เห็นความจริงประจักษ์เองแล้ว จึงไม่ต้องอยู่ด้วยความเชื่อ แต่สำหรับปุถุชนก็ยังต้องอยู่กับความเชื่อ จะต่างกันก็ตรงที่ว่า..เป็นความเชื่อที่มีเหตุผล หรือ ไม่มีเหตุผล มี“ปัญญา”ประกอบ หรือ ไม่มี
…. สำหรับพุทธศาสนิกชนนั้น เราต้องการเข้าถึงความจริงที่ประจักษ์ ที่ไม่ต้องเชื่ออีกต่อไป แต่ระหว่างนี้ ในขณะที่เรายังไม่เข้าถึงความจริงนั้น เราใช้..ความเชื่อชนิดที่มีเหตุผลมาเป็นเครื่องมือ เพื่อจะเข้าถึงความจริงที่ไม่ต้องเชื่อต่อไป เราไม่ต้องการความเชื่อชนิดที่งมงาย
…. ฉะนั้นเราจะต้องมีหลัก เมื่อเรามีหลักในใจแล้วก็จะเป็นคนมีเหตุผล ไม่งมงาย ไม่ตื่นตูมแกว่งไกวไป นี่เป็นลักษณะของ “ศรัทธา” ในพระพุทธศาสนา”
.--------------------
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : จากหนังสือ “เมืองไทยจะวิกฤต ถ้าคนไทยมีศรัทธาวิปริต”
**ปล. - ศรัทธาต้องมีปัญญากำกับ ถ้าไม่มีปัญญากำกับอาจเป็นศรัทธาที่มืดบอด และเสี่ยงที่จะถูกหลอกได้ง่าย
- วิปัสสนากรรมฐาน หมายถึง การควบคุมตนเองให้มองดูสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง อันเป็นกระบวนการในการชำระจิตให้บริสุทธิ์และเกิด "ปัญญา"
ธรรมะ
ธรรมะภาคปฏิบัติ
ปัญญา
1 บันทึก
1
2
1
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย