12 ธ.ค. 2024 เวลา 04:21 • สุขภาพ

ทำไมต้องผ่าตัดผ่านกล้อง? ดีจริงหรือสิ้นเปลือง?

ปัจจุบันนี้การผ่าตัดผ่านกล้องถือเป็นการผ่าตัดมาตรฐานแล้ว หลายๆ โรงพยาบาลก็สามารถทำผ่าตัดลักษณะนี้ได้ ความปลอดภัยถือว่าเชื่อถือได้หายห่วง เพราะทำกันมาหลายสิบปีแล้ว แต่สำหรับคนไข้เองก่อนจะตัดสินใจผ่าตัดอะไรสักอย่างหนึ่งกับร่างกาย ย่อมต้องมีข้อสงสัย ข้อกังวล อยากรู้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการผ่าตัด อุปสรรคที่สำคัญก็คือข้อมูลต่างๆ จะค้นหาอ่านเองก็ไม่ใช่ง่าย จะถามหมอหมอก็ยุ่งเหลือเกิน เวลาอธิบายก็น้อย บทความนี้จะอธิบายเรื่องการผ่าตัดผ่านกล้องแบบย่อยง่ายๆ ให้ท่านอ่านกัน
ทำไมต้องผ่าตัดผ่านกล้อง? (Laparoscopic Surgery: A Minimally Invasive Approach)
การผ่าตัดส่องกล้อง การผ่าตัดผ่านกล้อง การผ่าตัดแผลเล็ก การผ่าตัดแบบรุกรานน้อย และชื่อเรียกแบบอื่นๆ อีกมากมาย ท้งหมดนี้หมายความถึง Laparoscopic surgery หรือ Minimally invasive surgery เป็นเทคนิคการผ่าตัดที่ใช้อุปกรณ์ชนิดพิเศษ ทำผ่าตัดผ่ารูแแผลขนาดเล็ก (Keyhole surgery) เพื่อเข้าไปผ่าตัดอวัยวะภายใน เช่น ไส้ติ่ง ถุงน้ำดี กระเพาะอาหาร ลำไส้ ซ่อมไส้เลื่อน ฯลฯ
โดยที่ในอดีตการผ่าตัดเหล่านี้จำเป็นต้องเปิดแผล หรือช่องท้องให้กว้างพอเพื่อเข้าไปทำผ่าตัดได้อย่างปลอดภัย แน่นอนว่ายิ่งแผลใหญ่ แผลกว้าง ก็ทำให้เกิดความเจ็บปวดมากแก่คนไข้ ทำให้ฟื้นตัวช้า กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ช้าลง
ผ่าตัดผ่านกล้องคืออะไร?
ผ่าตัดผ่านกล้อง ก็คือการใช้กล้องวิดีโอช่วยในการผ่าตัด (งงไหมครับ) คือการผ่าตัดแบบเปิดดั้งเดิม หมอผ่าตัดก็จะใช้ตาตัวเองนี่แหละมอง สองมือก็ผ่ากันไป ถ้าจุดที่ต้องการผ่าตัดอยู่ผิวๆ คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ร่างกายมนุษย์สุดมหัศจรรย์ อวัยวะภายในล้วนถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี เช่นในช่องท้อง การจะฝ่าเข้าไปถึงอวัยวะภายในแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย มุมมองในการเห็นด้วยตาของหมอก็ยิ่งแคบลง ถ้าจุดที่ทำผ่าตัดเกิดยาก แผลก็ต้องกว้างขึ้นเพื่อความปลอดภัย ไม่ใช่กลั่นแกล้งท่านให้เจ็บปวดแต่อย่างใด
ปัญหาดังกล่าวก็หมดไป เมื่อเราใช้กล้องวิดีโอเข้าไปส่องดูแทนตาคนปกติ กล้องวิดีโอจะมีลักษณะเป็นท่อยาว เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 1 เซนติเมตร ใส่เข้าทางแผลผ่าตัดขนาดเล็ก ภาพวิดีโอนี้จะฉายภาพขึ้นจอมอนิเตอร์ หมอผ่าตัดก็จะเห็นภาพอวัยวะภายในระดับ Full HD, 4K เรียกได้ว่าชัดเจนยิ่งกว่าตาเห็น สิ่งที่ใช้ทดแทนมือก็คืออุปกรณ์ผ่าตัดลักษณะเป็นก้านยาว เรียว เล็ก ทำให้ไม่ต้องใช้มืออวบๆ ของคุณหมอ มุดเข้าไปในช่องท้องแบบเดิม
ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้อง
หลักๆ เลยก็มาจากแผลที่เล็กกว่า ย่อมเจ็บน้อยกว่า รบกวนเนื้อเยื่อและอวัยวะภายในน้อยกว่า ผลที่ตามมาคนไข้ก็จะฟื้นตัวได้ไวขึ้น ระยะเวลาที่ต้องนอนโรงพยาบาลก็สั้นลง คนไข้แฮปปี้ ไม่เสียการเสียงาน หมอก็มีความสุข
ในเรื่องของภาวะแทรกซ้อน หลักๆเลยเช่น เรื่องของการเสียเลือด กล้องวิดีโอความละเอียดสูงทำให้หมอเห็นเนื้อเยื่อ เส้นเลือดได้ชัดเจน ทำให้การผ่าตัดแม่นยำขึ้น การเสียเลือดก็ลดลง เรื่องของแผลติดเชื้อก็เจอลดลง เนื่องจากแผลก็สัมผัสกับสิ่งสกปรกน้อยกว่า โอกาสติดเชื้อก็ลดลงอย่างมาก
ความสวยความงามก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัย เนื่องจากแผลขนาดเล็ก ทำให้แผลเป็นเกิดน้อย และมักกลืนไปกับผิว ในบางรายแทบไม่เห็นรอยแผลเป็น
ข้อเสียของการผ่าตัดผ่านกล้อง
แน่นอนว่าเทคโนโลยีก็มาพร้อมราคาที่ต้องจ่าย ตั้งแต่บุคลากรต้องใช้คนที่ฝึกมาเฉพาะ ใช้จำนวนคนเยอะกว่า อุปกรณ์ก็ใช้เยอะ เครื่องช่วยผ่าตัดส่องกล้องเครื่องหนึ่งก็ปาไปหลักล้านแล้ว ไหนจะพวกอุปกรณ์ผ่าตัดผ่านกล้องสัพเพเหระบางอย่างก็ใช้แล้วต้องทิ้ง ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มสูงขึ้นอีก
ถ้าท่านทำประกันแล้วประกันอนุมัติค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดก็ถือว่าเป็นบุญของท่านแล้ว แต่ในบางสิทธิ์การรักษา (บัตรทอง? ประกันสังคม?) โรงพยาบาลแบกรับต้นทุนไม่ไหวก็อาจจะผลักภาระให้ท่านมาช่วยจ่ายค่าอุปกรณ์ผ่าตัดส่องกล้องเพิ่ม โดยให้เหตุผลว่าในเมื่อปลายทางจะผ่าตัดผ่านกล้องหรือผ่าตัดเปิดก็หายเหมือนกัน จะจ่ายแพงกว่าทำไม? (ระหว่างทางท่านจะเจ็บปวดยังไงก็ไปหาทางกันเอาเองนะจ๊ะ)
อีกอย่างหนึ่ง บางโรคบางกรณีมันก็ไม่สามารถผ่าตัดผ่านกล้องได้ ถ้ารู้แต่แรกหมอที่รักษาท่านก็จะบอกเลยว่าทำไม่ได้ หรือไม่ควรทำ แต่ระหว่างผ่าตัดบางทีไปรู้เอาตอนใส่กล้องเข้าไปดูแล้วก็มี ให้คุยกับหมอที่รักษาท่านให้ดีก่อน
ของแบบนี้นานๆ อาจจะเจอสักเคสหนึ่ง ตัวอย่างเช่น จะผ่าตัดถุงน้ำดีผ่านกล้อง พอใส่กล้องไปดูในช่องท้อง เจอพังผืดเยอะ อักเสบมาก ถ้าทู่ซี้ทำผ่าตัดไปอาจจะเกิดอันตราย อาจจะต้องเปลี่ยนเป็นผ่าตัดแบบเปิดจะได้ปลอดภัยกว่า หมอไม่ได้หลอกกินเงินท่านแต่อย่างไร เพราะหมอก็กลัวเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นแล้วท่านจะพาทนายมากินเงินหมอเหมือนกัน
โรคทางศัลยกรรมอะไรบ้างที่สามารถผ่าตัดผ่านกล้องได้?
ปัจจุบันเราสามารถผ่าตัดผ่านกล้องได้หลายโรค ที่มีรับปรึกษาบ่อยๆ ตัวอย่าง เช่น โรคนิ่วถุงน้ำดี ไส้ติ่งอักเสบ ไส้เลื่อน ผ่าตัดกระเพาะ ลดขนาดกระเพาะเพื่อรักษาโรคอ้วน ผ่าตัดลำไส้ ฯลฯ แทบจะทำได้เกือบหมดทุกอย่างแล้วที่ผ่าตัดแบบเปิดทำได้
จะทราบได้อย่างไร ว่าโรคที่คนไข้เป็นอยู่สามารถผ่าตัดผ่านกล้องได้หรือไม่?
อาจจะต้องสอบถามข้อมูล ความเห็นจากหมอเจ้าของไข้ที่ดูแลอยู่ ว่าการผ่าตัดแบบใดจะเหมาะสมกับคนไข้มากที่สุด เพราะมันมีหลายปัจจัยตามเช่น ความถนัดของหมอ ลักษณะโรคที่คนไข้เป็น นโยบายโรงพยาบาลแต่ละที่ว่าให้ผ่าตัดผ่านกล้องได้ในโรคไหนบ้างเป็นต้น หมอเจ้าของไข้น่าจะอธิบายได้ดีที่สุด ถ้าคุยไม่รู้เรื่องจริงๆ ก็ลองขอประวัติการรักษามาปรึกษาหมอคนอื่นดูก็ได้ มันเป็นสิทธิ์ของท่านอยู่แล้ว
ผ่าตัดผ่านกล้อง vs ผ่าตัดแบบหุ่นยนต์
อันนี้ยาว ขอยกยอดไปบทความหน้าครับ
หวังว่าจะเป็นข้อมูลให้กับท่านที่กำลังคิดจะผ่าตัดผ่านกล้องได้บ้างครับ
Dr.Pichet
โฆษณา