2 ธ.ค. เวลา 14:21

วางแผนภาษีตามเป้าหมายการเงิน

คุณวางแผนภาษียังไงครับ?
ใกล้ถึงช่วงเวลาปลายปีแล้ว หลายคนที่ยังไม่ได้วางแผนภาษีก็จะเริ่มหันมาหาผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อเอามาใช้ลดหย่อนภาษีกัน
ในบรรดารายการลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคล แม้ว่าทุกรายการช่วยลดภาระภาษีของเราได้ แต่กลุ่มหลักที่ใช้ในการวางแผนภาษีหลัก ๆ ก็คือ กลุ่มประกันและการลงทุน ซึ่งรายการลดหย่อนต่างๆ ในกลุ่มนี้สามารถนำมาใช้ในวางแผนการเงินควบคู่กันได้ด้วย
เมื่อกลุ่มประกันและการลงทุน คือ กลุ่มหลักที่ใช้วางแผนภาษีได้ เราก็ควรวางแผนภาษีควบคู่ไปกับการวางแผนการเงินของเราควบคู่กันไป เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการเงินและไม่มีภาระการออมซ้ำซ้อนกัน
ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกันและการลงทุน มีดังนี้
  • ​ประกันสุขภาพ ไม่เกิน 25,000 บาท
  • ​ประกันชีวิตทั่วไป + สะสมทรัพย์ รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท
  • ​ประกันสังคม 9,000 บาท
  • ​ประกันสุขภาพพ่อแม่ ไม่เกิน 15,000 บาท
  • ​กองทุน RMF ลดหย่อนภาษีได้ 30% แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
  • ​กองทุน SSF ลดหย่อนภาษีได้ 30% ไม่เกิน 200,000 บาท และหากรวมกับกองทุนอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  • ​กองทุน ESG
วิธีที่ง่ายที่สุดในการวางแผนภาษีตามเป้าหมายการเงิน คือ การวางแผนตามความสำคัญของเป้าหมายชีวิตจริงๆ เริ่มจากการสร้างความมั่งคงให้ตัวเราและครอบครัวก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นก็วางแผนชีวิตที่สำคัญลดหลั่นกันไป
ชีวิตที่มั่นคงก็คือชีวิตดำเนินไปได้อย่างที่ควรจะเป็น เมื่อชีวิตมีเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ชีวิตที่มั่นคงก็ย่อมหนีไม่พ้นการมีเงินพอใช้สำหรับตัวเราไปตลอดที่เรายังมีชีวิต และการมีเงินพอใช้สำหรับครอบครัวหรือคนที่เราต้องรับผิดชอบในระยะเวลาที่เพียงพอเช่นกัน ผลิตภัณฑ์การเงินที่ลดหย่อนภาษีทรองรับเป้าหมายชีวิตทั้ง 2 ด้านเหล่านี้ ได้แก่
  • เงินที่พอใช้สำหรับเรา
คือ รายได้ในยามปกติและ เงินออมที่ครอบคลุมรายจ่ายเมื่อเราไม่มีรายได้ ผลิตภัณฑ์การเงินที่ใช้ลดหย่อนภาษี ถูกกำหนดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์หลักคือการสร้างเงินออมสำหรับใช้จ่ายเมื่อเราไม่มีรายได้ หรือเมื่อเราเกษียณอายุ
ผลิตภัณฑ์ที่เราสามารถเลือกใช้วางแผนการเงินตามเป้าหมายเหล่านี้ คือ กองทุน RMF กองทุน SSF และ กองทุน ESG รวมถึงการทำประกันสุขภาพเพื่อป้องกันการสูญเสียเงินออมก้อนใหญ่หากเราต้องใช้เงินรักษาพยาบาลสุขภาพ หากเลือกวางแผนด้วยประกันสะสมทรัพย์ระยะยาวก็ต้องเลือกระยะเวลาของประกันที่เหมาะสมกับระยะเวลาตามเป้าหมายเกษียณของเรา
ตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนก็คือ หากระยะเวลาที่เราจะเกษียณอายุคือ 20 ปี เราก็สามารถเลือกผลิตภัณฑ์การเงินที่มีอายุกรมธรรม์ถึง 20 ปีได้ แต่หากเรามีระยะเวลาที่จะเกษียณในอีก 8 ปี เราก็ไม่ควรเลือกประกันสะสมทรัพย์ที่มีอายุกรมธรรม์ 20 ปี เป็นต้น
  • เงินที่พอใช้สำหรับครอบครัวของเรา
ผลิตภัณฑ์การเงินที่ใช้ลดหย่อนภาษีเพื่อรองรับเงินที่พอใช้สำหรับครอบครัวของเราก็คือ ประกันชีวิตทั่วไปที่คุ้มครองจำนวนเงินเอาประกันภัยขนาดใหญ่สำหรับครอบครัวหากเราไม่ได้อยู่ดูแลเขาอีกต่อไป รวมถึงประกันสุขภาพของเราที่่ช่วยป้องกันการสูญเสียเงินก้อนใหญ๋ และ สภาพคล่องจากการใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
โดยสรุป การวางแผนภาษีควบคู๋กับแผนการเงิน มีเรื่องที่ควรนำมาพิจารณาประกอบ คือ
1. เลือกผลิตภัณฑ์การเงิน ทั้งประกัน และ การออม ที่เหมาะสมกับเป้าหมายการเงิน
2. เลือกระยะเวลาของผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้สอดคล้องการเป้าหมายชีวิตของเรา
สุดท้ายนี้มีเกร็ดเล็กๆ สำหรับคนที่กำลังจะวางแผนด้วยประกันสะสมทรัพย์ หลายคนเลือกประกันสะสมทรัพย์ประเภทชำระเบี้ยครั้งเดียว เพราะรู้สึกว่าไม่เป็นภาระในการต้องชำระเบี้ยหลายๆ ปี
แต่หากเรายังต้องวางแผนภาษีต่อเนื่องและไม่มีปัญหาการเงิน ก็ควรเลือกประกันสะสมทรัพย์ที่มีการชำระเบี้ยต่อเนื่องหลายปี เพราะเมื่อครบกำหนดชำระเงินเราจะได้รับเงินทั้งก้อนตามสัญญา ซึ่งจะมีขนาดใหญ่กว่าการเลือกประกันสะสมทรัพย์แบบชำระเบี้ยครั้งเดียว ที่จะครบกำหนดแต่ละปีด้วยจำนวนเงินของสัญญากรมธรรม์แต่ละฉบับ ข้อดีคือมีเงินรับทุกๆ ปี แต่ก็ไม่ได้เป็นเงินก้อนใหญ่ที่เราสามารถนำไปลงทุนต่อ
รีบวางแผนภาษีกัน และวางแผนให้สอดคล้องกับเป้าหมายชีวิตของเรานะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา