Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bank of Thailand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
17 ธ.ค. เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เช็ค 6 คำถาม เพื่อความเข้าใจมาตรการรวมหนี้
หลังจากที่ประเทศไทยเจอวิกฤตโควิด 19 ทำให้มีลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 มาอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือ มาตรการรวมหนี้ (debt consolidation)1
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยบรรเทาภาระดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ และเพื่อให้สถาบันการเงินกำหนดค่างวดการผ่อนชำระให้เหมาะสมกับรายได้ของลูกหนี้ และในปัจจุบันมีการปรับมาตรการช่วยเหลืออีกครั้ง โดยผ่อนปรนเงื่อนไขเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ยังมีรายได้ฟื้นตัวกลับมาไม่เต็มที่
วารสารพระสยาม BOT MAGAZINE ขอรวบรวม 6 คำถามที่จะช่วยขยายความเข้าใจให้กับผู้ที่ต้องการใช้มาตรการรวมหนี้มาไว้ตรงนี้
[1] ธปท. ออกมาตรการรวมหนี้ตั้งแต่ปี 2563 โดยที่ผ่านมาแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ 1 กันยายน 2563-31 ธันวาคม 2564 และ 16 พฤศจิกายน 2564-31 ธันวาคม 2566 และในปัจจุบันมีการปรับมาตรการใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 2 ตุลาคม 2567-31 ธันวาคม 2568
Q1 การรวมหนี้คืออะไร เหมาะกับใคร มีการกำหนดเพดานการรวมหนี้ไว้หรือไม่ อย่างไร
หลายคนมักเข้าใจผิดว่า การรวมหนี้ คือการรวมเฉพาะหนี้จากสินเชื่อรายย่อยอย่างเดียวเข้าไว้ด้วยกัน แต่ความจริงแล้ว การรวมหนี้ คือ การรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (สินเชื่อบ้าน) เข้ากับสินเชื่อรายย่อยอื่น (เช่น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อ) โดยสามารถรวมหนี้ได้จากทั้งภายในธนาคารเดียวกัน หรือข้ามธนาคาร เพื่อบรรเทาภาระดอกเบี้ยและการผ่อนค่างวด เพราะเมื่อรวมหนี้แล้ว อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อบ้านจะไม่เพิ่มขึ้นจากเดิม และอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยจะต้องต่ำกว่าเดิม
การที่ต้องนำสินเชื่อบ้านมารวมไว้กับสินเชื่อรายย่อยอื่น ๆ ก็เพราะว่า ลูกหนี้สามารถใช้ประโยชน์จากมูลค่าบ้านซึ่งเป็นหลักประกันที่มีอยู่ เพื่อลดภาระการผ่อนชำระดอกเบี้ยจากสินเชื่อรายย่อยที่มีอัตราสูง ให้มาอยู่ในระดับที่ลูกหนี้สามารถบริหารจัดการได้ การรวมหนี้จึงถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาสภาพคล่องในเรื่องค่าใช้จ่ายและการชำระหนี้ที่ค่อนข้างสูงในแต่ละเดือน
ทั้งนี้ การรวมหนี้ตามมาตรการรวมหนี้ที่ปรับเงื่อนไขใหม่นี้ จะผ่อนปรนการคำนวณอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน หรือที่เรียกว่า LTV ratio ให้สามารถเกินกว่าเพดานที่กำหนดสำหรับสินเชื่อบ้านในทุกลำดับสัญญา2 เฉพาะกรณีของการรวมหนี้เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ที่มีอยู่เดิมตามมาตรการเท่านั้น โดยมิได้มีการกำหนดเพดาน LTV ratio
พูดง่าย ๆ ก็คือ เมื่อรวมหนี้จากสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรายย่อยแล้ว ยอดหนี้ที่รวมได้สามารถเกินมูลค่าบ้านที่เป็นหลักประกันได้นั่นเอง หากพิสูจน์ได้ว่ายอดหนี้ดังกล่าวเป็นยอดหนี้ค้างชำระที่มีอยู่ก่อนแล้ว อย่างไรก็ดี การพิจารณารวมหนี้นั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละธนาคาร ซึ่งจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะต่อไปด้วย
[2] อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) เพิ่มเติมได้ที่
https://www.bot.or.th/content/dam/bot/fipcs/documents/FPG/2563/ThaiPDF/25630013.pdf
ยกตัวอย่างเช่น นายมานะกู้สินเชื่อบ้านหลังแรกที่มูลค่า 100% ผ่อนชำระไปแล้ว 30% เหลือยอดหนี้อีก 70% ในขณะเดียวกัน นายมานะก็มีหนี้จากบัตรเครดิตรวมกันอีก 35% เทียบกับมูลค่าบ้าน เมื่อนำยอดหนี้ที่ค้างชำระมารวมกันทำให้มีมูลค่าเกิน 100% (เกินมูลค่าบ้านที่เป็นหลักประกัน) แต่นายมานะก็ยังสามารถเข้าร่วมมาตรการรวมหนี้ได้
Q2 ลูกหนี้ที่รวมหนี้จะได้ประโยชน์อะไรจากมาตรการนี้ เทียบกับการแยกชำระตามเดิม
ประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้รับจากการรวมหนี้ตามมาตรการ เช่น
(1) ลูกหนี้สามารถบริหารจัดการเงินได้ง่าย เพราะผ่อนชำระหนี้เพียงก้อนเดียวกับเจ้าหนี้รายเดียว
(2) เมื่อนำหนี้จากสินเชื่อรายย่อยมารวมหนี้กับสินเชื่อบ้าน อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อรายย่อยจะลดลงทำให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น
(3) ลูกหนี้ไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต หากเจรจารวมหนี้สำเร็จตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้เสีย
(4) ลูกหนี้มีโอกาสรวมหนี้ได้เกินมูลค่าบ้านที่เป็นหลักประกัน
(5) ลูกหนี้มีโอกาสคงวงเงินสินเชื่อรายย่อยส่วนที่เหลือภายหลังการรวมหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้ยังสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายจำเป็นในชีวิตประจำวันได้
Q3 ถ้าเรามีหนี้หลายธนาคาร จะเอามารวมกันได้ไหม จะทราบได้อย่างไรว่าธนาคารที่เราเป็นหนี้เข้าร่วมมาตรการนี้
การรวมหนี้สามารถทำได้ทั้งการรวมหนี้เดิมภายในธนาคารเดียวกันและการรวมหนี้ข้ามธนาคาร โดยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้
(1) การรวมหนี้ภายในธนาคารเดียวกัน
(2) การรวมหนี้ระหว่างธนาคาร โดยโอนหนี้สินเชื่อรายย่อยจากธนาคารแห่งหนึ่งไปรวมกับสินเชื่อบ้านของธนาคารอีกแห่งหนึ่ง หรือจะเป็นการโอนสินเชื่อบ้านไปรวมกับหนี้สินเชื่อรายย่อยก็ได้
(3) การโอนสินเชื่อบ้านและหนี้สินเชื่อรายย่อยไปรวมกันที่ธนาคารแห่งใหม่ที่ลูกหนี้ไม่เคยมีหนี้ด้วยมาก่อน
ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถติดต่อไปยังธนาคารที่มีสินเชื่ออยู่เดิม หรือธนาคารแห่งใหม่ที่ประสงค์จะให้รวมหนี้ เพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางการรวมหนี้ รวมถึงการหารือเพื่อขอคงวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสดส่วนที่เหลือกับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อให้มีสภาพคล่องในการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายจำเป็นในชีวิตประจำวันได้
Q4 ถ้ารวมหนี้ต่างธนาคารแล้วจะมีธนาคารเจ้าหนี้รายเดียวเลยหรือไม่ ธนาคารที่กลายเป็นเจ้าหนี้รายเดียวนั้นจะเป็นธนาคารไหนขึ้นอยู่ กับเกณฑ์อะไร
การรวมหนี้ต่างธนาคาร จะเป็นการโอนหนี้บ้านและหนี้สินเชื่อรายย่อยไปรวมไว้ที่ธนาคารเจ้าหนี้รายใดรายหนึ่งเพียงรายเดียว โดยจะเป็นธนาคารใดขึ้นอยู่กับความประสงค์ของลูกหนี้ ลูกหนี้สามารถติดต่อเพื่อขอเจรจากับธนาคารที่ประสงค์จะให้รวมหนี้ได้ว่าต้องการรวมหนี้ทั้งหมดเพื่อปิดจบหนี้กับธนาคารแห่งเดิม ให้คงเหลือธนาคารที่รับรวมหนี้เป็นเจ้าหนี้เพียงรายเดียว
Q5 ถ้าเป็นหนี้บัตรเครดิตธนาคาร A และผ่อนรถกับบริษัทไฟแนนซ์ของธนาคาร B แต่ไม่มีสินเชื่อบ้าน จะเข้าร่วมมาตรการนี้ได้ไหม หากไม่ได้แนะนำอย่างไรเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้
มาตรการรวมหนี้เป็นการใช้ประโยชน์จากมูลค่าบ้านซึ่งเป็นหลักประกันที่มีอยู่เพื่อลดภาระการผ่อนชำระหนี้สินเชื่อรายย่อยที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่มีสินเชื่อบ้าน แต่มีสินเชื่อรายย่อยอื่นที่ต้องการความช่วยเหลือ แม้ว่าจะไม่เข้าเงื่อนไขของมาตรการรวมหนี้ แต่ลูกหนี้ก็สามารถติดต่อธนาคารที่มีสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ดังกล่าว เพื่อหารือแนวทางการให้ความช่วยเหลือได้
นอกจากนี้ ลูกหนี้ยังสามารถติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษาปัญหาหนี้ได้ที่โครงการคลินิกแก้หนี้ ทางด่วนแก้หนี้ และหมอหนี้เพื่อประชาชน3 หรือติดต่อคอลเซนเตอร์ของ ธปท. ที่เบอร์ 1213
[1] อ่านรายละเอียดได้ที่บทความ “มัดรวม 3 ช่องทาง ให้คำปรึกษา-แก้ปัญหาหนี้”
https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/bot-magazine/Phrasiam-67-2/256702-the-knowledge-3channels.html
Q6 ถ้ารวมหนี้แล้วอยู่ระหว่างการผ่อนจ่าย เรายังไปกู้สินเชื่อเพิ่มได้หรือไม่ มีเงื่อนไขอะไรที่ลูกหนี้ต้องรู้หลังจากเข้ามาตรการ
เมื่อรวมหนี้แล้ว ธปท. ไม่ได้กำหนดข้อห้ามในการขอสินเชื่อใหม่เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี ธปท. สนับสนุนให้ก่อหนี้เท่าที่จำเป็นโดยพิจารณาถึงความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อส่งเสริมการมีวินัยทางการเงินที่ดีของลูกหนี้ต่อไป ทั้งนี้ มาตรการรวมหนี้ที่ปรับใหม่นี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 2 ตุลาคม 2567-31 ธันวาคม 2568
การเงิน
เศรษฐกิจ
ธุรกิจ
1 บันทึก
2
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
บทความใหม่
1
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย