1 ธ.ค. เวลา 23:29 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ทำไมการเงินของญี่ปุ่น ถึงเป็นกรณีศึกษาที่ดีเยี่ยมของสหรัฐฯ

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาได้เผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่หลายประการ ทั้งวิกฤตการณ์การเงินในปี 2008 การพึ่งพานโยบายการเงิน เช่น การลดดอกเบี้ย และการใช้มาตรการ QE (Quantitative Easing) เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัว รวมถึงแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะที่ส่งผลต่อเสถียรภาพทางการคลัง
เหตุผลทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยหลายอย่าง และความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในอนาคต โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็วจนเกินกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม ประเด็นเกี่ยวกับหนี้สาธารณะที่สูงกว่า GDP นั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงสหรัฐฯ ปัญหาหนี้สาธารณะที่สูงนั้นได้เกิดขึ้นทั่วโลกหลังจากเหตุการณ์โรคระบาดปี 2019 เนื่องด้วยรัฐบาลมีการกู้เงินจำนวนมากเพื่อแก้ไขปัญหาโรคระบาดที่เกิดขึ้น
ทุกคนลองสมมุติว่า หนี้สาธารณะต่อ GDP เกิน 100% นั้นเทียบได้กับสถานการณ์ที่ครัวเรือนหรือธุรกิจมีหนี้มากกว่ารายได้ประจำปีของพวกเขา
สถานการณ์นี้บ่งบอกว่ารัฐบาลต้องพึ่งพาการกู้ยืมเพื่อให้สามารถดำเนินนโยบายทางการคลังและรับมือกับค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งถ้าเป็นครัวเรือนหรือธุรกิจพวกเขาก็คงล้มละลายกันไปแล้ว เพราะพวกเขามี "รายจ่ายเกินกว่ารายได้"
แม้ว่าหนี้อาจจะไม่ได้กลายเป็นปัญหาโดยตรง หากรัฐบาลสามารถชำระดอกเบี้ยและจัดการหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ด้วยอัตราหนี้ที่สูงแบบนี้ก็อาจสร้างความเสี่ยงในระยะยาวได้
เช่น ความสามารถในการรองรับหรือรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจ การขาดเสถียรภาพทางการเงิน และการลดความยืดหยุ่นในการใช้นโยบายการคลัง
และนี้คือ สิ่งที่เราจะมาบอกเล่ากันในครั้งนี้...
หากเราลองมาสำรวจสถานการณ์หนี้ในหลายๆประเทศทั่วโลก เราจะพบว่าสหรัฐฯ ไม่ใช่มหาอำนาจรายเดียวที่เผชิญกับหนี้สาธารณะที่สูงกว่า GDP
แต่ประเทศมหาอำนาจที่เผชิญปัญหานี้ก่อนสหรัฐฯ นั่นก็คือ ญี่ปุ่น
  • หนี้สาธารณะต่อ GDP ของญี่ปุ่น
หนี้สาธารณะต่อ GDP ของญี่ปุ่นเริ่มทะลุ 100% ตั้งแต่ช่วงปี 1990s โดยสาเหตุหลักเกิดจากการแตกของฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นในช่วงต้นทศวรรษดังกล่าว ซึ่งทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอย
ในช่วงปี 1980s เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็ว ราคาที่ดินและราคาหุ้นในตลาดสูงขึ้นจนเกิดภาวะฟองสบู่ แต่เมื่อฟองสบู่แตกในต้นปี 1990s ราคาทรัพย์สินก็ลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยและการลงทุนในภาคเอกชนได้ลดลงไปอย่างมาก
ภาวะนี้ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเพิ่มการใช้จ่ายทางภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ในการพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ชะลอตัวนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเพิ่มการใช้จ่ายในโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ รวมถึงโครงการเงินกู้สำหรับธุรกิจและธนาคารที่ประสบปัญหาในช่วงเศรษฐกิจถดถอย
ด้วยสาเหตุนี้ทำให้หนี้สาธารณะของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่รัฐบาลต้องการหลีกเลี่ยงการเพิ่มภาษีเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อประชาชนและธุรกิจที่กำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา
และเพื่อที่จะหลุดออกจากภาวะถดถอยอันยาวนานนี้ให้ได้ ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (BOJ) จึงลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจนใกล้ศูนย์ และได้ดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่ใช้มาตรการนี้
สำหรับหลายๆคนที่ไม่เข้าใจว่ามาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณหรือ Quantitative Easing คืออะไร
Quantitative Easing ก็คือ นโยบายทางการเงินที่ธนาคารกลางใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาหรือเกิดวิกฤต โดยหลักการคือ ธนาคารกลางจะซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น พันธบัตรรัฐบาล จากสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อเพิ่มปริมาณเงินในระบบการเงิน หรืออีกนัยก็คือเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ
ซึ่งแม้ว่าการที่ BOJ ลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจนใกล้ศูนย์จะช่วยลดต้นทุนการกู้ยืม แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้รัฐบาลเองมีการกู้ยืมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน
เนื่องจากมีต้นทุนทางการเงินต่ำ เพื่อนำเงินมาใช้ในนโยบายเกี่ยวกับโครงสร้างประชากรของญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงขึ้นและอื่นๆ ซึ่งเป็นปัจจัยที่เพิ่มภาระให้กับงบประมาณสาธารณะ
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ของญี่ปุ่นสูงขึ้นเกินกว่า 100% หรือก็คือมีรายได้ไม่พอกับรายจ่ายแล้ว
แต่ทำไมพวกเขาไม่ผิดนัดชำระหนี้กันละ?
คำถามนี้น่าสนใจมาก เพราะว่าหากเปรียบญี่ปุ่นเป็นบริษัท บริษัทที่ชื่อว่าญี่ปุ่นนี้ก็คงล้มละลายไปแล้ว แต่ทำไมเราถึงไม่เคยพบเห็นการผิดนัดชำระหนี้ของพวกเขาเลย ซึ่งการที่พวกเขาสามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ได้นั้นมาจากเหตุหลายปัจจัย
1. การถือครองหนี้ภายในประเทศ
หนี้สาธารณะของญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ถูกถือโดยนักลงทุนและสถาบันการเงินภายในประเทศ เช่น ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารพาณิชย์ภายในประเทศญี่ปุ่นเอง ทำให้ญี่ปุ่นมีความเสี่ยงน้อยกว่าประเทศที่มีอัตราส่วนหนี้ต่างประเทศที่สูง
การกู้ยืมจากประชาชนด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาลและสถาบันการเงินในประเทศเอง ช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถควบคุมความผันผวนและลดความเสี่ยงในการถูกกดดันจากต่างประเทศได้ เนื่องด้วยพวกเขาสามารถกำหนดนโยบายการเงินของประเทศตนเองได้
ลองนึกภาพว่า มีชายหนุ่มคนหนึ่งที่มีหนี้สินมากมาย แต่แทนที่เขาจะกู้เงินจากธนาคารเพื่อเอาเงินมาหมุน เขากลับยืมเงินจากสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนๆ แทน
การทำแบบนี้ทำให้ถ้าเกิดมีปัญหาก็สามารถตกลงหรือเจรจากับคนที่รู้จักได้ง่ายกว่าการกู้เงินจากแหล่งภายนอก เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่พึ่งพาสถาบันและนักลงทุนภายในประเทศ ทำให้พวกเขาสามารถลดความเสี่ยงที่มาจากนักลงทุนต่างชาติหรือแหล่งกู้ยืมเงินภายนอกได้
2. ความเชื่อมั่นในพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น
อย่างที่ทราบกันดีว่า วิธีที่รัฐบาลนิยมใช้ในการจัดหาทุนมากที่สุดนั้นก็คือ การออกพันธบัตรรัฐบาลมาขายนักลงทุน
ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีระบบการเงินและความเชื่อมั่นในรัฐบาลที่สูง แม้ระดับหนี้จะสูงมาก แต่นักลงทุนชาวญี่ปุ่นก็ยังคงเชื่อมั่นในพันธบัตรรัฐบาลของประเทศตนเอง
ซึ่งสาเหตุอาจมาจากการที่ BOJ ได้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำอยู่เสมอ ทำให้อัตราตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ไม่เกิดความผันผวนมากนัก ซึ่งสอดคล้องกับการลงทุนแนวอนุรักษ์นิยมของชาวญี่ปุ่น ที่ต้องการความปลอคภัยมากกว่าผลตอบแทนที่สูง
ทำให้แม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะมีการออกพันธบัตรมาขายมากมาย ก็ยังมีนักลงทุนชาวญี่ปุ่นหรือสถาบันการเงินในประเทศเข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาลนั่นเอง
3. ความสามารถในการจัดเก็บรายได้ภาษีและการจัดการความเสี่ยงระยะยาว
เชื่อว่าหลายๆคนที่ได้มีโอกาสไปเที่ยวหรือไปทำงานที่ญี่ปุ่นจะรู้ดีว่าญี่ปุ่นนั้นขึ้นชื่อเรื่องวินัยของประชาชนในหลายๆด้าน ซึ่งรวมถึงหน้าที่ของการจ่ายภาษีด้วย
ทำให้รัฐบาลของพวกเขาสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้นเกือบทุกปี
  • รายได้จากภาษีของญี่ปุ่นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2015 ถึง 2022
วินัยการจ่ายภาษีของประชาชนรวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นผลดีต่อธุรกิจและครัวเรือนของญี่ปุ่น ทำให้รัฐบาลยังคงเก็บภาษีได้และมีการเติบโตของรายได้อยู่ แม้ว่าระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ตาม
อีกทั้งญี่ปุ่นยังมีวิธีการบริหารจัดการหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมักมีการขยายอายุหนี้ (Maturity) อยู่บ่อยครั้ง
เพื่อกระจายภาระการชำระหนี้ให้อยู่ในช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้น วิธีนี้ช่วยลดแรงกดดันในระยะสั้นได้ และทำให้การชำระหนี้สามารถถูกจัดการได้ดีมากขึ้นแม้จะมีหนี้ที่สูงนั่นเอง
สุดท้ายท้ายสุดและสำคัญที่สุด นั่นก็คือ YCC หรือ Yield Curve Control
4. Yield Curve Control
กฎเหล็กของการไม่ผิดนัดชำระหนี้นั่นก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้มีเงินจ่ายหนี้ในแต่ละงวด หรือให้เข้าใจง่ายเลยก็คือ ทำให้อย่างไรก็ได้ให้ยังคงมีเงินหมุนหนี้อยู่นั่นเอง
ซึ่งกฎข้อนี้จะทำไม่ได้เลยหากญี่ปุ่นปราศจากสิ่งที่เรียกว่า Yield Curve Control
การใช้ Yield Curve Control (YCC) เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ได้ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา
YCC ก็คือ การที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตั้งเป้าหมายและกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยในระยะสั้นและระยะยาวอยู่ในระดับที่เฉพาะเจาะจงด้วยวิธีต่างๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลในระยะ 10 ปีให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อช่วยสร้างเสถียรภาพในตลาดการเงินและลดต้นทุนในการกู้ยืมและภาระหนี้ของรัฐบาล
อธิบายถึงตรงนี้อาจมีหลายคนที่ไม่เข้าใจว่า การควบคุมอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลให้อยู่ในระดับที่ต่ำ ช่วยสร้างเสถียรภาพในตลาดการเงินและลดต้นทุนในการกู้ยืมและภาระหนี้ของรัฐบาลได้อย่างไร...
นั่นก็เพราะว่า พันธบัตรรัฐบาลถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด เนื่องจากรัฐบาลเป็นผู้กู้ยืม อัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลจึงเป็นเหมือน "อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง" ที่สำคัญสำหรับตลาดการเงินอื่นๆ รวมถึงตลาดเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์
เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้หรือสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้หรือตราสารหนี้อื่นๆ
ซึ่งหากอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงผลตอบแทนอย่างอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลนั้นต่ำ อัตราดอกเบี้ยประเภทอื่นๆ ก็จะต่ำลงไปได้ด้วยเช่นกัน
ดังนั้นหากสามารถกำหนดอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ให้ต่ำลงได้ ก็เหมือนกับการลดต้นทุนในการกู้ยืมและภาระหนี้ให้กับรัฐบาลทางอ้อมนั่นเอง
ลองนึกภาพตาม จริงอยู่ที่ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นนั้นมีรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายแต่เมื่อเวลาชำระหนี้มาถึงพวกเขาก็ยังสามารถกู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ เพื่อนำมาเงินตรงนั้นมาชดเชยส่วนต่างของหนี้ได้อยู่ดี
YCC หรือ Yield Curve Control จึงเหมือนเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้มาได้ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมานั่นเอง
จากการศึกษาตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่น เราจะเห็นได้ว่าแม้พวกเขาจะมีหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงเกิน 100% มายาวนาน แต่ญี่ปุ่นก็ยังคงสามารถรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้และไม่เกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้น
ด้วยสารพัดวิธีทั้งการถือครองหนี้ภายในประเทศ ความเชื่อมั่นในพันธบัตรรัฐบาล วินัยทางการคลัง รวมถึงนโยบายการเงินที่เอื้ออำนวย
ดังนั้นการเงินของญี่ปุ่นนั้นจึงถือเป็นกรณีศึกษาขั้นดี เกี่ยวกับวิธีการเอาตัวรอดหรือการประวิงเวลาจากสถานการณ์ที่มีหนี้สาธารณะอยู่สูงกว่า GDP ให้แก่สหรัฐฯ ได้ซึ่งก็กำลังเผชิญกับปัญหาดังกล่าวเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การที่ญี่ปุ่นสามารถจัดการกับหนี้สาธารณะได้ในระดับสูงนั้น ไม่ได้หมายความว่าประเทศอื่นๆ จะสามารถทำได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากแต่ละประเทศมีปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่แตกต่างกัน
สำหรับกรณีของสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะมีความคล้ายคลึงกับญี่ปุ่นในบางประเด็น เช่น การมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ และเป็นผู้ออกสกุลเงินหลักของโลก แต่ก็มีความแตกต่างในหลายด้าน เช่น โครงสร้างประชากร ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
ดังนั้น การนำกรณีศึกษาของญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้กับสหรัฐอเมริกาจึงอาจต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วยนั่นเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา