18 พ.ย. เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Debt Actually – ทุกหัวใจมีฝัน (และหนี้)

สกู๊ปชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง “Love Actually – ทุกหัวใจมีรัก” ที่ตัวละครแต่ละตัวมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทางใดทางหนึ่ง
ในชีวิตเมืองที่หมุนเร็วไม่หยุดยั้ง คล้ายว่าต่างคนต่างอยู่ ไม่เกี่ยวข้องต่อกันและกัน ท่ามกลางการทำงานและความเร่งรีบ แต่ในความเป็นจริง เราทุกคนต่างมีเรื่องราว ความฝัน และภาระที่เชื่อมโยงกันในวิถีที่ซับซ้อนยิ่งกว่าที่เราเห็น
สกู๊ปพิเศษชุดนี้จะพาคุณไปสำรวจชีวิตทางการเงินและความฝันของคน Gen Y หลากรูปแบบ ซึ่งทุกคนล้วนเกี่ยวพันกันในสังคมเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ แม้จะอยู่ในบทบาทที่แตกต่างกัน[2]
กาย ผู้บริหารระดับกลางที่ดูเหมือนจะมีชีวิตที่ดีและมั่นคง แต่เบื้องหลังกลับเต็มไปด้วยภาระหนี้และความรับผิดชอบ
ฟา นักศึกษาจบใหม่จากพื้นที่ไกลปืนเที่ยงที่เพิ่งเริ่มงานแรกในบริษัทเดียวกับกาย เขากำลังเผชิญกับความท้าทายในการจัดการชีวิตในเมืองใหญ่ และตั้งคำถามถึงฝันเล็ก ๆ ของตัวเอง
จ๊อด เพื่อนร่วมงานของภรรยากาย เธอทำงานในรัฐวิสาหกิจและต้องต่อสู้กับภาระหนี้สินที่สะสมมาเป็นสิบปี
รี พี่เลี้ยงลูกชายของกาย ผู้ที่ทำงานหนักในฐานะแม่เลี้ยงเดี่ยว เพื่อหวังว่าวันหนึ่งจะสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับลูกของตัวเอง (รีกับจ๊อดรู้จักกันตั้งแต่เด็ก เพราะพ่อของทั้งสองเป็นเพื่อนกัน)
*เนื้อหาและบุคคลที่อยู่ในสกู๊ปชิ้นนี้อยู่บนฐานของการลงพื้นที่พูดคุยและสัมภาษณ์จากเรื่องจริง อย่างไรก็ดี ผู้ให้ข้อมูลแต่ละท่านไม่ประสงค์ที่จะเปิดเผยตัวตน
“ลูกทำให้ผมอยากได้อะไรเกินตัว” - กาย กับความฝันของพ่อแม่ชนชั้นกลางระดับบน
“ผมเคยคิดว่า การมีรายได้แสนกว่าบาทต่อเดือนจะทำให้ชีวิตมันง่ายขึ้น” กายพูดพร้อมกับหัวเราะเบา ๆ กิริยาแสดงออกชัดเจนว่ากำลังแซวตัวเอง “เมื่อก่อนผมไม่ลำบากขนาดนี้นะ เงินเหลือชิล ๆ เราก็คิดว่าเราจัดการทุกอย่างได้ แต่พอมีลูก ความคิดนี้มันเปลี่ยนไปเลย”
“ผมคิดทบทวนและตั้งคำถามกับตัวเองอยู่ตลอดว่า เรากำลังจ่ายเงินให้กับสิ่งที่ไม่จำเป็นอยู่หรือเปล่า เอาเข้าจริงก็รู้แหละว่าของแพงไม่ได้แปลว่าของดี โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องการศึกษาด้วยแล้ว มันมีปัจจัยอื่นอีกมาก ถ้าเป็นของตัวเอง เราไม่จ่ายแน่ แต่พอเป็นเรื่องลูกแล้ว กลายเป็นว่าเท่าไหร่เท่ากัน” กายบอก
“บัตรเครดิตเป็นสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกอุ่นใจ” กายบอก
“ผมกับภรรยามีบัตรเครดิตรวมกันประมาณ 10 ใบ วงเงินรวมกันก็ประมาณ 1.5 ล้านบาท” เขายิ้มแบบเขิน ๆ
หนี้บัตรเครดิตส่วนใหญ่ของกายไม่ได้มาจากการใช้จ่ายส่วนตัว แต่มาจากค่าเทอมและค่าเรียนพิเศษของลูก “โรงเรียนลูกรับบัตรเครดิต แถมยังมีโปรโมชันส่วนลดให้ด้วย เราเลยเลือกใช้บัตรเพราะถูกกว่าเงินสด แถมยังผ่อน 0% ได้อีกต่างหาก ผมพยายามจะจ่ายให้มากที่สุดเท่าที่พอบริหารได้ โดยหลีกเลี่ยงการจ่ายแค่ขั้นต่ำ เพราะผมรู้ว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิตมันสูงมาก แต่พอหนี้เก่าหมด ค่าเทอมเทอมใหม่ก็มาถึงรอบพอดี นี่แหละที่ทำให้ผมเริ่มรู้สึกเหมือนผมเป็นหนี้บัตรเครดิตอยู่ตลอดเวลา”
เมื่อถามถึงแผนสำรองในอนาคตหากมีเหตุไม่คาดคิดเกิดขึ้น กายบอกว่านี่เป็นเรื่องที่เขากังวลอยู่ตลอดเวลา “ผมอายุ 42 แต่ลูกแค่ 5 ขวบเท่านั้น ก็กังวลว่าจะส่งเขาไปถึงได้อย่างที่ตั้งใจไหม แต่อย่างน้อยผมกับแฟนก็เห็นตรงกันว่า หากมีเหตุไม่คาดคิด การย้ายโรงเรียนลูกก็เป็นคำตอบที่ยอมรับกันได้”
“ผมไม่แน่ใจว่า เราจะเรียกชีวิตตอนนี้ว่าดีได้หรือเปล่า” - ฟา กับความฝันของ first jobber ที่ยังไม่เป็นจริงง่าย ๆ
“ผมยังไม่ชินกับกรุงเทพฯ เท่าไหร่ อะไรก็แพงไปหมด” ฟาวัย 23 หนุ่มนราธิวาสยิ้มเขิน ๆ เมื่อถามว่าชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างไร “ค่าครองชีพที่นี่สูงมาก 50% ของเงินเดือนผมหายไปกับค่าหอ ซึ่งผมเลือกที่จะอยู่ใกล้ที่ทำงาน เพราะมันช่วยประหยัดเวลาในการเดินทาง แต่ถ้าผมเลือกหอที่ถูกกว่านี้ ผมต้องเสียเวลาไปกับการเดินทาง ซึ่งลองนึกดูแล้วไม่ค่อยคุ้มค่า”
ฟาใช้ชีวิตเรียบง่าย แต่ก็ต้องคิดเรื่องการจัดการเงินอยู่เสมอ “เงินเดือนผมแค่พออยู่ได้ ไม่ได้มีเก็บอะไรมากมาย แต่โชคดีที่ผมยังไม่มีหนี้นะ และไม่ต้องส่งเงินกลับไปที่บ้าน เพราะพ่อกับแม่ก็ยังทำงานอยู่” เขาบอกว่าอยากมีบัตรเครดิตสักใบ เพื่อที่จะซื้อของใหญ่ที่จำเป็น เช่นคอมพิวเตอร์ใหม่ที่ใช้ทำงาน
“ผมมีคอมฯ อยู่ตัวหนึ่ง แต่ก็ใช้มาหลายปีแล้ว เครื่องเริ่มทำงานได้ช้าและร้อนมาก ผมก็คิดอยู่เหมือนกันว่าจะสมัครบัตรเครดิตดีไหม พี่ที่ออฟฟิศก็บอกว่า ถ้ามั่นใจว่าตัวเองมีวินัยมากพอก็สมัครได้ ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอะไร และถ้าบริหารได้ดีก็จะได้ประโยชน์จากบัตรด้วย แต่ผมก็ลังเล กลัวการเป็นหนี้ เพราะถ้ามีอะไรไม่คาดฝัน จากที่พออยู่ได้ ชีวิตผมจะลำบากทันที”
“บางทีผมก็คิดนะว่า จะกลับไปเปิดธุรกิจเล็ก ๆ ที่บ้านเกิดดีไหม อยากช่วยครอบครัวด้วย แต่ตอนนี้ผมยังไม่เห็นทางที่จะเก็บเงินได้มากพอ ตอนนี้ยังไม่มีทางเลือกมากนักก็คงต้องทำแบบนี้ไปก่อน” ฟากล่าว
“มันเหมือนกับว่าชีวิตหนูไม่เคยหลุดพ้นจากความลำบากเลย” - จ๊อด กับความฝันของคนที่อยากหลุดจากวงจรหนี้
“มันเหมือนกับว่าชีวิตหนูไม่เคยหลุดพ้นจากความลำบากเลย” จ๊อด พนักงานรัฐวิสาหกิจวัย 33 ปี เล่าพร้อมน้ำตาที่ซึมออกมาเล็กน้อย
“หนูจบแค่ ปวช. แต่ก็เข้ามาทำงานในรัฐวิสาหกิจได้ เริ่มงานได้แค่ 5 เดือน หนูตัดสินใจกู้เงินจากสหกรณ์เพื่อไปใช้หนี้ญาติแทนพ่อ เพราะหนี้พวกนี้ก็เกิดเพราะพ่อต้องเอามาดูแลหนูกับน้องสาว แต่เงินเดือนเริ่มต้นของหนูก็ไม่ได้สูงมาก การเป็นหนี้สหกรณ์ทำให้หนูถูกหักเงินเดือนจนเหลือเงินใช้ไม่มาก และหนูยังต้องส่งน้องด้วยเพื่อไม่ให้พ่อไปยืมเงินใครมาอีก”
จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตจ๊อดมาจากการเข้าไปลงทุนในแชร์ลูกโซ่ ซึ่งทำให้เธอเข้าไปอยู่ในวงจรหนี้ก้อนใหญ่ “ตอนแรกผลตอบแทนสูงมาก ใส่เงินเข้าไป 5,000 บาท สามวันต่อมาได้กำไรเลย 1,500 บาท ตอนนั้นคิดจริง ๆ ว่า โอกาสที่เราจะได้เงินแบบสบาย ๆ มาแล้ว หนูเลยตัดสินใจไปกู้สหกรณ์เพิ่มแบบเต็มวงเงินเลย แต่สุดท้ายหนูเสียเงินทั้งหมดไป มันพังหมด”
หนี้ก้อนใหญ่ทำให้จ๊อดยิ่งเหลือเงินใช้ในแต่ละเดือนน้อยมากจนต้องพึ่งบัตรเครดิต “หนูเริ่มเป็นหนี้บัตรเครดิตทีละนิด จนสุดท้ายก็เต็มวงเงินทุกใบ สุดท้ายหนูไปต่อไม่ไหว เลยต้องยอมให้เครดิตเสีย” แม้จะมีปัญหา แต่การทำงานในรัฐวิสาหกิจยังมีข้อดีคือ เงินเดือนจะขึ้นทุกปี และบางปีก็มีโบนัส ทำให้จ๊อดพอเอาตัวรอดจากวิกฤตได้ และเมื่อน้องสาวเรียนจบ หางานทำได้เอง ก็เริ่มรู้สึกเบาลงบ้าง
แต่ชีวิตจ๊อดก็ต้องสะดุดอีกครั้งในช่วงที่โควิด 19 ระบาด พ่อของเธอไม่สามารถออกไปขับแท็กซี่ได้ มิหนำซ้ำยังติดเชื้อและสุขภาพทรุดโทรมลงอย่างมาก “ช่วงนั้นพ่อไม่มีรายได้เลย หนูกับน้องเลยตัดสินใจให้พ่อกลับไปอยู่บ้านที่ชนบท ตั้งใจว่าไม่อยากให้พ่อทำงานอีกแล้ว แต่บ้านที่ชนบทไม่มีใครอยู่เลยเป็น 10 ปี มันโทรมมาก หนูเลยต้องกู้สหกรณ์อีกครั้ง เพื่อซ่อมแซมบ้านให้พ่ออยู่”
ปัจจุบันจ๊อดมีเงินเดือนเกือบ 30,000 บาท แต่เมื่อต้องหักหนี้สหกรณ์ ค่าเช่าบ้าน และเงินที่ส่งให้พ่อในแต่ละเดือนแล้ว จ๊อดเหลือเงินใช้แค่ราว 4,000 บาทเท่านั้น “บางทีหนูก็ท้อ ทำงานมาสิบกว่าปีแล้ว งานก็ดี แต่ทำไมชีวิตถึงยังลำบากอยู่ หนูไม่รู้เลยว่าจะมีวันไหนที่หลุดพ้นจากวงจรนี้ได้บ้าง”
“หนูแค่หวังให้ลูกมีชีวิตที่ดีกว่าที่หนูเคยมี” - รี กับความฝันของแม่ที่ต้องอยู่ไกลจากลูก
“มันเป็นเรื่องตลกร้ายมากที่หนูต้องทำอาชีพเลี้ยงลูกคนอื่น แต่ไม่สามารถอยู่ดูแลลูกตัวเองได้” รี พี่เลี้ยงเด็กวัย 31 ปี เล่าด้วยรอยยิ้มและแววตาที่ซ่อนความประชดประชันไว้ รีเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวของลูกสาววัย 12 ปี แต่เธอไม่สามารถอยู่กับลูกได้ เพราะด้วยอาชีพของเธอ ทำให้เธอต้องนอนที่บ้านนายจ้างทุกวัน ในขณะที่ต้องเช่าห้องให้ลูกสาวอยู่ตัวคนเดียว โดยมีเพื่อนบ้านคอยช่วยสอดส่องดูแลบ้าง
ก่อนมาเลี้ยงเด็ก รีและลูกอาศัยอยู่กับแม่ทำอาชีพรับจ้างเย็บผ้า แม้จะพอหาเงินได้ แต่ก็ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายของครอบครัว ปัญหาหลักที่ทำให้ชีวิตหนักขึ้นคือ สามีของเธอติดการพนันและเอาเงินที่รีหามาไปใช้เล่นพนันจนหมด “ตอนนั้นหนูทนไม่ไหว เลยตัดสินใจเลิกกับเขา ยอมเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เพราะมันดีกว่ายอมให้ชีวิตพังไปเรื่อย ๆ” รีเล่าถึงสาเหตุที่ทำให้เธอเริ่มต้นชีวิตใหม่เพียงลำพัง โดยที่ยังต้องรับผิดชอบผ่อนหนี้จักรยานยนต์ที่สามีเอาไปด้วย
สาเหตุที่รีตัดสินใจออกจากบ้านมาเป็นพี่เลี้ยงเด็ก เพราะน้องชายของเธอประสบอุบัติเหตุรุนแรงจนต้องพักรักษาตัวนานหลายเดือน น้องชายรีและภรรยาต้องย้ายกลับมาอยู่บ้านแม่ เนื่องจากขาดรายได้จากการทำงาน และบ้านหลังนั้นก็เล็กเกินกว่าที่ทุกคนจะอยู่ด้วยกันได้
ส่วนตัวรีไม่ได้เป็นหนี้ใคร แต่น้องชายของรีมีหนี้บัตรกดเงินสดจำนวนหลักแสน ซึ่งเป็นหนี้ที่ก่อไว้เพื่อจุนเจือครอบครัวในช่วงโควิดที่ไม่มีรายได้ รีและครอบครัวตกลงกันว่าจะรับผิดชอบหนี้ก้อนนี้ด้วยกัน แม้หนี้จะอยู่ในชื่อน้องก็ตาม
รีเล่าว่า อาชีพพี่เลี้ยงเด็กทำงานวันละ 12 ชั่วโมง ปกติได้หยุดสัปดาห์ละ 1 วัน แต่เนื่องจากเธอนอนที่บ้านนายจ้างอยู่แล้ว รีจึงขอทำงานเพิ่ม โดยขอทำงานวันละ 14 ชั่วโมง และจะหยุดเพียงเดือนละ 1 วันเพื่อไปหาลูก และโชคดีที่นายจ้างยอมรับข้อเสนอนี้ พร้อมจ่ายค่าจ้างแบบเรตล่วงเวลาในส่วนที่ทำเพิ่ม ทำให้รายได้ของเธอเพิ่มขึ้นอยู่พอสมควร
แม้รายได้จะมากขึ้น แต่รีก็ยอมรับว่าชีวิตทางการเงินก็ไม่ได้ดีสักเท่าไหร่ “พออยู่ไกลกัน หนูก็ไม่สบายใจ หนูให้ลูกวันละ 200 บาท เพื่อให้แน่ใจว่าเขาจะกินอิ่มและมีเงินซื้อของที่อยากได้บ้าง” รีไม่ได้คำนวนว่าเงินที่ตัวเองจ่ายให้ลูกนั้นเป็นเท่าไหร่ แต่ประมาณโดยคร่าว ๆ ตัวเลขรวมน่าจะเกิน 1/4 ของเงินเดือนทั้งหมด
รายได้ส่วนที่เหลือหมดไปกับการส่งให้แม่ ผ่อนหนี้บัตรกดเงินสด และผ่อนหนี้รถจักรยานยนต์ที่เธอไม่ได้ใช้ นอกจากนี้ เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รีต้องเป็นหนี้เพิ่มอีก เพราะพ่อที่อยู่ต่างจังหวัดประสบอุบัติเหตุรถล้ม เธอต้องกู้เงินจากนายจ้างมาใช้จ่าย
“ตอนได้ข่าวพ่อตอนแรกหนูเครียดมาก เพราะหนูไม่มีเงินเลย อีกอย่างเคยตกลงกันไว้กับนายจ้างว่า จะไม่มีการยืมเงินหรือเบิกเงินล่วงหน้า หนูกลัวว่าถ้าขอยืมนายจ้างแล้วนายจ้างไม่พอใจ จะทำให้หนูตกงาน แต่หนูก็ไม่มีทางเลือกแล้ว โชคดีที่นายจ้างให้ยืมโดยไม่หักเงินเดือน แต่จะหักจากโบนัสปลายปีแทน”
รีหวังว่าจะได้ทำงานพี่เลี้ยงเด็กกับบ้านนี้ต่อไปอีกเรื่อย ๆ “ส่วนหนึ่งเพราะหนูผูกพันกับน้อง หนูดูน้องมาตั้งแต่ยังเป็นทารกเลย แต่หนูก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน เพราะเมื่อน้องโตขึ้น เขาคงไม่ต้องการพี่เลี้ยงแล้ว แต่หนูหวังว่าตัวเองจะทำงานนี้ไปจนลูกเรียนจบ อย่างน้อยถึงตอนนั้นลูกจะได้ช่วยแบ่งเบาภาระได้บ้าง”
“ความฝันตอนนี้ของหนูไม่มีอะไร หนูแค่หวังให้ลูกมีชีวิตที่ดีกว่าที่หนูเคยมี แค่นั้นก็พอแล้ว” รีพูดทิ้งท้าย
ธปท. กับความฝันที่อยากให้คนไทยมีสุขภาพการเงินที่ดี
ท่ามกลางความยากลำบาก ความผันผวน และความท้าทายทางเศรษฐกิจที่คนไทยกำลังเผชิญ ธปท. กังวลเป็นอย่างยิ่งถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่สูงถึง 90% ของจีดีพี สภาพดังกล่าวนี้เป็นตัวฉุดรั้งไม่ให้คนไทยใช้ศักยภาพของตนได้เต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น และเป็นความเสี่ยงสำคัญที่อาจฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยให้เติบโตช้ากว่าในช่วงที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน ธปท. ก็ตระหนักเช่นกันว่ามีลูกหนี้จำนวนมากที่เข้าสู่วงจรหนี้ และต้องการออกจากวงจรหนี้ให้ได้อย่างยั่งยืน
แม้ว่าการยกหนี้หรือลดหนี้ให้กับลูกหนี้โดยตรงจะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ แต่ ธปท. ก็ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการช่วยเหลือลูกหนี้เท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดให้มีช่องทางร้องเรียน ปรึกษาปัญหาหนี้ และช่วยหาทางเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้ได้แก้ไขและสามารถเริ่มต้นใหม่ได้อย่างยั่งยืน ผ่าน 3 ช่องทางหลัก ได้แก่
คลินิกแก้หนี้ ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ให้สามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยเงื่อนไขผ่อนปรนพิเศษ เงื่อนไขสำคัญของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านช่องทางคลินิกแก้หนี้ก็คือ ผ่อนเฉพาะเงินต้น โดยมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3–5% ต่อปี (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาผ่อน) กำหนดระยะเวลาผ่อนสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ที่สำคัญจะยกดอกเบี้ยค้างเดิมก่อนเข้าโครงการให้ หากลูกหนี้ปฏิบัติได้ตามสัญญา
ทางด่วนแก้หนี้ เป็นช่องทางเสริมออนไลน์สำหรับลูกหนี้ที่ต้องการแก้ไขหนี้หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่ไม่สามารถติดต่อสถาบันการเงินได้ หรือติดต่อแล้วแต่ไม่สามารถตกลงกันได้
สำหรับลูกหนี้ที่อยากปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สามารถยื่นคำขอผ่านมาที่ทางด่วนแก้หนี้ โดย ธปท. จะรวบรวมคำขอส่งไปยังผู้ให้บริการให้ติดต่อลูกหนี้เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ ก่อนที่จะแจ้งผลให้ลูกหนี้ทราบต่อไป โดยอาจเป็นไปได้หลายรูปแบบ เช่น ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ปรับค่างวดชำระเป็นแบบขั้นบันได หรือเปลี่ยนสินเชื่อหมุนเวียนเป็นแบบมีระยะเวลา ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ประวัติการผ่อนชำระ รายได้ ความเดือดร้อนในปัจจุบัน และความตั้งใจในการชำระหนี้
หมอหนี้เพื่อประชาชน เป็นบริการที่ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ต้องการคำปรึกษาเรื่องการแก้ปัญหาหนี้ โดยเฉพาะคนที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี ต้องเตรียมข้อมูลอะไรบ้าง หรือจะเจรจากับเจ้าหนี้อย่างไรให้สำเร็จ
ธปท. จัดตั้งทีมงานหมอหนี้ขึ้นตั้งแต่ปี 2564 โดยเป็นศูนย์รวมของผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภายใน ธปท. และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่จะให้คำปรึกษาแก่ลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ธุรกิจเกี่ยวกับการแก้หนี้ ตลอดจนให้ความรู้ทางการเงิน กฎหมาย และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
โดยลูกหนี้สามารถเข้ามาลงทะเบียนและกรอกข้อมูลรายได้ ค่าใช้จ่าย ภาระหนี้ แล้วหมอหนี้จะติดต่อกลับทางโทรศัพท์ เพื่อช่วยวิเคราะห์สถานะหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมตัวเจรจากับเจ้าหนี้ ตลอดจนแนะนำมาตรการของ ธปท. และสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา