วันนี้ เวลา 01:00 • ประวัติศาสตร์

“บั๊ญก๊วน” เรื่องราวของปากหม้อญวนจากแดนอันนัม

เมื่อสัปดาห์ก่อน แอดมินเพจเพื่อนบ้าน (อีกแล้ว) ได้แวะไปงานฉลองครบรอบ 350 ปีวัดคอนเซ็ปชัญที่ชุมชนบ้านเขมรด้วยความหวังว่างานนี้แหละต้องได้กินขนมจีนแกงไก่คั่ว (ซึ่งก็ไม่ได้กิน) ซึ่งหลังจากที่เสร็จมิสซาและพิธีแห่แม่พระเสร็จสิ้น ก็ได้มีการแจกอาหารให้แก่ผู้เข้าร่วมงานได้กินกัน
ด้วยความที่นอกจากจะอยู่คู่กับชุมชนบ้านเขมรแล้ว ก็ยังคงอยู่ใกล้กับชุมชนบ้านญวนด้วย ทำให้อาหารสำรับข้างญวนเองก็เป็นอีกหนึ่งอาหารที่ถูกนำมาใช้เลี้ยงในงานวันนี้ ซึ่งก็มีหลายอย่าง ทั้งก๋วยจั๊บญวน ไปจนถึง “ปากหม้อญวน” หรือบั๊ญก๊วนนี้นี่เอง
ในวัฒนธรรมไทยเราอาจจะรู้สึกคุ้นตากันกับข้าวเกรียบปากหม้อ ซึ่งเป็นอาหารอย่างไทยที่สันนิษฐานกันว่าน่าจะได้รับอิทธิพลกันมาจากปากหม้อญวนนี้เอง โดยปากหม้อญวนที่คนไทยเราเรียกกันนี้มีชื่อในภาษาต้นทางว่าบั๊ญก๊วน (บ้างก็สะกดบั๊นก๊วน)
ซึ่งปรากฏหลักฐานการมีอยู่มาตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 13 ผ่านบันทึกของนักประวัติศาสตร์ชาวเวียดนามยุคราชวงศ์เจิ่นอย่าง เล ตั้ก ซึ่งได้กล่าวถึงการมอบบั้นก๊วนให้กันในงาน เต็ด ห่าน ทึ่ก ที่จัดขึ้นในวันที่ 3 เดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติ ก่อนที่ปากหม้อญวนจะเดินทางเข้าสู่ในไทยภายหลัง ในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกันกับสำรับญวนอื่น ๆ อย่างขนมเบื้องญวน เป็นต้น
หน้าตาและกลวิธีการทำปากหม้อญวนกับนับว่าคล้ายกันกับข้าวเกรียบปากหม้อที่พบในไทย โดยเป็นการเทแป้งบาง ๆ แล้วนึ่งให้สุก กลายเป็นแผ่นเหมือนผืนผ้าแล้วใส่ไส้พวกหมูบดปรุงสุก เห็ดหูหนู ต้นหอม แล้วห่อให้ปิด เวลาเสิร์ฟก็จะมีเครื่องเคียงอย่างหมูยอ, ถั่วงอก เป็นต้นมากินเคียงกัน บางทีก็มีการโรยหอมเจียวด้วย จิ้มกินคู่กับน้ำจิ้มที่เรียกกันว่า เนื้อกเจิ๊ม
บั๊นก๊วน ค่อนข้างเป็นอาหารที่มีความแตกต่างไปในหลากหลายพื้นที่ ในหลายเมืองก็จะมีรูปลักษณ์หรือส่วนผสมบางอย่างที่ต่างกันออกไป เช่นที่ฮานอยจะใส่ทั้งเห็ดหอมและเห็ดหูหนูเป็นต้น อย่างไรก็ดี พอปากหม้อญวนเดินทางมาถึงไทยพร้อม ๆ กับชาวญวนพลัดถิ่น ปากหม้อญวนก็ได้ผสมผสานและหลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมในท้องถิ่น กลายเป็นอาหารที่แพร่หลายและไม่ได้จำเพาะเจาะจงอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกต่อไป
#จานโปรด #ปากหม้อญวน #เวียดนาม
โฆษณา