Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สองข้างทาง
•
ติดตาม
8 ธ.ค. เวลา 02:00 • หนังสือ
บันทึกภัยพิบัติในไทย
๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๗ นี้จะครบ ๒๐ ปีหรือ ๒ ทศวรรษของการเกิดสาธารณภัยหรือภัยพิบัติ ครั้งที่ร้ายแรงที่สุดของไทย คือ การเกิดคลื่นสึนามิซัดถล่มจังหวัดภาคใต้ทางฝั่งอันดามัน
สาธารณภัยหรือภัยพิบัติรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นในแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเกิดจากธรรมชาติหรือจากมนุษย์นอกจากจะก่อให้เกิดความเสียหายและความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของผู้คนและสาธารณะแล้ว ยังส่งผลกระทบในทางเศรษฐกิจ และสังคมในด้านต่างๆ ไม่ว่าเรื่องการดำรงชีวิต การทำมาหากิน สุขภาพจิต สุขภาพกาย ฯลฯ ด้วย ยิ่งสาธารณภัยหรือภัยพิบัติมีระดับความรุนแรงมากเท่าใด ผลกระทบและความสูญเสียยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย
สาธารณภัยที่เกิดขึ้นในโลกเรามีมาตั้งแต่อดีตกาล หลายเหตุการณ์ที่เราเคยได้ยินได้ฟังหรืออ่านกันมาบางเหตุการณ์เป็นตำนาน บางเหตุการณ์มีการถูกบันทึกไว้ เช่น เหตุการณ์อุกาบาตยักษ์พุ่งชนโลกอันเป็นเหตุไดโนเสาร์สูญพันธุ์เมื่อหลายล้านปีก่อน หรือเหตุการณ์ภูเขาภูเขาไฟวิสุเวียส (Mount Vesuvius) ระเบิดทำให้เมืองปอมเปอี (ในอิตาลี) จมอยู่ใต้ลาวาและเถ้าถ่าน มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นคน ใน ค.ศ.79 เป็นต้น
ในประเทศไทยเราก็มีตำนานและบันทึกเหตุการณ์สาธารณภัยในอดีต เช่น ทางภาคเหนือมีเหตุการณ์เมืองโยนกนครล่มจากแผ่นดินไหว (ข้อมูลในเว็บไซต์กรมทรัพยากรธรณีระบุว่าปี พ.ศ. ๑๕๕๘) หรือในทางภาคอีสานมีตำนานผาแดงนางไอ่ ที่กล่าวถึงเหตุการณ์เมืองหนองหารล่มกลายเป็น หนองหาร (สกลนคร) ซึ่งมีผู้อธิบายว่าเกิดจากหลุมยุบ เนื่องจากการทรุดตัวของบ่อหินเกลือขนาดใหญ่ที่อยู่ใต้ดิน
ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม
https://www.silpa-mag.com/history/article_33973
ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “น้ำท่วมใหญ่ในไทยครั้งแรกที่พบในบันทึก ขุนนาง-พระบรมวงศานุวงศ์ต้องลอยเรือเข้าเฝ้า” ซึ่งเขียนโดย กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
ในบทความดังกล่าวได้เขียนถึงเหตุการณ์ “น้ำท่วมใหญ่” ครั้งแรก ซึ่งมีปรากฏอยู่ในบันทึกว่าเกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๓๒๘ หลังจากสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เสร็จไม่นานนัก ในจดหมายเหตุที่ค้นพบอธิบายว่าระดับน้ำที่สนามหลวงลึกถึง ๘ ศอก ๑๐ นิ้ว นักวิชาการและนักเขียนด้านประวัติศาสตร์สันนิษฐานสาเหตุที่น้ำลึกขนาดนั้นว่า อาจเป็นเพราะสนามหลวงในช่วงเวลานั้นยังเป็นที่ลุ่ม และมีบันทึกไว้ว่าน้ำท่วมครั้งนี้ทำให้
“บังเกิดทุพภิกขภัย ข้าวแพงถึงเกวียนละชั่ง ประชาราษฎรทั้งหลายได้ความขัดสนด้วยอาหารกันดารนัก จึงมีพระราชโองการให้กรมนาจำหน่ายข้าวเปลือกในฉางหลวงออกแจกจ่ายราษฎรเป็นอันมาก”
เล่าถึงเรื่องน้ำท่วม ขอแทรกเกร็ดที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วมสักเล็กน้อยเกี่ยวกับวลี “น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง” วลีนี้เป็นประโยคขึ้นต้นของเพลงลูกทุ่งดังในอดีตชื่อเพลง “น้ำท่วม”
ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม
https://www.silpa-mag.com/history/article_38197
ได้เผยแพร่บทความซึ่งเขียนโดย เสมียนนารี ว่า ที่มาของเพลงนี้ ครูไพบูลย์ บุตรขัน ผู้แต่งแต่งจากเหตุการณ์จริงเมื่อน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ปี ๒๔๘๕ โดยวลีนี้มาจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในเวลานั้นที่พูดว่า “น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง” โดยที่จอมพล ป. กล่าวนั้น คงต้องการให้กำลังใจประชาชน เจ้าหน้าที่ รวมทั้งตนเอง
ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยเคยเกิดเหตุการณ์สาธารณภัยที่รุนแรงหลายๆ ครั้ง หลายเหตุการณ์ผู้คนอาจจะลืมเลือนกันไปแล้ว
เมื่อตอนที่ยังทำงานอยู่เคยได้ให้ทีมงานช่วยกันสืบค้น รวบรวมและประมวลเหตุกาณ์สาธารณภัยที่รุนแรงที่เคยเกิดในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๕ จนถึงปี พ.ศ.๒๕๖๔ (ปีที่รวบรวม) ทำเป็นไฟล์ PDF ไว้ เลยคิดว่าถ้านำเรื่องราวมาเขียนเผยแพร่เป็นตอนๆ ก็คงจะเกิดประโยชน์อยู่บ้าง เพราะการเรียนรู้บทเรียนจากอดีตจะเป็นส่วนสำคัญต่อการสร้างความพร้อมและเตรียมการป้องกันและลดผลกระทบกับสาธารณภัยหรือภัยพิบัติในประเภทภัยเดียวกันที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต โดยจะเริ่มในตอนหน้าเป็นต้นไป
เล่าเรื่องโดย Bt
6 ธีนวาคม 2567
ติดตามอ่านเพิ่มเติม
https://www.blockdit.com/bntham1
https://www.blockdit.com/bntham2
หนังสือ
เรื่องเล่า
บันทึก
1
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
disaster
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย