17 ต.ค. เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

วิธีบริหารจัดการเงินสำหรับคนวัยเกษียณ

การเกษียณอายุถือเป็นการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของช่วงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต สุขภาพกาย สุขภาพใจ หรือปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตอย่าง “สุขภาพการเงิน” ซึ่งส่วนใหญ่รายได้มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่รายจ่ายอาจไม่ลดตามไปด้วย หากไม่มีการบริหารจัดการเงินที่ดีพอ ก็อาจนำไปสู่ปัญหาการเงินได้
3
นอกจากนี้ จากการให้คำปรึกษาผ่าน Call Center 1213 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า มีผู้ที่เกษียณหรือใกล้เกษียณติดต่อเข้ามาเพื่อปรึกษาปัญหาทางการเงินจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องดังเช่นกรณีของคุณวันทิพย์และคุณสมบูรณ์ (นามสมมติ)
บทความนี้จึงขอพาทุกท่านไปเห็นถึงปัญหาการเงินบางอย่างของวัยเกษียณ และคำแนะนำในการบริหารจัดการเงินให้แก่ทุกท่าน เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ในการบริหารจัดการเงินได้อย่าง “เกษียณสุข” มากขึ้น
ปัญหาการเงินของคนวัยเกษียณ
ปัญหาการเงินที่สำคัญอย่างหนึ่งของวัยเกษียณคือ “ยังเป็นหนี้อยู่” โดยข้อมูลจากฐานข้อมูลเครดิตบูโร ปี 2566 (คำนวณโดย ธปท.) พบว่า กลุ่ม Baby Boomer หรือผู้อยู่ในช่วงอายุ 59-77 ปี ยังมีหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 402,262 บาทต่อคน และกลุ่ม Silent หรือผู้อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 78 ปีขึ้นไป ยังมีหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 251,762 บาทต่อคน
2
และจากการที่ ธปท. ให้คำปรึกษาผ่าน Call Center 1213 ผู้เกษียณอายุที่โทรเข้ามามักมีปัญหาการเป็นหนี้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดที่ยังคงต้องชำระต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนเกษียณ และเมื่อเกษียณอายุแล้วพบว่ามีรายได้ไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ ส่วนสาเหตุก็มาจากการที่บางรายนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือบางรายก็เอาเงินส่วนนี้ไปลงทุน โดยคาดหวังว่าในอนาคตจะได้รับเงินกลับมา แต่เมื่อผลไม่เป็นไปตามที่คาด จึงมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้
อีกปัญหาที่พบคือ ไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระเบี้ยประกันชีวิตที่มีกำหนดชำระต่อเนื่องจนถึงช่วงหลังเกษียณอายุ นอกจากนี้ก็พบว่าผู้สูงอายุยังมีหนี้อีกหลายประเภทด้วย
เกษียณอายุแล้วยังมีหนี้อยู่ ต้องทำอย่างไร
การแก้ไขหนี้ในกลุ่มผู้สูงอายุจะค่อนข้างมีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอายุที่อาจทำให้ขยายระยะเวลาชำระหนี้ได้ไม่มากนัก หรือรายได้ที่ไม่เพียงพอ ซึ่งรายได้เป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ จึงขอแนะนำดังนี้
ผู้ที่มีทรัพย์สิน
ผู้ที่มีบ้านที่ไม่ได้อาศัย รวมถึงทรัพย์สินอื่น ๆ อาจขายหรือนำไปใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่าเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ได้ ซึ่งควรเลือกขายทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพก่อน แต่หากยังไม่พอชำระหนี้ทั้งหมด ก็ต้องติดต่อเจ้าหนี้เพื่อหาทางแก้ไข
ผู้ที่ไม่มีทรัพย์สิน
ควรติดต่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้เพื่อลดภาระการผ่อน ซึ่งอาจจำเป็นต้องทำควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และหาทางเพิ่มรายได้ ซึ่งปัจจุบันมีนโยบายเพื่อสังคมที่เอื้อต่อการหารายได้สำหรับผู้สูงอายุมากขึ้นในหลากหลายช่องทาง
1
ได้แก่ การขึ้นทะเบียนหางานผู้สูงอายุของกรมการจัดหางาน หรือสถานประกอบการหลายแห่งที่เปิดรับผู้สูงอายุเข้าทำงาน และหากผู้สูงอายุต้องการประกอบอาชีพอิสระ ก็สามารถกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพจากกองทุนผู้สูงอายุ ซึ่งมีทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม โดยให้ชำระเงินคืนเป็นรายงวดทุกเดือน ระยะเวลา 3 ปี และไม่คิดดอกเบี้ย
ผู้ที่มีกรมธรรม์ประกันชีวิต
สามารถใช้ประโยชน์จากกรมธรรม์ได้หากต้องการเงินก้อนไปชำระหนี้ ก็สามารถขอยกเลิกประกันเพื่อรับเงินสด (การเวนคืน) ได้ แต่เงินที่จะได้รับจากการเวนคืนกรมธรรม์อาจจะน้อยกว่าเบี้ยประกันที่จ่ายไป แต่หากยังต้องการความคุ้มครองจากประกันอยู่ก็อาจใช้วิธีกู้ยืมเงินจากกรมธรรม์ ซึ่งยอดเงินกู้จะไม่เกินจากยอดเงินสดที่ได้จากการเวนคืน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะถูกกว่าอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อส่วนบุคคลหรือสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งไม่ว่าเลือกทางไหนก็ควรพิจารณาผลกระทบต่อแผนการเงินหรือแผนชีวิตด้วย
คำตอบเหล่านี้เป็นเพียงข้อแนะนำเบื้องต้นเท่านั้น หากท่านใดต้องการแก้หนี้ สามารถศึกษาหาข้อมูลได้จาก 3 ช่องทางที่ ธปท. จัดไว้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในสถานการณ์ที่ต่างกัน ได้ที่ คลินิกแก้หนี้ by SAM ทางด่วนแก้หนี้ และหมอหนี้เพื่อประชาชน
ยังมีข้อมูลความรู้อีกหลายเรื่องที่จะช่วยให้ชีวิตในวัยเกษียณสามารถเป็นสุขเรื่องเงินได้ ซึ่งสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “บริหารเงินหลังเกษียณ” (บริหารเงินหลังเกษียณ - ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (set.or.th) และยังมีโปรแกรมคำนวณเพื่อช่วยวางแผนเกษียณที่มีความละเอียดและใช้ได้ง่ายในหัวข้อ "ออมเท่าไหร่พอใช้เกษียณ" (https://www.set.or.th/project/caltools/www/html/retirement.html)
1
และอีกเรื่องที่วัยเกษียณควรทำอย่างสม่ำเสมอก็คือ ติดตามข่าวภัยทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อช่วยในการปกป้องเงินทองของตนเองที่อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบมาตลอดชีวิตให้รอดพ้นจากมิจฉาชีพด้วย
เรียบเรียง : จุฬาลักษณ์ พิบูลชล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา