18 ต.ค. เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

EconClass กับผู้ว่าการ

จากห้องเรียน “เศรษฐศาสตร์” สู่การทำนโยบายจริง
“ย้อนกลับไปช่วงที่โควิดเริ่มคลี่คลาย สมมติว่าน้อง ๆ ทั้ง 60 คนในห้องนี้สวมบทบาทเป็น กนง. วันนี้เราจะมาลองโหวตกันว่า ในวันนั้น กนง. ควรลด คง หรือขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย”
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้รับหน้าที่เป็นอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์นอกห้องเรียน ได้ตั้งคำถามกับน้อง ๆ นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ที่มาเข้าร่วมกิจกรรม BOT EconClass ที่จัดขึ้นที่ศูนย์การเรียนรู้ ธปท. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา หลังจากที่ได้ใช้เวลาไปแล้วกว่า 1 ชั่วโมง ในการปูพื้นฐานว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจบ้าง และคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ “กนง.” ต้องคำนึงถึงอะไรในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
“ในช่วงนั้นอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 7.9% สูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% จากที่เล่าให้ฟังไปแล้วในฐานะ กนง. น้อง ๆ อยากถามอะไรเพิ่มเติม ผมจะเป็นเลขานุการคอยให้ข้อมูลเอง” ดร.เศรษฐพุฒิชวนคิด
“เงินเฟ้อคาดการณ์ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายรึเปล่า”
“การเติบโตของเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไรบ้างแล้ว”
“เรื่องเสถียรภาพมีอะไรที่น่ากังวลบ้าง”
น้อง ๆ ถามกลับไปที่ผู้ว่าการ
“จริง ๆ ในช่วงที่โควิดเริ่มคลี่คลายลง มีแรงกดดันให้เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาอยู่ที่ประมาณ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ” ดร.เศรษฐพุฒิตอบพร้อมกำชับว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ
“อย่าดูแค่ตัวเลข แต่ต้องเข้าใจที่มา เพื่อที่จะได้ตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง”
ก่อนที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “จากการสำรวจจริง ๆ เงินเฟ้อคาดการณ์ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 2% แต่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวค่อนข้างช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาคมาก เพราะการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นกลับมาเต็มที่ และยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90% ต่อจีดีพี ส่วนประเด็นเรื่องค่าเงินบาทที่อ่อนเป็นผลมาจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นเป็นหลัก ไม่ได้เกิดจากการไหลออกของเงินตราต่างประเทศ เพราะในภาพรวมยังเป็นการไหลเข้าสุทธิอยู่”
หลังจากหารือกันต่ออีกหลายอึดใจ น้อง ๆ กนง. เฉพาะกิจ ก็ได้ร่วมกันโหวต โดยส่วนใหญ่เห็นว่า กนง. ควรขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25%
ซึ่ง ดร.เศรษฐพุฒิได้เล่าผลการประชุม กนง. ที่เกิดขึ้นจริงให้ฟังเพิ่มเติมว่า ในการประชุมครั้งแรกหลังจากโควิดเริ่มคลี่คลาย กนง. ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะห่วงภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวค่อนข้างช้า แม้เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น แต่ก็เกิดจากปัจจัยด้านอุปทานตามต้นทุนราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอัตราดอกเบี้ยมีผลค่อนข้างจำกัด แต่ในการประชุมครั้งต่อ ๆ มา กนง. ก็ได้ส่งสัญญาณทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หลังจากที่เห็นสัญญาณเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นแล้ว
ดร.เศรษฐพุฒิได้ทิ้งท้ายว่า “ขอบคุณน้อง ๆ ที่มาเยี่ยมแบงก์ชาติ ถ้าเรียนจบกันแล้ว ก็อยากชวนให้มาทำงานด้วยกันที่แบงก์ชาติ เพื่อทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ”
BOT EconClass เป็นเพียงหนึ่งในกิจกรรมที่แบงก์ชาติจัดขึ้นทุก ๆ ปี เพื่อให้นักศึกษาได้มาเรียนรู้เศรษฐศาสตร์นอกห้องเรียนกับคนทำงานจริง ซึ่งสำหรับคนที่สนใจข่าวสารและสาระความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจและการเงินยังสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของ ธปท. รวมทั้งสามารถติดตามกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทั้งสนุกและได้ความรู้ของศูนย์การเรียนรู้ ธปท. ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียได้ที่…

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา