Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bank of Thailand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
22 พ.ย. 2024 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เปิดใจผู้ใหญ่บ้านยุคใหม่ กับการพัฒนาบ้านเกิดให้ไปสู่ความยั่งยืน
ศิษย์เก่าคนหนึ่งจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ใช้ชีวิตหลังเรียนจบเป็นพนักงานบริษัทอยู่นานปี แต่แล้วก็ถึงจุดอิ่มตัว เริ่มเบื่อหน่ายกับกิจวัตรจำเจที่ต้องทำซ้ำ ๆ วน ๆ อยู่ทุกวัน ท้ายที่สุดจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำและหวนคืนสู่ภูมิลำเนาด้วยเป้าหมายใหม่ที่ใหญ่และท้าทาย นั่นคือการเป็นชาวนาปลูกข้าวตามรอยบรรพบุรุษ แต่สิ่งที่เขาวางแผนไว้กลับแตกต่างออกไปจากชาวนารุ่นก่อนอย่างสิ้นเชิง
การกลับสู่บ้านเกิดพร้อมแนวคิดการทำนารูปแบบใหม่ “นาหยอด” ควบคู่กับการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรมาช่วยลดต้นทุน ลดการใช้แรงงาน แต่กลับช่วยเพิ่มผลผลิตและได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้ก่อตั้งกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ เพราะเห็นถึงความสำคัญของความรู้ด้านบริหารจัดการเงินที่จะเป็นส่วนช่วยให้ลูกบ้านมีวินัยทางการเงินและนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต
วารสารพระสยาม BOT MAGAZINE ชวนไปรับฟังเรื่องราวของ ผู้ใหญ่ด้า-พสธร หมุยเฮบัว ผู้ใหญ่บ้าน บ้านแฝก-โนนสำราญ จ.นครราชสีมา เกษตรกรหนุ่มไฟแรงวัย 32 ปีที่ใช้องค์ความรู้ใหม่ในการพลิกโฉมการทำนาแบบดั้งเดิม โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกบ้านที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้มีชีวิตการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
พลิกโฉมการทำนาแบบเก่า ด้วยองค์ความรู้ใหม่
เดิมทีเกษตรกรปลูกข้าวในภาคอีสานมักนิยมทำ “นาหว่าน” ซึ่งเป็นการทำนาแบบดั้งเดิมที่คุ้นชินกันมานาน โดยจะนำเมล็ดพันธุ์ข้าวมาหว่านลงบนผืนนา แล้วปล่อยให้ต้นข้าวเติบโต วิธีการนี้ทำง่าย ไม่ซับซ้อน แต่ข้อเสียคือต้นข้าวจะชิดติดกันจึงอ่อนแอและผลผลิตน้อย ไหนจะมีความเสี่ยงเรื่องภัยแล้ง แมลงรบกวน และต้องลงทุนสูงทั้งค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายา ราคาที่ขายได้ไม่คุ้มค่ากับต้นทุนและความเหน็ดเหนื่อยแรมปี สุดท้ายลงเอยที่ปัญหาเดิม ๆ คือ การเป็นหนี้
“การทำนาแบบเดิมก็เหมือนกับเป็นประเพณีสืบต่อกันมา ทำเพื่อดำรงชีพ พูดง่าย ๆ คือลงมือทำไปโดยไม่ได้สนใจเรื่องต้นทุนการผลิตหรือความเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ว่าจะคุณภาพเมล็ดพันธุ์ ฝนฟ้าอากาศ ราคาข้าวตกต่ำ สุดท้ายก็เจอปัญหาที่ว่า ทำไมยิ่งทำนายิ่งเป็นหนี้ รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ยิ่งยุคปัจจุบันหลายคนอยากส่งลูกเรียนสูง ๆ แต่จะเอาเงินที่ไหนส่ง ขืนยังทำแบบเดิมคงไม่มีวันได้ลืมตาอ้าปาก ความคิดนี้จึงเป็นแรงผลักดันให้เราลุกขึ้นทำอะไรสักอย่าง” ผู้ใหญ่ด้าฉายภาพชีวิตชาวนาในภาคอีสานให้เราฟัง
หลายคนคงยากที่จะเชื่อว่ายังมีเด็กรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นในการกลับมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้บ้านเกิดตัวเอง
ความเปลี่ยนแปลงได้ก่อตัวขึ้นอย่างช้า ๆ ผู้ใหญ่ด้าเริ่มโน้มน้าวพ่อแม่พี่น้องในชุมชนให้เปลี่ยนวิธีการทำนาหว่านมาเป็น “นาหยอด” เพราะเชื่อว่าเป็นวิธีที่เหมาะกับสภาพผืนดินแห้งแล้งของภาคอีสาน การหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวใส่หลุมด้วยเครื่องจักรช่วยให้ต้นข้าวเรียงแถว และใช้ปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวต่อไร่น้อยกว่านาหว่าน ดูแลง่าย และช่วยลดต้นทุนการผลิต ที่สำคัญคือได้ผลผลิตข้าวเยอะ คุณภาพดีเพราะข้าวทุกต้นมีพื้นที่ในการดูดซึมสารอาหารจากดิน ทำให้ขายได้ในราคาที่สูงขึ้น
“ความรู้ส่วนใหญ่ผมได้มาจากการประชุมสัมมนา ชอบเข้าอบรม เพราะได้องค์ความรู้ใหม่ ๆ และช่วยให้เราทบทวนความรู้ที่มีอยู่ว่ายังใช้ได้ผลหรือไม่ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ยิ่งสมัยนี้มีอินฟลูเอนเซอร์ในสื่อโซเชียลต่าง ๆ เช่น กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ (smart farmer) หรือชาวนารุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จและผันตัวมาเป็นยูทูบเบอร์ ก็เป็นแรงบันดาลใจให้ผมเหมือนกัน”
ใช้นวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนทัศนคติผู้คน
หนึ่งในเครื่องมือที่เข้ามาพลิกโฉมรูปแบบการทำนาของชาวบ้านแฝก-โนนสำราญ คือ “นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเกษตร” แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเจออุปสรรคท้าทายว่าจะเปลี่ยนทัศนคติคนรุ่นเก่าให้เชื่อใจเครื่องมือสมัยใหม่นี้ได้อย่างไร
“ตอนแรกไม่มีใครเชื่อว่าสิ่งที่เรานำเข้ามาจะช่วยให้ชีวิตเขาดีขึ้น เราก็ต้องพยายามพิสูจน์ให้ได้โดยทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ตัวผมเองก็ทำแปลงนาตัวอย่าง ประกอบกับเทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็ว มีคลิปวิดีโอให้ดูว่าหลายคนทำได้สำเร็จจริง ทำแล้วมีกำไร ยิ่งสร้างความมั่นใจให้เขา
“นวัตกรรมแรกที่นำมาใช้คือโซลาร์เซลล์ สมัยนั้นยังไม่เป็นที่แพร่หลาย โดยเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นไฟฟ้า ดึงน้ำบาดาลมาใช้ในช่วงฝนทิ้งช่วง ต่อมาคือเครื่องหยอด โดยหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวแค่ 10 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่ทำนาหว่านต้องใช้เมล็ดพันธุ์ถึง 30 กิโลกรัมต่อไร่ ถือว่าช่วยเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนได้ นอกจากนี้ ยังมีโดรนฉีดพ่นยา ราคาถูกกว่าจ้างคนและไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย นอกจากนี้ยังมีเครื่องอบข้าว เครื่องนวดข้าว รถเกี่ยวข้าว และอื่น ๆ
“ทัศนคติของคนทำนาจะชอบทำอะไรแบบเดิม ๆ แต่ถ้าเราเปลี่ยนให้เขารู้จักการนำนวัตกรรมไปใช้ เขาก็จะไม่ขาดทุน ยกตัวอย่างถ้าเราเกี่ยวข้าวด้วยมือ 1 ไร่ต้องจ้างคนในราคา 1,000-2,000 บาท แต่พอเปลี่ยนเป็นรถเกี่ยวข้าว ก็เหลือแค่ 600 บาท รวดเร็วขึ้นและสะดวกปลอดภัยมากขึ้นด้วย”
เครื่องมือการเกษตรที่มีในชุมชนตอนนี้มาจากทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐ รางวัลชนะการแข่งขันของบริษัทเอกชน และผู้มีทุนทรัพย์ในชุมชนซื้อมาเพื่อให้บริการคนในชุมชนด้วยราคาที่เป็นธรรม
“สมัยก่อนว่ากันว่าการมีลูกสาวสวยถือเป็นศักดิ์ศรี แต่ทุกวันนี้การทำนาสวยเป็นศักดิ์ศรีของคนในหมู่บ้านเราไปแล้ว (หัวเราะ) ทำแข่งกันให้มันสวยให้มันดี แข่งใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เรียกว่าเป็นความภาคภูมิใจของชาวบ้านเลย”
คุณสุภาภรณ์ หมุยเฮบัว แม่ของผู้ใหญ่ด้า ซึ่งเป็นประธานกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านแฝก-โนนสำราญ เล่าเสริมว่า นอกจากการทำนาหยอด จุดเปลี่ยนสำคัญที่ช่วยพลิกฟื้นความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้ดีขึ้นคือ การรวมกลุ่มทำเมล็ดพันธุ์ข้าวเอง
“ก่อนหน้านี้เราปลูกข้าวตามประสาชาวบ้าน ทำไว้กินและขาย ต่อมามีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมให้ทำเมล็ดพันธุ์ จึงเป็นที่มาของกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านแฝก-โนนสำราญ ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว นครราชสีมา
“ตั้งแต่ชาวบ้านทำเมล็ดพันธุ์ข้าวเอง ราคาขายก็ดีขึ้น ได้เงินเป็นก้อน เทียบกับสมัยก่อนตอนที่ขายให้กับโรงสี ขายเป็นถุง ๆ ได้เงินครั้งละ 1,000-2,000 บาท อย่างมากสุดก็หลักหมื่น แต่ทุกวันนี้ขายให้กับกรมการข้าว ได้เงินครั้งละเป็นแสน บางคนได้เกือบล้านก็มี ที่ภาคภูมิใจกว่านั้นคือเมล็ดพันธุ์ของเรากระจายไปขายให้กับชุมชนอื่น ๆ ภายใต้แบรนด์ของเราเอง”
สำหรับขั้นตอนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว คุณสุภาภรณ์เล่าว่ามีการนำนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ด้วยเช่นกัน ทั้งเครื่องหยอด โดรนสำหรับพ่นยาฆ่าศัตรูพืช รถเกี่ยวข้าว เครื่องอบข้าวเพื่อลดความชื้น อุปกรณ์และเครื่องจักรที่ว่ามานี้ตอบโจทย์เรื่องการประหยัดแรงคน ประหยัดแรงเงิน และยังสร้างรายได้เพิ่มด้วย
“การทำเมล็ดพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพดีและขายได้ราคาสูง ก็เพราะเราดูแลกันเองตลอดทั้งกระบวนการผลิต ตั้งแต่ไถ คัดเลือกแปลงที่จะมาทำเมล็ดพันธุ์ จนถึงหาเมล็ดพันธุ์ที่เชื่อถือได้จากศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าว”
คุณป้อม ดงหงษ์ เกษตรกรวัย 76 ปี เจ้าของผืนนาปลูกข้าวกว่า 50 ไร่ เล่าให้ฟังว่าในอดีตเคยผูกพันกับวิถีการปลูกข้าวแบบดั้งเดิม ทำนาหว่าน ใส่ปุ๋ย เก็บเกี่ยว ทั้งหมดใช้แรงคนล้วน ๆ กระทั่งยุคปัจจุบันที่มีการนำนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ ประหยัดแรงเหมาะกับชาวนาสูงวัยมาก ๆ
“พวกนวัตกรรมเทคโนโลยีทันสมัยทั้งหลาย ใช้มาได้เกือบสิบปีแล้ว มีทั้งรถไถ เครื่องปั่นดิน เครื่องหยอด สมัยก่อนต้องหยอดเมล็ดข้าวใส่หลุมด้วยตัวเอง แต่พอซื้อเครื่องหยอดมาใช้ก็เบาแรงลงเยอะ หรือเมื่อก่อนเวลาไถนานี่เดินตามควายเหล็กเลย เดี๋ยวนี้ขี่รถไถเอา สบายแล้ว (หัวเราะ) รถไถมันใช้บริการได้หลายอย่าง ยกเสา ยกไม้ ขนกระสอบข้าวเป็นร้อยถุง”
หลังจากการปรับเปลี่ยนวิธีการทำนา เศรษฐกิจในชุมชนก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เกษตรกรทุกคนมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้วิถีชีวิตในหลาย ๆ ด้านดีขึ้นตามไปด้วย
“คนทำนาเก็บเงินไม่ค่อยอยู่ กว่าจะเก็บเงินได้แต่ละก้อนไม่ใช่ง่าย ๆ เพราะค่าใช้จ่ายมันเยอะ แต่หลังจากเปลี่ยนมาทำนาหยอด ทำเมล็ดพันธุ์เอง เอาเครื่องมือสมัยใหม่มาช่วย ทุกอย่างก็ดีขึ้น รายได้เพิ่ม ประหยัดแรงคนแก่ไปได้เยอะ ก็รู้สึกดีใจนะ ภูมิใจที่เรารวมกลุ่มกันได้ สามัคคีกันดี ไม่มีแตกแยก”
เสริมความแข็งแกร่งให้ชุมชน ด้วยทักษะด้านบริหารจัดการเงิน
นอกจากองค์ความรู้ในการทำนาที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ผู้ใหญ่ด้าเชื่อว่าความรู้ด้านบริหารจัดการเงินก็มีส่วนช่วยในการยกระดับชีวิตเกษตรกรไทยให้หลุดพ้นจากคำว่า ยิ่งทำนายิ่งเป็นหนี้
“ความรู้ด้านบริหารจัดการเงินสำคัญพอ ๆ กับความรู้เรื่องของการทำนา การมีองค์ความรู้เรื่องการเงินจะทำให้ชาวนามีภูมิคุ้มกันที่ดี ทุกวันนี้มีการปลูกฝังเรื่องการออม มีกลุ่มออมทรัพย์วิสาหกิจที่ชาวบ้านร่วมกันออม ปัจจุบันมีเงินฝากหลักสิบล้านบาทแล้ว ใครจะลงทุนทำนา ซื้อปุ๋ย ซื้ออุปกรณ์การเกษตร ก็สามารถกู้แล้วค่อยมาใช้คืนทีหลังได้
“เราให้ชาวบ้านคำนวณต้นทุนการผลิตทุกปี เช่น ปีนี้ค่าเช่านา ค่าไถ ค่าเก็บเกี่ยว ค่าน้ำมันเท่าไหร่ หรือขายข้าวไปแล้วได้คืนมาเท่าไหร่ก็ควรเก็บไว้ลงทุนในปีหน้า ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เขาตระหนักว่า ทำนาต้องไม่ขาดทุน นอกจากการปลูกข้าวแล้ว เราก็สนับสนุนให้มีอาชีพเสริมหลังทำนาด้วย ตั้งแต่ขายฟางเพื่อใช้เลี้ยงวัว ปลูกผัก ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อนำไปทอผ้า”
ผ้าไหมทอมือ : จากงานอดิเรกสู่อาชีพเสริมที่สร้างรายได้
นอกจากการทำนาแล้ว ชาวชุมชนบ้านแฝก-โนนสำราญ ยังมีวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็งและเป็นอาชีพเสริมเมื่อว่างจากการทำนาให้หลายครอบครัว
คุณละมุล ดงสงคราม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านทอผ้าไหมบ้านแฝก-โนนสำราญ บอกด้วยน้ำเสียงปลาบปลื้มใจว่า การทอผ้าไหมเปรียบเสมือนอาชีพเสริมของแม่บ้านหลายครัวเรือน การทอผ้ามัดหมี่ “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ถือเป็นผลิตภัณฑ์ประจำท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ และได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย
“สมัยก่อนเราใช้เวลาไปกับการทำนาหว่านเยอะมาก เพราะตอนนั้นยังไม่มีเครื่องทุ่นแรง ไม่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย แต่พอเปลี่ยนมาใช้นวัตกรรมสมัยใหม่ในการทำนาหยอด ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น มีรายได้มากขึ้น ที่สำคัญเวลาในการทำนาก็น้อยลงแค่ 3 เดือนต่อปี เวลาที่เหลือก็มาอยู่กับการทอผ้า ซึ่งเป็นงานอดิเรกที่เรารัก"
“จุดเด่นของผลิตภัณฑ์เราคือเป็นผ้าไหมทอมือโดยใช้กี่ทอผ้าพื้นเมือง สืบทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษรุ่นสู่รุ่น เรียกว่าแฮนด์เมดทุกขั้นตอน ไม่มีเครื่องทุ่นแรง ทำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม นำเส้นไหมมาแปรรูปเป็นเสื้อสำเร็จรูป จนถึงตั้งศูนย์เพื่อจำหน่าย สมัยก่อนมีลูกค้าจากต่างถิ่นเดินทางมาซื้อตามบ้านเลย กลายเป็นแรงผลักดันให้เราตั้งกลุ่มขึ้นมาในปี 2537 ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 118 คน”
เมื่อลูกบ้านในชุมชนมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น มีทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม ผลลัพธ์ที่ได้มิใช่เพียงแค่รายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่การมีปฏิสัมพันธ์กันในชุมชนก็เพิ่มขึ้นด้วย
“ทุกวันนี้ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนเยอะ พอชุมชนเราทำนามีกำไร ความเครียดมันก็ลดลง หันมาช่วยเหลือกันมากขึ้น เพราะธรรมชาติคนเราเมื่อมีเพียงพอแล้วก็อยากเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อยากแบ่งปันให้ส่วนรวม” ผู้ใหญ่ด้ากล่าว
‘ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน’ ความภาคภูมิใจในฐานะคนต้นแบบ
ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน ตอนที่หวนคืนบ้านเกิด ผู้ใหญ่ด้าหมั่นเดินทางไปศึกษาดูงาน เข้าอบรมด้านการทำเกษตรนับครั้งไม่ถ้วน จนสามารถนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาปรับใช้กับชุมชนของตัวเองได้ และสิ่งที่เห็นนี้เป็นแค่ความสำเร็จในระดับหนึ่งเท่านั้น แม้ตอนนี้จะยังไม่ถึงเป้าหมายที่ปักธงไว้ แต่ก็ภูมิใจมาก และอยากนำบทเรียนทั้งหมดที่ได้มาไปพัฒนาต่อในอนาคต
“ผมรู้สึกภูมิใจมาก เพราะเราเป็นแค่เกษตรกรตัวเล็ก ๆ ที่เพิ่งมาหัดทำแต่ก็มีคนชื่นชมว่าประสบความสำเร็จแล้ว เอาเข้าจริงผมว่าเราทำได้มากกว่านี้ ซึ่งตัวองค์ความรู้เหล่านั้นผมก็อยากขวนขวายพัฒนาเพิ่มเติม ไม่ใช่แค่ในหมู่บ้านตัวเอง แต่ขยายไปยังชุมชนรอบข้างด้วย ทั้งในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศ เพราะว่าองค์ความรู้ที่เราได้มามีแต่จะช่วยทำให้ชีวิตคนทำนาดีขึ้น”
ในฐานะผู้ใหญ่บ้านที่ลุกขึ้นมาเป็นต้นแบบให้คนอื่นเดินตามด้วยความเชื่อมั่น สามารถเปลี่ยนทัศนคติคนรุ่นเก่าให้เปิดใจรับความคิดสมัยใหม่ได้ ผู้ใหญ่ด้าเผยถึงเคล็ดลับการจูงใจคนว่า
“การเป็นผู้นำที่ดีมันไม่ใช่แค่การวางมาด แต่ต้องมีทัศนคติที่ดี มีองค์ความรู้ที่ดี และต้องเข้าสังคมได้ด้วย ต่อให้มีความรู้เยอะ แต่ถ้าไปเผยแพร่ให้ผู้อื่นไม่ได้ ก็เป็นผู้นำให้คนอื่นไม่ได้ สำหรับผม ผู้นำที่ดีต้องสามารถเอาเรื่องดี ๆ ไปทำให้คนอื่นทำตามได้ด้วย ผมเชื่อว่าตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน ถ้าเราทำได้ ชาวบ้านก็อยากทำเหมือนเรา”
แม้ไม่รู้ว่าองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในการทำนาจะถูกเผยแพร่และเข้าถึงผู้คนเป็นวงกว้างได้แค่ไหน ต้องใช้เวลานานสักเท่าไหร่ และไม่รู้ว่าวันข้างหน้าอนาคตของชาวนาไทยทุกพื้นที่จะดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ แต่อย่างน้อยวันนี้ เรื่องราวของผู้ใหญ่ด้า-พสธร หมุยเฮบัว ก็น่าจะปลุกแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับบ้านเกิดของตนเอง
โครงการ Bright Spot
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ “อีสาน” เป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่มากถึง 1 ใน 3 ของประเทศไทย และมีประชากรมากที่สุดในประเทศ แต่กลับสร้างรายได้เพียง 1 ใน 10 ของรายได้ประเทศ มิหนำซ้ำรายได้ต่อหัวก็ต่ำที่สุดในประเทศด้วย ประชากรส่วนใหญ่ในภูมิภาคประกอบอาชีพเกษตรกรปลูกข้าว ที่ต้องเผชิญปัญหารายได้ไม่แน่นอนและมีหนี้สิน การปลูกข้าวแบบดั้งเดิมอาจไม่ตอบโจทย์กับผู้คนชาวอีสาน
ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส และทีมงานธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและต้องการเริ่มต้นแก้ไขปัญหานี้ เพราะการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ จึงริเริ่มโครงการ Bright Spot เพื่อเฟ้นหา “คนอีสานต้นแบบ” ที่ประสบความสำเร็จและสามารถเป็นบุคคลต้นแบบได้
ธปท. จะคอยเป็นตัวกลางในการนำพาให้ประชากรในพื้นที่ต่าง ๆ ได้เจอกับคนอีสานต้นแบบ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด ให้ความรู้ และได้รู้จักกัน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนอีสานว่าเราสามารถสร้างชีวิตที่ดีขึ้นได้ ทั้งด้านอาชีพ รายได้ ความเป็นอยู่ และการบริหารจัดการเงิน
ธุรกิจ
การลงทุน
เศรษฐกิจ
1 บันทึก
3
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
บทความใหม่
1
3
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย