1 พ.ย. เวลา 16:59 • หนังสือ

🍂คุณเป็นนักลงทุนหรือแมลงเม่า : เอาชนะอคติทางความคิดด้วยจิตวิทยาการลงทุน สู่ผู้ชนะในตลาดหุ้น🔥

📌สรุปแนวคิดบางส่วนจากหนังสือ “จิตวิทยาการลงทุน : The Psychology of Investing” : John Noffsinger
🗣️‘จอห์น นอฟซิงเกอร์’ เชื่อว่ามนุษย์เรามักกระทำสิ่งที่ผิดพลาดซึ่งคาดการณ์ล่วงหน้าได้เสมอ และความผิดพลาดเหล่านั้นก็ยังส่งผลกระทบต่อเรื่องการเงินส่วนบุคคลอีกด้วย “อคติทางความคิดและอารมณ์” คือปัจจัยสำคัญอันส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนในตลาดหุ้น เรื่องราวเชิงจิตวิทยามีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการตัดสินใจทางการเงินและการลงทุน ความคิดและอารมณ์ล้วนส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน หากคุณโดนอคติเข้าครอบงำจิตใจแล้วล่ะก็ มันมักส่งผลในเชิงลบต่อความมั่งคั่งของตัวคุณเอง
🔴“ความมั่นใจมากเกินไป (Overconfidence)”
มนุษย์มักประเมินความรู้ของตนเองสูงเกินไป ประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป และประเมินขีดความสามารถในการควบคุมเหตุการณ์ต่างๆของตนเองมากเกินไปอีกด้วย ซึ่งมันคือความผิดพลาดในการเปรียบเทียบจนเกิดปรากฏการณ์ “เก่งกว่าค่าเฉลี่ย” คนเรามักมีมุมมองที่ดีเกินจริงต่อตนเอง พวกเขาเชื่อว่าความสามารถ ความรู้ และทักษะที่ตนเองมีนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ย
เรามักเชื่อว่าหุ้นที่ถือครองอยู่ในมือนั้นดีกว่าหุ้นที่ไม่ได้ซื้อ แถมยังคาดหวังผลตอบแทนสูงกว่าค่าเฉลี่ยเสมอ “ความมั่นใจที่มากเกินไป” ส่งผลให้เกิดความคลาดเคลื่อนต่อความแม่นยำในการเลือก รวมถึงประเมินทักษะการวิเคราะห์ของตนเองสูงเกินไป ยิ่งเมื่อเราลองได้มีประสบการณ์ลิ้มรสความสำเร็จในตลาดหุ้นสักครั้งแล้วล่ะก็ อาจผลักดันให้เกิด “อคติจากการเข้าข้างตนเอง (Self-attribution)” ซึ่งมันทำให้เราเชื่ออย่างสนิทใจว่าทุกความสำเร็จเกิดมาจากทักษะ ส่วนความผิดพลาดทั้งมวลเป็นเรื่องของโชคชะตา
1
“ความมั่นใจมากเกินไป” ทำให้เกิดกระบวนการซื้อขายหุ้นอย่างไม่เหมาะสม มักมาในรูปแบบการซื้อขายบ่อยครั้งเกินไป เปิดรับความเสี่ยงมากเกินไป สุดท้ายก็ขาดทุน พวกเขามีความมั่นใจในความคิดเห็นของตนเอง เชื่อมั่นในทักษะการวิเคราะห์ ไม่เปิดรับความคิดเห็นของผู้อื่น คนเราจะมีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามปริมาณข้อมูลที่ได้รับมากขึ้น แม้ว่าความเป็นจริงเรื่องความแม่นยำในการใช้ข้อมูลและการคาดการณ์นั้นจะไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วยเลย
🔴“ความภาคภูมิใจ และความผิดหวัง”
ความผิดหวังเป็นอาการเจ็บปวดทางอารมณ์ ที่มาพร้อมกับการพบว่าการตัดสินใจที่ผ่านมานั้นมีผลลัพธ์ไม่ดีนัก ส่วนความภาคภูมิใจเป็นอารมณ์แห่งความปีติยินดีเมื่อพบว่าการตัดสินใจที่ผ่านมาก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี
แหล่งที่มาของความเป็นไปได้ที่จะผิดหวังนั้นมาจาก 2 แห่ง คือ “ความผิดหวังที่ละเลย (ไม่กระทำ)” และ “ความผิดหวังที่เลือกกระทำ” ซึ่งความผิดหวังที่เลือกกระทำจะส่งผลกระทบรุนแรงมากกว่า “นักลงทุนมักผิดหวังในสิ่งที่ทำไป แต่ไม่ค่อยผิดหวังต่อสิ่งที่เลือกมองข้าม”
ความหวาดกลัวที่จะผิดหวัง และแสวงหาความภาคภูมิใจ ส่งผลให้นักลงทุนมีแนวโน้มขายหุ้นที่ดีออกเร็วเกินไป และยึดติดอยู่กับหุ้นแย่ๆนานเกินไป เราเรียกสถานการณ์เช่นนี้ว่า “ผลกระทบที่เอนเอียง (Disposition effect)” เมื่อจำเป็นต้องรับรู้ผลขาดทุนนั้นนักลงทุนจะรู้สึกถึงความผิดหวังรุนแรงกว่าหากมันมาจากการตัดสินใจของพวกเขาโดยตรง แต่หากนักลงทุนสามารถผูกโยงเหตุผลอื่นเข้ากับการขาดทุนนั้นๆได้ว่ามันอยู่นอกเหนือการควบคุมของตนเอง “ความรู้สึกผิดหวังจะลดน้อยลง”
🔴“มุมมองต่อความเสี่ยง”
“คนที่ไม่สามารถทำใจยอมรับการขาดทุนของตนเองได้ มีแนวโน้มที่จะตัดสินใจพนันในแบบที่เขาจะไม่เลือกกระทำในสถานการณ์ปกติ” ปัจจัยสำคัญต่อการประเมินสถานการณ์สุ่มเสี่ยงที่อยู่ตรงหน้าของมนุษย์คือ “ผลลัพธ์ในอดีต” นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะยอมเสี่ยงมากขึ้นหลังจากได้รับกำไรไปแล้ว และเสี่ยงน้อยลงหลังจากความพ่ายแพ้ติดต่อกัน เรื่องเช่นนี้นำไปสู่ทฤษฎี “เงินของเจ้ามือ (House-money effect), “การกลัวความเสี่ยง (Risk aversion / Snakebite)” และ “ความพยายามเอาทุนคืน (Trying to break even effect)”
🔹“เงินของเจ้ามือ (House-money effect)” หลังจากนักลงทุนขายหุ้นและได้รับกำไรอย่างงดงาม เขาพร้อมที่จะเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น นักพนันเรียกความรู้สึกเช่นนี้ว่า “เล่นกับเงินของเจ้ามือ” นักพนันสมัครเล่นจะมองเงินก้อนใหม่นี้ว่าเป็นเงินของคนอื่น เขาจะไม่นับรวมเอาเงินที่ชนะมาเป็นเงินของตนเอง จึงตัดสินใจกระทำบางสิ่งราวกับว่ากำลังเดิมพันอยู่กับเงินของ “บ่อน”
🔹ในทางกลับกัน หลังจากนักลงทุนต้องประสบกับความสูญเสียทางการเงิน พวกเขาจะไม่อยากเปิดรับความเสี่ยงอีกเลยเมื่อได้โอกาสเดิมพันหลังจากที่เพิ่งเสียเงินไป ไม่บ่อยครั้งนักที่คนจะโดนงูกัด [การกลัวความเสี่ยง (Risk aversion / Snakebite)] แต่เมื่อโดนกัดเข้าไปเสียแล้วเราจะเริ่มระแวดระวังมากขึ้น เช่นกันหลังจากที่สูญเสียเงินไปแล้ว คนเรามักจะรู้สึกว่าโชคไม่ดีต่อไปอีกเรื่อยๆ จึงเลือกที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยง
🔹แต่ผู้พ่ายแพ้ก็ไม่ได้หลีกเลี่ยงความเสี่ยงเสมอไป ยังมีคนบางกลุ่มพร้อมกระโจนเข้าหาโอกาสที่จะเอาทุนคืนหลังจากที่ได้สูญเสียเงินไปแล้วก่อนหน้านี้ พวกเขาพร้อมที่จะเสี่ยงแม้จะรู้ว่าแทบไม่มีโอกาสชนะเลย [ความพยายามเอาทุนคืน (Trying to break even effect)] ความต้องการที่จะเอาทุนคืนดูเหมือนว่าจะมากกว่าความรู้สึกโดนงูกัด
🔸“อคติจากการยึดติด (Endowment effect)”
พฤติกรรมเช่นนี้คือ แนวโน้มที่เราจะกอดเอาสิ่งที่ได้รับมาไว้ แทนที่จะยอมปล่อยมันไป เรียกอีกอย่างว่า “ความเกลียดการเปลี่ยนแปลง (Status quo bias)” เราประเมินมูลค่าสิ่งที่เราเป็นเจ้าของมากเกินไป “การต้องจากลาทำให้เราเจ็บปวดมากเกินไป”
🔴“ความขัดแย้งทางการรับรู้ (Cognitive dissonance)”
คืออาการที่สมองกำลังสับสนระหว่าง 2 ความคิดซึ่งตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง ความเชื่อของมนุษย์นั้นสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้เพื่อให้สอดคล้องต่อการตัดสินใจในอดีต จากความต้องการรู้สึกว่าเราได้เลือกตัดสินใจอย่างถูกต้องแล้ว นักลงทุนมักมองหาการลดความเจ็บปวดทางจิตวิทยาลง ด้วยวิธีการปรับความเชื่อของเราเกี่ยวกับความสำเร็จจากการลงทุนในอดีต “นักลงทุนจะมีปัญหาในการเรียนรู้จากความผิดพลาด หากพวกเขาไม่รู้หรือไม่สามารถจดจำความผิดพลาดเหล่านั้นได้”
นักลงทุนต่างต้องการที่จะเชื่อว่าการตัดสินใจลงทุนของตนเองถูกต้อง และเมื่อต้องเผชิญกับข้อมูลที่ย้อนแย้ง ระบบการป้องกันตัวของสมองจึงทำการกรองข้อมูลที่ย้อนแย้งและบิดเบือนความทรงจำต่อการตัดสินใจเหล่านั้นไป ความทรงจำที่มีต่อผลตอบแทนในอดีตมักถูกบิดเบือนไปในทางที่ดีเกินจริง
“ความทรงจำของมนุษย์บันทึกภาวะอารมณ์และความรู้สึก มากกว่าจะเป็นการบันทึกข้อเท็จจริง” ส่งผลให้นักลงทุนจดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรูปแบบอันบิดเบือนไป หรือมองข้ามข้อมูลที่ก่อให้เกิดความรู้สึกเชิงลบ นี่คือสาเหตุที่ทำให้การเรียนรู้ข้อผิดพลาดในอดีตเป็นเรื่องยากเย็น
🔴การแทนค่า และความคุ้นเคย
นักลงทุนมักมีความสับสนระหว่างบริษัทที่ดี และการลงทุนที่ดี “การลงทุนที่ดีคือหุ้นที่มีราคาสูงขึ้นมากกว่าตัวอื่นๆ” หุ้นของบริษัทที่ดีอาจไม่ใช่การลงทุนที่ดีก็ได้ นักลงทุนมักผิดพลาดโดยเชื่อว่าผลการดำเนินงานในอดีตนั้นบ่งบอกถึงผลการดำเนินงานในอนาคต โดยมองข้ามข้อมูลที่นอกเหนือจากนั้นไป นี่เรียกว่า “อคติบนการคาดการณ์ (Extrapolation bias)”
เมื่อนักลงทุนส่วนใหญ่มองตลาดหุ้นว่าอยู่ในภาวะกระทิง พวกเขาจะตามไปกับกระแสและเข้าซื้อหุ้นเพิ่ม เนื่องจากยึดติดอยู่กับผลตอบแทนที่ผ่านมาแล้ว นำไปสู่การจัดสรรสินทรัพย์และจังหวะการตัดสินใจที่ย่ำแย่ “เงินที่วิ่งไล่ล่าผลตอบแทนเช่นนี้มักถูกเรียกว่า เงินโง่ (Dumb money)”
อคติในการเชื่อมโยงอดีตหรืออคติในการแทนค่าเกิดจากความคุ้นเคย คนเรามักเลือกสิ่งที่คุ้นเคยมากกว่าเสมอ เมื่อเราเผชิญทางเลือกสุ่มเสี่ยง 2 เส้นทาง โดยที่เราคุ้นเคยทางใดทางหนึ่งมากกว่า เราย่อมเลือกเส้นทางนั้น แม้ความเป็นไปได้ที่จะชนะมันน้อยกว่าก็ตาม
🔴“ปฏิสัมพันธ์ในสังคมกับการลงทุน”
“อุปทานหมู่” : ปัญหาของการทำตามคนหมู่มาก ทำให้เราตัดสินใจบนพื้นฐานของความรู้สึกกลุ่ม แทนที่จะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างจริงจัง ความเชื่อที่ว่า “ครั้งนี้จะไม่เหมือนเดิม” เป็นประโยคความเห็นที่เกิดขึ้นประจำในช่วงที่มีสภาวะของอุปทานหมู่อย่างรุนแรง
เวลาที่ลงทุนกับอุปทานหมู่ คนเราจะลงทุนบนพื้นฐานของความเชื่อ ไม่ใช่การวิเคราะห์เชิงธุรกิจ การอุปทานหมู่และการมองโลกในแง่ดีเกินจริงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเศรษฐกิจ แต่มันเกิดขึ้นจากความคิดมนุษย์ เมื่อความมั่นใจเกิดเหตุถูกรวมเข้ากับอารมณ์ ปัญหาก็จะตามมาอย่างไม่หยุดหย่อน
มนุษย์เรียนรู้จากการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เราพูดคุยกันถึงเรื่องความเชื่อในการลงทุนและมองหาความเห็นจากผู้อื่น ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจของเราทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่ทำให้คนที่มีสังคมสามารถสร้างความมั่นใจต่อกิจกรรมการลงทุนของพวกเขา หนึ่งในผลลัพธ์ของการมีปฏิสัมพันธ์ในสังคมคือ “นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะมีอุปทานหมู่ร่วมกันบนหุ้นตัวเดียวกัน”
🟩เรามาปิดท้ายกันที่ “กลยุทธ์การเอาชนะอคติทางความคิด”
1️⃣ ทำความเข้าใจอคติ : รู้เท่าทันอคติของตนเองและคนอื่นๆ นี่คือก้าวย่างสำคัญในการหลีกเลี่ยงมัน
2️⃣ รู้เหตุผลว่าทำไมเราจึงลงทุน : คนส่วนใหญ่มองเพียงภาพกว้างของเป้าหมายการลงทุน ซึ่งแทบไม่ช่วยเรากำหนดทิศทางการลงทุนหรือการหลีกเลี่ยงอคติเลย การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและวิธีการไปให้ถึงเป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญ ลองอธิบายว่าเป้าหมายคุณคืออะไรและต้องใช้เงินเท่าไหร่? เป้าหมายอันชัดเจนทำให้เราได้เปรียบ ส่งผลต่อการให้ความสำคัญสำหรับมุมมองระยะยาวและมุมมองภาพใหญ่ เราจะสามารถวัดผลลัพธ์และความคืบหน้าได้ เพื่อตรวจสอบว่าพฤติกรรมของเราสอดคล้องกับเป้าหมายหรือไม่?
3️⃣ ระบุเงื่อนไขการลงทุนในเชิงปริมาณ : เพื่อหลีกเลี่ยงการลงทุนบนอารมณ์และอคติทางความคิด แม้ว่าเงื่อนไขเชิงปริมาณจะถูกใช้อย่างเข้มงวด แต่ข้อมูลเชิงคุณภาพก็สำคัญไมแพ้กัน หากเราหาหุ้นที่ตรงตามเงื่อนไขเชิงปริมาณได้แล้ว ก็สามารถศึกษาเชิงคุณภาพต่อไปได้
4️⃣ กระจายความเสี่ยง : ตั้งกฎง่ายๆที่คุณสามารถทำตามได้ เช่น ถือครองหุ้นหลากหลายประเภท ในอุตสาหกรรมและขนาดที่แตกต่าง รวมถึงการกระจายสินทรัพย์ในพอร์ตโฟลิโอภาพรวมด้วย การกระจายความเสี่ยงเช่นนี้ช่วยหลีกเลี่ยงการขาดทุนอย่างหนัก และป้องกันอคติทางความคิดจากการยึดติดและความคุ้นเคยอีกด้วย
5️⃣ ควบคุมสภาพแวดล้อมในการลงทุน : จำกัดกิจกรรมที่เร่งขยายอคติทางความคิด เช่น ตรวจสอบพอร์ตหุ้นเพียงเดือนละหนึ่งครั้ง ซื้อขายหุ้นเพียงเดือนละหนึ่งครั้งและกำหนดให้เป็นวันเดียวกันของทุกเดือน สิ่งนี้จะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดที่ว่าความเร็วเป็นสิ่งสำคัญ การซื้อขายหุ้นเพียงเดือนละหนึ่งครั้งช่วยให้เราก้าวข้าม “ความมั่นใจมากเกินไป” ในตลาดหุ้น
6️⃣ ทบทวนพอร์ตโฟลิโอ ปีละหนึ่งครั้ง : วัตถุประสงค์เพื่อเฝ้ามองว่าทุกอย่างยังสอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุนในระยะยาวหรือไม่? พึงระลึกเสมอว่าเราต้องระวังอคติจากการเกลียดความเปลี่ยนแปลง การยึดติด การแทนค่าและความคุ้นเคย สินทรัพย์ทั้งหมดยังมีส่วนช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายทางการลงทุนและรักษาระดับการกระจายความเสี่ยงหรือไม่? สุดท้ายคือการบันทึกข้อมูลเก็บไว้เพื่อก้าวข้ามอคติความย้อนแย้งของข้อมูลและอคติทางความทรงจำอื่นๆ
✴️ก่อนที่คุณจะทำการซื้อขายหุ้นที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขและเป้าหมาย จงจำไว้เสมอว่ามันเป็นไปได้น้อยมากที่คุณจะเข้าใจสิ่งนั้นอย่างลึกซึ้งมากกว่าตลาด (นักลงทุนคนอื่น) การลงทุนอันนอกเหนือไปจากเงื่อนไข หมายถึงการที่คุณมีข้อมูล (ที่เป็นประโยชน์) มากกว่าคนอื่นๆ คุณแน่ใจหรือเปล่า?
🙏ขอขอบคุณบางส่วนจากหนังสือ
📖“จิตวิทยาการลงทุน : The Psychology of Investing” (5th Edition)
ผู้เขียน : จอห์น นอฟซิงเกอร์ (John Noffsinger)
ผู้แปล : พิริยะ พาณิชย์ชะวงศ์
สำนักพิมพ์ : INVESTING Fidelity, 2020
ขอให้มีความสุขกับการลงทุน ในทุกๆวันนะครับ 😊
โฆษณา