ความสุขใจ ... ในวัยเกษียณ

ฉบับที่ 54 เดือนตุลาคม 2567
Column : ThinkPlus
Writer : รศ. พญ.โสมรัชช์ วิไลยุค ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ตอนจบเป็นแพทย์ใหม่ ๆ ตอนนั้นยังใช้ชีวิตวัยเด็กใส ๆ ไม่ต้องคิดอะไรมาก เวลาไปเที่ยวก็ไปแบบ adventure ไม่ได้คิดถึงความปลอดภัยอะไรมากมายเหมือนตอนนี้ ตอนนั้นไม่ได้คิดถึงชีวิตในวัยเกษียณเลย เพราะคิดว่ายังห่างไกลมาก ... แต่เวลาก็ผ่านไปเร็วราวกับพายุ ...
เอ๊ะ ๆ ยังก่อนนะคะ ผู้เขียนยังไม่ได้เกษียณ แค่ชีวิตการทำงานตอนนี้เข้าใกล้วัยเกษียณมากขึ้นทุกทีเท่านั้นเองค่ะ ตอนนี้เริ่มคิดถึงวัยเกษียณมากขึ้น เริ่มวางแผนและเตรียมตัว เลยอยากบอกน้อง ๆ ในวัยใส ๆ ว่า ต้องเตรียมตัวแต่เนิ่น ๆ เพราะเวลาผ่านไปไวมาก ไม่นานเราทุกคนก็ต้องถึงวัยนั้นในไม่ช้า ...
หลายคนรู้สึกเศร้าเมื่อถึงวัยเกษียณ นั่นเพราะมีหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นรายได้ที่ลดลง รู้สึกว่าตัวเองเข้าสู่วัยชราแต่ที่รู้สึกกันมากที่สุด คือ รู้สึกเหงา ... จากที่เคยตื่นเช้ามาทำงานทุกวัน ๆ เจอเพื่อน ๆ พอวันรุ่งขึ้นไม่ต้องทำงาน เคว้งคว้างเลย รู้สึกชีวิตไม่มีคุณค่า ไม่รู้จะทำอะไร หลายคนรู้สึกอย่างนี้นะคะ
บางคนถึงกับเป็นโรคซึมเศร้าไปเลยก็มี ... แต่ก็มีคนวัยเกษียณอีกจำนวนไม่น้อยนะคะที่ไม่ได้คิดแบบนั้น กลับคิดว่าการเกษียณเป็นการเริ่มต้นการเดินทางสู่ชีวิตใหม่ในอีกรูปแบบหนึ่ง ... ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงานเกษียณอายุของอาจารย์ท่านหนึ่ง
อาจารย์บอกว่า “ผมไม่ได้รู้สึกเลยว่ากลัวหรือเหงา รู้สึกตื่นเต้นด้วยซ้ำ เหมือนจะได้ออกเดินทางในเส้นทางใหม่อีกเส้นหนึ่ง” พอฟังแล้ว โอ้โห เลยค่ะ ถ้าทุกคนคิดอย่างนี้ เราจะไม่เหงาเลยค่ะ เราจะรู้สึกตื่นเต้น และมีความสุขกับทุก ๆ วันในขณะที่นาฬิกาชีวิตเรากำลังเดินไปข้างหน้า ... ตอนนี้ผู้เขียนก็เริ่มคิดแล้วว่าถ้าเกษียณจะทำอะไรบ้าง ... ปรากฏว่าเขียนรายการสิ่งที่ต้องการทำออกมาเยอะมาก ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ได้ทำในช่วงที่ต้องทำงาน เพราะงานเยอะมากจริง ๆ ...
ทั้งวาดรูป เล่นดนตรี เขียนหนังสือ ท่องเที่ยว ทำอาหาร แค่นี้ก็คงหมดเวลาไปในแต่ละวันแล้วค่ะ ... มีน้องคนหนึ่งบอกว่า เราไม่ควรเก็บสิ่งที่เราอยากทำไว้ทำตอนเกษียณ เพราะตอนเกษียณเราอาจจะไม่แข็งแรงพอที่จะทำสิ่งเหล่านั้นแล้ว เช่น การท่องเที่ยว ที่ต้องใช้แรงและพลังในการเดินทาง เป็นต้น สิ่งนี้สำคัญนะคะ และเป็นเรื่องจริงเลย มีหลายคนไม่เคยลาเลย ทำงานเก็บเงิน เตรียมไว้ใช้ยามเกษียณ ปรากฏว่าเจ็บป่วยก่อน ต้องเสียเงินไปกับการรักษาพยาบาล สรุปไม่ได้เที่ยวเหมือนที่อยากจะทำเพราะเงินหมดแล้วก็มี ...
แต่ที่ผู้เขียนเขียนอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าจะให้ทุกท่านใช้เงินยามเกษียณให้หมดนะคะ แค่บอกว่าชีวิตควรมีความสมดุล ไม่มากไป ไม่น้อยไป เก็บเงินส่วนหนึ่งไว้ใช้ในปัจจุบันให้ชีวิตมีความสุข และอีกส่วนหนึ่งเอาไว้ใช้ยามเกษียณก็น่าจะดี ...
> Home Sweet Home
พอถึงวัยเกษียณ จะมีคนอยู่สองประเภท คือ ประเภทที่เก็บของทุกอย่าง ไม่กล้าทิ้งเลย เพราะของทุกอย่างล้วนเป็นความทรงจำในอดีต กับอีกประเภทหนึ่งคือทิ้งหมด อันไหนไม่จำเป็น ไม่ได้ใช้แล้ว ทิ้งเลย ไม่อยากให้ของเราไปเป็นภาระกับคนที่อยู่ข้างหลัง เพราะพอเราไม่อยู่ ก็ต้องมีคนทิ้งอยู่ดี ... อันนี้คงเป็นการฝึกการปล่อยวางอย่างหนึ่ง ... เพราะฉะนั้นบ้านในวัยเกษียณที่ดี ควรจะเป็นบ้านที่โปร่ง โล่ง สบาย จิตใจจะได้ปลอดโปร่งตามไปด้วย ...
เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนมีโอกาสไปเยี่ยมบ้านอาจารย์ที่เคารพท่านหนึ่ง อาจารย์เพิ่งสร้างบ้านได้ไม่นาน เนื่องจากบ้านนี้จะเป็นบ้านที่ไว้อาศัยเมื่อยามเกษียณ อาจารย์จึงออกแบบทุกอย่างให้เหมาะสมกับการใช้งาน ท่านวางแผนให้บ้านเสร็จก่อนเกษียณ 1 ปี
เพื่อจะได้ลองอยู่ก่อนจะได้ปรับตัวก่อนอยู่เมื่อเกษียณจริง ๆ พออาจารย์เกษียณจะได้ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มอีก บ้านอาจารย์ท่านนี้อยู่ใจกลางเมือง ขนาดพื้นที่ราว ๆ 200 ตร.วา แต่พื้นที่ใช้สอยถึง 300 กว่า ตร.เมตร ทรงเป็นแบบ modified nordic ซึ่งเป็นบ้านชั้นเดียวแต่หลังคาสูง ดูเก๋ไก๋ โปร่งโล่งสบาย ที่อาจารย์ทำบ้านชั้นเดียว เพราะการขึ้นลงบันไดนั้นไม่เหมาะกับเข่าของคนวัยเกษียณเอาซะเลย
> ห้องกินข้าว ห้องนั่งเล่นภายในบ้าน
ผู้เขียนถามอาจารย์ไปว่าเปลืองไฟมั้ย เพราะหลังคาสูงมาก อาจารย์บอกไม่เปลืองค่าไฟเลยเพราะใช้โซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าเอง ... บ้านนี้เป็นบ้านที่ออกแบบมาอย่างดีทุกซอกทุกมุม ... มีที่มาที่ไป และมี function ใช้สอยครบครัน บริเวณด้านล่างเป็น open floor plan มีโซฟาขนาดพอดี ไม่เล็ก และไม่ใหญ่จนเกินไป
พอนั่งสบาย ให้นั่งเล่นดูทีวี หรือนอนเหยียดยาวยามบ่ายได้ และถัดไปเป็นโต๊ะกินข้าวไม้สักยาว นั่งได้ประมาณ 8-10 คน เอาไว้รับแขกสบายเลย และมีทีวีบริเวณนี้อีกหนึ่งตัว ดังนั้นจากโต๊ะนี้สามารถนั่งดูทีวีได้เวลากินข้าวในระยะห่างกำลังพอดี ส่วนครัวก็มี island ตรงกลางบนโต๊ะสามารถทำอาหารง่าย ๆ ได้ ส่วนข้างล่างก็เป็นตู้ไว้เก็บของ (แอบเห็นขวดไวน์ด้วย) อาจารย์บอกว่า island นี้สูงกว่า counter ทำอาหารปกติราว ๆ 10 ซม.
เพื่อให้สอดคล้องกับการอุ่นอาหารและการใช้อุปกรณ์ที่จะวาง และในบริเวณเดียวกันก็มีครัวรูปตัว L พร้อมที่ดูดอากาศออกไปนอกบ้าน และมีมู่ลี่ไม้สีน้ำตาลไว้กันแดด ทำให้ดู cozy ไปอีก ... อาจารย์ใช้ประตูกระจกยี่ห้อหนึ่งที่เป็นที่นิยมใช้ เป็นประตูอลูมิเนียมที่คุณภาพดีมากระดับหนึ่ง เพราะสามารถกันเสียงข้างนอกได้ดีมาก ถึงข้างนอกบ้านจะดูวุ่นวายเพราะอยู่ใจกลางเมือง แต่ผู้เขียนกลับรู้สึกว่าเข้ามาในบ้านอาจารย์แล้วสงบจัง เหมือนอยู่ในป่าเลย อาจารย์บอกว่าราคาแพงกว่าทั่ว ๆ ไป แต่คุ้มเงินหรือดีกว่าไปเสียเรื่องอื่น ๆ
เดินเลยห้องครัวไปอีกนิดหนึ่ง มีโต๊ะที่ผู้เขียนชอบมากวางอยู่ เป็นโต๊ะบาร์ built in นั่งได้ประมาณ 2-3 คน ติดกับกระจกทรงสูง เอาไว้นั่งทำงานและสามารถมองออกไปเห็นสวนเล็ก ๆ เป็นต้นไม้เขียว ๆ อาจารย์บอกว่า ภรรยาอาจารย์เป็นคนขอโต๊ะนี้ที่บริเวณนี้ เพราะอยากเอาไว้นั่งทำงาน เมื่อเดินเข้าตัวบ้านลึกไปอีก เป็นห้องทำงานที่ออกแบบให้เอาไว้ทำงานจริง ๆ
แต่ตอนใช้งานกลับกลายเป็นห้องนอนของน้องแมว (อันนี้คิดเองเพราะเห็นน้องแมวสองตัวครองอยู่) เวลาทำงานอาจารย์กลับชอบไปนั่งที่ห้องนั่งเล่น หรือไปใช้โต๊ะบาร์ เพราะดู relax กว่า ... ก่อนจะเดินไปหลังบ้าน มีที่ว่างเล็ก ๆ ตรงโถงทางเดิน เอาไว้วางลู่วิ่งออกกำลังกายซึ่งวางได้พอดิบพอดี ส่วนห้องน้ำเป็นห้องน้ำที่สามารถเอารถเข็นผ่านเข้าได้ โล่ง ๆ มีกระจกกั้นโซนแห้งและโซนเปียกที่สะอาดมาก ไม่มีรอยด่างหรือคราบของน้ำเลย
(อาจารย์บอกว่าอาบน้ำเสร็จต้องเช็ดเลยทุกครั้งถึงจะสะอาด อย่าให้มีคราบน้ำค้างอยู่ ช่วยให้ไม่ต้องใช้น้ำยาทำความสะอาดที่เป็นสารเคมี) ตามด้วยห้องซักผ้า ซักล้าง แถมนอกตัวบ้านยังมีบันไดขึ้นไปนั่งเล่น (จิบไวน์) บนดาดฟ้าได้อีก ...
บริเวณรอบตัวบ้านมีสวนหย่อมเล็ก ๆ ที่อาจารย์ทำเอง ท่านบอกทำจนปวดหลัง แต่กลับสวยเหมือนมีคนออกแบบให้เลย เพราะเป็นการทำสวนด้วยความรักและบรรจงทำจริง ๆ ... บ้านอาจารย์ของไม่เยอะเลย ดูโล่งมาก แต่เปี่ยมไปด้วยความสุขแบบสงบ ไม่หวือหวา อาจารย์บอกว่าทิ้งของไปเยอะ บ้านจะได้โล่งๆ ... ถึงของเก่า ๆ จะจากไป แต่ความทรงจำดี ๆ ก็ยังคงอยู่ ...
ในบริเวณบ้านเดียวกัน มีบ้านอีก 2 หลังของคนในครอบครัว พร้อมบ่อปลาซึ่งยาวราว ๆ 25-30 กว่าเมตร ท่านเล่าว่าบ่อนี้เกิดจากการขุดเอาดินมาถมที่ และตอนเด็ก ๆ คุณพ่อเคยให้ฝึกว่ายน้ำในบ่อนี้ ... ผู้เขียนฟังที่อาจารย์เล่าไปก็นึกภาพตาม ท่านเล่าให้ฟังอย่างมีความสุขกับภาพความทรงจำในวัยเด็ก ...
ต้องขอบพระคุณอาจารย์อย่างมากที่เป็นเจ้าบ้านที่ดีมาก วันที่ไปเยี่ยมอาจารย์เราไปกัน 5 คนเป็นหมู่คณะ เราแทบไม่ได้ขยับตัว ท่านว่องไวกว่าพวกเรามาก เดี๋ยวเอาน้ำไปเติม เอาอาหารไปอุ่น หันไปอีกทีวิ่งไปเก็บรองเท้าไม่ให้โดนฝน ...
อาจารย์น่ารักมาก และ active มาก พวกเรารู้สึกผิดเลย แต่ขยับไม่ทันท่านจริงๆ (คงมัวแต่กินอยู่) ... ต้องขอบพระคุณอาจารย์ที่ทำให้พวกเรารู้ว่าชีวิตในวัยเกษียณไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด หากเราหาอะไรทำไปเรื่อย ๆ พบปะผู้คนเพื่อนฝูง พี่ ๆ น้อง ๆ บ้าง อยู่กับคนที่เรารัก ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ... ความสุขง่าย ๆ ก็อยู่ตรงนั้นเอง ...
โฆษณา