24 ต.ค. 2024 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เข้าใจหนี้ เข้าใจเกษตรกร (อีสาน) : เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมกับการแก้หนี้อย่างเข้าใจมนุษย์

เบิ่งหนี้ นักสู้อีสาน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ “อีสาน” ได้ชื่อว่าเป็นภาคที่มีพื้นที่มากที่สุด และมีประชากรประกอบอาชีพเกษตรกรมากที่สุด ทว่าผืนดินอีสานกลับอุดมสมบูรณ์น้อยกว่าพื้นที่อื่น ๆ และยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศอยู่เสมอ การต้องต่อสู้ดิ้นรนในสภาพเช่นนี้ ส่งผลให้คนอีสานมักได้สมญานามว่า “นักสู้”
อย่างไรก็ตาม ภายใต้โครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจที่อาจไม่เอื้ออำนวย บ่อยครั้งความพยายามดิ้นรนต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีจึงนำไปสู่การตัดสินใจกู้หนี้ยืมสินเพื่อต่อลมหายใจทางเศรษฐกิจ กระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของพี่น้องเกษตรกรอีสาน ข้อมูลล่าสุดจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ระบุว่า กว่า 93% ของเกษตรกรภาคอีสานมีหนี้สิน และกว่าครึ่งอยู่ในภาวะที่เรียกว่า “หนี้เรื้อรัง” ซึ่งไม่ใช่แค่ปัญหาเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญ
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
มรดกหนี้ : เมื่อพ่อแม่ส่งต่อหนี้ให้ลูกหลาน
หากพูดแบบเข้าใจง่าย “หนี้เรื้อรัง” ก็คือหนี้ที่ผู้กู้ไม่สามารถปิดจบหนี้ให้หมดได้ ทั้งการไม่สามารถจ่ายคืนหนี้เก่าได้หมด และการกู้ยืมหนี้ใหม่ต่อวงจรหนี้ไปเรื่อย ๆ จากการศึกษาพบว่า เกษตรกรอีสานกว่า 53.3% อยู่ในภาวะหนี้เรื้อรัง ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศซึ่งอยู่ที่ 49.7% และมีเพียง 10.4% ของเกษตรกรอีสานเท่านั้นที่สามารถชำระหนี้ได้อย่างปกติ
นอกจากนี้ ยังมีเกษตรกรที่จ่ายได้แต่ดอกเบี้ยจนดอกเบี้ยที่ได้จ่ายไปสูงกว่าเงินต้นที่ต้องจ่ายแล้ว ความท้าทายสำคัญในกรณีหนี้เรื้อรังคือ เกษตรกรส่วนใหญ่มีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้หมดจนอาจแก่ตายไปกับหนี้ และหนี้ที่เป็นอยู่จะกลายเป็นมรดกที่ส่งต่อให้กับลูกหลาน
ภาวะหนี้เรื้อรังในเกษตรกรชาวอีสานนี้มักเกิดขึ้นเพราะรายได้ที่ไม่แน่นอน เพราะส่วนใหญ่ยังคงทำการเกษตรแบบพึ่งพิงธรรมชาติเป็นหลักในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ทำให้เกษตรกรต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน เช่น ภัยแล้งและฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ นอกจากนี้ แม้จะมีบางปีที่ฟ้าฝนดี แต่ราคาผลผลิตกลับตกต่ำจากผลกระทบของปัจจัยภายนอก เช่น สถานการณ์โรคระบาด ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้
นอกจากปัญหารายได้แล้ว หลายคนยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทางสังคมที่สูง ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในงานบุญ งานบวช งานแต่ง และการเสี่ยงโชค ข้อมูลจากการศึกษาพบว่าเกษตรกรภาคอีสานมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายเพื่อสังคมและนันทนาการสูงกว่าภาคอื่น ๆ1 ค่าใช้จ่ายเหล่านี้กดดันให้เกษตรกรต้องกู้ยืมเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันด้วย และส่งผลให้ภาระหนี้ทวีคูณขึ้นไปอีก
หมุนหนี้ : ตอบโจทย์เฉพาะหน้า แต่สร้างปัญหาระยะยาว
นอกเหนือจากปัญหาด้านรายได้แล้ว พฤติกรรมทางการเงินของเกษตรกรก็มีผลอย่างมากต่อการเป็นหนี้เรื้อรัง การสำรวจพบว่า พฤติกรรม “หมุนหนี้” หรือการกู้เงินใหม่เพื่อนำไปจ่ายหนี้เก่า เป็นเรื่องปกติในหมู่เกษตรกรภาคอีสาน โดยเกษตรกรเกือบ 80% เชื่อว่าการกู้เงินใหม่เพื่อจ่ายหนี้เก่าเป็นทางออกที่ยอมรับได้ แม้ว่าวิธีนี้จะไม่ช่วยสร้างรายได้เพิ่มเติม แต่กลับเป็นสิ่งที่เกษตรกรรู้สึกว่าต้องทำเพื่อความอยู่รอดในสถานการณ์ที่รายได้ไม่เพียงพอ
การหมุนหนี้เช่นนี้อาจส่งผลให้เกษตรกรตกอยู่ในวังวนของหนี้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีแนวโน้มที่จะชำระหนี้ช้ากว่ากำหนด โดยคิดว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ การที่เกษตรกรไม่รีบชำระหนี้ตามกำหนดเช่นนี้ สะท้อนถึงค่านิยมที่ผ่อนปรนของสังคมไทย ข้อมูลจากการสำรวจพบว่า 83% ของเกษตรกรภาคอีสานยอมรับว่าการจ่ายหนี้ช้ากว่ากำหนดเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ซึ่งเทียบเท่ากับค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ
อีกหนึ่งพฤติกรรมที่นำไปสู่การเป็นหนี้เรื้อรัง คือความเชื่อว่าการกู้เงินเป็นสิทธิที่ต้องรักษาไว้ เกษตรกรบางคนมองว่าการที่ไม่กู้เงินเป็นประจำทุกปีอาจทำให้เสียสิทธิกู้ยืมในอนาคต จึงนำไปสู่การกู้ยืมเงินแม้ไม่มีความจำเป็น นอกจากนี้ บางคนยังเชื่อว่าการมีหนี้ติดตัวดีกว่าการขายทรัพย์สินเพื่อปลดหนี้ เพราะทรัพย์สินเป็นสิ่งที่จับต้องได้และบ่งบอกถึงสถานะทางสังคมของพวกเขา
นโยบายพักหนี้ : ทางออกระยะสั้นที่ส่งผลระยะยาว
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการพักหนี้สำหรับเกษตรกรเพื่อบรรเทาภาระการชำระหนี้ในระยะสั้น แต่จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า มาตรการเหล่านี้ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาในระยะยาว ตรงกันข้ามเกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการพักหนี้กลับมีอัตราการโตของหนี้ที่สูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เข้าร่วมมาตรการอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมาตรการพักหนี้ในอดีตส่วนใหญ่เป็นการพักชำระแค่เงินต้น แต่เกษตรกรยังคงต้องจ่ายดอกเบี้ยอยู่ถึงแม้รัฐจะช่วยจ่ายดอกเบี้ยให้บางส่วน และเกษตรกรสามารถกู้เพิ่มได้ระหว่างพักหนี้
นอกจากนี้ยังไม่ได้มีมาตรการอื่นที่สำคัญควบคู่ไปด้วย เช่น การสนับสนุนการเพิ่มรายได้ให้มีเงินมาจ่ายหนี้ การสร้างแรงจูงใจในการชำระหนี้ การสร้างความรู้และวินัยทางการเงิน และการสื่อสารมาตรการให้เกษตรกรเข้าใจอย่างแท้จริง จึงทำให้มาตรการในอดีตไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามออกแบบมาตรการใหม่ที่ตอบโจทย์ปัญหานี้ได้มากขึ้น เช่น การที่รัฐเปลี่ยนมาจ่ายดอกเบี้ยชดเชยเจ้าหนี้แทนเกษตรกรให้ทั้งหมด ทำให้การชำระหนี้ของเกษตรกรสามารถไปตัดต้นให้ลดลงได้ทันที
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ร่วมมือกับพันธมิตรในการทำวิจัยภายใต้ “โครงการสนามทดลองเพื่อแก้ไขหนี้สินเกษตรกรอย่างยั่งยืน” โดยมีกิจกรรม “ชำระดีมีโชค” และ “ธนาคารใกล้บ้าน” ที่ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเกิดแรงจูงใจในการชำระหนี้และปลดหนี้ให้เร็วขึ้น (อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่
“กระตุ้น” ให้ถูก สื่อสารให้เป็น : กุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ริเริ่ม “โครงการศึกษาทดสอบประสิทธิผลของหน่วยกระจายข้อมูลเพื่อกระตุ้นให้การชำระหนี้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” โดยหัวใจสำคัญของโครงการนี้คือการนำ “เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม” มาทดลองใช้และศึกษาวิธีการใหม่ ๆ ในการช่วยปรับพฤติกรรมการชำระหนี้ของเกษตรกร
สมมติฐานสำคัญของการทดลองนี้คือ พฤติกรรมการบริหารหนี้ของเกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนได้หากมีการกระตุ้นอย่างเหมาะสม (ในแง่นี้ เกษตรกรไม่ได้ต่างจากคนกลุ่มอื่น ๆ ในสังคม) โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้ทดลองใช้ช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายกับลูกหนี้ เช่น การสื่อสารผ่านผู้ใหญ่บ้าน ร้านค้าชุมชน และบุคคลที่มีอิทธิพลในท้องถิ่น (local influencer) ใน 200 หมู่บ้านทั่วภาคอีสาน เพื่อจูงใจให้พวกเขามาชำระหนี้ตามกำหนดเวลา
สียงสะท้อนจากกลุ่มทดลองในอำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็น 1 ใน 5 พื้นที่ทดลองนำร่อง เล่าว่าพวกเขาได้รับข้อมูลการประชาสัมพันธ์โครงการพักชำระหนี้และชำระดีมีโชคจาก local influencer ในหมู่บ้าน เช่น ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ประธานกองทุนหมู่บ้าน หรือประธานสหกรณ์ ที่แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันตลอด รวมถึงได้ยินเสียงตามสายของผู้ใหญ่บ้าน ทำให้เข้าใจรายละเอียดของโครงการมากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนและชำระหนี้ต่อไป
แม้จะอยู่ระหว่างทำการทดลอง2 แต่ผลการทดลองเบื้องต้นพบว่า การสื่อสารโดยการเพิ่มช่องทางการสร้างความรับรู้ในชุมชนให้เหมาะสมสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเกษตรกรได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยช่องทางการสื่อสารผ่าน local influencer มีผลกระทบมากที่สุดต่อการชำระหนี้ของเกษตรกร เนื่องจากเกษตรกรเชื่อถือคำแนะนำจากบุคคลที่พวกเขารู้จักและไว้วางใจ รองลงมาคือการสื่อสารผ่านผู้ใหญ่บ้านที่เป็นบุคคลที่เกษตรกรมีความคุ้นเคยและเคารพ ข้อมูลนี้สะท้อนถึงความสำคัญของการใช้บุคคลที่เกษตรกรไว้วางใจในกระบวนการสื่อสาร
นอกจากการสื่อสารโดยตรง การสนับสนุนผ่านสื่ออื่น ๆ เช่น โปสเตอร์ ไลน์ หรือการโทรศัพท์ติดตามผลอย่างต่อเนื่องทุก 2 สัปดาห์ ยังช่วยให้เกษตรกรรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการและมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า การสื่อสารที่ตรงกลุ่มเป้าหมายและสม่ำเสมอมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้เรื้อรัง
บทส่งท้าย : การแก้หนี้เรื้อรังต้องทำในทุกระดับ
ปัญหาหนี้เรื้อรังของเกษตรกรภาคอีสานไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยมาตรการระยะสั้นหรือการพักหนี้เพียงอย่างเดียว การแก้ไขปัญหานี้จำเป็นต้องอาศัยการปรับปรุงพฤติกรรมทางการเงินของเกษตรกร การสื่อสารที่เข้าถึง และการออกแบบนโยบายที่จูงใจให้เกิดการชำระหนี้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนานโยบายที่ช่วยสร้างแรงจูงใจและยกระดับความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกรให้ดีขึ้น
ท้ายที่สุดนี้ การแก้ปัญหาหนี้เรื้อรังจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีการทำงานร่วมกันทั้งในระดับนโยบาย การสื่อสาร และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรเองด้วย
[1] ข้อมูลสำรวจพฤติกรรมการเงินครัวเรือนเกษตรกร (2562-2563) โดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า ภาคที่มีสัดส่วนรายจ่ายเพื่อสังคมและนันทนาการต่อรายจ่ายทั้งหมดของครัวเรือนเกษตรสูงที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16% (เฉลี่ย 52,000 บาทต่อปี) รองลงมาคือภาคใต้ 10% (เฉลี่ย 37,000 บาทต่อปี) และอันดับ 3 คือ ภาคเหนือ 6% (เฉลี่ย 22,000 บาทต่อปี)
[2] สามารถติดตามผลการทดลองฉบับเต็มได้ในเดือนมีนาคม 2568

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา