16 ธ.ค. เวลา 22:32 • หุ้น & เศรษฐกิจ

แกะความคิดของ Ray Dalio ทำไมถึงหลีกเลี่ยงลงทุนในพันธบัตร

Ray Dalio หรือที่เรารู้จักเขาว่าเป็นนักลงทุนระดับตำนาน ผู้ก่อตั้ง Bridgewater Associates กองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ซึ่งล่าสุดเขาได้ออกมา กล่าวในการประชุมการเงินที่อาบูดาบีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า เขาจะเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ เช่น ทองคำและบิตคอยน์ ซึ่งเขามองว่าเป็น "Hard Money" และหลีกเลี่ยงสินทรัพย์อย่างพันธบัตร
ครั้งนี้เราเลยจะมาชวนแกะความคิดของ Ray Dalio กันว่าทำไมเขาถึงพยายามหลีกเลี่ยงสินทรัพย์ที่มักให้ผลตอบแทนแบบคงที่อย่างพันธบัตร และหันไปลงทุนในสินทรัพย์อย่างทองคำและบิตคอยน์ โดยเฉพาะบิตคอยน์ที่เขาไม่ได้ให้ความสนใจมากมายอะไรนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้
แต่ก่อนที่จะเริ่มเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า "Hard Money" ที่ Ray Dalio พูดถึงกันก่อน
Hard Money นั้นหมายถึง สินทรัพย์หรือเงินที่มีคุณสมบัติมั่นคงในแง่ของมูลค่า และได้รับการสนับสนุนจากทรัพยากรหรือปัจจัยที่ไม่สามารถสร้างเพิ่มได้ง่าย หรือถูกควบคุมไม่ให้มีการเพิ่มขึ้นโดยไม่มีขีดจำกัด
เช่น สินทรัพย์ที่มีมูลค่าคงที่หรือได้รับการหนุนหลังจากทั่วโลก เช่น ทองคำ หรือในกรณีของบิตคอยน์ คืออุปทานที่ถูกควบคุมอย่างชัดเจนและไม่สามารถสร้างเพิ่มได้ตามใจชอบ
หรือให้เข้าใจง่ายๆเลย ก็คือ สิ่งมีมูลค่าที่แท้จริงของมันเองไม่ถูกใครคนใดคนหนึ่งควมคุมหรือกำหนด มีจำนวนจำกัดและมีความยากในการผลิตหรือสร้างเพิ่ม
ซึ่งถ้าหากเราสวมหมวกเป็นนักลงทุนมันก็คงไม่แปลกอะไรที่เราจะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณสมบัติที่ดีแบบนี้
แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าจากคำกล่าวของ Ray Dalio ที่อาบูดาบี ก็คือ สาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้เขามุ่งเน้นที่จะลงทุนใน Hard Money มากกว่าที่ผ่านมากัน?
ซึ่งสินทรัพย์ที่รับบทตัวร้ายในครั้งนี้ ก็คือ พันธบัตร
ถึงแม้ว่าสินทรัพย์อย่างพันธบัตรมักจะให้ผลตอบแทนแบบคงที่อยู่เสมอ แต่ก็ยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มของตราสารหนี้
ถ้าให้เข้าใจง่ายๆ ก็เหมือนกับการที่เราไปยืมเงินเพื่อน แล้วเราต้องทำสัญญา (ตราสารหนี้) ว่าจะจ่ายเงินที่ยืมพร้อมดอกเบี้ยคืนให้เพื่อนในภายหลัง
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรประเภทใดก็จะมีกระบวนการตามที่กล่าวก่อนหน้านี้ทั้งนั้น ซึ่งเหมือนเทียบกับสินทรัพย์ Hard Money แล้ว พันธบัตรก็เป็นอะไรที่ดูไม่มีมูลค่าที่แท้จริงของมันเลยเป็นเพียงแค่สัญญากู้ยืมเงินก็เท่านั้น
แล้วทำไม Ray Dalio ถึงพูดว่าจะหลีกเลี่ยงพันธบัตร...
อย่างที่ได้กล่าวไปว่าพันธบัตรก็เหมือนสัญญากู้ยืมเงิน และสัญญากู้ยืมเงินก็ดูไม่ใช่อะไรที่จะเป็น Hard Money ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพันธบัตรรัฐบาลที่ Ray Dalio พูดถึงบ่อยมากที่สุด
โดยทั้งราคาและผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลนั้นทั่วไปจะผันผวนไปตามหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงิน ความเชื่อมั่น ความต้องการจากนักลงทุน
ซึ่งจากคำกล่าวของ Ray Dalio สิ่งที่เขากังวลอันดับต้นๆ เลยเกี่ยวกับพันธบัตรรัฐบาล นั่นก็คือ "เรื่องปริมาณของมัน"
โดยทั่วไปแล้วปริมาณของพันธบัตรรัฐบาลมักจะมีการเพิ่มขึ้นต่อเมื่อรัฐบาลต้องการใช้เงินจึงออกพันธบัตรมาขายนักลงทุนเพื่อหาเงินแล้วสัญญาว่าจะคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้ภายหลัง
และกรณีเดียวเลยที่สื่งนี้จะลดปริมาณลงก็คือ การที่พันธบัตรหมดอายุ หรือก็คือ ครบเวลาที่ต้องชำระเงินที่ยืมให้นักลงทุน
แต่หากเราติดตามข่าวสารเศรษฐกิจหรือการลงทุนเป็นประจำ เราก็จะพบว่าปัจจุบันปริมาณพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นใน "ระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน" โดยเฉพาะในสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น และประเทศใหญ่ๆ เกือบทุกประเทศทั่วโลก
รัฐบาลทั่วโลกมีการใช้จ่ายสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ซึ่งเงินที่ใช้ก็มาจากการออกพันธบัตร หรืออีกนัยก็คือมีหนี้ที่ต้องคืนมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเช่นกัน
และก็อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาและผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล คือ ความต้องการและความเชื่อมั่น
ซึ่งหากความต้องการพันธบัตรรัฐบาลสูง (Demand สูง) ราคา (Price) ของพันธบัตรจะเพิ่มขึ้น และอัตราผลตอบแทน (Yield) จะลดลง ในทางกลับกัน หากความต้องการลดลง ราคาอาจลดลง และผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้น
ทำนองเดียวกันกับความเชื่อมั่น หากนักลงทุนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยได้ตรงเวลา ความต้องการพันธบัตรรัฐบาลจะเพิ่มขึ้น (ราคาสูงขึ้น และผลตอบแทนต่ำลง)
ในทางกลับกัน หากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในเสถียรภาพของรัฐบาล (เช่น ความเสี่ยงด้านหนี้สาธารณะหรือวิกฤตการเงิน) ความต้องการพันธบัตรรัฐบาลจะลดลง ส่งผลให้ราคาลดลงและอัตราผลตอบแทนสูงขึ้น
และอย่างที่กล่าวไปว่าหนี้ของรัฐบาลทั่วโลกนั้นสูงขึ้นมากจากอดีต หลายคนคิดว่าจะส่งผลกับความต้องการและความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างไร
ลองสมมุติว่า หากเรามีเพื่อนคนหนึ่งที่มีการงานทำ แต่เงินเดือนของเขาไม่พอที่จะชดใช้หนี้ที่เขามีอยู่
คำถาม คือ หากเป็นเราจะอยากให้เพื่อนคนนี้ยืมเงินมั้ย? แน่นอนว่าเราไม่อยากให้เขายืมเงินเพราะกลัวจะไม่ได้เงินคืน
แต่หากเป็นกรณีของประเทศก็คงเป็นหนี้สาธารณะต่อ GDP ซึ่งน่าจะเห็นภาพมากที่สุด
GDP ก็เปรียบเหมือนกับรายได้ของประเทศ หากประเทศมีรายจ่ายซึ่งก็คือหนี้สินสูงกว่ารายได้ ประเทศนั้นก็จะเหมือนคนที่หาเงินมาใช้หนี้ได้ไม่ทัน
คำถามต่อไป ก็คือ หาเงินได้ไม่ทันแล้วจะทำอย่างไรต่อดี แน่นอนว่าหลายคนก็คงรู้แล้ว ว่าต้องออกพันธบัตรมาขายเพิ่มหรืออีกนัยก็คือ ต้องสร้างหนี้ใหม่ชดใช้หนี้เก่า
นั่นก็หมายความว่า ปริมาณของพันธบัตรจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่พวกเขายังมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นหรือหาเงินเพิ่มด้วยวิธีอื่นๆไม่ได้นั่นเอง
ดังนั้นการซื้อพันธบัตรรัฐบาลก็เปรียบเสมือนการที่เราไปถือหนี้ให้ประเทศๆนั้น
ซึ่งถึงแม้ว่าพันธบัตรจะเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนคงที่ และมีรัฐบาลเป็นผู้ออก แต่ก็คงไม่ใช่เรื่องดีเลยใช่มั้ยหากว่าเราต้องทำสํญญาให้ยืมเงินกับประเทศที่จะมีหนี้สินสูงขึ้นเรื่อยๆ
อีกทั้งการที่รัฐบาลออกพันธบัตรใหม่มาเรื่อยๆ (เนื่องด้วยต้องสร้างหนี้ใหม่มาจ่ายหนี้เก่า) ยังสามารถส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการออกพันธบัตรนั้นสัมพันธ์กับนโยบายการเงินและการคลังของรัฐบาล
อย่างในช่วงวิกฤต COVID-19 รัฐบาลหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ใช้นโยบาย QE เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ ส่งผลให้ปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
การใช้จ่ายของรัฐบาลเพิ่มอุปสงค์รวม (Aggregate Demand) ในเศรษฐกิจ ซึ่งหากอุปทานสินค้าและบริการ (Supply) ไม่สามารถตอบสนองต่ออุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นได้ทัน จะทำให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น และก็จะนำไปสู่เงินเฟ้อ
เช่น นโยบาย Stimulus Checks ในสหรัฐฯ ช่วง COVID-19 ปี 2020-2021 การบริโภคของประชาชนเพิ่มขึ้นในขณะที่ซัพพลายหดตัว เนื่องจากปัญหาห่วงโซ่อุปทาน จึงส่งผลให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการเพิ่มขึ้นของปริมาณพันธบัตรมีนัยสำคัญอย่างมากกับเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ รวมถึงการลงทุน
โดยสิ่งที่ Ray Dalio กังวลในอันดับต่อมาก็คือ "นโยบายการเงินและดอกเบี้ย"
อย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้นว่า นโยบายการเงินก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาและผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล โดยตามปกติแล้วเมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวสูงขึ้น ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลก็จะเพิ่มขึ้นตาม
ซึ่ง Ray Dalio เชื่อว่าธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกรวมถึง Fed จะมีข้อจำกัดในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินยากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ตัวอย่างเช่น ความเสี่ยงด้านหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ
ด้วยหนี้สาธารณะรวมต่อ GDP ที่ 122.3% ทำให้สหรัฐฯ มีข้อจำกัดในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องด้วยมันส่งผลโดยตรงต่อภาระหนี้สินที่พวกเขามีอยู่
นั่นหมายความว่า เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการชำระหนี้ที่อาจเกิดขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะพยายามไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงไว้นาน
ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับพันธบัตร ก็คือ ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล จะน้อยลงไปตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งถูกจำกัดโดยหนี้สาธารณะของประเทศนั่นเอง
สถานการณ์นี้ยังเกิดขึ้นในหลายๆประเทศทั่วโลก และในบางประเทศผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลนั้นต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นด้วยซ้ำ
ทำให้ผลตอบแทนของพันธบัตรทั่วโลกหลังจากนี้นั้นอาจไม่ได้น่าดึงดูดหรือน่าสนใจมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆในตลาด จากเหตุผลที่ได้กล่าวไว้นั่นเอง
อีกทั้งโดยส่วยตัวแล้ว Ray Dalio ยังเชื่อว่าจะมีการปรับสมดุลของโลก (Changing Global Order) เกิดขึ้น
เขามองว่าโลกกำลังเปลี่ยนจากระบบที่สหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจหลัก ไปสู่การเพิ่มอิทธิพลของจีนและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Markets)
ซึ่งเขากังวลว่าการถือพันธบัตรรัฐบาล เช่น พันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสกุลเงินสำรองหลักของโลก อาจมีความเสี่ยงในระยะยาว เพราะบทบาทของเงินดอลลาร์สหรัฐอาจลดลงหรือถูกท้าทายได้ในอนาคต
ซึ่งสังเกตได้จากการที่หลายๆประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย มีการซื้อทองคำเก็บไว้ในทุนสำรองกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนที่มีการซื้อทองคำสำรองมากที่สุด และอีกหลายประเทศที่เริ่มลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
จากความเสี่ยงมากมายเกี่ยวกับพันธบัตรที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณพันธบัตรหรืออีกนัยหนึ่งก็คือหนี้สินที่สูงขึ้น เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มมากขึ้น ผลตอบแทนที่น้อยลง และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์
จึงไม่แปลกเลยหากทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับการยอมรับในฐานะ "store of value" มาอย่างยาวนาน จะกลายเป็นสินทรัพย์ที่ Ray Dalio ให้ความสนใจเป็นพิเศษในช่วงนี้ เนื่องด้วยทองคำจะได้รับประโยชน์มากที่สุด หากสิ่งที่ Ray Dalio เชื่อนั้นเกิดขึ้นจริงนั่นเอง
และแม้ว่าเขาจะเคยแสดงความกังขาเกี่ยวกับบิตคอยน์ในอดีต แต่ในปัจจุบันเขาก็เริ่มมองว่าบิตคอยน์มีคุณสมบัติของ Hard Money โดยเฉพาะในเรื่องของอุปทานที่จำกัด และไม่ถูกใครคนใดคนหนึ่งควมคุมหรือกำหนดมัน
อีกทั้งตัวของบิตคอยน์เอง ณ ปัจจุบัน ก็เริ่มได้รับการยอมรับในระดับสากลมากขึ้นเรื่อยๆ Ray Dalio จึงคิดว่าบิตคอยน์อาจกลายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีศักยภาพในระยะยาวได้นั่นเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา