30 ก.ค. เวลา 23:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เงินเฟ้อของสหรัฐฯ อาจคัมแบ็ก โครงสร้างพลังงานกำลังอ่อนแอ

อนาคตโลกของเรากำลังจะเข้าสู่ยุคพลังงานสะอาด ในแวดวงการลงทุนเราได้เห็นภาพการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมากมาย ไม่ว่าจะจากภาครัฐทั่วโลกหรือเอกชนและการพยายามผลักดันด้วยกฏระเบียบต่างๆ ให้ทุกคนเข้าสู่ยุตพลังงานสะอาด
แต่สิ่งเหล่านั้นจำเป็นต้องใช้เวลายาวนานพอสมควรเพื่อให้ต้นทุนของพลังงานสะอาดลดลงจนสามารถเข้าถึงได้ในวงกว้าง และเปลี่ยนถ่ายไปยังยุคพลังงานสะอาด ดังนั้นปัจจุบันโลกของเราจึงยังจำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานแบบดั้งเดิมอยู่
ซึ่งนั้นคือประเด็นที่เราจะมานำเสนอกันในครั้งนี้
โดย ณ ขณะนี้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะได้มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่จุดสูงสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2022 และได้ทรงตัวอยู่ที่ราว 3.00% - 3.50% ในปีนี้
ซึ่งแนวโน้มการลดลงดังกล่าวให้ผลเชิงบวกต่อตลาดการเงิน อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้ทาง Fed สาขานิวยอร์ก ยังได้มีการรายงานผลสำรวจว่า คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของผู้บริโภคลดลงเหลือ 3% ในเดือนมิถุนายน ปี 2024 ซึ่งลดลงเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน
สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคมองว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศพวกเขาจะชะลอตัวลง จนท้ายที่สุดอาจนำมาซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ซึ่งก็ให้ผลในแง่บวกต่อตลาดการเงินรวมถึงตลาดหุ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นี้อาจจะเป็นเพียงภาพลวงตาที่เกิดขึ้นในระยะสั้น เพราะหากเรามองภาพให้กว้างและมองในระยะเวลาที่ยาวมากขึ้น เราจะพบว่าสหรัฐฯ ยังคงต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนด้านเงินเฟ้อนี้ต่อไป
โดยหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดสิ่งนั้นขึ้น นั่นก็คือ "ราคาพลังงาน"
ตลอดประวัติศาสตร์การเงินการลงทุนที่ผ่านมานั้นราคาพลังงานเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นอยู่เสมอในทุกๆ วิกฤตเศรษฐกิจ
สหรัฐฯ ซึ่งได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่บริโภคพลังงานเป็นอันดับต้นของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานในรูปแบบน้ำมันดิบ ซึ่งสาเหตุหลักก็มาจากการที่พวกเขาสามารถผลิตน้ำมันดิบใช้เองได้มากขึ้น
ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในประเทศจีนและอินเดีย ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นนี้เป็นแรงจูงใจให้มีการลงทุนในเทคโนโลยีการขุดเจาะน้ำมันและการสำรวจแหล่งน้ำมันใหม่ๆ
สหรัฐฯ เองก็ทำแบบนั้นด้วยเช่นกัน โดยในช่วงหลังจากวิกฤต Subprime ในปี 2008 วิกฤตดังกล่าวนี้นำมาซึ่งนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลให้ต้นทุนทางการเงินในการขุดเจาะน้ำมันนั้นถูกลง
  • แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ
โดยจากแผนภูมิเราจะสังเกตได้ว่าหลังวิกฤต Subprime จบลงแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ นั้นได้มีการเพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งสอดคล้องไปกับการบริโภคน้ำมันดิบในสหรัฐฯ
  • การบริโภคน้ำมันดิบในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2014-2016 นั้นได้เกิดการร่วงลงของราคาน้ำมันดิบอย่างรุนแรง เนื่องจากอุปทานที่ล้นตลาดจากการผลิตที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ รวมกับการที่ OPEC ในขณะนั้นไม่ได้มีลดการผลิตลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิ่งลง ทำให้บริษัทผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ต้องลดจำนวนแท่นขุดเจาะลง เพื่อลดภาระของบริษัท
  • ราคาน้ำมันดิบ
แต่เคราะห์ซ้ํากรรมซัดด้วยการระบาดของ COVID-19 ทำให้ความต้องการน้ำมันดิบลดลงอย่างมากในชั่วขณะหนึ่ง เนื่องจากการล็อกดาวน์และการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้บริษัทผู้ผลิตน้ำมันดิบต้องลดการผลิตและปิดแท่นขุดเจาะลงอีกครั้ง
และจากแผนภูมิทั้งสามก่อนหน้านี้ จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่จุดพีคในปี 2014 จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีการลดลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสวนทางกับการบริโภคน้ำมันดิบของพวกเขาที่ยังคงแข็งแรงอยู่
อีกทั้งด้วยเทรนพลังงานสะอาด ทำให้มีการลงทุนใหม่ๆในอุตสาหกรรมน้ำมันดิบน้อยลง ซึ่งก็หมายความว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของสหรัฐฯ ณ ขณะนี้ กําลังอ่อนแอลงสวนทางกับความต้องการของพวกเขาที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ แถมการลงทุนขุดเจาะน้ำมันดิบยังลดน้อยลงอีก
หากเป็นแบบนี้ต่อไปเป็นไปได้ว่าในอนาค อาจทำให้ราคาพลังงานในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น และอย่างที่เราทราบกันดีว่าราคาพลังงานนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ค่อยผลักดันอัตราเงินเฟ้อมาตลอด หากราคาพลังงานในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น เราอาจได้เห็นการกลับมาของเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อีกครั้งก็ได้นั่นเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา