9 พ.ย. เวลา 05:45 • สุขภาพ

9 ข้อสังเกตอาการซึมเศร้าในวัยทำงาน เบื่อ ท้อ ไม่มีความสุข เช็ก!

วัยทำงาน ต้องแบกรับอะไรหลายๆอย่างไม่แพ้วัยอื่น บางคนต้องอยู่ในสังคมที่กดดันไม่นับรวมกับงานที่ดึงเครียดจนแทบไม่ได้พัก บางครี้ง อาการเบื่อ ท้อ เศร้า อาจไม่ใช่แค่หมดไฟ เช็กสัญญาณซึมเศร้าวัยทำงาน!
ทุกวันนี้เราแทบไม่รู้เลยว่าคนที่เดินสวนกัน คนที่นั่งทำงานด้วยกัน หรือแม้กระทั่งคนที่อยู่บ้านเดียวกันเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ เพราะถ้าเราไม่สังเกตหรือใส่ใจคนคนนั้นมากพอ เราจะไม่เห็นถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของเขา หรือที่น่ากังวลไปกว่านั้นนั่นคือ คุณเองก็อาจไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็น “โรคซึมเศร้า” อยู่หรือไม่ ? โดยเฉพาะในสังคมการทำงาน ที่หลายคนต้องจมอยู่หน้ากองเอกสารหรือหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ในบางคนต้องอยู่ในสังคมที่ท็อกซิก
ทำให้รู้สึกเครียดและกดดัน ก็อาจเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดโรคซึมเศร้าในวัยทำงานได้เช่นกัน
ซึมเศร้าวัยทำงาน
● 9 ข้ออาการซึมเศร้าในวัยทำงาน
หากมีอาการตามข้อ 1 หรือ 2 และมีอาการร่วมอื่น ๆ รวมเป็น 5 ข้อขึ้นไป
ในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา อาจเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาทันที
- มีอารมณ์เศร้า เบื่อและท้อเกือบทั้งวัน แทบทุกวัน
- ไม่ค่อยมีความสุขกับสิ่งเดิม ๆ ที่เคยมีความสุข
- นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป
- รู้สึกเหนื่อย หรือเพลียผิดปกติ
- น้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงชัดเจน
- ทำอะไรช้าลง หรือรู้สึกกระสับกระส่าย
- รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า
- มีปัญหาด้านสมาธิ ความจำ หรือการตัดสินใจ
- มีความคิดอยากตาย อยากฆ่าตัวตาย
อาการที่เกิดขึ้นสามารถก่อให้เกิดปัญหาในการเข้าสังคมเกิดความทุกข์ทรมาน กระทบต่อหน้าที่การงาน
เตรียมรับมือ “โรคซึมเศร้า”
เราต้องหมั่นให้เวลาในการสังเกต “ร่างกาย” และ “จิตใจ” ทั้งของตัวเองและคนใกล้ชิดว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือมีอะไรที่ผิดปกติบ้างหรือไม่ เพราะ “โรคซึมเศร้า” ยิ่งเรารู้จักมันมากเท่าไหร่ เรายิ่งรับมือกับมันได้ดีมากขึ้นเท่านั้น หากยังมีอาการไม่มาก ควรหาความรู้และคำแนะนำที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าจากแพทย์เฉพาะทาง เพราะจะได้เรียนรู้วิธีการประคับประคองและจัดการอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม
หมั่นออกกำลังกาย หรือหากิจกรรมทำร่วมกับเพื่อนๆ หรือคนในครอบครัว จะทำให้ร่างกายสดชื่น มีพลังที่ดี จะช่วยให้อาการไม่แย่ลง
การหากิจกรรมทำเพื่อให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย ไม่คิดถึงแต่เรื่องในอดีตที่ทำให้เครียด พยายามให้ผู้ป่วยมีสติอยู่กับปัจจุบัน จะช่วยให้อาการป่วยทางใจค่อยๆ บรรเทาลงได้มาก
คนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัว ควรทำความเข้าใจเรื่องของโรคซึมเศร้าให้มาก เพื่อจะได้เข้าใจและรับมือกับผู้ป่วยอย่างถูกวิธี พร้อมกับเฝ้าระวังและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด สำคัญที่สุดคือการลดปัจจัยกระตุ้นอาการซึมเศร้าต่างๆ เช่น คำพูดที่อาจกระทบกระเทือนจิตใจ การทะเลาะกัน ทำให้บรรยากาศตึงเครียด และควรงดดูสื่อต่างๆ ที่มีเนื้อหาเร้าอารมณ์ เป็นต้น
หากมีอาการจากโรคซึมเศร้าชัดเจนมากขึ้นควรไปพบจิตแพทย์ เพื่อช่วยประเมินและเข้ารับการรักษาบำบัดอย่างถูกต้องและเหมาะสม หากมีอาการโรคซึมเศร้าในขั้นรุนแรง ทำร้ายตัวเอง หรือเสี่ยงต่อผู้อื่นจะได้รับอันตราย ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลทันที
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์ และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/health/how-to/6077
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา