12 พ.ย. เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

“โรงสีและชาวนา” กับภารกิจพาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาฯ สู่ครัวโลก

“ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นสินค้าชนิดแรกของไทยที่ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ที่สหภาพยุโรปได้ และเป็นข้าวชนิดแรกของเอเชียด้วยที่เป็นสินค้า GI กฎหมายด้านสินค้า GI จะคุ้มครองสินค้าและคนในชุมชน ทุกกระบวนการตั้งแต่พื้นที่เพาะปลูก โรงสี และการแพ็กบรรจุต้องทำในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้เท่านั้น จึงจะสามารถส่งออกในนามข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ได้”
“เราทำธุรกิจโรงสี ถ้าวันหนึ่งอาชีพชาวนาหายไป โรงสีเราก็ไม่สามารถอยู่ได้ ผู้ส่งออกก็ไม่มีข้าวที่จะส่งออกไป ความมั่นคงทางอาหารของไทยก็จะน้อยลง ผมอยากทำให้วงการข้าวของไทยพัฒนาขึ้นครับ”
แรงบันดาลใจของคุณสินสมุทร ศรีแสนปาง หรือ “คุณสิน” ผู้จัดการโรงสีศรีแสงดาว จำกัด ตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด นักธุรกิจเจ้าของแบรนด์ข้าวศรีแสงดาว ที่อยากให้โรงสีข้าวเติบโตไปพร้อมกับชาวนาในพื้นที่
พระสยาม BOT MAGAZINE ขอชวนไปดูเรื่องราวเบื้องหลังการทำภารกิจของคุณสินในการชักชวนเกษตรกรให้หันมาปรับเปลี่ยนวิธีปลูกข้าวจากนาหว่านมาเป็นนาหยอด เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิมกันว่า กว่าที่จะได้เห็นรอยยิ้มในวันนี้ คุณสินและชาวนาก้าวข้ามความเหนื่อยยาก และความคิดที่จะล้มเลิกมาได้อย่างไร
เปลี่ยน “ความกลัว” เป็น “ความกล้า จากนาดำในไต้หวันสู่นาหยอดอีสาน
ย้อนไปเมื่อ 15 ปีก่อน คุณสินรับช่วงบริหารธุรกิจโรงสีของครอบครัว เขามีโอกาสเดินทางไปดูงานปลูกข้าวที่ไต้หวันกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และได้เห็นว่ามาตรฐานการปลูกข้าวแบบนาดำของไต้หวันแซงหน้าไทยไปไกลกว่า 10 ปี จากการให้ความสำคัญกับการวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร และองค์ความรู้สมัยใหม่ของรัฐบาลไต้หวัน ตลอดจนการสร้างคลองส่งน้ำให้เข้าถึงนาทุกแปลง จนกลายเป็นนาข้าวอุดมสมบูรณ์
“ภาพนาดำที่ไต้หวันยังติดอยู่ในใจผมจนถึงวันนี้ เขาตั้งใจทำมาก เพราะเป็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร จากข้อจำกัดที่ไต้หวันเป็นเกาะขนาดเล็ก พื้นที่เพาะปลูกน้อย สภาพอากาศก็ไม่เอื้ออำนวย ทำนาได้แค่ปีละครั้ง จึงต้องพัฒนาการปลูกข้าวให้ดีที่สุด เพื่อนำไปเลี้ยงคนทั้งประเทศ”
“หันกลับมามองที่ไทย พวกเราโชคดีมาก มีทั้งดิน น้ำ อากาศ รวมถึงพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ซึ่งเป็นที่ยอมรับระดับโลก แค่โยนเมล็ดข้าวลงดินก็งอกแล้ว แต่การปลูกข้าวบ้านเรายังไม่พัฒนาเท่าบ้านเขา ผมเสียดายศักยภาพของไทยที่น่าจะไปได้ดีกว่านี้ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากทำนาหยอดในเขตทุ่งกุลาร้องไห้”
“การทำนาหยอดแห้งเหมาะกับภาคอีสานมาก โดยใช้วิธีเตรียมแปลงตอนนาแห้ง แล้วหยอดเมล็ดข้าวทิ้งไว้ อีก 2 อาทิตย์ เมื่อฝนมาข้าวก็จะงอกขึ้นเอง แล้วจึงค่อยให้ธาตุอาหารและจัดการโรคแมลงควบคู่ไป”
คุณสินเล่าให้ฟังว่า ช่วงแรกต้องเดินสายคุยกับเกษตรกรเยอะมาก เพื่อให้เข้าใจปัญหาและยอมรับการเปลี่ยนวิธีปลูกข้าว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยากมาก และรับรู้ได้ว่าทุกคนกลัว ไม่กล้าทำ เพราะถ้าล้มเหลว มันคือการเสียรายได้ทั้งปีเลย
“จุดเปลี่ยนสำคัญคือความสำเร็จของเกษตรกรหลายคนที่เข้าร่วมทดลองทำนาหยอด เพราะใช้เมล็ดพันธุ์แค่ 1 กิโลกรัมต่อ 1 ไร่ ลงทุนน้อยแต่ได้ผลผลิตเยอะ รายได้ก็เพิ่มขึ้น พอคนอื่นเห็นว่าทำสำเร็จได้จริงก็เริ่มเปิดใจลองทำตาม”
ในปี 2562 คุณสินได้ก่อตั้งโครงการศรีแสงดาวหมู่บ้านนาหยอดขึ้นมา เพื่อจัดอบรมและส่งเสริมการปลูกข้าวด้วยวิธีนาหยอด ทำให้มีเครือข่ายเกษตรกรที่ขยายวงกว้างและเป็นปึกแผ่นขึ้นเรื่อย ๆ
“การแข่งขันในตลาดโลกตอนนี้ดุเดือดมาก เกษตรกรไทยที่ยังทำนาอยู่ส่วนใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไปทั้งนั้น ลูกหลานเริ่มไม่อยากทำนาต่อแล้ว เริ่มเห็นการขายที่นามากขึ้น ผมกลัวว่าวันหนึ่งอาชีพชาวนาจะหายไป” คุณสินแสดงถึงความกังวล เพราะตระหนักดีว่า หากอาชีพเกษตรกรหายไป จะไม่ใช่แค่เรื่องโรงสีที่อยู่ไม่ได้ หรือผู้ส่งออกไม่มีข้าวไปขาย แต่มันหมายถึงความเสี่ยงเรื่องความมั่นคงทางอาหารของไทย
คุณพ่อประสิทธิ์ แผงอ่อน และคุณแม่ทองยศ แผงอ่อน สองสามีภรรยาที่เข้าร่วมโครงการศรีแสงดาว หมู่บ้านนาหยอด กลายเป็นที่พูดถึงอย่างมากในชุมชนเพราะประสบความสำเร็จตั้งแต่ปีแรกที่เปลี่ยนวิธีทำนา
“ที่ผ่านมาทำนาหว่านมาตลอด ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว 30 กิโลกรัมต่อไร่ และยังสิ้นเปลืองสารพัด พอเปลี่ยนมาเป็นนาหยอดใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวเพียง 1 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ผลผลิตกลับเพิ่มขึ้น มันทำได้จริง ๆ ดีใจที่ทำนาหยอดปีแรกก็สำเร็จเลย ข้าวสวยงามน่าพอใจมาก” พ่อประสิทธิ์พูดด้วยความภูมิใจ
แม่ทองยศยังเล่าให้ฟังด้วยว่า จริง ๆ แล้ว นาหยอดทำง่ายกว่านาหว่าน ไม่ว่าจะเป็นการไถพรวนดินเพื่อเตรียมแปลง การป้องกันวัชพืช เพราะหยอดข้าวใส่นาแห้ง ๆ พอฝนมา ดินได้น้ำ ต้นข้าวก็เริ่มงอก ออกรวงเป็นระเบียบสวยงาม ที่สำคัญต้นข้าวยังแข็งแรงสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยจากแมลงอีกด้วย
“ทำนาหยอดใช้ทุนน้อย แต่ได้ผลผลิตสูง ทุกวันนี้พอเห็นข้าวโตข้าวงามก็มีความสุข” แม่ทองยศทิ้งท้าย
ข้าวหอมทุ่งกุลาฯ ที่หอมไกลไปทั่วโลก
อีกหนึ่งความสำเร็จที่ไม่เอ่ยถึงคงไม่ได้ก็คือ แบรนด์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ตราศรีแสงดาว ซึ่งได้รับการจดทะเบียนให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) ชนิดแรกของประเทศไทยที่สหภาพยุโรป เครื่องหมายนี้เป็นสิ่งการันตีว่า ข้าวหอมมะลิศรีแสงดาวมีแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจงกับสิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ เช่น สภาพแวดล้อม ดิน ฟ้า อากาศ ตลอดจนทักษะความชำนาญและภูมิปัญญาของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์นั้น
แท้จริงแล้ว ต้นกำเนิดของข้าวหอมมะลิชนิดนี้มาจากข้าวพื้นเมืองหรือข้าวป่า พบครั้งแรกที่จังหวัดฉะเชิงเทรา มีการปรับปรุงพันธุ์และส่งเสริมการปลูกไปทั่วประเทศ แต่กลับมาโด่งดังที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ (ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ มหาสารคาม และศรีสะเกษ)
“จุดเด่นของข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ คือ ความหอม นุ่ม เมื่อทานคู่กับอาหารไทย จะช่วยชูรสชาติให้อร่อยยิ่งขึ้น” คุณสินกล่าวอย่างภาคภูมิใจที่แบรนด์ข้าวศรีแสงดาวเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยสู่ตลาดโลก
นอกจากนี้ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ภายใต้แบรนด์ข้าวศรีแสงดาว ยังมีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่​สวยงาม จากฝีมือของคุณสมชนะ กังวารจิตต์ นักออกแบบชื่อดังชาวไทย โดยใช้วัสดุรีไซเคิลจากแกลบ ซึ่งสามารถคว้ารางวัลมาได้จาก 18 เวทีทั่วโลก
“ประเทศไทยเราจดทะเบียนข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มาเกือบ 10 ปีแล้ว และล่าสุดเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมานี้เอง เราเพิ่งส่งออกแบรนด์ข้าวศรีแสงดาวไปยังยุโรปและตะวันออกกลาง ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของพวกเรามาก ๆ ใครจะคิดว่าชาวนากลุ่มเล็ก ๆ ที่นี่จะสามารถปลูกข้าวคุณภาพเยี่ยมส่งออกไปขายยังต่างประเทศ เพื่อทวงคืนศักดิ์ศรีของข้าวหอมมะลิไทยกลับคืนมาได้”
คุณแม่ทองม้วน สุดชารี หนึ่งในเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการศรีแสงดาวหมู่บ้านนาหยอด แบ่งผืนนาครึ่งหนึ่งของตนเองที่มีอยู่ 71 ไร่ มาทดลองทำนาหยอดตามคำชักชวนของคุณสิน
คุณแม่ทองม้วนเล่าให้ฟังว่า ก่อนเปลี่ยนมาทำนาหยอด ต้องลงทุนเยอะ แต่ได้ผลผลิตไม่เต็มที่ สิ้นเปลืองทุกอย่าง ตั้งแต่เตรียมแปลง พันธุ์ข้าว ค่าปุ๋ย และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกมากมาย พอได้ยินโครงการนี้เลยลองสมัครดู
“ช่วงแรกที่ทำ ชาวบ้านขี่รถผ่านมาก็พูดไปต่าง ๆ นานาว่า ปลูกต้นข้าวห่างแบบนี้ จะกินได้เหรอ ไถทิ้งเถอะ ไม่ได้ผลหรอก แต่พอเวลาผ่านไป ต้นข้าวโตสวยงามเป็นระเบียบ เขาก็เริ่มสนใจ และกลับมาบอกว่าปีหน้าอยากลองทำบ้าง”
“ตอนทำนาหว่านมีแต่หญ้าเต็มไปหมด พอมาทำนาหยอด หญ้าก็ลดลง จัดการง่ายขึ้น ลงแปลงง่าย ทำความสะอาดง่าย เพราะเว้นระยะห่าง 40 เซนติเมตร พอจัดการวัชพืชได้ ข้าวเราก็งาม เม็ดสวย ผลผลิตก็มากขึ้น” คุณแม่ทองม้วนอธิบายความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนให้ฟัง
“ต้องขอบคุณคุณสินที่เอาโครงการดี ๆ แบบนี้มาให้เกษตรกรบ้านเรา อยากชวนเพื่อนบ้านมาเข้าร่วมกันเยอะ ๆ เพื่อกู้ศักดิ์ศรีชาวนาทุ่งกุลาร้องไห้ เพราะอยากให้ข้าวหอมมะลิของเราคงอยู่ตราบนานเท่านาน”
คุณแม่พร เตยหล้า หรือแม่เปิ้ล อดีตพนักงานบริษัทเอกชนที่หวนคืนสู่บ้านเกิด เพื่อประกอบอาชีพเกษตรปลูกข้าวหอมมะลิ เล่าให้ฟังว่า โครงการศรีแสงดาวหมู่บ้านนาหยอดเป็นโครงการที่ดีมาก เพราะเขาเข้ามาช่วยเหลือชาวนาเรื่องการทำนาหยอดทุกขั้นตอน ตั้งแต่อบรมให้ความรู้ สอนวิธีเตรียมแปลง หยอดเมล็ดพันธุ์ข้าว ดูแลทำความสะอาด จัดการโรคแมลง จนถึงเก็บเกี่ยว
“ตอนแรกไม่สนใจนะ แต่พอได้ไปฟังเขาอบรมแล้วรู้สึกว่าน่าลองดูสักตั้ง เราทำปุ๋ยหมัก ตั้งใจจะปลูกข้าวอินทรีย์ ช่วงแรกที่ต้นข้าวยังไม่ขึ้นก็รู้สึกกลัว ไม่มั่นใจว่าจะได้ผลไหม แต่สุดท้ายปรากฏว่าได้ผล ข้าวเม็ดสวย คุณภาพดี จนเดี๋ยวนี้คนถามว่าทำไมข้าวในนาเราสวยจัง มีแต่คนมาขอเมล็ดพันธุ์ข้าวไปปลูก”
บทเรียนล้ำค่าจากหยาดเหงื่อและความอดทน
นับจากวันแรกที่ก้าวเข้ามาช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ด้วยการส่งเสริมให้ปลูกข้าวโดยใช้องค์ความรู้สมัยใหม่ ควบคู่กับเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร จนมาถึงวันนี้ก็ผ่านมา 6 ปีแล้ว คุณสินถือว่าประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ
สำหรับคุณสินมันเป็นประสบการณ์ที่เงินซื้อไม่ได้ โดยเฉพาะช่วงแรกที่เริ่มถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกร แต่พอได้สัมผัสพวกเขามากขึ้นก็เริ่มเข้าใจว่าชาวนาแต่ละคนก็มีพื้นฐานและความเชื่อที่แตกต่างกัน
“ผืนนาคือชีวิตทั้งชีวิตของเขา คือรายได้ตลอดทั้งปี” คุณสินสรุป พร้อมย้ำว่าการถ่ายทอดวิธีคิดใหม่ ๆ ให้กับชาวนาต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป
“ผมภูมิใจมากที่วันนี้โครงการศรีแสงดาวหมู่บ้านนาหยอดได้เดินทางมาไกลถึงปีที่ 6 แล้ว เอาจริง ๆ เกือบล้มเลิกตั้งแต่ปีแรกด้วยซ้ำ แต่เพราะเราสั่งสมความรู้มาเยอะ และคิดว่าถ้าไม่ได้ถ่ายทอดออกไปคงเสียดายแย่ ทุกครั้งที่เหนื่อย ผมถามตัวเองตลอดว่าเรามาทำอะไรที่นี่ แต่พอคิดถึงคุณภาพชีวิตของชาวนาที่จะดีขึ้น เศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคงขึ้น ก็ตั้งหน้าตั้งตาทำต่อไป เท่าที่จะทำไหว” คุณสินเล่าเกี่ยวกับหยาดเหงื่อและความอดทนที่ต้องต่อสู้กับความคิดของตัวเองตลอดเส้นทางที่ผ่านมา
หนุ่มเจ้าของโรงสีหยุดบทสนทนาชั่วครู่ พลางหันไปมองทุ่งข้าวสีเขียวที่พลิ้วไปตามแรงลม ต้นข้าวเรียงแถวแนวยาวสุดลูกหูลูกตา ภาพที่เห็นเบื้องหน้านี้คือความคิดที่เคยวาดไว้ในหัว ทว่าวันนี้มันก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างและจับต้องได้จริง ๆ ไม่ใช่แค่ความฝันเหมือนในอดีตแล้ว
ปัจจุบันโครงการศรีแสงดาวหมู่บ้านนาหยอดมีเกษตรกรในพื้นที่รอบโรงสีและนอกพื้นที่เข้าร่วมโครงการกว่า 60 รายแล้ว รวมพื้นที่ปลูกข้าวมากกว่า 2,000 ไร่ โดยมีเป้าหมายที่ต้องการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวออกไปเป็น 6,000 ไร่
“ตอนนี้เรากำลังขยายฐานเกษตรกรเพื่อมาช่วยกันนำพาข้าวหอมมะลิของเราไปสู่ตลาดโลก มองไปทีไรก็ภูมิใจ ไม่เคยคิดว่าจะมาไกลได้ขนาดนี้ และไม่เคยคิดด้วยว่าชีวิตเราจะมาส่งเสริมเกษตรกร จนสามารถสร้างเครือข่ายเกษตรกรที่เข้มแข็งแบบนี้ได้”
จากจุดเริ่มต้นที่อยากให้เกษตรกรไทยปรับเปลี่ยนทัศนคติและวิธีการทำนาในรูปแบบใหม่ สู่การก่อตั้งแบรนด์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ที่ส่งออกสู่ตลาดโลก ทั้งหมดนี้คือแรงบันดาลใจของชายที่ชื่อ “สินสมุทร ศรีแสนปาง” ทายาทรุ่นสองแห่งโรงสีศรีแสงดาว ผู้อยู่เบื้องหลังการกอบกู้อาชีพเกษตรกรไทย ให้กลับมายืนด้วยลำแข้งของตัวเองอีกครั้ง พร้อมกับยกระดับมาตรฐานการปลูกข้าวของไทยให้สูงขึ้น
โครงการ Bright Spot
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ “อีสาน” เป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่มากถึง 1 ใน 3 ของประเทศไทย และมีประชากรมากที่สุดในประเทศ แต่กลับสร้างรายได้เพียง 1 ใน 10 ของรายได้ประเทศ มิหนำซ้ำรายได้ต่อหัวก็ต่ำที่สุดในประเทศด้วย ประชากรส่วนใหญ่ในภูมิภาคประกอบอาชีพเกษตรกรปลูกข้าว ที่ต้องเผชิญปัญหารายได้ไม่แน่นอนและมีหนี้สิน การปลูกข้าวแบบดั้งเดิมอาจไม่ตอบโจทย์กับผู้คนชาวอีสาน
ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส และทีมงานธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและต้องการเริ่มต้นแก้ไขปัญหานี้ เพราะการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ จึงริเริ่มโครงการ Bright Spot เพื่อเฟ้นหา “คนอีสานต้นแบบ” ที่ประสบความสำเร็จและสามารถเป็นบุคคลต้นแบบได้
และ ธปท. จะคอยเป็นตัวกลางในการนำพาให้ประชากรในพื้นที่ต่าง ๆ ได้เจอกับคนอีสานต้นแบบ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด ให้ความรู้ และได้รู้จักกัน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนอีสานว่าเราสามารถสร้างชีวิตที่ดีขึ้นได้ ทั้งด้านอาชีพ รายได้ ความเป็นอยู่ และการบริหารจัดการเงิน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา