Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bank of Thailand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
4 ธ.ค. 2024 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“สินเชื่อเพื่อการปรับตัว” เติมพลังให้ภาคธุรกิจไทย
การระบาดของโควิด 19 นอกจากจะทำให้ผู้คนต้องปรับตัวเปลี่ยนวิถีชีวิตในหลายรูปแบบแล้ว ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการบริโภคและทิศทางตลาดด้วย ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยจึงต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อจำกัดด้านความสามารถในการแข่งขันที่ถูกกดดันทั้งจากพัฒนาการของคู่แข่งในตลาดโลก และปัญหาเชิงโครงสร้างภายในของเศรษฐกิจไทยเอง
แม้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะเป็นปัจจัยสำคัญที่เข้ามากระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยอยากที่จะยกระดับคุณภาพการผลิตเพื่อให้เท่าทันกระแสการเปลี่ยนแปลงและแข่งขันในตลาดโลกได้ แต่ผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมากยังมีข้อจำกัดหลายอย่างโดยเฉพาะด้านเงินทุน ที่ทำให้ไม่สามารถปรับตัวได้อย่างที่ตั้งใจ
แล้วไทยเราจะปลดล็อกศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs เหล่านี้ได้อย่างไร?
“ภาคการเงิน” พลังหนุนให้ธุรกิจปรับตัว
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย ตระหนักถึงความสำคัญของการปรับตัวในช่วงการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจภายหลังวิกฤตโควิด 19 โดยได้หารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการออกมาตรการ “สินเชื่อเพื่อการปรับตัว”
3
ซึ่งต่อยอดจากสินเชื่อฟื้นฟู ภายใต้ พรก. การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 พ.ศ. 2564 เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ สำหรับการลงทุนปรับปรุง พัฒนาและเสริมศักยภาพธุรกิจให้สอดรับกับยุค new normal ไม่ว่าจะเป็นกระแสเทคโนโลยีดิจิทัล ความก้าวหน้าของนวัตกรรม และการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
2
“คำถามใหญ่คือ เราจะช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้พวกเขาสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้ในโลกที่สภาวะเปลี่ยนแปลงไป จึงได้กลายเป็นที่มาของมาตรการ สินเชื่อเพื่อการปรับตัว” คุณนัชชา ภาพิมลวัชร ผู้ตรวจสอบอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบ 2 สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. ให้ความเห็น
1
คุณนัชชาเล่าว่า สำหรับธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจแบบเดิม ๆ อาจไม่สามารถตอบสนองกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป สินเชื่อเพื่อการปรับตัวสามารถเข้ามาเป็นเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ สำหรับปรับปรุงธุรกิจให้สอดรับกับกระแสและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การลงทุนในระบบซอฟต์แวร์หรือระบบอัตโนมัติเพื่อให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยลดต้นทุนการผลิต รวมถึงลดการใช้แรงงานและความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้
หรือการลงทุนเพื่อปรับธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การลงทุนติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (solar cell) และการปรับโฉมธุรกิจให้รองรับยานยนต์ไฟฟ้า เช่นเดียวกับภาคการเกษตรที่สามารถใช้สินเชื่อนี้ในการทำการเกษตรแบบยั่งยืน สะอาด และปลอดภัยขึ้น เช่น การเลี้ยงสัตว์ระบบปิดเพื่อควบคุมโรค
โครงการสินเชื่อเพื่อการปรับตัวที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับปรุงธุรกิจให้ตอบรับกระแสโลกยุคใหม่หลังโควิดได้ โดยช่วยเติมเงินทุนเข้าไปในระบบเศรษฐกิจได้มากกว่า 11,000 ล้านบาท และเป็นตัวช่วยผู้ประกอบการได้กว่า 700 ราย ครั้งนี้ พระสยาม BOT MAGAZINE มาชวนพูดคุยกับผู้ประกอบการบางส่วน ที่นำสินเชื่อดังกล่าวมาปรับปรุงธุรกิจของตัวเองจนประสบความสำเร็จ
1
ซอฟต์แวร์อัปเดต เครื่องจักรอัปเกรด ธุรกิจเดินหน้า
บริษัท บี. อาร์. เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ ดีไซน์ 1975 จำกัด เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ได้รับสินเชื่อเพื่อการปรับตัว เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ที่ใช้กับเครื่องจักรของบริษัทให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
คุณพสิษฐ์ คำทวี กรรมการผู้จัดการ ที่เปรียบเหมือนนายช่างใหญ่เล่าว่า บริษัทได้เริ่มดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2546 โดยผลิตตัวตรวจสอบชิ้นส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ หรือ JIG Fixture หรือพูดง่าย ๆ คือ อุปกรณ์ตรวจสอบชิ้นงาน ก่อนนำชิ้นงานมาประกอบเป็นรถรุ่นต่าง ๆ และส่งถึงมือลูกค้านั่นเอง
แรกเริ่มบริษัทใช้งานซอฟต์แวร์ที่เป็นรูปแบบ 2 มิติอย่าง AutoCAD ซึ่งเป็นโปรแกรมขั้นพื้นฐานของระบบปฏิบัติการ ที่ใช้ออกแบบทางด้านวิศวกรรม ภาพที่ออกมาไม่สามารถหมุนเปลี่ยนมุมมองเวลาสร้างชิ้นงานได้ แต่หลังจากได้รับสินเชื่อเพื่อการปรับตัว ทำให้มีการลงทุนสำหรับอัปเกรดซอฟต์แวร์ให้เป็นแบบ 3 มิติ จึงสามารถมองเห็นชิ้นงานได้แบบรอบด้าน ทั้งยังมีลูกเล่นที่ปรับเปลี่ยนเฉพาะจุดได้ รวมทั้งสามารถแยกชิ้นงานให้ลูกค้าเห็นปัญหา และมีข้อมูลเพื่อชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ กับลูกค้าได้ชัดเจนมากขึ้น
“ถ้าย้อนไป 20 ปีที่แล้ว ไม่มีการนำเสนอเงินทุนสำหรับให้ผู้ประกอบการนำมาซื้อซอฟต์แวร์เลย เพราะซอฟต์แวร์เปรียบเสมือนอากาศ เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ไม่เหมือนกับการซื้อเครื่องจักรหรือโรงงาน แต่สินเชื่อเพื่อการปรับตัวที่ได้รับจากธนาคารกรุงเทพ เป็นเหมือนตัวช่วยขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้สามารถแข่งขันในโลกของอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคใหม่ได้ดีขึ้น อนาคตข้างหน้าก็อยากให้มีสินเชื่อแบบนี้อีก”
2
คุณอัญวีณ์ คำทวี กรรมการผู้จัดการอีกท่านเล่าว่า ปัญหาสำคัญก่อนหน้านี้ก็คือ ซอฟต์แวร์และเครื่องจักรที่ล้าสมัยทำให้ไม่สามารถทำทุกอย่างให้ครบจบภายในบริษัทได้ ต้องไปจ้างผู้ผลิตรายอื่นมาทำให้
“พอให้คนอื่นทำ เราจะคุมต้นทุนไม่ได้ คุณภาพงานที่ออกมาก็ไม่ตรงใจ ไม่ตอบสนองลูกค้า ถ้าลูกค้าเปลี่ยนคู่ค้า เราก็เสียโอกาสทางธุรกิจ”
1
เมื่อธนาคารกรุงเทพซึ่งคอยสนับสนุนทางการเงินให้กับทางบริษัทมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งได้เสนอสินเชื่อเพื่อการปรับตัว ทำให้บริษัทได้เงินทุนไปใช้ปรับปรุงธุรกิจหลายอย่าง ทั้งเครื่องจักรและซอฟต์แวร์ที่ทันสมัยขึ้น ซึ่งช่วยให้บริษัทวิ่งได้ทันคู่แข่งในอุตสาหกรรมยานยนต์และตอบสนองลูกค้าได้มากกว่าเดิม
1
“ปัจจุบันเรามีโปรแกรมเป็นของตัวเอง มีพนักงานเขียนแบบเอง มันพัฒนาไปได้หลาย ๆ อย่าง บุคลากรก็ปรับตัวให้ทันสมัยมากขึ้น ที่สำคัญได้ลูกค้าเพิ่มขึ้น งานเพิ่มขึ้นแบบเท่าตัว
ส่งออกได้มาตรฐาน สร้างงานให้เกษตรกร
1
ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอาหารโดยเฉพาะที่ค้าขายกับต่างประเทศก็ถูกกดดันให้ต้องปรับตัวเพื่อให้ได้มาตรฐานโลกไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งต้องยอมรับว่ามีบริษัทในไทยหลายแห่งที่ยังไม่สามารถดำเนินธุรกิจภายใต้เงื่อนไขสากลที่กำหนดไว้ได้ และเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงตลาดและการเติบโต ไร่ทอง ออร์แกนิกส์ ฟาร์ม ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่เคยตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น
1
คุณลลนา ศรีคราม ผู้ก่อตั้งไร่ทอง ออร์แกนิกส์ ฟาร์ม เติบโตท่ามกลางครอบครัวเกษตรกรในศรีสะเกษ จังหวัดที่มีการปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ คุณลลนาได้เล่าว่า “ส่วนตัวเชื่อว่า การทำเกษตรอินทรีย์จะเป็นหนทางสู่ความยั่งยืน ทั้งในแง่การเลี้ยงดูครอบครัวและการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ให้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และยังเป็นการช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ”
2
หากย้อนกลับไปสิบกว่าปีที่แล้ว การทำเกษตรอินทรีย์ถือเป็นเรื่องใหม่ที่เกษตรกรส่วนใหญ่เชื่อว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ ชาวนาที่ปลูกข้าวอินทรีย์ที่ได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในระดับสากลจริง ๆ จึงมีไม่ถึง 10 ราย เพราะไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือเปล่า จะมีคนซื้อหรือไม่ ครอบครัวของคุณลลนาจึงเป็นเพียงเกษตรกรส่วนน้อยที่เริ่มต้นทำเรื่องนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป 2 ปี ไร่ทอง ออร์แกนิกส์ ฟาร์ม กลายเป็นรายแรกในศรีสะเกษที่ได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับสากล
4
“เราต้องทำเองและขายข้าวให้หมดเพื่อให้ชาวบ้านรู้ว่ามีตลาดจริง” คุณลลนากล่าว โดยเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่าพอเริ่มขายได้ ตนเองก็อยากช่วยส่งเสริมเกษตรกรรายอื่นให้มาทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการขยายตลาดให้กว้างขึ้น
1
ขนาดของตลาดที่ใหญ่ขึ้นยังช่วยให้ผลิตผลของไร่ทอง ออร์แกนิกส์ ฟาร์มเป็นที่รู้จัก โดยได้พยายามไปออกบูทขายสินค้าในงานอีเวนต์ต่าง ๆ กระทั่งมีโอกาสได้เป็นที่รู้จักของกรมการค้าระหว่างประเทศ และได้นำสินค้าตัวอย่างไปจัดแสดงในงานแสดงสินค้าและอาหารเกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง BIOFACH ประเทศเยอรมนี จนมีโอกาสได้พบกับลูกค้าที่กลายมาเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของไร่ทอง ออร์แกนิกส์ ฟาร์ม ที่มีการค้าขายกันมายาวนานจนถึงทุกวันนี้ก็ 10 กว่าปีแล้ว
1
“พอเริ่มมีออร์เดอร์ส่งออก ก็เริ่มมั่นใจว่ามีตลาดรองรับ จึงเริ่มรวบรวมกลุ่มสมาชิกที่สนใจทำเกษตรอินทรีย์ รวมถึงส่งเสริม ฝึกอบรม ขอใบรับรอง และรับซื้อผลผลิตเพื่อนำมาแปรรูปและส่งออกให้ลูกค้า” คุณลลนาเล่า และย้ำว่าหัวใจของการทำไร่ทอง ออร์แกนิกส์ ฟาร์ม ไม่ใช่การเป็นโรงสีข้าว แต่คือการทำเกษตรอินทรีย์ เพราะเล็งเห็นว่าข้าวไทยยังเพิ่มมูลค่าได้อีกมาก และสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้หลากหลาย
2
คุณลลนาได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับแผนการพัฒนาสินค้าว่า ก่อนที่โควิด 19 จะระบาด ได้มีแนวคิดที่จะพัฒนาสินค้าโดยการนำข้าวที่ถูกคัดออกในกระบวนการสีข้าวมาแปรรูปเป็นแป้งผสมสำเร็จรูปไร้กลูเตนสำหรับทำขนมปัง (organic & gluten free rice-bread pre-mix) และเส้นพาสต้าจากข้าวที่ไร้กลูเตน (organic & gluten free rice pasta)
1
ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิก เพาะปลูกผักต่าง ๆ เพื่อนำมาแปรรูปเป็นผงผักที่นำมาใช้เพิ่มสีสันและคุณค่าสารอาหารให้กับพาสต้าที่ผลิตอีกด้วย ซึ่งเป็นการส่งเสริมและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่อีกทางหนึ่ง โดยไม่ต้องนำวัตถุดิบมาจากที่อื่น
2
ปัญหาสำคัญในช่วงที่ผ่านมาคือ การควบคุมคุณภาพของสินค้า เพราะต้องจ้างโรงงานอื่นผลิต โดยในช่วงแรก สินค้าได้รับการตอบรับที่ดีและมีลูกค้าชื่นชอบสินค้าไม่น้อย แต่สังเกตว่าคุณภาพที่ออกมาในแต่ละล็อตไม่คงที่ และมีฟีดแบ็กจากลูกค้ากลับมาด้วย พอไปสอบถามกับทางโรงงานก็โดนยกเลิกการผลิต ผ่านไปหลายปีก็ยังหาโรงงานใหม่ไม่ได้เพราะมีตัวเลือกค่อนข้างน้อย เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ไร้กลูเตนและเป็นออร์แกนิก ซึ่งจะผลิตร่วมกันกับเส้นพาสต้าทั่วไปที่ใช้แป้งสาลีไม่ได้ สุดท้ายจึงคิดว่าอยากจะทำโรงงานผลิตพาสต้าเอง
2
“การเดินหน้าทำโรงงานผลิตพาสต้าด้วยตัวเองส่งผลดีต่อธุรกิจหลายอย่าง ทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบที่เหลือจากกระบวนการผลิต จากเดิมที่ต้องทิ้งหรือใช้เป็นอาหารสัตว์เท่านั้น นอกจากนี้ ยังทำให้สามารถกำหนดราคาตั้งแต่ต้นทางได้เพราะผลิตเองทุกขั้นตอน ที่สำคัญยังช่วยให้มีโอกาสทางการตลาดมากขึ้นด้วย”
4
“พอเริ่มศึกษาขั้นตอนการทำโรงงาน ก็โชคดีที่ได้เจอสินเชื่อเพื่อการปรับตัวของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จึงมีเงินทุนไปซื้อเครื่องจักรมาทำพาสต้า” คุณลลนายิ้มและเล่าต่อว่า หลังจากที่เจอวิกฤตโควิด 19 ที่ทำให้คำสั่งซื้อลดลงมากกว่า 50% รายได้เข้าไม่ทันกับรายจ่าย เมื่อได้สินเชื่อเพื่อการปรับตัวที่มีดอกเบี้ยต่ำพิเศษ จึงช่วยให้สามารถปรับตัวและเดินหน้าตามแผนที่ตั้งใจไว้ได้
4
ที่สำคัญ เครื่องจักรใหม่จะทำให้สามารถวางแผน บริหารจัดการ และใช้วิธีการผลิตตามมาตรฐานสากลได้ โดยตั้งเป้าหมายที่การได้รับมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารของสมาคมผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร (The British Retail Consortium: BRC) ซึ่งปัจจุบันมีเพียงไม่กี่รายในไทย และจะเป็นจุดแข็งสำคัญในการผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดโลกต่อไป
1
“อยากให้ไร่ทอง ออร์แกนิกส์ ฟาร์ม อยู่ไปอีกสองสามร้อยปี เพื่อเป็นที่ที่สร้างโอกาส สร้างงานให้เกษตรกรในพื้นที่ และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมให้ถูกทำลายช้าลงได้ เพราะทุกสิ่งที่เราผลิต ย่อมมีผลกระทบกับห่วงโซ่อาหารและระบบนิเวศ และสร้างแรงกระเพื่อมไปในอนาคต” คุณลลนาทิ้งท้าย
2
แม้ว่าสินเชื่อเพื่อการปรับตัวจะสิ้นสุดลงไปแล้วเมื่อเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา แต่ ธปท. ก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้ภาคการเงินมีส่วนร่วมในการสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลักดันให้สถาบันการเงินพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบต่าง ๆ เพื่อช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับทิศทางของโลก
11 บันทึก
11
9
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
บทความใหม่
11
11
9
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย