26 ต.ค. 2024 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เสริมแกร่งท้องถิ่นไทย ทางออกที่ใช่ เพื่อเศรษฐไทยโตอย่างยั่งยืน

10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยโต แต่ไม่ได้ทำให้รายได้ครัวเรือนโตเท่าที่ควร เห็นได้จากดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเงิน (Nominal GDP) โตขึ้นถึง 80% แต่รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนในภาคเหนือ อีสาน และใต้ กลับโตช้ากว่า1
ในด้านธุรกิจก็คล้ายกัน คือ รายได้กระจุกที่ธุรกิจขนาดใหญ่ โดย 5% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมดเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ แต่กลับมีรายได้เกือบ 90% ของรายได้ของธุรกิจทั้งหมด ขณะที่ธุรกิจเกิดใหม่อายุน้อยกว่า 5 ปี เลิกกิจการสูงขึ้น2 จึงไม่แปลกที่ถ้าวันนี้เราเดินไปตามถนน จะเห็นร้านค้าเปิดใหม่มากมาย แต่พอผ่านไปไม่นาน ร้านค้าหน้าใหม่ก็มาแทนที่
1
นอกจากนี้ ในระดับประเทศ ไทยพึ่งโลกเท่าที่ผ่านมาไม่ได้ จากสัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศต่อทั้งโลกโดยเฉลี่ยในปี 2544-2548 ของไทยสูงกว่าเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แต่ล่าสุดปี 2565 สัดส่วนดังกล่าวของไทยใกล้เคียงเดิม แต่ประเทศอื่นกลับเพิ่มขึ้น
หนึ่งในทางออกที่ “ใช่”
เราต้องโตจากท้องถิ่นให้มากขึ้น ไทยจะโตแบบเดิมไม่ได้ เพราะเป็นการโตแบบกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่ บางกลุ่มคน ซึ่งจะไม่ยั่งยืน โดยโอกาสที่จะเห็น กทม. โตในอัตราสูง ๆ จะมีน้อยแล้ว เห็นได้จากอัตราการเติบโตของ GDP ต่อหัวของคน กทม. ในปัจจุบันอยู่ที่ 0.22%3 เท่านั้น ดังนั้น เราต้องโตอยู่บนฐานที่กว้างขึ้นกว่าเดิม เพราะทั้งประชากรและธุรกิจราว 80% ของประเทศ อยู่นอก กทม. และปริมณฑล
อย่างไรก็ดี ท้องถิ่นต้องโตแบบแข่งขันได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่ยั่งยืน เช่น ถ้าไทยจะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เราก็ต้องแข่งกับต่างประเทศได้ เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติเลือกไปเที่ยวที่ใดก็ได้ในโลก
การทำให้ท้องถิ่นแข่งขันได้ มีความท้าทายอยู่อย่างน้อย 3 ด้าน
ด้านแรก คนในท้องถิ่นอยู่แบบกระจายตัว ไม่ได้อยู่กันหนาแน่นแบบ กทม. เห็นได้จาก กทม. มีประชากรกระจุกตัวถึง 3,503 คนต่อตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) สูงกว่าภาคเหนือ 71 ภาคอีสาน 129 และภาคใต้ 134 คนต่อ ตร.กม.4 ซึ่งหลายคนชอบอยู่ที่ท้องถิ่นก็เพราะความสงบไม่แออัดวุ่นวาย แต่สำหรับคนทำธุรกิจแล้วอาจรู้สึกว่า ถ้าทำธุรกิจในท้องถิ่นจะจับตลาดขนาดใหญ่ได้ลำบากกว่าใน กทม.
ด้านที่สอง กว่า 90% ของธุรกิจท้องถิ่นส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก5 และ
ด้านที่สาม ท้องถิ่นมีภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมที่หลากหลาย เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนกับสภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทยมีมากกว่า 40 กลุ่ม และอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ ทั้งชาวเขาในภาคเหนือ ชาติพันธุ์ในพื้นราบ และชาวเลในภาคใต้ ความท้าทายทั้ง 3 ด้านนี้ ทำให้คนในท้องถิ่นรวมตัวกันได้ยาก เลยผลิตสินค้าและบริการได้ไม่มาก ต้นทุนก็จะสูง ท้องถิ่นจึงแข่งขันได้ยาก
ท้องถิ่นที่แข่งได้มีลักษณะอย่างไร?
ในระยะหลัง เรามักเห็นสินค้าหรือบริการของท้องถิ่นที่ขายได้ดี จะมาจากการใช้เอกลักษณ์ของท้องถิ่นหรือจุดแข็งของพื้นที่ ทั้งด้านทรัพยากร ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และภูมิปัญญาของท้องถิ่น แต่การอาศัยเพียงเอกลักษณ์หรือจุดแข็งของท้องถิ่นอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้ท้องถิ่นแข่งขันได้
แต่ท้องถิ่นต้องมีความเป็นสากลเข้ามามากขึ้นด้วย เพราะจะช่วยขยายตลาด ทำให้คนต้องการสินค้าหรือบริการของท้องถิ่นมากขึ้น เมื่อผลิตมากขึ้น ต้นทุนก็จะต่ำลง ท้องถิ่นจึงจะแข่งได้ ซึ่งการแข่งขันในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแข่งขันกันเองในประเทศไทย แต่หมายถึงแข่งขันกับโลกได้ ซึ่งเราอาจเรียกว่าเป็น “ท้องถิ่นที่สากล” (Globally Competitive Localism)
ทำอย่างไรให้ท้องถิ่นแข่งขันได้ หรือให้เป็นท้องถิ่นที่สากล?
การจะสร้างท้องถิ่นที่สากลคงมีหลายองค์ประกอบ แต่ที่จำเป็นน่าจะมีอย่างน้อย 6 เรื่อง ได้แก่
(1) การสร้างมูลค่าเพิ่ม ยกคุณภาพให้สูงขึ้น จากการใช้จุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ให้เป็นประโยชน์
(2) การเชื่อมกับตลาด เพราะท้องถิ่นอยู่อย่างกระจายตัวค่อนข้างมาก ไม่มีการประหยัดต่อขนาด ทำให้การเข้าถึงตลาดมีต้นทุนสูง โอกาสที่จะแข่งขันได้จึงมีน้อยมาก ดังนั้น ต้องเชื่อมกับตลาดโลก
(3) การร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ แบบตัวเล็กจับมือกับตัวใหญ่ โดยนำจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาหาประโยชน์ร่วมกัน หาสิ่งที่เป็น win-win
(4) การสร้างการกระจุกตัวใหม่ ๆ ทำให้เมืองรองโตได้ ไม่ใช่การกระจายความเจริญแบบทั่วไป กระแสคนเข้าเมืองแม้จะจำเป็น แต่ไม่ใช่เข้ามาในเมืองใหญ่ ๆ อย่าง กทม. หรือปริมณฑล ที่เป็นเมืองใหญ่อยู่แล้ว แต่ที่สำคัญคือ การยกระดับเมืองรอง
(5) การทำให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการตัวเองได้มากขึ้น (empowerment) เพราะสิ่งที่ส่วนกลางทำแบบ one-size-fits-all จะไม่เกิดผลตามที่ต้องการ และแต่ละที่มีความหลากหลายแตกต่างกัน นโยบายจึงต้องปรับให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ และ
(6) การสร้างระบบติดตามพัฒนาการหรือความเจริญของท้องถิ่น เช่น การจัดทำดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันของแต่ละจังหวัด (Provincial Competitiveness Index) ของเวียดนาม ที่สำรวจความเห็นจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศกว่า 10,000 ราย ทั้งเรื่องกฎระเบียบในการทำธุรกิจและความยากง่ายในการทำธุรกิจ เพื่อนำมาจัดทำอันดับให้คนเห็นว่าท้องถิ่นมีการเปรียบเทียบกัน เหมือนการแข่งขันที่จะพัฒนาไปสู่ระดับสากลได้
ตัวอย่างธุรกิจที่สากล
จากเศษไม้ ... แต่ไปไกลได้ถึง Milan Design Week ตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างของธุรกิจในภาคเหนือ โดยเมื่อปี 2566 แบงก์ชาติสำนักงานภาคเหนือได้เชิญ คุณวีรดา ศิริพงษ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Carpenter มาร่วมแชร์ประสบการณ์ ในหัวข้อ สร้างความยั่งยืนแบบคนรุ่นใหม่ สู่การยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่
คุณวีรดาเล่าว่า การก่อตั้งบริษัทเริ่มต้นจากศูนย์ ด้วยแนวคิดการนำเศษไม้ที่เหลือจากการทำประตู หน้าต่าง กระสอบละ 5 บาท มา upcycle ประดิษฐ์เป็นข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ตั้งแต่เครื่องเขียน สเกลไม้ ปฏิทิน โต๊ะ เก้าอี้ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ดีไซน์ที่มีเอกลักษณ์ สร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 500 บาทต่อชิ้น
ในช่วงแรกคุณวีรดาใช้เพียง Facebook เป็นช่องทางในการรับสั่งซื้อสินค้า (pre-order) เพราะเป็นช่องทางที่ไม่ต้องใช้เงินทุน ถ้าไปต่อไม่ได้ ก็แค่ปิดเพจไป แต่พอเริ่มทำจริง กลับได้รับความสนใจจากลูกค้าเป็นอย่างดี จนบริษัทผ่านการคัดเลือกจากกระทรวงพาณิชย์ให้ไปจัดแสดงสินค้าที่ Milan Design Week ที่อิตาลี ซึ่งช่วยเปิดโอกาสให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในตลาดโลก
คุณวีรดาเล่าว่า ช่องทางออนไลน์มีบทบาทสำคัญ ทั้งช่วยเพิ่มการรับรู้ การเข้าถึง และติดต่อกับลูกค้าก็ทำได้ง่าย ทำให้บริษัทขยายตลาดและส่งออกไปได้หลายทวีป บางประเทศไม่เคยเดินทางไปพบลูกค้าเลยด้วยซ้ำ
อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ ทางบริษัทร่วมกับชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่นำเอกลักษณ์ของท้องถิ่นภาคอื่น ๆ มาผสมผสาน อาทิ ร่วมมือกับกลุ่มสตรีมุสลิมบ้านจักสานบ้านโคกพยอม จังหวัดนราธิวาส ผลิตโคมไฟไม้ที่เป็นงานสานกระจูด ผสมเข้ากับจุดเด่นของแบรนด์ Carpenter และด้วยความมีเอกลักษณ์นี้เอง ทำให้ผู้บริหารแบรนด์ใหญ่เคยมาคุยกับคุณวีรดาว่า ถ้าเขาจะทำแข่ง มันไม่ยาก มีทั้งไม้และอุปกรณ์ในการทำไม้ แต่มันเป็นซิกเนเจอร์ของ Carpenter ไปแล้ว เขาเลยไม่ทำ
ตัวอย่างเกาะเชจู ประเทศเกาหลีใต้
จากเกาะห่างไกล ที่ลี้ภัยนักโทษการเมือง ... จนกลายเป็นสถานที่ที่รู้จักกันทั่วโลก จากภาพยนตร์เกาหลี จะเป็นที่ไหนไปไม่ได้เลย นั่นคือ เกาะเชจู ประเทศเกาหลีใต้ ในปี 2533 เกาะนี้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพียง 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เพิ่มขึ้น 10 เท่า เป็น 15-17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566 เพราะนโยบายออกแบบมาจากพื้นที่
ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ที่ไปศึกษาตำนานเกาะเชจู (Folklore) เพื่อนำวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์มาสร้างเป็นเรื่องราว นอกจากนี้ เกาะเชจูยังเป็นเกาะที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดย UNESCO ด้านธรรมชาติที่งดงาม เช่น ภูเขาฮัลลาซาน (Hallasan) ที่เป็นภูเขาไฟที่สูงที่สุดในเกาหลีใต้ เกาะนี้จึงเป็นสถานที่ที่แตกต่างจากที่อื่น จนติด Top 10 แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในเกาหลีใต้
ดังนั้น รูปแบบการเติบโตของเราต้องเปลี่ยนไปเป็นแบบ “เน้นท้องถิ่นมากขึ้น ให้เป็นท้องถิ่นที่สากล” เพื่อให้เกิดการเติบโตที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนดีขึ้น เพราะท้องถิ่นที่แข่งขันได้จะทำให้ประโยชน์กระจายไปถึงคนในวงกว้างมากขึ้น ทั่วถึงมากขึ้น (more inclusive) และช่วยให้การเติบโตของเรามีความยืดหยุ่น (resilience) มากขึ้น ยั่งยืนมากขึ้น เพราะการเติบโตของเราจะอยู่บนฐานที่กว้างขึ้น และหลากหลายขึ้น ไม่ได้อยู่บนฐานที่แคบแบบเดิม
สุดท้ายนี้ ผู้ที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับท้องถิ่น สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในพระสยาม BOT Magazine ฉบับที่ 2 ปี 2566 “ประเทศไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ” ซึ่งในนั้นเราจะเล่าเรื่องราวที่สะท้อนพลังจากท้องถิ่น ทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ในหลากหลายแง่มุม ได้ที่...
เรื่อง : รุจา อดิศรกาญจน์ และ ดวงทิพย์ ศิริกาญจนารักษ์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา