Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
โอลดี OLDEE
•
ติดตาม
5 พ.ย. เวลา 05:56 • สุขภาพ
รู้ทัน! Stroke (สโตรก) คู่มือเบื้องต้นสำหรับผู้ดูแล
#stroke #กายภาพบำบัด #OLDEEhome #โอลดีกายภาพบำบัดที่บ้าน
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) คือ ภาวะที่เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้อย่างปกติ เพราะความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดสมองตีบ แตก หรืออุดตัน
.
เมื่อเลือดไปเลี้ยงเซลล์สมองไม่ได้ ทำให้เซลล์สมองขาดอารหาร น้ำ และออกซิเจน ทำให้เซลล์สมองตายหรือสลบไป
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง
.
1. โรคความดันโลหิตสูง
.
2. โรคเบาหวาน / น้ำตาลในเลือดสูง
.
3. ไขมันในเลือดสูง
.
4. โรคหัวใจ / หัวใจเต้นผิดจังหวะ
.
5. การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
.
6. การสูบบุหรี่
.
7. โรคอ้วน
.
8. ความเครียด
.
9. ออกกำลังกายหนักเกินไป
.
10. พักผ่อนไม่เพียงพอ
.
และปัจจัยเสี่ยง อื่น ๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น เพศชายเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง พันธุกรรม (ถ้าคนในครอบครัวเคยเป็นจะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น) หรือ อายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้หลอดเลือดไม่แข็งแรง
อาการของโรคหลอดเลือดสมอง ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสมองที่ได้รับความเสียหาย (แต่ละคนแตกต่างกัน) เช่น
–
[อ่อนแรงหรือชา] : ผู้ป่วยอาจรู้สึกอ่อนแรงหรือชาที่แขน ขา หรือใบหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย
.
[การพูดไม่ชัด] : อาจมีปัญหาในการพูด เช่น พูดไม่ชัดหรือพูดไม่ออก รวมถึงการไม่เข้าใจคำพูดของคนอื่น
.
[การมองเห็นผิดปกติ] : อาจเกิดการมองเห็นที่ผิดปกติ เช่น มองเห็นภาพซ้อน หรือการมองเห็นเพียงครึ่งเดียว
.
[ความสับสน] : ผู้ป่วยอาจมีอาการสับสนหรือตอบคำถามไม่ถูกต้อง โดยอาจไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหนหรือตอนนี้เกิดอะไรขึ้น
.
[อาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง] : อาจมีอาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน โดยเฉพาะถ้าเป็นปวดศีรษะที่ไม่เคยมีมาก่อน
.
[ไม่สามารถทรงตัวได้] : ผู้ป่วยอาจไม่สามารถนั่ง หรือยืนทรงตัวให้มั่นคงได้ เป็นสาเหตุของการล้ม (จะต้องระมัดระวังให้มาก)
วิธีการสังเกตโรคหลอดเลือดสมอง ใช้หลักการ B.E.F.A.S.T.
—
[B] = Balance อาการเวียนศีรษะ ทรงตัวไม่ได้ ล้ม
.
[E] = Eyes ตามัว มองเห็นภาพซ้อน หรือมองไม่เห็น
.
[F] = Face ปากเบี้ยว ใบหน้าเบี้ยว ด้านใดด้านหนึ่ง
.
[A] = Arm แขน ขา ชาหรืออ่อนแรง
.
[S] = Speech พูดไม่ชัด พูดติดขัด นึกคำพูดไม่ออก
–
[T] = Time เมื่อเกิดอาการใดอาการหนึ่ง ให้รีบไปโรงพยาบาล ภายใน 4 ชั่วโมง หรือไปทันที !
การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อไม่ให้เกิดขึ้น หรือไม่ให้เกิดซ้ำ(หากเป็นแล้ว) โดยการดูแลสุขภาพของตัวเองและคนที่รัก
–
[ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม “การกิน”] : ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง อาหารรส
หวาน อาหารมัน อาหารทอด และอาหารที่มีรสเค็ม
.
เลือกอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ธัญพืชเต็มเมล็ด ปลา และผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
–
[ควบคุมน้ำหนัก] : ให้อยู่ในเกณ์ปกติ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง และเน้นการบริโภคผักผลไม้ให้มาก
–
[หลีกเลี่ยงและจัดการความเครียดอยู่เสมอ] : ความเครียดสามารถส่งผลต่อสุขภาพได้ ควรหาวิธีการผ่อนคลาย เช่น การทำสมาธิ หรือทำกิจกรรมที่ชอบเพื่อให้จิตใจสงบ
–
[ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ] : แม้จะอายุเยอะ แต่การออกกำลังกายเป็นประจำก็ยังสำคัญ ลองพาพ่อแม่เดินหรือทำกิจกรรมเบา ๆ เช่น การทำสวน จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น
–
[ไม่สูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์]
.
[ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ]
—
การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองไม่ใช่เรื่องยาก หากมีความตั้งใจและทำตามคำแนะนำเหล่านี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้พ่อแม่มีสุขภาพที่ดี แต่ยังทำให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขทำกิจกรรมที่อยากทำได้อย่างเต็มที่
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังจากเป็นโรคหลอดเลือดสมอง มักเกิดจากผู้ป่วยที่เคลื่อนไหวได้น้อยลง จากอาการอ่อนแรง อาการชา ทรงตัวได้ไม่ดี เช่น…
.
(1) อัมพาต จากอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถร่างกายได้
.
(2) แผลกดทับ จากการนอนหรือนั่งในท่าเดิมนาน ๆ (ควรเปลี่ยนท่านอนทุก 2 ชั่วโมง)
.
(3) ปอดอักเสบ (Aspiration pneumonia) เกิดจากภาวะกลืนลำบากของผู้ป่วย ทำให้เกิดการสำลักอาหารและน้ำ เข้าไปในปอด [ ลูก ๆ ควรจะต้องระวังไม่สำลักโดยเด็ดขาด ! ]
.
(4) ความดันตกจากการเปลี่ยนท่าทาง เมื่อเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็วจะเกิดอาการหน้ามืด เวียนศีรษะ หรือปวดหัวได้
.
(5) อารมณ์แปรปรวน
.
และ สิ่งที่น่ากลัวมากที่สุดสำหรับลูก ๆ อย่างเรา คือ
.
.
(6) Self-neglect หรือภาวะทอดทิ้งตัวเอง เป็นภาวะที่ผู้ป่วยรู้สึกโดดเดี่ยว แปลกแยกจากสังคม ไม่ต้องการดูแลเอาใจใส่ร่างกายตัวเอง อาจพัฒนาไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้
“หมั่นดูแลเอาใจใส่ พูดคุยกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยบ่อย ๆ ” ถึงแม้ผู้ป่วยอาจจะไม่สามารถตอบโต้ หรือตอบสนองกลับมาหาเราได้
.
แต่ผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ยังสามารถรับรู้ได้ถึง “ความรัก” และ “ความห่วงใย” อยู่
โดยทั่วไปคุณหมอมักจะสั่งยา เพื่อควบคุมอาการและป้องกัน “ไม่ให้เกิดซ้ำ”
.
ดังนั้น การรับประทานยาจะต้อง… ตรงเวลา, สม่ำเสมอ, ต่อเนื่อง, และไม่ปรับยาด้วยตัวเอง หากมีอาการแพ้ ให้รีบไปพบหมอโดยทันที
.
ยาที่แพทย์มักจะสั่งให้ผู้ป่วย ดังนี้
.
• ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
• ยาต้านเกร็ดเลือด
• ยาลดไขมัน
• ยาลดความดันโลหิต
• ยารักษาโรคเบาหวาน
รับประยาให้ “ตรงเวลา สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง ห้ามปรับยาเอง”
การฟื้นฟูหลังจากเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ที่ควรจะต้องได้รับ คือ…
.
“กายภาพบำบัด”
.
หลังจากที่ได้รับการรักษาด้วยยาและหัตถการต่างๆ จากแพทย์ จนอาการของโรคคงที่ การเริ่มกายภาพบำบัดทันทีตั้งแต่แรก จะส่งผลดีต่อการฟื้นคืนความสามารถร่างกายเป็นอย่างยิ่ง
.
ช่วงเวลาหลังจากเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เป็นช่วงที่สมองยังคงสามารถปรับตัวและฟื้นฟูการทำงานได้ดีที่สุด หากเริ่มต้นการกายภาพบำบัดได้เร็วเท่าไร ยิ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
.
กายภาพบำบัดมีความสำคัญยังไง ?
–
[1] การฟื้นฟูสมองพัฒนาเร็วในช่วง Golden period
.
สมองมีความสามารถในการปรับตัวและฟื้นฟูการทำงานได้เร็วในช่วงแรก ช่วงเวลานี้เรียกว่า “Golden Period” หรือช่วงเวลาทองของการฟื้นฟู การเริ่มกายภาพบำบัดในช่วงนี้จะช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์สมองที่อาจจะสลบอยู่ให้ตื่นขึ้น และเชื่อมเซลล์ประสาทให้กลัมาทำงานร่วมกันอีกครั้ง เพื่อลดความเสียหายถาวรในสมอง
.
การฝึกฝนในช่วงนี้จะทำให้ผู้ป่วยฟื้นฟูความสามารถในการเคลื่อนไหวได้เร็วขึ้น
–
[2] ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน
.
ผู้ป่วยบางคนจะเคลื่อนไหวได้จำกัด มีอาการอัมพฤกษ์ หรืออัมพาต หากปล่อยทิ้งไว้นานไม่ได้กายภาพบำบัด จะทำให้เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น แผลกดทับ ข้อต่อยึดติด หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงเพิ่ม
.
การกายภาพพำบัดจะช่วยให้ผู้ป่วยได้ขยับตัวมากขึ้น เคลื่อนไหวมากขึ้น ภาวะแทรกซ้อนจากการไม่ได้เคลื่อนไหวจะลดลง
–
[3] ลดความเสี่ยงของการเสื่อมสภาพของกล้ามเนื้อ
.
เมื่อผู้ป่วยไม่ได้เคลื่อนไหวหรือไม่ใช้กล้ามเนื้อนาน กล้ามเนื้อจะเริ่มเสื่อมสภาพ และฝ่อลีบลง กายภาพบำบัดจะช่วยป้องกันการสูญเสียกล้ามเนื้อและการอ่อนแรง นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
–
[4] ส่งเสริมการฟื้นฟูทักษะการเคลื่อนไหว
.
การฟื้นฟูความสามารถในการเคลื่อนไหวเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของการกายภาพบำบัด การฝึกการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้ผู้ป่วยพัฒนาทักษะในการยืน เดิน และใช้แขนขาได้ดีขึ้น
.
การเริ่มต้นในทันทีทำให้สามารถฟื้นฟูการทำงานได้เร็วและช่วยเพิ่มโอกาสในการกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ
–
[5] ส่งเสริมให้ช่วยเหลือตัวเองในการทำกิจวัตรประจำวัน
.
การกายภาพบำบัดตั้งแต่เแรก จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัว การอาบน้ำ หรือการใช้ห้องน้ำ การฝึกฝนเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ป่วยมากขึ้น และลดการพึ่งพาผู้ดูแลในระยะยาว
การ “กายภาพบำบัด” ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง สำหรับผู้ป่วยแต่ละคน จะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย
.
โดยเป้าหมายของการกายภาพบำบัด คือ การฝึกให้ผู้ป่่วยสามารถกลับมาทำเคลื่อนไหว การทำกิจวัตรประจำวัน หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ใกล้เคียงปกติให้มากที่สุด
.
โดยหัตถการที่ใช้ในการกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วย มีดังนี้ :
.
[1] การกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง
.
โดยใช้เทคนิคทางกายภาพบำบัด หรือการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด เช่น เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า เพื่อทำให้กล้ามเนื้อที่อ่อนแรง ได้รับการกระตุ้น ป้องกันการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อ ให้กล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้น
–
[2] ออกกำลังกาย เพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อ
.
โดยนักกายภาพบำบัดจะออกแบบและเลือกท่าทางการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับระดับความสามารถของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น การยกน้ำหนักเบา การบีบลูกบอลเพื่อฝึกกล้ามเนื้อมือ หรือการฝึกใช้สายยางยืด
–
[3] ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น และลดเกร็งกล้ามเนื้อ
.
เพื่อช่วยป้องกันการเกิดข้อยึดติด และเพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อและกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการเกร็ง เคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่
–
[4] ฝึกการทรงตัวในท่านั่ง ยืน เดิน ให้มั่นคง
.
การฝึกการทรงตัวในท่าทางต่าง ๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทรงตัวได้ดีมากขึ้น สามารถนั่งได้นานมากขึ้น และยังสามารถช่วยกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อได้อีกด้วย
–
[5] ฝึกการทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเอง
.
เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีกำลังกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้น การฝึกให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาทำกิจวัตรประจำวัน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันด้วยตัวเอง เป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝน
.
โดยนักกายภาพบำบัด จะออกแบบวิธีการฝึกจากง่ายไปยาก เพื่อให้ผู้ป่วยค่อย ๆ ปรับตัวและคุ้นชินกับการกลับมาทำสิ่งที่เคยทำ
สิ่งที่ผู้ดูแลจะต้องวางแผนให้พร้อม เมื่อพ่อแม่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง คือ การตอบคำถามที่ว่า…
.
ผู้ป่วยควรไปอยู่ที่ศูนย์ฟื้นฟูหรือไม่ ?
.
การไปอยู่ศูนย์ฟื้นฟูหรืออยู่ที่บ้าน มีข้อดี-ข้อเสีย ที่แตกต่างกันไป และมีหลายปัจจัยที่ต้องคิดถึง ในการตัดสินใจพาพ่อแม่หรือคนที่รักไปอยู่ศูนย์ฟื้นฟู ดังนี้
.
ข้อดีของ “ศูนย์ฟื้นฟู”
.
1. มีสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการฟื้นฟู และมีความสะอาด ปลอดภัยได้มาตรฐาน
.
2. ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด จากบุคคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ พยาบาล แพทย์ นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ นักกิจกรรมบำบัด (บางที่มีนักดนตรีบำบัด)
.
3. มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุปกรณ์ฉุกเฉินพร้อม
.
4. มีกิจกรรมเพื่อรักษาและฟื้นฟู โดยนักกายภาพบำบัด หรือกิจกรรมบำบัด
.
5. มีกิจกรรมเพื่อสร้างความผ่อนคลาย ระหว่างวัน
–
–
ข้อเสียของ “ศูนย์ฟื้นฟู”
.
1. มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการพักอาศัย
.
2. ผู้ป่วยอาจรู้สึกเหงา ไม่ปลอดภัย และรู้สึกไม่อุ่นใจเหมือนอยู่ที่บ้าน
–
.
ข้อดีของการอยู่ “บ้าน”
.
1. ผู้ป่วยรู้สึกอุ่นใจ รู้สึกปลอดภัย และสบายใจมากกว่า เมื่อได้พูดคุยหรืออยู่กับคนในครอบครัว
.
2. ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการไปอยู่ศูนย์ฟื้นฟู (แต่ก็อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ในการเดินทางไปโรงพยาบาล)
.
3. หากมีการกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟู จะเหมาะสมมากกว่า เพราะเป็นสถานที่ ที่ผู้ป่วยใช้ชีวิตอยู่จริง ๆ
–
–
ข้อเสียของการอยู่ “บ้าน”
.
1. ผู้ดูแลต้องแบกรับภาระในการดูแล และต้องมีเวลาในการดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย
.
2. ผู้ดูแลควรจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วย
.
3. ขาดอุปกรณ์เพื่อฟื้นฟู หรืออุปกรณ์ฉุกเฉินทางการแพทย์
.
4. อาจมีความยากลำบากในการเดินทางไปโรงพยาบาล
–
–
การตัดสินใจพาพ่อแม่ที่อยู่ด้วยกันมานานไปอยู่ที่ศูนย์ฟื้นฟู หลายครั้งเป็นเรื่องที่ตัดสินใจได้ยากสำหรับลูก ๆ
.
ดังนั้น ควรพิจารณาทั้งข้อดี ข้อเสีย และข้อจำกัดของการไปอยู่ศูนย์ฟื้นฟู หรืออยู่บ้านอย่างรอบด้าน ให้เข้ากับบริบทของครอบครัวเราให้มากที่สุด รวมถึงปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเพื่อประเมินสถานการณ์ของผู้ป่วย เพื่อประกอบการตัดสินใจอีกทาง
การปรับสภาพแวดล้อมในบ้านสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกปลอดภัย แต่ยังส่งเสริมการฟื้นฟูได้ดีขึ้นอีกด้วย
.
มาดูกันว่าเราสามารถปรับปรุงแต่ละพื้นที่ในบ้านได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้การใช้ชีวิตประจำวันสะดวกและปลอดภัยขึ้น
–
[ห้องนอน]
.
🔵 ปรับระดับเตียงให้เหมาะสม: ควรอยู่ในระดับที่ผู้ป่วยสามารถลุกขึ้นนั่งและนอนลงได้อย่างสะดวก โดยไม่ต้องออกแรงมากเกินไป
.
🔵ติดตั้งราวจับข้างเตียง: เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถพยุงตัวลุกนั่งได้อย่างมั่นคง
.
🔵ใช้เตียงไฟฟ้าหรือเตียงที่ปรับเอนได้: เพื่อความสะดวกในการปรับระดับตามความต้องการของผู้ป่วย
–
[ห้องน้ำ]
.
🔵ติดตั้งราวจับบริเวณโถสุขภัณฑ์และฝักบัว: ช่วยให้ผู้ป่วยพยุงตัวได้อย่างปลอดภัยและลดความเสี่ยงจากการหกล้ม
.
🔵เปลี่ยนพื้นเป็นพื้นกันลื่น: ป้องกันการลื่นล้ม โดยเฉพาะในบริเวณที่มีน้ำหรือความชื้น
.
🔵ใช้เก้าอี้อาบน้ำ: หากผู้ป่วยมีปัญหาในการยืนอาบน้ำ ควรใช้เก้าอี้อาบน้ำที่มีความมั่นคงและไม่ลื่น
–
[ห้องครัว]
.
🔵 จัดวางของใช้ในระดับที่เอื้อมถึงได้ง่าย: เช่น จัดเก็บอุปกรณ์ที่ใช้บ่อยในระดับที่พอดีมือ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการยกของหนักหรือการเอื้อมหยิบ
🔵 ใช้พื้นกันลื่น: พื้นครัวมักมีความชื้นและน้ำ ควรเลือกใช้วัสดุปูพื้นกันลื่นเพื่อความปลอดภัย
🔵 เตรียมเก้าอี้หรือม้านั่งสำหรับพัก: ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการพักระหว่างการเตรียมอาหารหรือล้างจาน
–
[ห้องนั่งเล่น]
.
🔵 จัดวางเฟอร์นิเจอร์ให้มีพื้นที่ว่างสำหรับการเคลื่อนไหว: เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้รถเข็นหรืออุปกรณ์ช่วยเดินได้อย่างสะดวก
.
🔵 เพิ่มแสงสว่าง: แสงที่เพียงพอจะช่วยลดความเสี่ยงจากการสะดุดหรือเดินชนเฟอร์นิเจอร์
.
🔵เลือกเฟอร์นิเจอร์ที่มั่นคง: เลือกเก้าอี้และโซฟาที่มีพนักพิงแข็งแรงและแขนพยุง เพื่อช่วยให้ลุกนั่งได้ง่ายขึ้น
–
[บริเวณทางเดินและบันได]
.
🔵 ติดตั้งราวจับตลอดแนวทางเดินและบันได: เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถพยุงตัวได้ทุกจุดที่ต้องการ
.
🔵 ใช้แถบสะท้อนแสงหรือติดตั้งไฟกลางคืน: เพื่อให้ผู้ป่วยมองเห็นทางเดินได้ชัดเจนในที่มืด
.
🔵 กำจัดสิ่งกีดขวาง: เก็บของที่เกะกะให้พ้นทางเดิน และมั่นใจว่าพื้นราบเรียบ ไม่มีระดับที่อาจสะดุดได้
—
การปรับสิ่งแวดล้อมในบ้านสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะช่วยให้การฟื้นฟูมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสร้างความมั่นใจให้กับทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล
.
อย่าลืมปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อคำแนะนำที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของผู้ป่วยแต่ละรายด้วยนะ :)
การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองไม่เพียงแต่ต้องใช้ความเอาใจใส่ในด้านร่างกายเท่านั้น แต่ยังต้องดูแลจิตใจของผู้ดูแลด้วยเช่นกัน
.
เพราะการเป็นผู้ดูแลสามารถสร้างความเครียดและความเหนื่อยล้าได้มากมาย มาดูกันว่าเราจะดูแลจิตใจของตัวเองได้อย่างไรในช่วงเวลาที่ท้าทายนี้:
—
[1] ให้เวลาแก่ตัวเอง
.
การดูแลคนที่เรารักอาจทำให้เราลืมดูแลตัวเอง ควรหาช่วงเวลาเล็ก ๆ เพื่อพักผ่อนและทำกิจกรรมที่ทำให้เรารู้สึกดี เช่น อ่านหนังสือ ออกไปเดินเล่น หรือทำงานอดิเรกที่ชอบ
–
[2] ฝึกการทำสมาธิ
.
การทำสมาธิหรือการหายใจลึก ๆ สามารถช่วยลดความเครียดและทำให้จิตใจสงบลง ลองใช้เวลาเพียง 5-10 นาทีในแต่ละวันเพื่อฝึกสมาธิและฟื้นฟูจิตใจ
–
[3] สื่อสารและแชร์ความรู้สึก
.
พูดคุยกับเพื่อนหรือคนในครอบครัวเกี่ยวกับความรู้สึกและความกังวลของเรา การแบ่งปันสามารถช่วยให้เรารู้สึกไม่โดดเดี่ยว และได้รับการสนับสนุนจากคนที่เข้าใจ
–
[4] หาความรู้เพิ่มเติม
.
การเรียนรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองและวิธีการดูแลสามารถช่วยลดความกังวลและให้ความมั่นใจในการดูแลผู้ป่วย ค้นหาข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ หรือลงคอร์สอบรมที่เกี่ยวข้อง
–
[5] เข้าร่วมกลุ่มสนับสนุน
.
เข้าร่วมกลุ่มสนับสนุนสำหรับผู้ดูแล ผู้ป่วย หรือครอบครัวที่มีประสบการณ์คล้ายกันจะช่วยให้เราได้รับการสนับสนุนและแบ่งปันประสบการณ์ที่มีค่า
–
[6] ทำกิจกรรมที่ชอบ
.
หากิจกรรมที่ทำให้เรามีความสุข เช่น วาดรูป ทำอาหาร หรือเล่นดนตรี การทำกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นและทำให้จิตใจสงบ
–
[7] ขอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น
.
หากรู้สึกว่าหนักใจเกินไป อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากคนในครอบครัว เพื่อน หรือผู้เชี่ยวชาญทางจิตใจ การให้คนอื่นเข้ามาช่วยเหลือจะทำให้เรารู้สึกเบาลงและมีพลังในการดูแลต่อไป
—
การดูแลใจของผู้ดูแลก็สำคัญไม่น้อยไปกว่าการดูแลผู้ป่วย อย่าลืมให้ความรักและความเอาใจใส่แก่ตัวเองเพื่อให้เราสามารถดูแลคนที่เรารักได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข 💖
สุขภาพ
กายภาพบำบัด
ชีวิต
บันทึก
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย