Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bank of Thailand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
2 ธ.ค. เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เสริมแกร่ง SMEs: ก้าวข้ามข้อจำกัด สู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises)[1] หรือ SMEs เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยรายงานสถานการณ์ MSME ปี 2567 ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า SMEs สร้างมูลค่าถึง 35% ของ GDP รวมของประเทศ [2] แต่การเติบโตของ SMEs ในหลายพื้นที่ยังเผชิญกับข้อจำกัด โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการขาดความรู้ทางการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพของ SMEs จึงเริ่มต้นการส่งเสริมความรู้ทางการเงินในกลุ่มผู้ประกอบการ เพื่อวางรากฐานความรู้และยกระดับความสามารถในการวางแผนทางการเงินของธุรกิจให้แข็งแกร่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเหมาะสม และช่วยให้ SMEs ดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
ปัญหาที่ SMEs ต้องเผชิญ : การขาดความรู้ทางการเงินและการเข้าไม่ถึงสินเชื่อ
ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ขนาดเล็ก ที่ประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่วนใหญ่มีที่มาจาก 3 สาเหตุ ได้แก่ การขาดข้อมูลทางการเงินที่เพียงพอ การขาดความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และการขาดโอกาสหรือช่องทางในการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย ซึ่งทำให้การเติบโตของธุรกิจและยอดขายไม่เพียงพอในการยื่นกู้
นอกจากการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ค่อนข้างยากแล้ว ยังพบว่าหลังการระบาดของโควิด 19 กลุ่ม SMEs ทั่วประเทศได้รับผลกระทบอย่างมาก โดย SMEs ภาคตะวันออก (ไม่รวมกรุงเทพฯ และปริมณฑล) ได้รับผลกระทบมากที่สุด รองลงมาคือภาคเหนือ
ผลจากการสำรวจ [3] พบว่าการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือการเข้าถึงการพัฒนาส่งเสริม SMEs อยู่ในระดับต่ำ ผู้ประกอบการ SMEs จึงต้องการให้ภาครัฐจัดอบรมความรู้ด้านต่าง ๆ ในวงกว้าง เช่น การทำธุรกิจออนไลน์ ความรู้ด้านภาษี และการเสริมทักษะให้แรงงาน อีกทั้งยังต้องการเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพทางการเงินและส่งเสริมการทำธุรกิจด้วย
เพื่อตอบโจทย์ปัญหานี้ ธปท. สำนักงานภาคเหนือจึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรหลัก ได้แก่ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพื่อส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้กับ SMEs โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างรากฐานความรู้ทางการเงินที่เข้มแข็ง และช่วยยกระดับความแข็งแกร่งทางการเงินให้กับผู้ประกอบการในภาคเหนือซึ่งเกือบทั้งหมดเป็น SMEs และในกลุ่มนี้ยังมีสัดส่วนของ micro SMEs หรือผู้ประกอบการรายย่อยถึง 91% [4]
การส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้ผู้ประกอบการจะเน้น 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ (1) การส่งเสริมความตระหนักในการบริหารการเงินธุรกิจ โดยให้ความรู้ด้านการจัดทำและวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินเบื้องต้น การจัดการหนี้สิน รวมถึงการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ทำให้ SMEs มองเห็นโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนหรือบริการของสถาบันการเงินได้มากขึ้น
และ (2) การสร้างเครือข่ายเพื่อสื่อสาร และกระจายข้อมูลที่มีประสิทธิภาพระหว่างภาครัฐ หน่วยงานต่าง ๆ และ SMEs ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับมาตรการสนับสนุนทางการเงินได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งยังสามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานหรือสถาบันการเงินเพื่อขอรับคำปรึกษาและการสนับสนุนได้ง่ายขึ้น
ความร่วมมือในการแก้ไขผ่าน “การให้ความรู้และสร้างโอกาส”
ธปท. ได้ร่วมมือกับพันธมิตรที่สำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาหรือลดข้อจำกัดต่าง ๆ ของ SMEs ผ่านการส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2564 ภายใต้แนวคิด “ครบถ้วน ครอบคลุม เครือข่าย” ซึ่งได้ดำเนินการในรูปแบบออนไลน์ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ภายใต้ “โครงการพัฒนาทักษะทางการเงินที่ปรึกษา/พี่เลี้ยงทางธุรกิจ SMEs”
ต่อมาในปี 2565 ได้ขยายการดำเนินการไปยังจังหวัดใกล้เคียง และครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ระดับประเทศ ภายใต้โครงการ “Fin Lit SMEs Power Up” แต่หลังจากที่การระบาดของโควิด 19 คลี่คลายลงในปี 2566 ก็ได้ปรับรูปแบบของโครงการให้เป็นแบบ onsite แทน
โดยได้รับความร่วมมือจากหอการค้าและกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Young Entrepreneur Chamber of Commerce: YEC) ของจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ เพื่อให้เข้าถึงผู้ประกอบการ SMEs ในแต่ละพื้นที่ได้อย่างตรงจุด พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้ารับคำปรึกษาทางการเงินในเชิงลึก ภายใต้โครงการ “เสริมแกร่ง SMEs” ซึ่งมีเป้าหมายจะดำเนินโครงการให้ครอบคลุมครบทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือภายในปี 2568 และอาจขยายไปยังภาคอื่น ๆ ต่อไป ภายใต้หลักการ “ครบถ้วน ครอบคลุม เครือข่าย”
ส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ ภายใต้แนวคิด “ครบถ้วน ครอบคลุม เครือข่าย”
ครบถ้วน – ให้ความรู้ทางการเงินที่จำเป็นต่อธุรกิจอย่างรอบด้าน ทั้งทิศทางเศรษฐกิจภาคเหนือ มาตรการช่วยเหลือทางการเงินสำหรับ SMEs สิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้บริการทางการเงิน หลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงิน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้ารับคำปรึกษาโดยตรงจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น หมอหนี้จาก บสย. และ ธปท. ในเรื่องแนวทางการบริหารจัดการหนี้ การบริหารแผนงานธุรกิจ และการเข้าถึงแหล่งทุนอย่างเหมาะสม
ครอบคลุม – ให้ความรู้ทางการเงินแก่ผู้ประกอบการในวงกว้าง โดยเริ่มดำเนินโครงการในจังหวัดเชียงใหม่ และขยายไปยังจังหวัดใกล้เคียงแล้ว 12 จังหวัด คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือภายในปี 2568
เครือข่าย – สร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน และขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังกลุ่มพันธมิตรแต่ละจังหวัด ได้แก่ บสย. สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย หอการค้าจังหวัดในภาคเหนือ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่หอการค้าในภาคเหนือ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นอกจากการส่งเสริมความรู้ทางการเงินแล้ว การสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ ธปท. ให้ความสำคัญ โดยในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2567 ได้ทำการศึกษาผ่านการสำรวจผู้ประกอบการ SMEs ที่มีรายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อปี จำนวน 148 รายในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา) เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์การเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
และสำรวจเครื่องมือส่งเสริมความรู้ทางการเงินที่เหมาะสมกับ SMEs พร้อมทั้งได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้บริหารสถาบันการเงินในพื้นที่ภาคเหนือเพื่อให้เข้าใจมุมมองของผู้ปล่อยสินเชื่อด้วย
ผลการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง พบว่า SMEs มากถึง 47% ต้องการสินเชื่อแต่ยังไม่ได้สินเชื่อ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มแรก คนที่ไม่รู้จักผลิตภัณฑ์สินเชื่อ และไม่รู้ว่าสถาบันการเงินพิจารณาสินเชื่อจากปัจจัยอะไรบ้าง จึงไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นขอกู้อย่างไร หรือไม่รู้ว่าจะเริ่มศึกษาจากที่ใด
กลุ่มที่ 2 คือ คนที่ไม่แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เหมาะสมกับตนเองหรือไม่ และไม่สามารถประเมินศักยภาพตัวเองได้ และกลุ่มที่ 3 คือ คนที่เคยถูกปฏิเสธสินเชื่อ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการมีประวัติค้างชำระ และไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ และบางส่วนมาจากการจัดทำงบการเงินหลายบัญชีหรือไม่เป็นไปตามมาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่า สองกลุ่มแรก น่าจะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพที่สามารถผลักดันเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อได้ โดยการส่งเสริมความรู้ทางการเงินตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน ขณะที่กลุ่มสุดท้ายควรได้รับทราบเหตุผลที่ชัดเจนของการถูกปฏิเสธ เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการปรับตัวและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อ
แม้ปัจจุบันจะมีหลักสูตรให้ความรู้ทางออนไลน์จำนวนมาก แต่ SMEs ส่วนใหญ่ยังต้องการเครื่องมือส่งเสริมความรู้ที่เป็นแบบเฉพาะตัว หรือเรียกว่า “ตัดตามสั่ง” เช่น ต้องการที่ปรึกษาทางการเงินที่จะช่วยประเมินและเสนอแนะวิธีแก้ไขและพัฒนาธุรกิจได้อย่างตรงจุด แต่ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนที่ปรึกษาทางการเงินที่มีไม่เพียงพอ ทำให้ SMEs บางส่วนยังเข้าไม่ถึงการให้คำปรึกษาในลักษณะนี้
นอกจากนี้ การอบรมรูปแบบ onsite ก็เป็นที่ต้องการของกลุ่ม SMEs เนื่องจากสามารถซักถามเรื่องที่สงสัยและมีโอกาสสร้างเครือข่ายกับผู้เข้าอบรมคนอื่นได้ ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแบบ onsite แล้วจำนวน 630 ราย และมีหลายคนที่ประสบความสำเร็จในการเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินแล้ว คิดเป็นจำนวนเงินอนุมัติกว่า 32.8 ล้านบาท [5]
จากการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ธปท. สำนักงานภาคเหนือจึงเสนอที่จะจัดทำ 3 ตัวช่วยใหม่ นั่นคือ
(1) แบบทดสอบตนเองในการประเมินโอกาสการขอกู้ เพื่อให้ SMEs รู้จักจุดแข็งและจุดอ่อนในแต่ละด้านที่สถาบันการเงินใช้พิจารณาสินเชื่อ ซึ่งจะมาพร้อมกับคำแนะนำ และช่องทางที่จะช่วยพัฒนาด้านที่เป็นจุดอ่อนให้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น
(2) ศูนย์รวมผลิตภัณฑ์การเงินสำหรับ SMEs และ
(3) ศูนย์รวมเครื่องมือเสริมศักยภาพการเงิน ซึ่งทั้ง 3 ตัวช่วยที่กล่าวมานี้จะแก้ปัญหาและปิดช่องว่างของกลุ่มคนที่ไม่รู้ ให้รู้จักผลิตภัณฑ์และเครื่องมือได้ง่ายขึ้น และกลุ่มที่ไม่แน่ใจก็จะประเมินศักยภาพของตนเองก่อนยื่นขอสินเชื่อได้
ต่อยอดความสำเร็จไปสู่ความยั่งยืน
สำนักงานภาคเหนือของ ธปท. อยู่ระหว่างการนำ 3 ตัวช่วยใหม่ข้างต้นมาใช้ในโครงการนำร่อง “คลินิกเสริมแกร่งการเงิน SMEs” ซึ่งได้พัฒนาเป็นพื้นที่ทดลองกับกลุ่มตัวอย่างสำหรับการประเมินปัญหาหรือข้อจำกัดของ SMEs แต่ละราย เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาข้อจำกัดที่สำคัญให้แก่ผู้ประกอบการ โดยจะนำผลสรุปเบื้องต้นมาปรับปรุงแนวทางการประเมินและแก้ปัญหา ก่อนที่จะขยายผลไปยังกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นให้เป็นทางลัดในการเสริมศักยภาพและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อต่อไป
อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ประกอบการพบว่า หลายคนมีข้อจำกัดด้านเวลา ทำให้ไม่สามารถเข้าอบรมเพื่อเสริมความรู้ทางการเงินได้ ธปท. จึงได้พัฒนาหลักสูตรการเงินออนไลน์ เพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนการเรียนรู้ เสริมสร้าง และทบทวนทักษะทางการเงินสำหรับ SMEs กลุ่มนี้ โดยได้ขยายผลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์สาธารณะหลายแห่ง เช่น FinDi ของสมาคมธนาคารไทย6, CMU Lifelong Education7 ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ SME Academy 365 ของ สสว.8 ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้าเรียนรวมกว่า 4,000 ราย9
นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ธปท. และพันธมิตรมุ่งมั่นในการสนับสนุน SMEs ให้เข้มแข็งอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อ “เสริมแกร่ง SMEs” ที่ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการก้าวข้ามข้อจำกัด ด้วยการส่งเสริมความรู้ทางการเงิน การให้คำปรึกษาธุรกิจ และหาตัวช่วยหรือเครื่องมือใหม่ ๆ ที่เหมาะสมให้กับ SMEs แต่ยังสร้างช่องทางและเครือข่ายในการเผยแพร่ข้อมูล
ทั้งมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน รวมไปถึงแนวทางการดูแลผู้ใช้บริการทางการเงินให้ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรที่เข้มแข็ง เพื่อร่วมกันยืนเคียงข้างผู้ประกอบการ และเดินหน้าผลักดันให้ SMEs ไทยแข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืน เป็นส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจไทยให้มั่นคงต่อไป
ความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
ผู้ประกอบการ : กิจการแปรรูปผลไม้อบแห้ง วิสาหกิจชุมชนสุวรรณฟู้ดส์ จ.ลำพูน
“เป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการ เราอาจไม่เคยได้รับความรู้เชิงลึกแบบนี้... อยากให้ผู้ประกอบการทั้งที่เริ่มต้น หรือประกอบการมานานแล้ว รวมทั้งที่กำลังจะเติบโต เข้าร่วมโครงการที่มีประโยชน์นี้”
ผู้ประกอบการ : กิจการส่งออกงาน craft บริษัท สยามมันดาเลย์ จำกัด จ.เชียงใหม่
“โครงการนี้เป็นประโยชน์อย่างมากทั้งกับตัวเรา ผลิตภัณฑ์ และองค์กร สามารถนำความรู้ไปแชร์ต่อได้...
บางคนอาจยังไม่มีธุรกิจ สามารถเข้ามาฟังเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการคิดริเริ่มและก่อตั้งธุรกิจใหม่ ๆ ได้”
หน่วยงาน : บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดยคุณผกามาศ สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมลูกค้าและพัฒนาผู้ประกอบการ
“ธปท. สำนักงานภาคเหนือเป็นพันธมิตรที่มีเป้าหมายเดียวกัน ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs... เราจะจับมือร่วมกันดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้มีความรู้ทางการเงินที่แท้จริง สามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับธุรกิจของตนเอง และบอกต่อผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
หน่วยงาน : สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย โดยคุณอาคม สุวรรณกันทา ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จังหวัดเชียงใหม่
“สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจะให้ความสำคัญในการดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือ SMEs เป็นลำดับต้น ๆ ธปท. ก็ถือเป็นหน่วยงานที่มีการเชื่อมโยง 3 กลไกหลักสำคัญทางการเงินเพื่อผู้ประกอบการ SMEs 1) เชื่อมโยงแหล่งทุน สถาบันการเงินกับหน่วยงานค้ำประกัน เช่น บสย. 2) สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs เชิงพื้นที่ให้เหนียวแน่น 3) เตือนสติผู้ประกอบการผ่านข้อมูลเศรษฐกิจการเงินเพื่อประเมินสถานการณ์ธุรกิจได้”
หน่วยงาน : หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ โดย ดร.กอบกิจ อิสรชีววัฒน์ รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่
“ขอบคุณ ธปท. สำนักงานภาคเหนือที่เชิญหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่มาหารือปัญหาของผู้ประกอบการในหลาย ๆ ครั้ง ทำให้เราพบหลายประเด็น เช่น การเข้าถึงแหล่งทุน หนี้สินที่สูงขึ้นจากหลายปัจจัย... จึงเป็นที่มาของความร่วมมือในการทำโครงการ ‘เสริมแกร่ง SMEs’ ที่ครบถ้วน มีรูปแบบการจัดกิจกรรมตรงกับความคาดหวังของภาคเอกชน ที่ผู้ประกอบการได้รับความรู้ทางการเงิน ได้เครือข่าย ได้ทำการตลาด และได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐไปพร้อมกัน”
หน่วยงาน : YEC จังหวัดเชียงใหม่ โดย คุณพลวริษฐ์ สุวิทย์ศักดา ประธาน YEC จังหวัดเชียงใหม่ และคุณภานุพงศ์ ใจรักษา เลขาธิการ YEC จังหวัดเชียงใหม่
“ธปท. เป็นหนึ่งในพันธมิตรสำคัญที่เป็นกำลังหลัก โดยเฉพาะการเชิญชวนพันธมิตรหลายหน่วยงานมาร่วมมือกันทำโครงการนี้ ช่วยเสริมทักษะให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้พัฒนาตนเอง รวมทั้งเป็นอีกโอกาสที่ทำให้ผู้ประกอบการได้รับคำปรึกษาแนวทางการบริหารจัดการหนี้อีกด้วย เรียกว่า ‘เสริมแกร่ง’ อย่างแท้จริง”
[1] อ่านรายละเอียดเรื่องลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมใน กฎกระทรวงกำหนดลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2562
[2] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน รายงานสถานการณ์ MSME ปี 2567 โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
[3] อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน รายงานผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19
[4] ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ
[5] ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567
[6] FinDi by TBAC
[7] วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
[8] SME ACADEMY 365 - LEVEL UP & WIN
[9] ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567
ธุรกิจ
เศรษฐกิจ
การเงิน
10 บันทึก
12
8
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
บทความใหม่
10
12
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย