5 ก.ย. เวลา 08:13

ทำความรู้จัก กองทุน Thai ESG และเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีใหม่

ในปี 2566 มีการเพิ่มรูปแบบกองทุนที่มีสิทธิลดหย่อนภาษี คือกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน หรือเรียกสั้นๆ ว่า Thai ESG กองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ของไทยที่ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนตามหลัก ESG เพื่อเป็นทางเลือกลงทุนเพื่อการออมให้กับนักลงทุนเพิ่มเติม
กองทุน Thai ESG กำหนดเงื่อนไขการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และ ลงทุนสูงสุดได้ไม่เกิน 100,000 บาท โดยไม่ต้องนับรวมกับการลงทุนในกองทุน SSF และ RMF ที่กำหนดให้ลงทุนรวมกันไม่เกิน 5 แสนบาท และมีระยะเวลาถือครองอย่างน้อย 8 ปี (นับแบบวันชนวัน) ไม่บังคับการซื้อต่อเนื่องทุกปี
Credit : ฺ BBLAM (บลจ บัวหลวง)
กองทุน Thai ESG ใกล้เคียงกับกองทุน SSF เนื่องจากไ่ม่ได้กำหนดการถือครองด้วยอายุ Thai ESG กำหนดเวลาลงทุน 8 ปี นับจากวันลงทุน สั้นกว่ากองทุน SSF ที่กำหนดระยะไว้ที่ 10 ปี ต่างจากกองทุนการออมที่เน้นเพื่อการเกษียณ อย่างกองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ กบข ที่กำหนดการถือครองจนถึงช่วงเกษียณอายุ
กองทุน Thai ESG จึงเป็นทางเลือกที่เพิ่มขึ้นในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษ๊ผ่านกองทุนรวม และมีระยะเวลาที่สั้นกว่า นอกจากนี้ Thai ESG ไม่ต้องนำมานับรวมใน 500,000 บาทด้วย เป็นโอกาสการลดหย่อนภาษีที่มากขึ้นสำหรับกลุ่มที่ใช้สิทธิลดหย่อนเต็ม 500,000 บาทแล้ว
เมื่อมีทางเลือกระหว่างกองทุนลดหย่อนภาษีประเภทต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ปัจจัยหนึ่งที่เราควรจะนำมาพิจารณาคือผลประโยชน์จากการลงทุนที่เราจะได้รับจากกองทุนแต่ละประเภท และ กองทุนแต่ละกองทุน ซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 7.33 แสนล้านบาท ประกอบด้วย RMF 59% และ LTF 31% และ SSF 9% กองทุน Thai ESG ซึ่งเปิดตัวไปไม่นานนักมีสัดส่วนเกือบ 1%
ผลตอบแทนกองทุนลดหย่อนประเภทต่าง ๆ ในครึ่งปี 2567 ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของกองทุนฯ แต่ละประเภท มีความแตกต่างกัน โดยกองทุน LTF และ Thai ESG มีผลตอบแทนการลงทุนเฉลี่ยที่ติดลบ อย่างไรก็ตามการเปรียบเทียบกองทุนฯ อาจต้องพิจารณาจากกองทุนแต่ละกองทุนตามประเภทสินทรัพย์ที่กองทุนไปลงทุนตามนโยบายที่กำหนดไว้
Morningstar Thailand ได้เปิดเผยข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 ว่ามีกองทุน Thai ESG จำนวนประมาณ 31 กอง มีมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการ (AUM) รวมประมาณ 6,697ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นกองทุนที่มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนกว่า 76% ของ AUM รวมของกองทุน Thai ESG โดยรวม
ทาง Morningstar เปิดเผยข้อมูลผ่าน Morningstar Direct ณ 30 มิถุนายน 2567 โดยกองทุน ESG มีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนเฉลี่ยทั้งหมด -7.73% เมื่อพิจารณาผลตอบแทนเฉลี่ยเมื่อแยกตามประเภทสินทรัพย์ คือ
หากพิจารณาในระดับสินทรัพย์ พบว่ากลุ่มกองทุนตราสารหนี้ของ กองทุน Thai ESG สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยได้ดีกว่ากองทุนตราสารหนี้ SSF/RMF โดยมีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนอยู่ที่ 1.37% ในขณะที่กองทุน SSF และ RMF มีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนที่ 0.85% และ 0.98% ตามลำดับ โดยกองทุน SSF/RMF มีปัจจัยกดดันส่วนหนึ่งมาจากผลการดำเนินงานของกองทุนตราสารหนี้ในต่างประเทศ
ในปี 2567 กองทุน ESG ได้ประกาศเงื่อนไขการใช้สิทธิลดหย่อนใหม่ โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และลงทุนสูงสุดได้ไม่เกิน 300,000 บาท (จากเดิมไม่เกิน 100,000 บาท) ไม่มีกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ
วงเงินลงทุนของ Thai ESG ไม่ต้องนับรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ ได้แก่ กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่ปัจจุบันกำหนดเพดานลดหย่อนภาษีรวมกันได้ไม่เกิน 500,000 บาท
เท่ากับว่าเราจะได้วงเงินลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมจาก Thai ESG ไปเลย 300,000 บาท และเมื่อนับรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ ก็จะลดหย่อนได้สูงสุดถึง 900,000 บาท
นอกจากการขยายเพดานการใช้สิทธิลดหยอ่น กองทุน Thai ESG ยังลดระยะเวลาการลงทุนเป็นเวลา 5 ปีเต็มนับจากวันที่ซื้อ (นับแบบวันชนวัน ไม่ใช่นับแบบปีปฏิทิน) ซื้อปีไหน ลดหย่อนปีนั้น และไม่บังคับว่าต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี ทำให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
(ตัวอย่างการนับวันชนวัน เช่น ถ้าซื้อ Thai ESG ในวันที่ 20 ธันวาคม 2567 วันที่ครบกำหนด 5 ปี คือวันที่ 20 ธันวาคม 2572 แปลว่าเราจะขายกองทุนโดยไม่ผิดเงื่อนไขได้ในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 20 ธันวาคม 2029)
ใครบ้างที่จะได้รับประโยชน์จากกองทุน ESG
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่ากองทุน ESG ใหม่มีลักษณะของกองทุนและสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างจากเดิมและสามารถตอบโจทย์ด้านการออมและสิทธิทางภาษีที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่เป็นทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นไปจนถึงสิทธิทางภาษีที่มากกว่าเดิม
คนที่จะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นคือ
กลุ่มแรก คนที่ต้องการตัวเลือกกองทุนลดหย่อนเพิ่มขึ้น และรวมถึงคนที่ต้องการนำเงินกลับมาใช้ใน 5 ปีข้างหน้า โดยปัจจุบัน มลจ ต่างๆ มีการทยอยเปิดตัวกองทุน Thai ESG ใหม่ๆ ให้เป็นตัวเลือกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มที่สอง คนที่ลดหย่อนเต็มสิทธิกองทุนแต่ละประเภทแล้ว และยังต้องการลดหย่อนภาษีเพิ่ม รวมถึงคนที่ต้องการลงทุนผ่านกองทุนรวมประเภทต่างๆ เต็ม 500,000 บาท แต่ยังต้องการซื้อกองทุนลดหย่อนเพิ่มขึ้น เป็นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์การใช้สิทธิลดหย่อนที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
ดังนั้นการลงทุนในกองทุน Thai ESG จึงนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของนักลงทุนที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ที่สามารถช่วยส่งเสริมความยั่งยืนของประเทศไทยได้อีกทางหนึ่ง และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความยั่งยืนของผลตอบแทนได้ในระยะยาว

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา