19 ต.ค. 2024 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Wishlist Thailand Tournament 2024

การแข่งขันบอร์ดเกม จัดสรรเงิน เติมความฝัน ป้องกันปัญหาหนี้ในอนาคตของเยาวชน
“เงิน” เป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น ๆ ในชีวิต ทว่าจากการสำรวจระดับทักษะทางการเงินของคนไทยตามกรอบของ The Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) คนไทยยังมีความรู้เรื่องการเงินไม่มากเท่าที่ควร ทุกภาคส่วนจึงร่วมมือกันผลักดันความรู้ทางการเงิน ทั้งการพัฒนาแนวคิดและให้ความรู้อย่างเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน เพื่อที่พวกเขาจะได้วางแผนทางการเงินและบริหารเงินได้อย่างเหมาะสม เพราะการสร้างวินัยทางการเงินตั้งแต่เด็กจะมีส่วนช่วยเสริมทักษะและภูมิคุ้มกันทางการเงิน
พระสยาม BOT MAGAZINE ขอพาทุกท่านไปงาน “Wishlist Thailand Tournament 2024” ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) Sea (ประเทศไทย) สถาบันบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ (IBGL) และร้านบอร์ดเกม Lunar Cafe ได้ร่วมกันจัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเติมเต็มความรู้ทางการเงินให้กับเยาวชนไทย
บอร์ดเกม Wishlist คืออะไร?
กทม. IBGL Sea (ประเทศไทย) Wizards of Learning และ Money Coach ได้ร่วมมือกันจัดทำบอร์ดเกม “Wishlist จัดสรรเงิน เติมความฝัน” ซึ่งเป็นบอร์ดเกมที่จัดทำเพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้ทางการเงินผ่านการเล่นเกมที่ชวนทุกคนมาจัดสรรเงิน เติมความฝัน ด้วยการรับบทบาทเป็นเด็กวัยรุ่นที่จะต้องบริหารรายรับที่ได้จากทางบ้านช่วงปิดเทอมใหญ่ และหารายได้เพิ่มเพื่อสะสมสินค้าตามความฝันของตัวเองให้ได้มากที่สุด
บอร์ดเกมนี้ถูกออกแบบมาให้เล่นได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป สามารถเล่นได้ทั้งกับครอบครัว ครู หรือกลุ่มเพื่อน เพราะเป็นเกมที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้เห็นความแตกต่างจากมุมมองการตัดสินใจและแนวคิดในการจัดสรรเงินระหว่างผู้เล่นด้วยกันอีกด้วย เรียกว่าเป็นเสน่ห์สำคัญของเกมนี้เลยก็ว่าได้ ซึ่งจะทำให้เด็ก ๆ สนุกเพลิดเพลิน และได้รับความรู้ที่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง
ธปท. จึงนำบอร์ดเกมนี้มาใช้ในการพัฒนาทักษะทางการเงิน (financial literacy) ในภาคการศึกษาไทย รวมถึงมีโครงการร่วมมือกับ IBGL และ กทม. เพื่อพัฒนาทักษะทางการเงินให้กับโรงเรียนนำร่องในสังกัด กทม. ทั้ง 10 แห่ง โดยเข้าไปผลักดันให้โรงเรียนมีชมรมบอร์ดเกมการเงิน รวมถึงจัดอบรมความรู้ทางการเงินให้กับครู เพื่อพัฒนาครูและสร้างห้องเรียนทางการเงินในโรงเรียนนำร่อง จึงเป็นที่มาของการจัดงานในวันนี้ และยังมีการมอบเกียรติบัตรให้กับครูที่ผ่านโครงการอีกด้วย
บอร์ดเกม ความรู้ที่อยู่นอกห้องเรียน
ในงาน Wishlist Thailand Tournament 2024 นี้ มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน บรรยากาศครึกครื้นไปด้วยผู้เข้าแข่งขันทั้งจากโรงเรียนทั่วประเทศ รวมถึงโรงเรียนนำร่องในสังกัด กทม. 10 โรงเรียน และประชาชนทั่วไปที่มาเข้าร่วมการแข่งขัน ภายในงานยังมีร้านบอร์ดเกมและบูทของผู้ผลิตบอร์ดเกมที่เกี่ยวข้องกับการเงินมาให้เราได้ทำความรู้จักอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีเวทีเสวนาที่หยิบสาระความรู้ทางการเงินมาแลกเปลี่ยนมุมมองกัน เช่น ในหัวข้อ “เมื่อบอร์ดเกมเข้ามาเปลี่ยนพื้นที่การเรียนรู้” ที่คุณนิวัฒน์ ถุงเงินศิริ ตัวแทนจากทาง TK Park บอกเล่าไว้อย่างน่าสนใจว่า TK Park เป็นศูนย์การเรียนรู้แห่งหนึ่งที่ดำเนินการในรูปแบบของห้องสมุดมีชีวิตตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ด้วยหนังสือและสื่อที่ช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี รวมถึงบอร์ดเกมด้วย
และในช่วงปี 2549 บอร์ดเกมก็เริ่มได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ทำให้ TK Park เพิ่มสื่อการเรียนรู้ที่เป็นบอร์ดเกมมากยิ่งขึ้น และเริ่มมีบทบาทในแวดวงบอร์ดเกม จึงชวนให้ทุกคนมาเล่นเกมที่นี่ อีกทั้งยังจัดให้มีการยืมบอร์ดเกมกลับบ้านได้ จนถึงการให้ความร่วมมือในการจัดแข่งขันในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
“TK Park ทำสิ่งที่คล้ายร้านบอร์ดเกม คือเราสอนการเล่นให้ผู้ที่สนใจ พูดคุยและพบปะ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เห็นว่าห้องสมุดมีเกมให้เล่นด้วย ภาพต่อไปที่คิดและคาดหวังจะทำต่อคือ อยากมีบทบาทที่จะช่วยผลักดันบอร์ดเกมของคนไทย รวมถึงนักออกแบบไทยเพื่อช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมบอร์ดเกมไทยไปสู่สายตาของชาวโลกให้มากขึ้น”
เช่นเดียวกับที่คุณปิ่นมุก มาลิ ตัวแทนนักเรียนเล่าว่า ก่อนจะมีบอร์ดเกม ห้องสมุดโรงเรียนค่อนข้างเงียบเหงา เมื่อมีบอร์ดเกมเข้ามาทำให้เพื่อนได้สร้างสัมพันธ์ ได้เล่นเกมร่วมกัน ห้องสมุดจึงมีสีสันและชีวิตชีวามากกว่าเดิม
ส่วนในมุมของตัวแทนครูอย่างคุณร่มเกล้า ช้างน้อย ให้ความเห็นว่า “ในห้องสมุดจะมีบรรณารักษ์ทำหน้าที่แนะนำหนังสือ เช่นกัน เราควรต้องมีหน้าที่ให้มีผู้คอยแนะนำบอร์ดเกม ถ้าเรามีห้องบอร์ดเกมและมีคนที่ช่วยแนะนำได้ก็น่าจะดี การนำบอร์ดเกมเข้าโรงเรียนเป็นสิ่งที่ดี เวลาเราสอนเรื่องการเงิน ยิ่งมีเครื่องมือมากเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะเครื่องมือแต่ละอันจะตอบโจทย์กับคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน”
มาต่อกันที่หัวข้อ “ความท้าทายของการขับเคลื่อนการเรียนรู้ทางการเงินในโลกที่เปลี่ยนไป”
โดยช่วงเสวนานี้มี คุณพุทธวรรณ สุภัทรนันท์ จาก Sea (ประเทศไทย) คุณอรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธปท. และคุณวรุตม์ นิมิตยนต์ จากสถาบันบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ ขึ้นเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้และสถานการณ์การเงินให้ทุกคนในงานได้ฟัง ทำให้เห็นว่าความรู้เรื่องการเงินของคนในสังคมไทยยังมีช่องว่างที่ต้องเติมเต็ม เช่น การออมเงินเพื่อเกษียณ การเริ่มออมเงินตั้งแต่วันแรกเริ่มทำงาน หรือแม้แต่การพูดคุยเรื่องการเงินที่อาจเป็นเรื่องยากสำหรับหลายครอบครัว
คุณอรมนต์ได้หยิบตัวเลขสถานการณ์การเงินที่น่าสนใจในประเทศไทยมาให้ทุกคนได้เห็น โดยชี้แจงให้ฟังว่า
- หนี้ครัวเรือนภายในประเทศอยู่ที่ 91% ทำให้เศรษฐกิจโตได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น (ตัวเลขนี้ยังไม่รวมหนี้สินนอกระบบ) ไม่ใช่เฉพาะแค่ครัวเรือนที่มีปัญหา แต่เท่ากับว่าทั้งประเทศมีปัญหาด้วยเช่นกัน
- 1 ใน 4 ของกลุ่ม First Jobber ช่วงอายุ 25-29 ปี เป็นหนี้เสีย ซึ่งมีจำนวนถึง 9.5 ล้านบัญชี
- การออมฉุกเฉินควรมีเงินสำรองเพียงพอที่จะใช้ชีวิตประจำวันได้นาน 6 เดือน และตอนนี้มีเพียง 22% จากคนทั้งหมดในประเทศที่มีเงินสำรองเพียงพอ
- กลุ่มวัยเกษียณที่มีการวางแผนและกำหนดเป้าหมายของแผนเกษียณ มีเพียง 15% เท่านั้นที่สามารถทำตามเป้าหมายได้
ตัวเลขข้างต้นนี้เป็นสถานการณ์ปัญหาในปัจจุบันที่เผยให้เห็นถึงความสำคัญเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข
คุณพุทธวรรณพูดถึงสถานการณ์ว่า “ทุกวันนี้เยาวชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้หลายช่องทางและรวดเร็วมากขึ้น การบริหารจัดการด้านการเงินมี ‘เวลา’ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าเริ่มลงทุนได้ตามระยะเวลาที่เหมาะสมตั้งแต่เด็ก ๆ จะช่วยให้เงินงอกเงยและสร้างเสถียรภาพในการใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข”
และยังชวนย้อนกลับไปเมื่อต้นปีในช่วงวันเด็ก ซึ่งมีการเผยแพร่ข้อมูลจากเว็บไซต์ Rocket Media Lab ว่า “หนึ่งในห้าของสิ่งที่นักเรียนสนใจคือ เด็ก ๆ อยากให้มีการเรียนรู้เรื่องการเงินอยู่ในโรงเรียน เพราะฉะนั้นมันเป็นสัญญาณที่ดีว่าเด็กต้องการและมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ แต่กระบวนการต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะไม่ใช่ว่าเด็ก ๆ ทุกคนจะเรียนรู้ด้วยสื่อหรือเนื้อหาเดียวกันได้”
คุณวรุตม์เล่าเสริมว่าในระบบการศึกษาของไทย เยาวชนมักไม่ได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องการเงินผ่านการลองผิดลองถูก การลองผิดลองถูกในการจัดการเงินไม่ควรถูกมองเป็นสิ่งที่ผิด เพราะบทเรียนเหล่านั้นจะช่วยพัฒนาทักษะความเข้าใจให้มีมากยิ่งขึ้นได้
“สิ่งที่ขาดหายไปมาก ๆ คือกระบวนการที่ไม่ปล่อยให้เด็กผิดพลาดในห้องเรียน ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่มนุษย์เราจะเรียนรู้ได้ พอมีเกม Wishlist ให้ได้เล่น จะเจ๊งบ้าง ไม่ได้เงินบ้าง รอบหน้าเราก็เล่นใหม่ และค่อย ๆ สั่งสมประสบการณ์ที่ได้เจอ ทำให้เก่งขึ้นได้ นี่คือจุดแข็งของเกม Wishlist”
นอกจากนี้ ธปท. และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องยังมีแผนการจะผลักดันให้ครูมีเครื่องมือสำหรับสอนทักษะการเงินในโรงเรียนได้เอง เช่น กทม. ได้สร้างโครงการ “ห้องเรียนการเงิน” สนับสนุนความรู้ทางการเงินให้กับครูในโรงเรียนทั้ง 10 แห่งได้พัฒนาทักษะและเครื่องมือในการสอนต่อไป รวมถึงเป็นการเปิดพื้นที่ให้เด็ก ๆ ได้แสดงความเห็นและความต้องการเรียนรู้ของพวกเขาได้ด้วยตัวเอง
ความคิดเห็นจากผู้ร่วมงาน
คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มาร่วมงานและบอกเล่าให้ฟังว่า สิ่งสำคัญประการหนึ่งของสังคมคือ การดูแลทรัพยากรของคนให้มีคุณภาพ ทั้งความรู้ ความเป็นอยู่ หรือสิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“เห็นงานวันนี้แล้วรู้สึกได้ว่าการศึกษาของเด็กไทยเราจะดีขึ้น ในเรื่องการเงินที่จะมีการสอดแทรกในห้องเรียน เช่น ในวิชาต่าง ๆ หรือกิจกรรมชุมนุม แต่ชุมนุมบอร์ดเกมก็ยังมีไม่มาก เราจึงพูดคุยกับสมาคมบอร์ดเกมฯ ว่าหากมีชุมนุมบอร์ดเกมในโรงเรียนได้มากขึ้น
เกมจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการสอนวิชายาก ๆ ให้สนุกและเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น เพราะมีเทคนิค เคล็ดลับ ความรู้ทางวิชาการ แฝงไว้ในเกมด้วย ยิ่งเล่นยิ่งฉลาด และเป็นเครื่องมือที่ดีมาก ดังนั้น แม้จะเป็นเกมแต่เป็นเกมที่มีสาระและได้ความรู้ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงไม่ต้องเป็นกังวลที่เด็กเล่นเกม”
คุณประดิษฐ์ แก้วดี ครูจากโรงเรียนมัธยมบางกะปิเล่าให้ฟังว่า “ห้องเรียนการเงินช่วยให้เด็กนักเรียนมีทัศนคติและตระหนักในเรื่องการเงินมากขึ้น ทั้งวางแผนการเงิน ลงทุน เก็บออม รวมถึงยังสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และนำไปแบ่งปันให้กับพ่อแม่หรือคนรอบตัวได้”
คุณนันทพร ตุ้มภู่ ครูจากโรงเรียนมัธยมปุรณาวาส เสริมว่า “เขารู้ว่าเงินที่ได้มา อะไรที่เอาไปใช้แล้วทำให้เกิดประโยชน์ อะไรที่ไม่เกิดประโยชน์ เขาจะมีวิธีเลือก วิธีคิดที่มากกว่าเดิมหลังจากที่ได้เรียนในห้องเรียนการเงิน”
คุณวิรัตน์ อัปมะไท ครูจากโรงเรียนนาคนาวาอุปถัมภ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า“พอครูนำความรู้เรื่องการเงินไปสอนในห้องเรียน จากเดิมที่เด็กได้รับเงินมาจากพ่อแม่โดยวิธีการที่ง่าย แต่เมื่อได้รับความรู้นี้ไปทำให้นักเรียนตระหนักและมีการวางแผนการใช้เงินมากขึ้น”
การแข่งขัน Wishlist Thailand Tournament 2024 จบลงในช่วงเย็น โดยมีผู้ชนะทั้งระดับโรงเรียนและประชาชนทั่วไป
คุณธีรภัทร กันจา นักเรียนจากโรงเรียนบางแพปฐมพิทยา ผู้ชนะในระดับโรงเรียน บอกเล่าความรู้สึกว่า “สิ่งสำคัญที่ได้รับจากเกมนี้คือ การอดออม การประหยัด การใช้จ่าย ตอนแรกที่ได้เล่นบอร์ดเกมนี้เกิดความงงนิดหน่อยว่าเราจะจัดการอะไรยังไง แต่พอลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ ก็พบว่า นอกจากความสนุกที่ได้เล่นกับเพื่อน ๆ แล้ว การเล่นเกมนี้ยังทำให้มีความรู้เรื่องการเงินมากขึ้นและสามารถนำไปต่อยอดใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง”
คุณสุรกิจ จระดล ครูโรงเรียนบางแพปฐมพิทยา (ครูของคุณธีรภัทร) เล่าว่า “แต่ก่อนเด็ก ๆ ที่โรงเรียนนำบอร์ดเกมมาเล่นตามมุมตึกต่าง ๆ ดังนั้นเพื่อให้เด็กได้มีพื้นที่เล่นเกม เลยสร้างชุมนุมขึ้นมาให้เด็กมีวิธีหลากหลายในการเรียนรู้ Wishlist เป็นบอร์ดเกมที่ควรจะมีในทุก ๆ โรงเรียน เพราะในระหว่างเล่นก็ได้เรียนรู้เรื่องการเงินโดยไม่รู้ตัว”
ปัจจุบันบอร์ดเกม Wishlist กว่า 500 กล่อง ถูกส่งต่อไปยังโรงเรียน ศูนย์การเรียนรู้ และร้านบอร์ดเกม รวมถึงกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย เพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้ที่จะทำให้ผู้คนทุกเพศทุกวัยในทุกสถานที่ได้เรียนรู้เรื่องการเงินอย่างถ้วนทั่ว โดยมีด้วยกัน 2 เวอร์ชัน ในเวอร์ชันใหม่จะมีการเพิ่มกติกาและระดับความยากง่ายให้เหมาะกับทั้งผู้เริ่มเล่นและผู้เชี่ยวชาญได้จัดสรรเงิน เติมความฝันกันอย่างสนุกสนานขึ้นไปอีก
สำหรับท่านใดที่อ่านบทความนี้แล้วสนใจอยากทดลองเล่นบ้าง สามารถดาวน์โหลด Wishlist ในฉบับ Print & Play ได้ที่ Sea Academy.Co

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา