24 ส.ค. เวลา 04:56 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เบื้องหลังการตัดสินใจคืออะไร ทำไม Fed จึงเลือกที่จะลดดอกเบี้ย

ในการประชุม Jackson Hole เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2024 ที่ผ่านมานี้ในที่สุด เจอโรม พาวเวลล์ (Jerome Powell) ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve) ก็ได้มีการกล่าวว่า “ถึงเวลาแล้ว” ที่ธนาคารกลางจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
โดยระยะเวลาและอัตราการลดดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจที่ได้รับในอนาคต การปรับนโยบายที่อาจเกิดขึ้นนี้เป็นไปตามที่เขาคาดไว้ว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เริ่มลดความร้อนแรงลงได้บ้างแล้ว
ดังนั้นในครั้งนี้เราจะมาชวนคิดวิเคราะห์กันว่า อะไรที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของ Fed ในครั้งนี้กัน
ซึ่งหากเราวิเคราะห์กันโดยปกติแล้ว การที่ตัดสินใจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Fed น่าจะให้ความสำคัญอยู่ 3 สิ่งหลักๆ
1. เงินเฟ้อ
ในการประชุม Jackson Hole ครั้งล่าสุด พาวเวลล์แสดงความมั่นใจมากขึ้นว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังลดลง และจะกลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมที่ 2% ได้ในระยะยาว
การลดลงของเงินเฟ้อนี้เป็นผลมาจากการที่อุปสงค์ในเศรษฐกิจเริ่มลดลง หลังจากที่คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงมาเป็นเวลานาน
เมื่ออุปสงค์หรือก็คือความต้องการสินค้าหรือบริการในระบบเศรษฐกิจลดลง เงินเฟ้อจึงได้เริ่มลดลงตาม
2. ตลาดแรงงาน
ในการประชุม Jackson Hole พาวเวลล์ได้ระบุว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในปัจจุบันไม่ได้กดดันให้เกิดเงินเฟ้อสูงอีกต่อไป เนื่องจากความต้องการสินค้าหรือบริการมีน้อยลง บริษัทหรือองค์กรต่างๆจึงไม่มีความจำเป็นจะต้องจ้างคนมาทำงานเพิ่ม
อย่างไรก็ดี เขายังได้กล่าวประมาณว่า Fed ไม่ได้ต้องการที่จะเห็นการชะลอตัวของตลาดแรงงานที่มากเกินไป เพราะการที่ตลาดแรงงานชะลอมากเกินไป นั่นอาจหมายความว่า เศรษฐกิจอาจกำลังเข้าสู่ภาวะถอถอย ซึ่ง Fed ไม่ได้ต้องการให้มันเกิดขึ้น
Fed จึงอาจจำเป็นที่จะต้องพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงบ้าง เพื่อการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว
3. ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ
อย่างที่เราทราบกันดีว่าในสองสามปีที่ผ่านมานี้ สหรัฐฯ และทั่วโลกเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความร้อนแรงของอุปสงค์ในเศรษฐกิจหลังจากการระบาด Covid-19, สงคราม, ราคาพลังงาน และอีกมากมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ
แต่ปัจจุบันปัจจัยเหล่านั้นได้เบาบางลงและเริ่มกลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทำให้ Fed ต้องมีความระมัดระวังในการดำเนินนโยบายการเงิน จึงอาจต้องพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง
ซึ่งจากทั้งสามปัจจัยที่กล่าวมานี้ คำถามคือ Fed กำลังกลัวอะไรถึงต้องพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง?
แน่นอนว่าคำตอบอาจจะเป็นเพราะว่า Fed กำลังกลัวว่าหากไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง อาจทำให้เสถียรภาพของเศรษฐกิจย่ำแย่ และนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถอถอยหรือ Recession ได้
แต่ถ้าหากภาวะเศรษฐกิจถอถอยไม่ใช่สิ่งเดียวที่ Fed กลัวล่ะ
1
ทำไมถึงคิดแบบนั้น?
นั่นก็เพราะว่า ณ ปัจจุบัน เศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาจจะกำลังเกิดสิ่งที่เรียกว่า Fiscal Dominance หรือการครอบงำทางการคลังนั่นเอง
2
ทีนี้เรามาทำความเข้าใจกับคำว่า การครอบงำทางการคลังกันว่าสิ่งนี้คืออะไร
Fiscal Dominance หรือการครอบงำทางการคลัง นั้นหมายถึงสถานการณ์ที่นโยบายการเงิน (เช่น นโยบายของธนาคารกลาง) ถูกบีบให้ตอบสนองต่อความต้องการของนโยบายการคลัง (เช่น การใช้จ่ายของรัฐบาล) มากกว่าที่จะมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายเดิมอย่างการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เช่น ควบคุมอัตราเงินเฟ้อ
แล้วเศรษฐกิจแบบใดที่มักจะเกิดสถานการณ์เรียกว่า การครอบงำทางการคลังนี้กัน?
ตามที่ได้อธิบายก่อนหน้านี้ไปว่า เป็นสถานการณ์ที่นโยบายการเงิน "ถูกบีบ" ให้ตอบสนองต่อความต้องการของนโยบายการคลัง โดยความต้องการของนโยบายการคลัง ก็คือ การใช้จ่ายและภาระหนี้ของทางภาครัฐนั่นเอง
การใช้จ่ายเกินดุลของภาครัฐหรือหนี้สาธารณะที่สูง อาจสร้างแรงกดดันให้ธนาคารกลางต้องคงอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำ เพื่อช่วยภาครัฐในการชำระหนี้หรือจัดหาทุนด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาลมาขายนักลงทุน
ซึ่งหากดอกเบี้ยนโยบายสูงภาระหนี้ของภาครัฐก็จะสูงด้วยเช่นกัน อีกทั้งหากรัฐบาลมีการออกพันธบัตรมาขายนักลงทุนในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายสูง ก็จะทำให้รัฐบาลมีภาระผูกพันทางการเงินมากกว่าปกติ เนื่องด้วยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) นั้นก็อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง
ที่มา pgpf.org
จากแผนภูมิข้อมูลที่แสดงนี้จะเห็นได้ว่า 10 เดือนย้อนหลัง รัฐบาลสหรัฐฯ มีการใช้จ่ายที่เกินกว่ารายได้แทบจะทุกเดือน และเพื่อที่จะชดเชยการขาดดุลในส่วนนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ต้องออกพันธบัตรรัฐบาลมาขายนักลงทุนเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายนั่นเอง
หรือหากเราย้อนกลับไปหลายปีก็จะเห็นว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้มีการออกพันธบัตรรัฐบาลมาขายเพื่อที่จะชดเชยการขาดดุลดังกล่าวมาตลอด
ที่มา The Wall Street Journal
เพียงแต่ว่าหลังๆ มานี้พวกเขามีการใช้จ่ายที่สูงขึ้นและสูงขึ้นอย่างมาก จนอาจทำให้เกิดการครอบงำทางการคลังขึ้นได้ หรือก็คือ การกระทำของรัฐบาลนั้นเริ่มมีนัยกับระบบเศรษฐกิจมากกว่าธนาคารกลาง
ที่มา fred.stlouisfed.org
อีกทั้งรัฐบาลยังมีการขาดดุลสะสมปีงบประมาณ 2023 (ถึงกรกฎาคม 2023) 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในปี 2024 นี้ รัฐบาลจะขาดดุลสะสมปีงบประมาณอยู่ที่ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ที่มา pgpf.org
ซึ่งถ้าหากธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงบ้างเลย แน่นอนว่าทั้งภาระหนี้และภาระผูกพันทางการเงินที่จะเกิดขึ้นจากการออกพันธบัตรเพื่อชดเชยการขาดดุลของรัฐบาลจะสูงขึ้นอย่างมากอย่างแน่นอน
สำหรับสหรัฐฯ ณ ขณะนี้อาจจะยังไม่ชัดเจนมากนักว่าพวกเขากำลังเผชิญกับสถานการณ์ Fiscal Dominance แบบเต็มตัวหรือไม่
แต่อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นและการขยายตัวของการใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯ มีการพูดถึงมากขึ้นในแวดวงการเงินและเศรษฐศาสตร์ ซึ่งบางคนอาจมองว่านโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจถูกจำกัดจากภาระหนี้ของภาครัฐนี้
หรือให้เข้าใจง่ายก็คือ ธนาคารกลางอาจถูกบังคับให้ดำเนินนโยบายเพื่อความอยู่รอดของรัฐบาล เพื่อให้ไม่เกิดปัญหามากมายตามมานั่นเอง
ดังนั้นสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจที่จะลดดอกเบี้ยครั้งนี้ของ Fed อาจไม่ได้มีเพียงแค่ปัญหาด้านเศรษฐกิจอย่างภาวะถดถอยหรือเงินเฟ้อ แต่ยังเพื่อที่จะไม่ให้รัฐบาลของสหรัฐฯ มีภาระผูกพันทางการเงินในอนาคตมากเกินไป
รวมถึงการขาดสภาพคล่องทางการเงินหรือผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทั้งรัฐบาลและธนาคารกลางของสหรัฐฯ จะไม่มีวันยอมให้มันเกิดขึ้น เพราะหากเกิดขึ้นสิ่งที่เลวร้ายกว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจจะตามมาได้นั่นเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา