Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
InvestWay
•
ติดตาม
22 ต.ค. เวลา 23:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไมยุคการเปลี่ยนถ่ายพลังงานถึงสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลก
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราจะได้ยินคำว่า "การเปลี่ยนถ่ายพลังงาน" (Energy Transition) กันบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนจากการใช้พลังงานฟอสซิล เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ไปสู่พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม หรือแม้กระทั่งพลังงานจากคลื่นทะเล พลังงานความร้อนใต้พิภพ ฯลฯ
ซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อเราพูดถึงพลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียน เราก็มักจะนึกถึงภาวะโลกร้อนหรือปัญหาจากภาวะโลกรวน (Climate Change) ซึ่งเราก็มักจะคิดว่าที่โลกกำลังผลักดันเรื่องนี้กันอยู่ก็เพื่อลดและแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน
แต่จริงๆแล้วการเปลี่ยนถ่ายพลังงานนั้นมีความเขื่อมโยงที่ลึกซึ้ง และยังเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมามากกว่าที่เราหลายคนคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ
ทำไมยุคการเปลี่ยนถ่ายพลังงานถึงสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลก?
ในระบบเศรษฐกิจโลก เราปฎิเสธไม่ได้ว่าเรื่องพลังงานนั้นก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่สามารถกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจได้
ลองนึกภาพว่า ถ้าวันหนึ่งราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นหรือการส่งออกน้ำมันถูกจำกัดเพราะเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศผู้ผลิต น้ำมันซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำคัญจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่กดดันราคาสินค้าและบริการได้ทั่วโลก
พลังงานฟอสซิลซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักที่โลกเราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน และยังเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดและกระจุกตัวในบางภูมิภาค
หากเรายังคงพึ่งพาพลังงานประเภทนี้อยู่ เราก็อาจจะต้องเจอกับความไม่แน่นอนด้านราคาและอุปทานอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าเราสามารถเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งมีอยู่ทั่วโลก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และลม เราก็จะสามารถลดการพึ่งพาทรัพยากรที่ไม่เสถียรได้มากขึ้น และทำให้ระบบเศรษฐกิจมีความมั่นคงได้ยิ่งขึ้น
แล้วทำไมการที่เราลดการพึ่งพาทรัพยากรด้านพลังงานได้ ถึงทำให้ระบบเศรษฐกิจมีความมั่นคงยิ่งขึ้น?
ตัวอย่างที่เข้าใจง่ายที่สุดในประเด็นนี้ ก็คือ "เรื่องราคาพลังงาน"
ราคาพลังงานเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อระดับเงินเฟ้อทั่วโลก เมื่อต้นทุนพลังงานเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ก็มักจะปรับตัวตาม
เช่น ค่าน้ำมันในการขนส่ง ราคาสินค้าประเภทอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงานในการผลิต ซึ่งยังรวมถึงต้นทุนพลังงานในครัวเรือนของประชาชน
ไม่เพียงเท่านั้น หากราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น สิ่งนี้ยังส่งผลต่อการดำเนินนโยบายทางการเงินอีกด้วย ซึ่งถ้าราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น แน่นอนว่าสิ่งที่จะตามมาหลังจากนั้นก็คือ "ภาวะเงินเฟ้อ" จากราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น
เมื่อราคาพลังงานผันผวน มันจะส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการเกือบทุกประเภท เพราะพลังงานเป็นต้นทุนสำคัญที่ใช้ในการผลิต ขนส่ง และกระจายสินค้าไปยังตลาด
ดังนั้นเมื่อราคาน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติซึ่งถือเป็นพลังงานฟอสซิลปรับตัวขึ้น เงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนการผลิตก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ซึ่งสิ่งที่จะตามมานั้นหลายคนคงเดาได้ไม่ยาก นั่นก็คือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อจากธนาคารกลางนั่นเอง
และแน่นอนว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้นนั้นก็จะส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจอย่างแน่นอน เพราะต้นทุนทุกอย่างสูงขึ้น นี้จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมหากเราลดการพึ่งพาทรัพยากรด้านพลังงานได้ มันจะทำให้ระบบเศรษฐกิจของเรามีความมั่นคงมากขึ้น
และอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่จะไม่กล่าวถึงเลยไม่ได้ นั่นก็คือ "ภาระหนี้"
หากเราติดตามข่าวสารเศรษฐกิจ ก็จะทราบกันดีว่าตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นระดับของหนี้ทั่วโลกเรานั้นกำลังปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหนี้ของภาครัฐ
การเพิ่มขึ้นของระดับหนี้ภาครัฐเกิดจากการที่หลายประเทศต้องกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นเพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจ การแพร่ระบาดของโรค รวมถึงการเติบโตในส่วนของรายได้ของประเทศที่ตามรายจ่ายไม่ทัน
หรือแม้แต่การกู้ยืมเงินมาเพื่อรับมือกับราคาพลังงานที่สูงขึ้นที่เกิดจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ในประเทศผู้ผลิตน้ำมันหรือก๊าซ เช่น ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง หรือการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ต้องนำเข้าทรัพยากรพลังงาน เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ การที่ราคาพลังงานเพิ่มขึ้นจะทำให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินมากขึ้นในการนำเข้า
ซึ่งนั้นจะทำให้การจัดการงบประมาณของประเทศนั้นยากลำบากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่มีหนี้สาธารณะสูงอยู่แล้ว รัฐบาลอาจจำเป็นต้องกู้ยืมเงินเพิ่มเติมมากขึ้นเพื่อชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้น
ตัวอย่าง ประเทศศรีลังกาในปี 2022 ที่เผชิญกับวิกฤตพลังงานและปัญหาการคลังรุนแรง เนื่องจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูง รัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อรักษาการดำเนินงานของประเทศ ทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้นจนถึงจุดที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้
ประเทศศรีลังกาจึงกลายเป็นกรณีศึกษาที่ดีถึงสถานการณ์ที่ประเทศซึ่งมีความเปราะบางในด้านพลังงาน เมื่อเผชิญกับวิกฤตราคาพลังงานที่รุนแรง ผลลัพธ์ที่ตามมานั้นเป็นอย่างไร
และเพื่อให้เข้าใจความเขื่อมโยงที่ลึกซึ้งเหล่านี้มากขึ้น เรามาดูแผนภูมิต่อไปนี้กัน
●
การบริโภคพลังงานทั่วโลกตามแหล่งที่มา
ที่มา ourworldindata
●
การเปลี่ยนแปลงรายปีของการบริโภคพลังงานทั่วโลก (คิดเป็นเปอร์เซ็น)
ที่มา ourworldindata
●
การใช้พลังงานทั่วโลกเฉพาะเชื้อเพลิงที่ซื้อขายในเชิงพาณิชย์
ที่มา ourworldindata
จากแผนภูมิจะเห็นได้ว่าในขณะที่เราพบเห็นความไม่แน่นอนเกี่ยวกับราคาและอุปทานของสินค้าพลังงานมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านภูมิรัฐศาสตร์ แต่โลกของเรานั้นก็ยังบริโภคพลังงานกันมากขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้นมันจึงไม่แปลกเลย หากว่าเกิดเหตุการณ์อะไรสักอย่างที่ทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น แล้วเราจะพบเห็นวิกฤตเศรษฐกิจไม่ว่าจะวิกฤตเงินเฟ้อ วิกฤตพลังงาน วิกฤตหนี้ของครัวเรือนหรือภาครัฐ เกิดขึ้นในหลายๆประเทศทั่วโลก นั่นก็เพราะเศรษฐกิจของพวกเขายังคงต้องพึ่งพาทรัพยากรพลังงานจากภายนอก
และด้วยความอ่อนไหวต่อราคาพลังงานต่างๆ ที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้การเปลี่ยนถ่ายสู่พลังงานรูปแบบใหม่ๆ จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทและสำคัญมากขึ้นไม่ใช่เพียงแต่บทบาทด้านภาวะโลกร้อนเท่านั้น
ตัวอย่างกรณีศึกษาพลังงานน้ำและความร้อนใต้พิภพของประเทศไอซ์แลนด์
พลังงานน้ำ (Hydropower) เริ่มถูกนำมาใช้ในไอซ์แลนด์ตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยมีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแห่งแรกในปี 1904 ที่เมือง Hafnarfjörður
แต่การใช้พลังงานน้ำของไอซ์แลนด์ได้ขยายตัวจริงๆ ในช่วงทศวรรษ 1950-1960 หลังจากจึงมีการสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
ไอซ์แลนด์ยังมีแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพจำนวนมาก เนื่องจากตั้งอยู่บนแนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก พลังงานนี้เริ่มถูกใช้ครั้งแรกในครัวเรือนและอุตสาหกรรมในช่วงทศวรรษ 1940 และมีการขยายการใช้อย่างจริงจังในช่วงทศวรรษ 1970 หลังจากวิกฤตการณ์น้ำมัน (Oil Crisis) ที่ทำให้ไอซ์แลนด์ต้องมองหาพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืนกว่า
ซึ่งจากที่กล่าวมาทำให้พวกเขามีราคาไฟฟ้าสำหรับบ้านเรือนและอุตสาหกรรมต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศนอร์ดิกด้วยกัน
ที่มา statice.is
ทำให้ถึงแม้ว่าในระยะสั้นพวกเขาอาจจะได้รับผลกระทบด้านค่าเงินและเงินเฟ้อจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed แต่ในระยะยาวพวกเขายังคงได้เปรียบเทียบในด้านต้นทุนด้านพลังงานมากกว่าในหลายๆประเทศ
และอีกหนึ่งประเทศที่เป็นกรณีศึกษาที่น่าติดตามเลยก็คือ สหรัฐอเมริกา
●
แท่งขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐฯ
ที่มา tradingeconomics
●
การบริโภคน้ำมันของสหรัฐฯ
ที่มา eia
จากแผนภูมิทั้งสองจะเห็นได้ว่าการบริโภคน้ำมันของสหรัฐฯ สูงขึ้นสวนทางกับจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันของพวกเขา พวกเขาบริโภคน้ำมันเพิ่มขึ้นแต่การลงทุนในแท่นขุดเจาะน้ำมันกลับน้อยลง
ที่มา canarymedia
อย่างไรก็ดี สาเหตุอาจจะมาจากการที่สหรัฐฯ มีการออกพระราชบัญญัติลดเงินเฟ้อ ซึ่งมีการลงทุนเพื่อส่งเสริมพลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมอยู่ในพระราชบัญญัติด้วย ซึ่งอาจทำให้สหรัฐฯ มีการลงทุนในพลังงานรูปแบบดั้งเดิมน้อยลงและหันมาลงทุนในพนังงานรูปแบบใหม่กันมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม จนกว่าที่พวกเขาจะลงทุนในพลังงานรูปแบบใหม่มากพอจนสามารถทำให้ต้นทุนด้านพลังงานต่ำได้ ระหว่างการเปลี่ยนถ่ายนั้นพวกเขาเองก็อาจจะเผชิญกับปํญหาด้านเงินเฟ้อและราคาพลังงานได้
และด้วยภาระหนี้ของพวกเขาเองก็เป็นการยาก หากพวกเขาจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควมคุมเงินเฟ้อนั่นเอง ซึ่งคงต้องรอติดตามกันต่อไป
ที่มา tradingeconomics
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ทำให้การเปลี่ยนถ่ายพลังงานจึงไม่เพียงแต่เป็นการตอบสนองต่อวิกฤตสิ่งแวดล้อมgmjkoyho
แต่ยังเป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงสำหรับเศรษฐกิจโลกในอนาคต ด้วยการลงทุนในพลังงานสะอาดและหมุนเวียน เราสามารถลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และช่วยปกป้องประเทศจากความไม่แน่นอนด้านราคาพลังงานได้
และยังสร้างเสถียรภาพทางการเงินที่จำเป็นสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืน เนื่องด้วยเมื่อราคาพลังงานต่ำลงหรือมีเสรียรภาพมากขึ้น จะทำให้การดำเนินนโยบายทางการเงินนั้นง่ายขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีภาระหนี้ที่สูง เพราะแรงกดดันด้านเงินเฟ้อของพวกเขาต่ำลง
ดังนั้นพลังงานจึงกลายเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจในทุกระดับ การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดจึงไม่ใช่เพียงทางเลือก แต่เป็นความจำเป็นที่จะช่วยสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงและปลอดภัยยิ่งขึ้นนั่นเอง
References:
https://www.statice.is/statistics/environment/energy/energy-prices/
https://ourworldindata.org/energy-production-consumption
https://www.canarymedia.com/articles/clean-energy/chart-us-clean-energy-investment-is-soaring-thanks-to-climate-law
https://tradingeconomics.com/united-states/total-rigs
https://tradingeconomics.com/united-states/government-debt-to-gdp
https://www.eia.gov/dnav/pet/hist/LeafHandler.ashx?n=PET&s=MCRFPUS2&f=M
การเงิน
เศรษฐกิจ
การลงทุน
บันทึก
3
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
INVESTING NEWS AND ECONOMY SERIES by InvestWay
3
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย