20 ก.ย. เวลา 23:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เงินคือหนี้? ทำไมเงินที่เราใช้ถึงมีความหมายเหมือนกับหนี้

หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า “เงินก็คือหนี้” ในโซเชียลมีเดียอยู่บ่อยครั้งในช่วงนี้ และอาจสงสัยว่ามันหมายความว่าอย่างไร เพราะเมื่อเรานึกถึงเงิน เรามักจะคิดถึงสิ่งที่เราใช้ซื้อสินค้าและบริการ ไม่ได้มองว่าเงินเป็นหนี้
แต่หากเรามองลึกลงไปถึงกระบวนการสร้างเงินในระบบเศรษฐกิจ กราจะพบว่าเงินที่ใช้อยู่ทุกวันนี้มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและแนบแน่นกับแนวคิดเรื่องหนี้
เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น เราจะมาอธิบายผ่านตัวอย่างให้เห็นภาพและลองเปรียบเทียบกัน
  • เงินที่เกิดจากการกู้ยืม
ลองคิดว่าคุณต้องการซื้อบ้านสักหลัง แต่ไม่มีเงินสดเพียงพอที่จะจ่ายทั้งหมด คุณจึงไปที่ธนาคารและขอกู้เงิน ธนาคารก็อนุมัติเงินกู้ให้คุณ 3 ล้านบาท
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ธนาคารไม่ได้เอาเงินที่มีอยู่จริงๆ มาให้คุณยืม แต่จะสร้าง "ตัวเลข" ขึ้นมาในบัญชีของคุณ เพื่อให้คุณนำไปซื้อบ้านและให้คุณหาเงินมาชำระตามข้อตกลงในสัญญากู้ยืม
บัญชีของคุณจะมีเงินเพิ่มขึ้นมา 3 ล้านบาท แต่ในเวลาเดียวกันคุณก็มี "หนี้" ที่จะต้องชำระคืน 3 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยในอนาคตเช่นกัน
การที่ธนาคารสร้างเงินใหม่นี้ขึ้นมาไม่ใช่เพราะมีเงินสดจริงๆ เก็บอยู่ที่ใด แต่เป็นการสร้าง "หนี้" ระหว่างคุณกับธนาคาร ขณะเดียวกันก็เกิดเงินใหม่ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งแสดงว่าเงินที่คุณได้มานั้นก็เป็นผลมาจากการสร้างหนี้นั่นเอง
  • เงินจากธนาคารกลางและพันธบัตรรัฐบาล
เคยสงสัยมั้ยว่าเงินจำนวนมากมายมหาศาลที่รัฐบาลของทุกประเทศใช้กันอยู่ทุกวันนี้นั้นมาจากไหน แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงเพราะว่าพวกเขาเก็บภาษีได้อย่างเดียว
และนั่นก็คือ อีกรูปแบบหนึ่งของเงินที่เกิดจากหนี้ เมื่อรัฐบาลต้องการเงินเพื่อใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศ เช่น สร้างถนน โรงเรียน โรงพยาบาล หรืออื่นๆ
รัฐบาลจะมีการออกตราสารหนี้อย่างพันธบัตรรัฐบาลหรือเข้าใจง่ายๆ คือ ทำหนังสือสัญญาขึ้นมา แล้วนำหนังสือสัญญานั้นมาขายให้กับนักลงทุน โดยสัญญาว่าจะมีการให้ดอกเบี้ยตามที่กำหนดแก่นักลงทุนในภายภาคหน้า เพื่อจงใจให้นักลงทุนนำเงินที่ตนเองมีมาซื้อพันธบัตรของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้รัฐบาลได้รับเงินจำนวนหนึ่งจากนักลงทุนมาใช้จ่ายนั่นเอง
นอกจากนี้ยังรวมถึงการกู้เงินจากธนาคารกลาง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อธนาคารกลางตกลงให้กู้ ธนาคารกลางเองก็จะไม่ได้นำเงินจริงๆที่พวกเขามีอยู่มาปล่อยกู้ แต่จะพิมพ์หรือกล่าวอีกนัยก็คือ เพิ่มตัวเลขเงินในบัญชีและระบบการเงินขึ้นมาและปล่อยให้กับรัฐบาลเพื่อใช้จ่าย และให้รัฐบาลชำระคืนพร้อมดอกเบี้ยในอนาคตเหมือนกับตัวอย่างแรก
เงินเหล่านี้ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยธนาคารกลางก็เป็นหนี้ที่รัฐบาลต้องชำระคืนในอนาคต หมายความว่าเงินที่ถูกพิมพ์ขึ้นมาเพื่อให้รัฐบาลใช้จ่ายนั้นก็คือหนี้ของรัฐบาลเองนั่นแหละ
  • เปรียบเทียบกับตั๋วสัญญาใช้สินค้าหรือบริการ
ลองนึกถึงสถานการณ์สมมุติที่ใกล้ตัวพวกเรากัน สมมุติว่าคุณมีตั๋วที่สามารถแลกอาหารได้ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง แล้วคุณเอาตั๋วนี้ไปให้กับเพื่อนและบอกว่า "นำไปใช้ซื้ออาหาร" ตั๋วนี้ก็จะเปรียบเหมือนเงิน เพราะมันสามารถใช้แลกสินค้าได้
แต่ถ้าเรามองลึกลงไปตั๋วนี้ก็คือ คำสัญญาของร้านอาหารที่จะมอบมื้ออาหารให้คุณ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือร้านอาหารเป็นหนี้คุณในรูปแบบของอาหาร
ดังนั้นเงินที่เราถืออยู่ก็มีการทำงานคล้ายกัน มันคือ "คำสัญญาหรือสิทธิในการเรียกร้องมูลค่า" เช่น การซื้อสินค้า บริการ หรือการแลกเปลี่ยนกับสิ่งอื่น ๆ นั่นเอง
เมื่อคุณถือเงิน มันเป็นเหมือนกับการถือสิทธิ์ในหนี้ที่คนอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจเป็นหนี้คุณ พวกเขาสัญญาว่าจะมอบสินค้าและบริการให้เมื่อคุณใช้เงินนั้น
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า โลกของเรานั้นมีกลไกทางการเงินมากมายที่จะทำให้เรามีสิทธิในการเรียกร้องมูลค่า หรือก็คือเงิน โดยที่พวกเราไม่ได้ถือหรือมีเงินเหล่านั้นจริงๆ ด้วยซ้ำ
ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยหากจะมีหลายๆ คนคิดว่าเงินที่มีอยู่ทุกวันนี้มันก็คือหนี้
แล้วเงินในกระเป๋าของเรา คือ หนี้ของใคร?
พออธิบายถึงตรงนี้ หากเราลองมองที่เงินสดในกระเป๋าของเรา เราอาจสงสัยและตั้งคำถามเล่นๆ ว่า "เงินที่ถืออยู่นี้ มันคือหนี้ของใครกัน?"
เงินสดหรือสิ่งที่เทียบเท่ากับเงินสดที่เราถืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นธนบัตรของรัฐบาล คูปองแทนเงินสดต่างๆ รวมถึงตัวเลขในบัญชีหรือระบบธนาคาร
ต่างก็เป็นเหมือนกับการสัญญาหรือข้อตกลงที่คนอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจก็ยอมรับมัน เพื่อนำเงินที่เกิดขึ้นด้วยวิธีเหล่านั้นมาแลกเป็นสินค้าและบริการที่มีมูลค่าจริง
การที่เราสามารถใช้เงินที่เหมือนสร้างมาจากอากาศนี้ได้นั้น "ล้วนเกิดจากความเชื่อมั่นที่ทุกคนมีต่อกันว่ามันมีมูลค่าจริง" ทั้งนั้น แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นเพียงตัวเลขในบัญชีหรือกระดาษคูปองไม่ใช่เงินจริงๆ ก็ตาม
ดังนั้นเงินในในระบบเศรษฐกิจทุกวันนี้จึงเกี่ยวข้องกับการสร้างหนี้ ธนาคารพาณิชย์สร้างเงินผ่านการปล่อยกู้ให้กับลูกค้า ขณะเดียวกันลูกค้าก็มีหนี้ที่ต้องชำระคืน ในขณะที่รัฐบาลเองก็สร้างเงินผ่านหนี้พันธบัตร ซึ่งต้องชำระคืนให้กับผู้ถือพันธบัตรในอนาคต
ซึ่งก็เหมือนกับการเอาเงินในอนาคตมาใช้จ่าย ไม่ใช่เงินสดที่ถืออยู่จริงๆ
บทความนี้จึงอธิบายแบบง่ายๆ ว่าเงินที่เราใช้กันทุกวันนี้เกิดขึ้นจากกระบวนการก่อหนี้เป็นหลัก ทั้งในระดับบุคคล องค์กร หรือรัฐบาล ทุกครั้งที่เกิดการสร้างเงิน มักจะมีการสร้างหนี้ควบคู่ไปด้วย
ดังนั้นเงินที่เราใช้จึงไม่ใช่แค่กระดาษหรือตัวเลขดิจิทัลในบัญชีธนาคาร แต่มันแสดงถึงข้อผูกพันทางเศรษฐกิจที่ระบบการเงินต้องตอบสนองในอนาคตนั่นเอง
หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้หลายคนเข้าใจแนวคิดที่ว่า "เงินคือหนี้" กันมากขึ้น

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา