11 พ.ย. เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ธนาคารกลางยุคใหม่ กับการทำงานร่วมกับประชาชน เพื่อตอบโจทย์ให้ตรงจุด

ในโลกเศรษฐกิจการเงินปัจจุบัน คำว่า “ดิสรัปชัน” ถูกใช้บ่อยมากที่สุดคำหนึ่ง แต่ถึงอย่างนั้น คงไม่มีใครกล้าพูดว่า เราใช้คำนี้อย่างฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็น หากดู 4 ปีที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจต้องเผชิญกับความท้าทายจากทั้งเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดและเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด
เช่น การระบาดของโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบทั้งในด้านสุขภาพและเศรษฐกิจทั่วทั้งโลก วิกฤตภูมิรัฐศาสตร์ที่กลายเป็นสงครามจริงในหลายภูมิภาคและกำลังขยายความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งยังมีเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายประเทศที่ส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจในประเทศนั้น ๆ โดยตรงอีก
ท่ามกลางความผันผวนและท้าทายของโลกเช่นนี้ หลายคนอาจตั้งคำถามว่า “ธนาคารกลางในฐานะผู้ดูแลเศรษฐกิจการเงินของประเทศจะรับมือได้จริงหรือ?”
แท้จริงแล้ว ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกต่างตระหนักถึงความท้าทายและความผันผวนของโลกเป็นอย่างดี โดยเล็งเห็นว่า วิธีการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจแบบเดิมที่นั่งวิเคราะห์สถิติและตัวเลขและตัดสินใจอยู่ในห้องประชุมเริ่มตอบโจทย์ได้จำกัดมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกับประชาชน หยิบข้อมูลจากคนทำธุรกิจและประชาชนทั่วไป เพื่อให้การตัดสินใจเชิงนโยบายสอดคล้องกับ “ผลประโยชน์ของประชาชน” มากที่สุดเพราะนี่คือเป้าหมายสูงสุดของการดำเนินงานของธนาคารกลาง
วารสารพระสยาม BOT MAGAZINE ขอชวนไปสำรวจตัวอย่างการทำงานของธนาคารกลางในหลายประเทศ ที่เน้นการทำงานร่วมกับประชาชน และมองหาวิธีการใหม่ ๆ ในการทำงานร่วมกับประชาชน เพื่อการดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด
คุณถาม ธนาคารกลางตอบ : การทำธนาคารกลางเข้าถึงประชาชนมากขึ้นของธนาคารกลางมาเลเซีย
หนึ่งในความท้าทายสำคัญของธนาคารกลางคือ การสื่อสารกับประชาชนทั่วไป เพราะการทำนโยบายการเงินมักจะมีความซับซ้อนและยากที่ประชาชนจะทำความเข้าใจ ในอดีตการทำนโยบายจึงถูกมองว่าเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ความรู้ความเข้าใจของสาธารณะต่อนโยบายการเงินเป็นส่วนสำคัญของนโยบายการเงินเสมอ เพราะหากประชาชนเกิดความสับสน ไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิด ก็ย่อมทำให้นโยบายนั้น ๆ ไม่เกิดประสิทธิผล หรือกระทั่งอาจก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชน
ตัวอย่างของการปรับปรุงการสื่อสารที่โดดเด่น มาจากธนาคารกลางมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia: BNM) ที่ได้พัฒนาโครงการสื่อสารที่เน้นการให้ข้อมูลอย่างง่ายและตรงประเด็นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน BNM มีกลยุทธ์สำคัญคือ (1) การทำให้ธนาคารกลางเข้าถึงผู้คนได้มากยิ่งขึ้น และ (2) การเปลี่ยนฐานผู้ติดตามในโซเชียลมีเดียให้กลายเป็น “แฟนคลับ” ที่สนับสนุนธนาคารกลาง
โครงการ “Anda Tanya, BNM Jawab” หรือ “คุณถาม BNM ตอบ” เป็นหนึ่งในตัวอย่างของความพยายามที่จะเชื่อมโยงกับประชาชน โดยประชาชนสามารถถามคำถามเกี่ยวกับนโยบายต่าง ๆ ที่ซับซ้อนได้ เช่น อัตราดอกเบี้ย (OPR) และผลิตภัณฑ์ทางการเงิน โครงการนี้ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและเข้าใจข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเงินและเศรษฐกิจได้อย่างง่ายดาย
นอกจากนี้ BNM ยังใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางสำคัญในการสื่อสาร เช่น โครงการ “Amaran Scam” ซึ่งเป็นการเตือนภัยเกี่ยวกับการฉ้อโกงการเงินที่ได้รับความนิยมอย่างมาก การที่ธนาคารกลางใช้วิธีการเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้ข้อมูลเข้าถึงประชาชนได้ง่ายขึ้น แต่ยังช่วยสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นต่อธนาคารกลางมากขึ้นด้วย ในช่วงปี 2565 BNM ได้สร้างสรรค์คอนเทนต์ที่หลากหลายบนแพลตฟอร์มอย่าง Facebook และ Instagram ทำให้มีการรับชมมากถึง 4.9 ล้านครั้ง
ธนาคารกลาง “เพื่อน” ของภาคธุรกิจ : Business Liaison Program ของธนาคารกลางออสเตรเลีย
ธนาคารกลางออสเตรเลีย (Reserve Bank of Australia: RBA) ได้พัฒนาแนวทางการทำงานที่เน้นการสร้างความสัมพันธ์กับภาคธุรกิจเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจผ่านโครงการ Business Liaison Program (BLP) ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2544 โดยใช้แนวทางจาก BLP ที่เป็นเครื่องมือสำคัญของกระทรวงการคลังออสเตรเลียในการรวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบธุรกิจและอุตสาหกรรมสำคัญเพื่อใช้ในการพยากรณ์เศรษฐกิจ
ที่ผ่านมา RBA ถูกวิจารณ์จากสาธารณะว่า “พวกเขาย่อมไม่มีวันเข้าใจคนทำมาหากิน” อาทิ เจ้าของฟาร์มเล็ก ๆ ในบริสเบนที่กำลังเจอกับสภาพอากาศที่แปรปรวนและความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร โครงการ BLP เริ่มต้นขึ้นเพื่อเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพจากภาคธุรกิจในหลายภาคส่วน
โดยนำข้อมูลที่ได้จากการพูดคุยกับธุรกิจเหล่านี้ มาใช้เป็นส่วนสำคัญในการวางแผนและคาดการณ์เศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลเชิงสถิติที่อาจไม่สามารถสะท้อนภาพเศรษฐกิจทั้งหมดได้ การติดต่อกับภาคธุรกิจนี้ทำให้ RBA สามารถรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการจ้างงาน การผลิต การลงทุน และการค้าขายได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วและในเชิงลึกมากขึ้น
กระบวนการทำงานภายใต้โครงการ BLP มิใช่แค่การลงไปเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการและนักธุรกิจเท่านั้น แต่เป็นการทำงานกับประชาชนอย่างใกล้ชิดในระยะยาว มีกระบวนการเก็บข้อมูลเชิงลึกที่เกิดขึ้นเป็นประจำตลอดทั้งปี นอกจากนี้ RBA ยังเลือกวิธีการสื่อสารแบบ “สองทาง” โดยสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถแสดงความคิดเห็น วิจารณ์ รวมไปถึงเสนอแนะนโยบายของธนาคารกลางได้อย่างอิสระอีกด้วย
นอกจากนี้ โครงการ BLP ยังได้ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเข้าใจเกี่ยวกับการวางแผนนโยบายเศรษฐกิจของธนาคารกลาง โดยการให้ข้อมูลที่ชัดเจนและเน้นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง ธนาคารกลางจึงสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจและสามารถตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมได้ทันการณ์
(ดูข้อมูลเกี่ยวกับ BLP ได้ที่ https://www.rba.gov.au/publications/bulletin/2022/sep/the-reserve-banks-liaison-program-turns-21.html)
ถอดสลักหนี้ครัวเรือน : การทำงานร่วมกันของประชาชนและธนาคารกลาง
หนี้ครัวเรือนเป็นหนึ่งในปัญหาที่ท้าทายในการทำงานของธนาคารกลางมากที่สุด เพราะธนาคารกลางไม่มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาหนี้ให้กับประชาชนโดยตรง และไม่มีนโยบายการเงินใดที่แก้ไขปัญหาหนี้ได้อย่างชะงัก
ตรงกันข้าม การเข้าไปแทรกแซงอย่างไม่ระมัดระวัง เช่น ลดหนี้ หรือลดเพดานขั้นต่ำในการชำระหนี้ ก็อาจก่อให้เกิดปัญหา “การบิดเบือนแรงจูงใจ (moral hazard)” ทำให้ลูกหนี้ที่ไม่ได้ประสบปัญหา หรือพอจะแก้ปัญหาได้ เปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ไม่พึงประสงค์ จนทำให้ปัญหาแย่ลง ดังนั้น ปัญหาหนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือในหลายระดับทั้งจากสถาบันการเงิน หน่วยงานอื่นของรัฐบาล และลูกหนี้
กระนั้น ธนาคารกลางหลายแห่งก็แสดงเจตจำนงและพยายามอย่างมากในการแก้ปัญหาหนี้ให้กับประชาชน ด้วยตระหนักดีว่า หากประชาชนยังคงต้องเผชิญกับปัญหาหนี้ การดำเนินนโยบายการเงินก็จะสามารถทำได้อย่างจำกัด เพราะต้องระมัดระวังไม่ให้กลุ่มลูกหนี้ถูกซ้ำเติมจากนโยบายโดยไม่ตั้งใจ
BNM หรือธนาคารกลางมาเลเซียเป็นหนึ่งในธนาคารกลางที่จัดการหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้จัดตั้งหน่วยงาน Agensi Kaunseling dan Pengurusan Kredit (AKPK) ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาหนี้ให้กับประชาชนโดยเฉพาะ โดยหนึ่งในโครงการเรือธงของ AKPK คือ Debt Management Programme (DMP) ที่มุ่งช่วยให้ประชาชนสามารถจัดการและชำระหนี้ได้อย่างเป็นระบบ
หัวใจสำคัญของ DMP คือ การทำงานกับลูกหนี้อย่างใกล้ชิด โดยเน้นการให้คำปรึกษาและช่วยวางแผนการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ไม่สามารถจัดการหนี้ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งรวมถึงการเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อหาทางออกที่เป็นธรรม การที่ AKPK ทำงานร่วมกับสถาบันการเงินและลูกหนี้อย่างใกล้ชิดทำให้สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ตามความสามารถของลูกหนี้ที่มีอยู่จริง ส่งผลให้ลูกหนี้มีโอกาสชำระหนี้ได้ดีขึ้นและลดปัญหาหนี้เสียในระบบธนาคารลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
สถิติในปี 2565 แสดงให้เห็นว่า DMP ของ AKPK สามารถช่วยลูกหนี้ได้กว่า 50,000 ราย คิดเป็นมูลค่าหนี้รวมกว่า 15,000 ล้านบาท ตั้งแต่เริ่มโครงการ ที่สำคัญคือ AKPK ยังเก็บรวบรวมองค์ความรู้ในการแก้หนี้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา และยังทำงานเผยแพร่ความรู้ด้านการบริหารเงินส่วนบุคคลผ่านการอบรมและสื่อมวลชนเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไป โครงการนี้จึงไม่เพียงแค่ช่วยลูกหนี้ในระยะสั้นเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างนิสัยการใช้จ่ายที่เหมาะสมและการวางแผนการเงินที่ดีในระยะยาวอีกด้วย
ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore: MAS) เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ดำเนินนโยบายแก้หนี้ โดยลงมาทำงานกับประชาชนในหลายช่องทาง ที่โดดเด่นได้แก่ การทำงานร่วมกับ Credit Counselling Singapore (CCS) องค์กรภาคประชาชนที่ทำงานช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้มากว่า 20 ปี
โดยในเว็บไซต์ทางการของ MAS ได้ให้คำแนะนำกับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างชัดเจนว่า CCS เป็นหน่วยงานทางเลือกที่ลูกหนี้สามารถเข้าไปขอความช่วยเหลือได้ หากพบว่ามาตรการหลักของ MAS ไม่ตอบโจทย์ตนเอง (ดูแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ของ MAS ได้ที่ https://www.mas.gov.sg/covid-19/frequently-asked-questions)
ทั้งนี้ MAS ทำงานร่วมกับ CCS โดยเน้นการให้ความรู้ทางการเงิน และสนับสนุนการจัดการหนี้ผ่านโปรแกรม DMP ซึ่งเป็นกระบวนการที่ให้คำปรึกษาลูกหนี้ และทำงานร่วมกับเจ้าหนี้เพื่อจัดทำแผนการชำระหนี้ที่เหมาะสมและเป็นธรรมเช่นเดียวกับ AKPK ในมาเลเซีย โดยโปรแกรมของ CCS จะช่วยให้ลูกหนี้สามารถเจรจาและปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ของตนเองและลดภาระดอกเบี้ยที่สูงเกินไปได้
หนึ่งในหัวใจสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่าง MAS และ CCS คือการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินส่วนบุคคล โดย CCS จัดการอบรมและสัมมนาที่ครอบคลุมทั้งเรื่องของการสร้างงบประมาณส่วนบุคคล การวางแผนการใช้จ่าย และการหลีกเลี่ยงหนี้ที่ไม่จำเป็น แนวทางนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้ประชาชนสามารถจัดการหนี้ได้ในระยะสั้น แต่ยังสร้างความรู้สึกด้านความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวด้วย
3 ช่องทาง ให้คำปรึกษา-แก้ไขปัญหาหนี้
ธปท. ให้ความสำคัญกับปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างมากและได้จัดให้มีช่องทางร้องเรียน ปรึกษาปัญหาหนี้ และช่วยหาทางเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้ได้แก้ไขและพร้อมเริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน โดยแต่ละช่องทางถูกจัดไว้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ดังนี้
ธนาคารกลางในโลกยุคใหม่ คือธนาคารกลางเพื่อประชาชน
การทำงานของธนาคารกลางในโลกยุคใหม่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการออกนโยบายการเงินเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ต้องเป็นองค์กรที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับประชาชนและภาคธุรกิจ การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ การมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นต่อธนาคารกลาง ซึ่งช่วยให้ธนาคารกลางสามารถออกนโยบายที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจจริงได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น
บทบาทที่เปลี่ยนไปของธนาคารกลางในโลกยุคใหม่นี้จะไม่เพียงแต่ช่วยให้ธนาคารสามารถรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้ตามพันธกิจดั้งเดิมของธนาคารกลาง แต่ยังช่วยให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินนโยบายการเงินอย่างยั่งยืนด้วย
ข้อมูลอ้างอิง :
- Strategic Communications in a Digital World, Building public trust and engaging with the public I Shasha Kartini Ridzam, CCBS webinar, 2024
- Engaging Malaysians I BNM, 2023
- Over 50,000 youths in debt due to credit cards, loans worth close to RM2b in total I AKPK, 2024

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา