5 พ.ย. เวลา 05:53 • สุขภาพ

Smart OPD คืออะไร

ช่วยเหลือระบบบริการทางการแพทย์ ให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้อย่างไร
ทำความรู้จัก Smart OPD คืออะไร?
Smart OPD คือ ระบบบริหารจัดหารแผนกผู้ป่วยนอกอัจฉริยะ มีการนำเทคโนโลยีดิจิตัล, อุปกรณ์ IoT (internet of things), หรือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาช่วยพัฒนาการให้บริการคนไข้ ตั้งแต่ก่อนเข้ารับบริการที่โรงพยาบาล จนคนไข้พบแพทย์ และ กลับบ้าน
ทำไมโรงพยาบาลถึงควรพัฒนาระบบเป็น Smart OPD?
การพัฒนาสู่ Smart OPD คือ การสร้างประสบการณ์เพื่อการเข้ารับบริการที่ดีขึ้นของคนไข้ ลดความผิดพลาดในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และลดภาระงานที่ไม่จำเป็น เพื่อทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน อย่างเช่น สามารถมีเวลาดูแลคนไข้และเน้นให้บริการได้ดียิ่งขึ้น และยังสามารถลดต้นทุนทางธุรกิจได้อีกด้วย สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยยกระดับโรงพยาบาลของคุณให้มีภาพลักษณ์ที่ดี ทันสมัยยิ่งขึ้น
เทคโนโลยีอะไรบ้างที่เข้ามาช่วยพัฒนาระบบบริการให้กลายเป็น Smart OPD
การพัฒนาระบบบริการคนไข้นอก (Outpatient Department หรือ OPD) ให้เป็น Smart OPD จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลคนไข้ ลดเวลารอคอย และเพิ่มความสะดวก สำหรับทั้งคนไข้และบุคลากรทางการแพทย์ ตัวอย่างเทคโนโลยี ที่ช่วยในการเปลี่ยน OPD ให้เป็น Smart OPD มีดังนี้
1. ข้อมูลทางการแพทย์แบบอิเล็กทรอนิกส์ Electronic Medical Records (EMR) หรือ Electronic Health Records (EHR)
คือ ประวัติการรักษาของคนไข้ในรูปแบบ อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผู้ให้บริการจะเก็บรักษาไว้ระยะเวลาหนึ่ง และอาจรวมถึงข้อมูลทางการแพทย์ที่สำคัญทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการดูแลคนไข้ ภายใต้การดูแลของผู้ให้การรักษา ซึ่งรวมถึงข้อมูลส่วนบุคคล บันทึกความคืบหน้าในการรักษา ปัญหาในการรักษา ข้อมูลการใช้ยา อาการป่วยที่สำคัญ และประวัติการรักษาในอดีต (ที่มา มาตรการดูแลคนไข้โดยอาศัยข้อมูลทางการแพทย์แบบอิเล็กทรอนิกส์(EHR) โดยกฎหมายว่าด้วย การรักษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑ (21st Century Cures Act) ของสหรัฐอเมริกา )
ประโยชน์ของ การใช้งานข้อมูลทางการแพทย์แบบอิเล็กทรอนิกส์
- ทำให้การส่งต่อข้อมูลระหว่างแผนกหรือโรงพยาบาลเป็นไปอย่างราบรื่น ลดความผิดพลาดจากการจดบันทึกด้วยมือ
- ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลคนไข้ได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลดการใช้เอกสารกระดาษ และช่วยให้แพทย์สามารถเข้าถึงประวัติการรักษาได้ทุกที่ทุกเวลา
- ลดการเกิดข้อผิดพลาดในการรักษา มีความแม่นยำในการบันทึกข้อมูลทางการแพทย์
- ทำให้ข้อมูลทางการแพทย์พร้อมใช้งานอยู่เสมอ ตรวจสอบข้อมูลที่ซ้ำซ้อน ลดความล่าช้าในการรักษา และทำให้คนไข้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อการตัดสินใจในการรักษาได้ดียิ่งขึ้น
2. ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Machine Learning (ML)
วงการสุขภาพและการแพทย์ก็เป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่นำเอาเทคโนโลยี AI มาใช้ประโยชน์ เป็นอย่างมาก ตัวอย่างการนำ AI มาใช้ในแผนก OPD เช่น
- ระบบแชทบอทที่ใช้ AI สามารถตอบคำถามทั่วไปเกี่ยวกับสุขภาพ ช่วยทำนัดหมาย และช่วยให้คนไข้ได้รับข้อมูลเบื้องต้นก่อนที่จะมาโรงพยาบาล ช่วยให้ข้อมูลการนัดหมาย ก่อนพบแพทย์
- AI ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลคนไข้ การคัดกรองอาการเบื้องต้น ก่อนส่งคนไข้ไปพบแพทย์ในแผนกต่างๆ
- การใช้ AI มาช่วยบริหารจัดการคนไข้ คำนวณเวลารอคอยของการเข้ารับบริการในแผนกต่างๆ เพื่อการจัดการคนไข้ที่สะดวกขึ้น
- การใช้ AI เพื่ออ่านผลการถ่ายภาพทางการแพทย์ (เช่น X-ray, MRI)
- AI ช่วยแนะนำการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม ทำให้แพทย์สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น
3.Robotic Process Automation (RPA)
คือ การใช้ระบบอัตโนมัติในการจัดการข้อมูล หรือช่วยทำงานที่เป็นกิจวัตร และช่วยขั้นตอนที่ใช้เวลานานและซ้ำซาก เช่น การตรวจสอบสิทธิการรักษา RPA มีประโยชน์มากในการพัฒนาระบบริการ ช่วยปรับปรุงกระบวนและเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวม ช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่และลดโอกาสเกิดความผิดพลาดในการจัดการข้อมูล ตัวอย่างที่ นำ RPA เข้ามาช่วยในแผนก OPD เช่น
- การตรวจสอบสิทธิการรักษาและการลงทะเบียนคนไข้
- การตรวจสอบสิทธิประกันและทำให้เอกสารประกันสุขภาพเป็นอัตโนมัติ
- การทำนัดหมายคนไข้ และระบบแจ้งเตือนนัดหมายอัตโนมัติ
- การวิเคราะห์ข้อมูลนำเสนอผลการวิเคราะห์แบบเรียลไทม์
4.Kiosks หรือ Self-Service และ Smart device อื่นๆ
เป็นการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาตอบโจทย์บริการดูแลรักษา และบางอุปกรณ์ออกแบบให้คนไข้สามารถใช้งานได้ด้วยตนเอง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนไข้ ได้สามารถเข้าถึงบริการได้เร็วขึ้น ทั้งยังช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ในบางส่วน และลดเวลารอคอยของคนไข้อีกด้วย โดยเครื่องมือเหล่านี้ จะสามารถเชื่อมต่อกับฐานข้อมูล HIS ของโรงพยาบาล เพื่อให้ข้อมูลบันทึกผลได้ทันที ตัวอย่างที่นำมาใช้ในแผนก OPD เช่น
- การลงทะเบียนคนไข้ สามารถใช้ Kiosk ในการลงทะเบียน จองคิว เลือกแผนกตรวจ หรือกรอกข้อมูลการรักษาเบื้องต้นได้เอง
- เครื่องวัด Vital signs ความดันโลหิต การวัดส่วนสูงและน้ำหนัก ออกซิเจนในเลือด อุณหภูมิ ที่ออกแบบมาให้สามารถใช้งานได้ด้วยตนเอง
5.Telemedicine (การแพทย์ทางไกล) และ health Applications
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ให้คำจำกัดความของคำว่า “การแพทย์ทางไกล” หรือ “Telemedicine” หมายถึง การจัดให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกลโดยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย การรักษาและการป้องกันโรค รวมถึงการศึกษาวิจัย และเพื่อประโยชน์สำหรับการศึกษาต่อเนื่องของบุคลากรทางการแพทย์
การพัฒนาแอปพลิเคชันของโรงพยาบาล และนำ Telemedicine เข้ามาช่วยให้คนไข้สามารถดำเนินการต่างๆในบริการด้านสุขภาพ ได้ด้วยตนเองผ่านสมาร์ทโฟน มีประโยชน์ทั้งก่อนมาโรงพยาบาล ทำการนัดหมายหรือจัดการนัดหมายพบแพทย์ ดูผลการวินิจฉัยแพทย์ ดูข้อมูลเวชระเบียนของตนเอง และหลังจากมาโรงพยาบาล ติดตามอาการของตนเองได้ หรือฝั่งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ก็สามารถติดตามอาการคนไข้หลังการรักษาได้เช่นกัน (Remote monitoring)
อีกทั้งคนไข้สามารถพบแพทย์ได้โดยไม่ต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล ช่วยลดความแออัดใน OPD ได้และช่วยให้คนไข้ที่อยู่ห่างไกลสามารถเข้าถึงการรักษาได้ (ที่มา https://www.bangkokhealth.com/articles/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%81%E0%B8%A5-telemedicine-%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A8%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B8%A3/ )
Case study ของการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการสุขภาพ
1. AccentCare บริษัท Healthcare Provider จากสหรัฐอเมริกา ได้นำ RPA bot ของ AutomationEdge เป็นระบบอัตโนมัติที่มาช่วยจัดการตารางนัดหมายของคนไข้ 24 ชั่วโมง แทนการทำงานแมนนวลในหลายขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ ระบบนี้ช่วยลดความผิดพลาดจากมนุษย์ ช่วยลดการทำงานแมนนวลของเจ้าหน้าที่ได้ถึง 80% และลดเวลาการจัดการตารางนัดหมายในระบบ EMR (เวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์) ลงได้ถึง 70%
การทำงานของ RPA bot ช่วยทำให้ขั้นตอนต่อไปนี้ เป็นอัตโนมัติ
- เข้าถึงรายละเอียดการนัดหมายของคนไข้
- ลงชื่อเข้าใช้ระบบ Homecare Homebase (HCHB) และค้นหา ID ของเคสคนไข้
- ตรวจสอบวันนัดหมายว่าอยู่ภายในช่วงวันที่มีสิทธิประกันครอบคลุม
- อัปเดตรายละเอียดการนัดหมาย เช่น วันที่นัดหมาย, ประเภทของบริการ
- ตรวจสอบสถานะการนัดหมายและแจ้งเตือนผู้ใช้งาน ผ่านโปรแกรม Skedulo
เครดิตภาพจาก automationedge.com
2. University of Pittsburgh Medical Centre (UPMC),USA ได้นำ Remote Patient Monitoring (RPM) อุปกรณ์ติดตามคนไข้จากระยะไกลจากบริษัท Vivify Health มาใช้ติดตามคนไข้ ระบบสามารถลดความเสี่ยงในการกลับเข้ารักษาในโรงพยาบาลซ้ำได้ถึง 76% และรักษาคะแนนความพึงพอใจของผู้ป่วยไว้ได้มากกว่า 90% (ที่มาhttps://patientexperience.wbresearch.com/blog/upmc-remote-patient-monitoring-and-telehealth-strategy )
อุปกรณ์ RPM จาก Vivify Health จะใช้งานร่วมกับแท็บเล็ต สามารถรวบรวมข้อมูล biometric ของคนไข้ อย่างเช่น น้ำหนักตัว ค่าน้ำตาลในเลือด หรือค่าความดันโลหิต ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขโรคของคนไข้แต่ละราย มีแบบสอบถามคัดกรองอาการประจำวัน และมีการแจ้งเตือนเมื่ออาการของคนไข้แย่ลง ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงทีก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
โดยอุปกรณ์ RPM นี้สามารถใช้ติดตามโรคที่มีความรุนแรง อย่างเช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรัง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีฟีเจอร์ทางเลือกที่คนไข้สามารถนำอุปกรณ์ของตนเองมาเชื่อมต่อใช้กับระบบนี้ได้อีกด้วย
3.National Health Service (NHS) ระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติ ,UK นำ Kiosk จากบริษัท Intouch with Health เข้ามาอำนวยความสะดวก สามารถช่วยให้คนไข้สามารถเช็คอินด้วยตนเอง (self patient check-in) ก่อนการเข้ารับบริการ โดยสามารถตรวจสอบการนัดหมาย
ที่มีการจองคิวล่วงหน้ามา หรือสแกนบาร์โค้ดจากใบนัดหมาย หลังจากเช็คอินแล้ว Kiosk จะแนะนำคนไข้ไปยังจุดรอคอย และช่วยอัปเดตข้อมูลไปยังระบบบริหารจัดการคนไข้ หรือ Flow Manager ของเจ้าหน้าที่ Kiosk ออกแบบมาให้ใช้งานง่ายและรองรับการใช้งานของคนไข้จำนวนมาก ช่วยลดการรอคิวนาน
ของคนไข้ ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ที่เคยทำงานส่วนนี้ มีเวลาไปทำงานอย่างอื่นได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น
เครดิตภาพจาก intouchwithhealth.co.uk
ในฝั่งของเจ้าหน้าที่มีระบบ Flow Manager ที่สามารถบริหารจัดการคนไข้ผ่าน Dashboard เจ้าหน้าที่สามารถดูสถานะของคนไข้แต่ละราย เช่น เช็คอินแล้วหรือมาสาย ได้รับการเรียกให้เข้าตรวจแล้วหรือยังรออยู่ หรือในรายที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น ผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตา หรือต้องการล่าม ระบบจะขึ้นแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปช่วยหลือและอำนวยความสะดวกให้คนไข้
ระบบ Flow Manager นี้ได้เข้ามาช่วยปรับปรุงการประสานงานระหว่างแผนกต่างๆในโรงพยาบาล และช่วยลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น และช่วยปรับปรุงประสบการณ์ของคนไข้ให้ดียิ่งขึ้น
ปัจจุบันมีการเช็คอินผ่าน Kiosk ถึง 85% ในสถานบริการของ NHS และยังได้นำระบบ Flow Manager เข้ามาช่วยบริหารจัดการผู้ป่วยนอก 56% ของการเข้ารับบริการทั้งหมด ปัจจุบันมีการใช้งานระบบ Flow Manager ในโรงพยาบาลมากกว่า 150 แห่งทั่วโลก
เครดิตภาพจาก intouchwithhealth.co.uk
4. The Portsdown Group Practice ,UK ได้ใช้งาน EK Health Kiosk เป็น self-screening health kiosks ที่เชื่อมต่อกับเครื่องวัดความดันโลหิต, เครื่องวัดส่วนสูง และเครื่องชั่งน้ำหนัก และสามารถเลือกแผนกตรวจด้วยตนเองได้ มีการประเมินความวิตกกังวล และการตรวจสุขภาพสำหรับคนไข้ใหม่ ผลจากการตรวจสุขภาพจะบันทึกข้อมูลผู้ป่วยในระบบ สิถิติจากการใช้งาน self-screening health kiosks นี้ใน 3 เดือนแรก
สามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 11,280 ปอนด์ หรือราว 5 แสนบาท และช่วยประหยัดเวลาให้กับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เฉลี่ย 2.5 นาทีต่อการนัดหมาย (ที่มา https://www.ekinteractive.co.uk/gp-health-kiosks )
สำหรับในประเทศไทยก็มีการนำเทคโนโลยีดิจิตัล, AI และอื่นๆ มาช่วยพัฒนาระบบบริการในแผนก OPD เช่นกัน
1.โรงพยาบาลศิริราช เปิดให้บริการ Telemedicine ผ่าน แอปพลิเคชั่นและบน Line OA Siriraj connects เริ่มเปิดให้ใช้งานตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 เป็นช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ระบาด ให้คนไข้สามารถพบแพทย์ออนไลน์ และรับยาทางไปรษณีย์ แต่เดิมเปิดให้บริการกับคนไข้ที่มีนัดติดตามต่อเนื่องเท่านั้น
ปัจจุบันได้นำมาช่วยอำนวยความสะดวกให้คนไข้ที่มารับการรักษาในแผนก OPD และ IPD ทำให้ช่วยลดเวลาการอยู่ในโรงพยาบาลนานโดยไม่จำเป็น สามารถดูใบนัดหมาย ลงทะเบียนยืนยันเข้ารับการรักษาในวันที่นัดหมายได้จากที่บ้าน แจ้งเตือนการนัดหมาย ติดตามคิวตรวจ คิวห้องยา คิวเจาะเลือด คิวชำระเงิน และชำระเงินผ่านมือถือ และดูข้อมูลสำหรับการรับบริการอื่นๆ ของโรงพยาบาล เช่น ตารางออกตรวจแพทย์
นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจสอบสิทธิการรักษาล่วงหน้าได้จากที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นหลักประกันถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรคและสิทธิประกันสังคม การลงทะเบียนยืนยันการเข้ารับการรักษาจากที่บ้าน ครอบคลุมทั้งสิ้น 13 คลินิก สามารถให้บริการได้ราว 80% ของคนไข้ทั้งหมดที่มารับบริการโรงพยาบาลศิริราช และปัจจุบันมีผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์ม line OA
เครดิตภาพจาก youtube/SirirajPr
2.บริษัท Perceptra พัฒนาระบบ Inspectra CXR เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เข้ามาช่วยแพทย์ในการคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อในปอด เป็นตัวช่วยรังสีแพทย์อ่านผลเอกซเรย์ สามารถวิเคราะห์ความผิดปกติจากภาพรังสีทรวงอกได้อย่างละเอียด ช่วยแยกความรุนแรงของผู้ติดเชื้อ และทำให้สามารถบ่งชี้ผู้ที่จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ได้อย่างชัดเจน
Inspectra CXR ได้รับการพัฒนามาจากภาพถ่ายรังสีทรวงอกกว่า 1.5 ล้านภาพ และใช้เวลาในการวิจัยพัฒนามากว่า 2 ปี เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติที่พบได้ทั่วไปจากภาพถ่ายรังสีทรวงอกได้ถึง 8 สภาวะ และผลลัพธ์ที่ได้มีความแม่นยำมากกว่า 94% จากการทดสอบการอ่านผลภาพถ่ายรังสีทรวงอกของคนไทยกว่า 100,000 ภาพ จนได้รับการยอมรับจากแพทย์ผู้ใช้งานในวงกว้างทั้งในและต่างประเทศ การใช้งานในโรงพยาบาลจะเป็นการเชื่อมต่อระบบ Inspectra CXR เข้ากับระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล (HIS)
ทำให้แพทย์ผู้ใช้งานสามารถใช้งานระบบได้อย่างสะดวก และไม่กระทบรูปแบบการทำงานเดิม ทำให้ช่วยลดระยะเวลาและภาระงานของแพทย์รังสีในการอ่านภาพถ่ายรังสีทรวงอกได้ถึง 70% ปัจจุบันมีการใช้งานระบบ Inspectra CXR กว่า 90 โรงพยาบาลในประเทศไทย
3.โรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดใช้งานระบบ Smart Registration พัฒนาโดย บริษัท Agnos health เป็นการนำ AI มาเป็นช่วยลงทะเบียนคนไข้ โดยให้บริการผ่านตู้ Self-service kiosk หรือ Tablet ของเจ้าหน้าที่ ระบบ Smart Registration มีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก ในหลายขั้นตอน ประกอบด้วย
- การยืนยันตัวตนผู้ป่วยใช้ระบบ AI face recognition เป็นการตรวจเช็กใบหน้าผู้ป่วย กับ บัตรประชาชน หรือ พาสปอร์ต ซึ่งมีมาตรฐานการยืนยันตัวตนระดับ IAL 2.3
- การแนะนำคลินิกตรวจ ได้มีการนำเทคโนโลยี AI วิเคราะห์อาการป่วย (AI Nurse) ที่พัฒนาโดย Agnos เข้ามาช่วยซักประวัติผู้ป่วยเบื้องต้น เพื่อแนะนำแผนกตรวจที่เหมาะสมกับอาการป่วยในแต่ละบุคคล ลดความผิดพลาดในการส่งต่อแผนกตรวจ
- การตรวจสอบสิทธิการรักษาหรือสิทธิประกันอัตโนมัติ โดย ใช้การเชื่อมต่อ API หรือ การใช้ Robotic process automation (RPA) เพื่อตรวจสอบสิทธิอัตโนมัติ ลดระยะเวลาตรวจสอบข้อมูล ทำให้ผู้ป่วยทราบสิทธิการเบิกประกันได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
- ระบบ E-consent สำหรับเก็บการยินยอม PDPA ของผู้ป่วยผ่านระบบ OTP ทาง SMS หรือ Email ลดการใช้กระดาษที่ไม่จำเป็นระบบ E-visit slip ใบนำทางผู้ป่วย ที่สามารถติดตามสถานะการให้บริการได้ ผ่าน ระบบ LINE หรือ แอปพลิเคชันของโรงพยาบาล
ระบบ Smart Registration สามารถลดขั้นตอนการลงทะเบียนผู้ป่วยได้สูงถึง 45% ลดเวลาการลงทะเบียนของคนไข้ลง มากกว่า 60% จาก 5 - 7 นาทีลงเหลือ 1 - 2.5 นาที
การนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้พัฒนาระบบบริการสุขภาพช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการบริการ ปรับปรุงคุณภาพงานของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ เพิ่มความพึงพอใจของผู้ป่วย และทำให้การจัดการในโรงพยาบาลมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น บทความนี้เน้นแผนกผู้ป่วยนอก (OPD) เป็นหลัก แต่ยังมีเทคโนโลยีอื่นๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ในโรงพยาบาลตามบริบทที่แตกต่างกัน การพัฒนาโรงพยาบาลสู่การเป็น Smart OPD ถือเป็นก้าวสำคัญสู่อนาคตที่ทันสมัย เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ป่วยในยุคดิจิทัล
โฆษณา