15 ต.ค. เวลา 13:28 • สุขภาพ

ข้อคิดจากชีวิต: ความเจ็บปวด

เมื่อใดก็ตามที่จิตใจเจ็บปวด
เมื่อนั้นสมองและร่างกายย่อมเจ็บปวดด้วย
บทความนี้
เป็นส่วนขยายจากบทความที่ชื่อ “เรื่องราวประทับใจ: การเรียนรู้”
ซึ่งเป็นบันทึกประสบการณ์ที่ผมได้จากการเรียน Brainspotting
โดยผมได้พูดถึงประเด็นของปมค้างใจไว้เล็กน้อย
จึงขอนำมาเล่าต่อในบทความชุดนี้ครับ ^^
ในปัจจุบัน
การศึกษาที่ผสานความเข้าใจในเรื่องจิตใจ สมอง และร่างกาย
ทำให้เราได้ค้นพบความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันของทั้งสามปัจจัย
ได้อย่างลึกซึ้งเป็นเนื้อเดียวกันมากยิ่งขึ้นครับ
ทีนี้ก่อนจะพูดถึงเรื่องปมค้างใจ
ผมขอเริ่มจากเรื่อง “ความเจ็บปวด” เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนกันก่อน
ความเจ็บปวดทางจิตใจ และ ความเจ็บปวดทางร่างกาย
จะมีการส่งสัญญาณไปที่สมองบริเวณเดียวกัน
ดังนั้นไม่ว่าจะเจ็บที่ใจหรือเจ็บที่กาย
สมองของมนุษย์ย่อมต้องรับรู้ถึงความเจ็บปวดนั้นไม่มากก็น้อย
ยิ่งไปกว่านั้น ความเจ็บปวดทางจิตใจและร่างกาย
หากเกิดขึ้นในระดับที่แทบจะทนไม่ไหว (จะเรียกว่า ‘เจ็บเจียนตาย’ ก็ได้ครับ)
สมองก็ยังแสดงถึงการทำงานที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
สุขภาพกายใจจึงสัมพันธ์กันอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน
ซึ่งทำให้เราได้รับรู้ข้อมูลจากการศึกษามากมาย เช่น
-คนที่พึ่งอกหักแล้วไปทำงานแบบไร้วิญญาณ (เพราะความเจ็บเกิดกับร่างกายด้วย คล้ายกับคนเป็นโรคหัวใจ)
-คนที่เครียดเรื้อรังแล้วป่วยบ่อย (เพราะความเครียดในระยะเวลาที่ต่อเนื่องยาวนาน จะทำให้ภูมิคุ้นกันลดลง)
-คนที่พอได้ตกใจกลัวแล้วมักจะไปต่อไม่เป็น (เพราะร่างกายอยู่ในภาวะท่วมท้นสุดขีด จนแทบจะปิดการทำงานไปตรงนั้นเลย) เป็นต้น
อาจกล่าวได้ว่า “ดูแลกาย = ดูแลใจ | ดูแลใจ = ดูแลกาย”
กระบวนการอันต่อเนื่องของชีวิตมนุษย์
จึงไม่ใช่เรื่องของการดูแลเฉพาะปัญหาเพียงอย่างเดียวครับ
แต่ย่อมหมายถึงการพัฒนาส่งเสริมให้กายใจมีคุณภาพ
เพื่อยกระดับสุขภาพให้อยู่ในภาวะที่แข็งแรง
ซึ่งจะทำให้พบเจอกับความเจ็บป่วยได้ยากขึ้น
หรือต่อให้ป่วยแล้วก็มีโอกาสฟื้นฟูกลับมาได้เร็ว
เมื่อเป็นเช่นนี้
ทั้งความเจ็บปวดทางจิตใจและความเจ็บปวดทางร่างกาย
ไม่ว่าเกิดขึ้นที่ใดย่อมสร้างความเจ็บปวดที่สมองด้วย
(ซึ่งแท้จริงแล้วทั้งสามส่วนเชื่อมโยงถึงกันอย่างเป็นธรรมชาติ)
ประเด็นจึงอยู่ตรงนี้เลยครับ
เพราะบาดแผลทางกายดูจะเป็นสิ่งที่ถูกรับรู้ได้ง่ายกว่า
เนื่องจากแผลกายนั้นมักปรากฏออกมาอย่างชัดเจน
หรือไม่ก็มีสิ่งที่แสดงถึงการได้รับบาดเจ็บ เช่น
เลือดออก รอยช้ำ ผ้าพันแผล การใส่เฝือก เป็นต้น
นี่ย่อมหมายความว่า
มีปัจจัยบางอย่างที่สร้างรอยขีดข่วนให้กับผิวกาย
มีปัจจัยบางอย่างที่กระแทกจนเนื้อหนังเลือดซึม
มีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้กระดูกแตกหัก
มีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้อวัยวะภายในบอบช้ำ
ทั้งหมดนี้ล้วนอาศัยองค์ประกอบและแรงกระทำในปริมาณที่มากพอ
จนสามารถสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อร่างกาย
พอเป็นเรื่องของบาดแผลทางจิตใจ
กลับไม่ได้มีร่องรอยที่ชัดเจนเหมือนกับร่างกาย
(เข้าทำนอง มองไม่เห็นแต่มีอยู่จริงนั่นเองครับ)
การสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อจิตใจ
อาศัยปัจจัยที่สร้างรอยร้าวให้กับความไว้วางใจ
อาศัยปัจจัยที่โยกคลอนความมั่นใจ
อาศัยปัจจัยที่บั่นทอนความภาคภูมิใจ
อาศัยปัจจัยที่ทำลายความเคารพนับถือตนเอง
อาศัยปัจจัยที่ขัดขวางความรู้สึกถึงคุณค่าในตนเอง
อาศัยปัจจัยที่บดขยี้ตัวตนจนแหลกละเอียด
อาศัยปัจจัยที่ฟาดฟันศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จนย่อยยับ
โดยปริมาณและความลึกของแต่ละรอยแผล
สามารถพัฒนากลายเป็นสิ่งที่รบกวนการมีความสุข
รวมทั้งกลายเป็นสิ่งที่บั่นทอนสุขภาพร่างกายและจิตใจ
“ปมค้างใจ หรือ บาดแผลทางใจ”
จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ขัดขวางความสมดุลของชีวิต
(ความสมดุลเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราปรับตัวอย่างพอเหมาะ
พอดี มีประโยชน์ มีจังหวะชีวิตที่ลงตัว และอยู่ในจุดที่พอดี)
ปมค้างใจนี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อใครสักคนพบเจอเหตุการณ์บางอย่าง
ที่สร้างผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง
โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นโดยตรง
หรือผู้ที่ได้รับรู้ข้อมูลของเรื่องราวดังกล่าว
การพบเจอกับสิ่งที่กระทบกายใจอย่างรุนแรงนั้น
*บางกรณีเป็นการเจอเพียงครั้งเดียวก็เกิดปมค้างใจได้
**บางกรณีเป็นการเจอแบบต่อเนื่องยาวนานจนเกิดเป็นปมค้างใจ
ซึ่งองค์ประกอบสำคัญที่มักนำไปสู่การเกิดเป็นปมค้างใจ คือ
-ตัวเราไม่รู้ว่าจะทำยังไงกับเหตุการณ์นั้น
-ตัวเราไม่รู้ว่าจะเลือกทางไหนเพื่อรับมือกับเหตุการณ์นั้น
-ตัวเราต้องเข้าสู่โหมดเอาชีวิตรอด เพื่อผ่านเหตุการณ์นั้นไปให้ได้ก่อน
“โหมดเอาชีวิตรอด” คืออะไร ?
ถ้าโทรศัพท์มือถือมีโหมดฉุกเฉิน
จิตใจ สมอง และร่างกายของมนุษย์ก็มีโหมดนี้เช่นเดียวกันครับ
โดยโหมดนี้เปรียบได้กับสัญชาตญาณการเอาชีวิตรอด (ทำทันทีไม่ต้องคิด)
หลักการทำงานก็คือ ปิดระบบประมวลผล และ เปิดระบบเอาตัวรอด
ซึ่งวิธีการเอาตัวรอดดังกล่าวจะทำงานทันที
“เมื่อเราเจอกับภัยคุกคามที่เกินความสามารถในการรับมือ”
ทำให้ในขณะนั้นเรามีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะดังต่อไปนี้
-สู้สุดกำลัง (ต่อต้านและตอบโต้ด้วยทุกอย่างที่มี เพื่อความอยู่รอด)
-ร่างกายแข็งทื่อ (ปิดระบบการรับรู้ เพื่อผ่านความโหดร้ายไปให้ได้)
-ทำตามไม่ขัดขืน (ยอมไปก่อน เพื่อให้มีชีวิตต่อไป)
-หลบหนี (เมื่อสู้ไม่ได้ก็ต้องหนี เพื่อหลีกเลี่ยงภัยอันตราย)
-พยายามเอาใจ (ทำดีเข้าไว้เอาใจไปก่อน เพื่อจะได้ไม่โดนทำร้ายอีก)
แม้รอดจากภัยคุกคามมาแล้ว
แต่ความรุนแรงของผลกระทบที่ได้รับนั้น
มักทิ้งชิ้นส่วนของประสบการณ์บางอย่างเอาไว้
เหมือนเวลาเราทำแก้วแตก แล้วมีเศษแก้วกระจายเต็มพื้น
จะมีทั้งส่วนที่เก็บกวาดไปแล้ว และมีส่วนที่ยังไม่ได้เก็บกวาด
โดยเศษแก้วที่หลุดรอดการเก็บกวาดนั้นไม่ได้หายไปไหนครับ
มันยังคงนอนนิ่งอยู่ที่ใดที่หนึ่ง แล้วจังหวะไหนที่เราเผลอไปเหยียบเข้า
ก็อาจเกิดบาดแผลและความเจ็บขึ้นได้
ปมค้างใจก็เช่นเดียวกันครับ
หากเราพบเจอกับเหตุการณ์บางอย่าง
ที่สร้างผลกระทบต่อชีวิตอย่างรุนแรง
แล้วระบบประมวลผลของเราในขณะนั้น
ยังไม่สามารถดูแลบางชิ้นส่วนของประสบการณ์ได้
(เพราะจำเป็นต้องเข้าโหมดเอาชีวิตรอด)
เศษเสี้ยวของประสบการณ์ดังกล่าว
จะยังคงตกค้างอยู่ในจิตใจ สมอง และร่างกาย
ถึงแม้เหตุการณ์จบไปแล้ว แต่ประสบการณ์เหล่านั้นจะยังคงอยู่
(คล้ายกับตัวเราโดนสถานะติดพิษ โดนสาป เลือดไหล แบบในเกมนั่นเองครับ)
จุดที่แตกต่างก็คือ “มันไม่สามารถหายเองได้ถ้าไม่ใช้วิธีการเยียวยาที่ใช่”
การมีชิ้นส่วนของประสบการณ์
ที่ยังไม่ได้รับการประมวลผล และยังไม่ได้รับการจัดหมวดหมู่
จะนำไปสู่การเกิดเป็นความทรงจำฝังใจ ความเชื่อไม่ยืดหยุ่น
ความรู้สึกสะเทือนใจ ความคาดหวังที่รอคอยการเติมเต็ม
รวมทั้งกลายเป็นปฏิกิริยาทางร่างกายที่ท่วมท้นได้ง่าย
เหตุการณ์ที่ผ่านพ้นไปแล้วในอดีต จึงกลายเป็นภาพจำของภัยคุกคาม
แล้วเมื่อใดก็ตามที่เราเจอกับอะไรก็ตาม
ที่กระตุ้นให้เราเชื่อมโยงว่า “ภัยคุกคามนั้นกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง”
โหมดเอาชีวิตรอดก็จะเข้ามารับไม้ต่อทันทีครับ
เวลานั้นเหตุผลทุกอย่างคล้ายกับว่าจะเลือนหายไป
คงเหลือไว้แต่กลไกเอาชีวิตรอดที่ดิ้นรนเพื่อให้รอดพ้นอันตราย
นี่คือธรรมชาติของมนุษย์
ที่มีจิตใจและเลือดเนื้อมาประกอบกัน
เรามีวิวัฒนาการมาเช่นนี้
เราดำรงอยู่และดำเนินไปตามวิถีทางเหล่านี้
การเข้าใจธรรมชาติของจิตใจ สมอง และร่างกาย
จะช่วยให้เราเปิดพื้นที่ให้กับความเข้าใจที่ถูกต้อง
ไม่จมอยู่กับการแปะป้าย การประเมินตัดสิน และการดูหมิ่นเหยียดหยาม
หากทำได้เช่นนี้เราก็จะไม่ละเลยความเจ็บปวด
ที่ครั้งหนึ่งเราอาจเคยมองว่า “เรื่องแค่นี้เอง”
ดังนั้น เมื่อความเจ็บปวด ความทุกข์ใจ และปมค้างใจ
เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้
การมองความทุกข์ของตนเองและผู้อื่น
ด้วยความเป็นมิตร ความกรุณา และความเข้าใจ
(ถ้าเกินความเข้าใจแค่ไม่เข้าไปซ้ำเติมก็ดีแล้วครับ)
ท่าทีในการดำรงอยู่ของเราก็จะเปลี่ยนไป
ไม่กลายเป็นปัจจัยที่บ่มเพาะความทุกข์และทำลายความสุข ^^

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา