7 ส.ค. เวลา 03:49 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ทำไม Carry Trade ถึงเป็นปัจจัย Black Monday ที่ผ่านมา

เมื่อเร็วๆนี้ได้เกิดเหตุการณ์ที่นักลงทุนเรียกกันว่า Black Monday โดยคำนี้เป็นคำที่นักลงทุนมักใช้เรียกกัน ตอนที่เกิดการร่วงลงของตลาดหุ้นอย่างรุนแรงในวันจันทร์ที่มีการเปิดตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งสิ่งนี้มันก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้งในวันจันทร์ที่ผ่านมานี้เอง
โดยเหตุการณ์นี้ได้เริ่มต้นหลังจากมีการรายงานตัวเลขการจ้างงานของเดือนกรกฎาคมที่อ่อนแอกว่าที่คาดไว้ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)
รายงานดังกล่าวทำให้นักลงทุนเริ่มมีความหวาดกลัวต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ซึ่งอาจกำลังใกล้เข้ามาจึงส่งผลให้เกิดการเทขายในตลาดหุ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ไม่ใช่ปัจจัยเพียงอย่างเดียวที่ทำให้เกิด Black Monday เพราะยังมีอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เราจะมาบอกเล่ากันในครั้งนี้ ซึ่งนั่นก็คือ "Carry Trade" นั่นเอง
แต่ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับ Carry Trade กันก่อน...
Carry Trade เป็นกลยุทธ์การลงทุนที่นักลงทุนยืมเงินในสกุลเงินหนึ่งที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ แล้วนำเงินที่ยืมมานั้นไปลงทุนในสกุลเงินอื่นที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า เพื่อทำกำไรจากความต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของสองที่
สมมติว่าอัตราดอกเบี้ยในญี่ปุ่นอยู่ที่ 0.1% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยในออสเตรเลียอยู่ที่ 3% ต่อปี
นักลงทุนที่ใช้กลยุทธ์นี้ อาจจะกู้เงินเยน 100 ล้านเยน ในอัตราดอกเบี้ยที่ 0.1% ต่อปี เพื่อนำมาแลกเป็นดอลลาร์ออสเตรเลีย จากนั้นจึงนำเงินดอลลาร์ออสเตรเลียไปฝากที่ธนาคารในออสเตรเลียที่ให้อัตราผลตอบแทนดอกเบี้ย 3% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่น ทำให้พวกเขาสามารถทำกำไรจากความต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยได้
รู้จักคำว่า Carry Trade กันไปแล้วทีนี้มาต่อกันที่ว่า ทำไม Carry Trade ถึงเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิด Black Monday ครั้งที่ผ่านมาเร็วนี้...
หลังจากการายงานตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนหลายคนคิดว่า Fed อาจมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต เนื่องด้วยพวกเขาอาจกำลังจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับที่สูงอาจไม่ใช่เรื่องดี
แนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี ลดลงมาต่ำกว่าระดับ 4% เนื่องด้วยนักลงทุนมองว่า Fed อาจจะลดอัตราดอกเบี้ยเร็วๆนี้
ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (ฺBOJ) ได้มีการจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปที่ 0.25% จากระดับ 0.1% เป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี
ทำให้ในขณะที่สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทางญี่ปุ่นนั้นก็ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสวนทางกับของสหรัฐฯ
แล้วสิ่งนี้ทำให้เกิดอะไรขึ้น...
ตามปกติแล้วการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นมักจะทำให้ค่าเงินของประเทศนั้นๆ แข็งค่าขึ้น ซึ่งหากพวกเขาทำการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในขณะที่สกุลเงินหลักของโลกอย่างดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลง นั่นก็จะยิ่งทำให้สกุลเงินของประเทศที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นแข็งค่าขึ้นไปอีก รวมถึงทำให้ต้นทุนทางการเงินของประเทศที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นด้วย
แล้ว Carry Trade มาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ Black Monday ได้อย่างไร?
อย่างที่นักลงทุนหลายคนทราบว่า สกุลเงินเยนของญี่ปุ่นนั้นได้มีการใช้ในการทำ Carry Trade มาอย่างยาวนาน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของญี่ปุ่นนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำมากมาโดยตลอด ทำให้นักลงทุนนิยมกู้ยืมเงินในรูปแบบสกุลเงินเยนมาทำกลยุทธ์ Carry Trade
และอย่างที่ได้กล่าวไว้ว่า Carry Trade ก็คือ การกู้ยืมเงินจากที่ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำซึ่งมีต้นทุนทางการเงินที่ถูก แล้วนำเงินนั้นไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสูงกว่าต้นทุนที่กู้ยืมมา ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการลงทุนแบบใดทุกอย่างก็ย่อมมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ หุ้นสามัญ หรือสินทรัพย์อื่นๆ
หากที่ที่นำเงินนั้นไปลงทุนมีความเสี่ยงหรือมีความผันผวนเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงของกลยุทธ์ Carry Trade ก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้นการที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าของสกุลเงินเยนที่นิยมใช้ทำ Carry Trade มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น พร้อมๆกับสหรัฐฯ ที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการลงทุนและเป็นเจ้าของสกุลเงินหลักอย่างดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงแถมยังเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ความเสี่ยงจากด้านค่าเงินและการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นจากสภาวะที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ทำให้มีการยุติการทำ Carry Trade เพื่อปิดประตูความเสี่ยงของนักลงทุนบางส่วนที่ลงทุนในตลาดสหรัฐฯ และในอีกหลายตลาดทั่วโลก
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ทำให้ Carry Trade กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ Black Monday เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานั่นเอง
อย่างไรก็ดี ทั้งตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ หรือ Carry Trade ก็เป็นเพียงหนึ่งปัจจัยในอีกหลายๆปัจจัยที่ส่งผลต่อตลาดสินทรัพย์เท่านั้น เพื่อนๆ หรือนักลงทุนที่สนใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยละเอียดได้ด้วยตนเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา