27 ธ.ค. 2024 เวลา 11:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

“อิมพีเรียล” VS “อาร์เซนอล” คุกกี้กล่องแดงในตำนาน ของขวัญปีใหม่ยอดนิยม

เปิดประวัติสองแบรนด์ “คุกกี้กล่องแดง” ที่อยู่คู่คนไทยมาหลายสิบปี ในฐานะของขวัญและของจับฉลากยอดนิยม
ช่วงปีใหม่ หนึ่งในของขวัญระดับคลาสสิกที่หลายคนมักได้เป็นของขวัญหรือจับฉลากได้คือ “คุกกี้กล่องแดง” ไอเทมระดับตำนานในความทรงจำคนไทย ที่ภาพจำแทบไม่ต่างอะไรจากการไปร้านอาหารตามสั่งแล้วสั่งข้าวกะเพราไข่ดาวเลยทีเดียว
ชื่ออย่างเป็นทางการของคุกกี้กล่องแดงที่เราเรียกกันติดปากนี้คือ “บัตเตอร์คุกกี้” หรือ “คุกกี้สไตล์เดนมาร์ก” ซึ่งในประเทศไทยมีอยู่ 2 แบรนด์ที่เป็นที่จดจำไม่รู้ลืม นั่นคือ “อิมพีเรียล” (Imperial) และ “อาร์เซนอล” (Arsenal)
“อิมพีเรียล” และ “อาร์เซนอล” คุกกี้กล่องแดงที่อยู่คู่คนไทยมาหลายสิบปี
หลายคนอาจจำสับสนระหว่างคุกกี้กล่องแดงสองเจ้านี้ แต่เรื่องราวและรายละเอียดบางอย่างของพวกเขามีความแตกต่างกัน และมีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมายบรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์อันเป็นเอกลักษณ์นี้
แต่ทราบก่อนจะเจาะลึกคุกกี้กล่องแดงของบ้านเรา ไปทำความรู้จัก “คุกกี้กล่องน้ำเงิน” ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ที่เดนมาร์ก และเป็นต้นตำรับของคุกกี้สไตล์เดนมาร์กกันก่อน
ต้นตำรับคุกกี้กล่องน้ำเงิน
จุดกำเนิดของคุกกี้สไตล์เดนมาร์กเกิดจากการพบรักกันระหว่าง “มารินุส เคลด์เซน” (Marinus Kjeldsen) ช่างไม้ และแอนนา มุลเลอร์ (Anna Moller) ลูกสาวของช่างทำขนมปังฝีมือเยี่ยม
มารินุสได้เข้ามาช่วยกิจการร้านขนมปังของพ่อตา พร้อมกันนั้นตัวเขาและภรรยาต่างมีความหลงใหลในการทำคุกกี้ จึงพยายามพัฒนาสูตรการทำคุกกี้สูตรใหม่ ๆ ที่จะโดนใจชาวเมือง จนเริ่มอบบัตเตอร์คุกกี้ตามสูตรดั้งเดิมของเดนมาร์กจากเนย
พวกเขาได้เริ่มต้นเบเกอรีเล็ก ๆ ในเมืองเนอร์สนีด (Norre Snede) ของประเทศเดนมาร์ก โดยเริ่มแรกเป็นคุกกี้ที่ได้รับความนิยมทั่วหมู่บ้านก่อน ก่อนชื่อเสียงจะค่อย ๆ เลื่องลือไปยังเมืองข้างเคียงและเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศในที่สุด
นั่นทำให้ในปี 1933 สองสามีภรรยาเคลด์เซนได้ตัดสินใจเปิดบริษัท Kjeldsen & Co Home Bakery และตั้งชื่อแบรนด์บัตเตอร์คุกกี้อย่างเป็นทางการว่า เคลด์เซน (Kjeldsen) ตามนามสกุลของพวกเขา
ต่อมาบัตเตอร์คุกกี้ Kjeldsens ถูกส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในทศวรรษ 1950 และธุรกิจในต่างประเทศก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนในปี 1963 ผู้บริโภคในจีนและฮ่องกงได้รู้จักคุกกี้สไตล์เดนมาร์กเป็นครั้งแรก
มารินุส และแอนนา เคลด์เซน ผู้ให้กำเนิดบัตเตอร์คุกกี้สไตล์เดนมาร์ก
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน บัตเตอร์คุกกี้ “Royal Dansk” ถือกำเนิดขึ้นที่หมู่บ้านเฮลซิงเกอร์ของเดนมาร์กในปี 1966 โดยมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือ บรรจุอยู่ใน “กล่องเหล็กสีน้ำเงิน” เนื่องจากผู้ผลิตต้องการรักษาความสดใหม่และความหอมอร่อยของคุกกี้เอาไว้ในกล่องที่ปิดได้สนิท และแข็งแรง
โดยฝากล่องใช้รูปฟาร์มเก่าแก่ของเดนมาร์กที่ชื่อ “เยมสตาวน์สการ์ด” (Hjemstavnsgaard) บนเกาะฟูเนน
นอกจากนี้ ภายในกล่องยังมีการใส่กระดาษห่อคุกกี้ไว้เพื่อป้องกันไม่ให้คุกกี้ได้รับความเสียหายหรือแตกหักเวลาขนส่ง
ในไม่ช้าแบรนด์ Royal Dansk กลายเป็นที่รู้จักในชื่อ “คุกกี้กล่องน้ำเงิน”
คุกกี้เดนมาร์กของ Royal Dansk มีรูปร่างที่แตกต่างกัน 5 แบบ ประกอบด้วย เพรตเซล (Pretzel), วานิลลาริง (Vanilla Ring), ฟินแลนด์ (Finland), คันทรี (Country) และมะพร้าว (Coconut)
ต่อมาในปี 1970 ผู้ก่อตั้งได้ขาย Kjeldsen & Co. ให้กับผู้ถือหุ้นภายนอก และควบรวมกิจการกับ Royal Dansk ในปี 1990 เกิดเป็นบริษัท “Kelsen” ผู้ผลิตคุกกี้รายใหญ่ของโลก
เครื่องการันตีคุณภาพและความอร่อยของ Kjeldsen และ Royal Dansk คือ ในปี 2009 คุกกี้ของพวกเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นซัพพลายเออร์ของราชสำนักเดนมาร์ก โดยได้รับพระราชทานตราตั้ง และมีสิทธิสามารถโฆษณาด้วยคำว่า “ได้รับการรับรองจากราชสำนักเดนมาร์ก” ได้
หลังถูกเปลี่ยนมือมาหลายครั้ง ปัจจุบันบริษัท Kelsen อยู่ภายใต้ Ferrero ผู้ผลิตขนมหวานรายใหญ่ของโลก โดยคุกกี้ Royal Dansk ยังคงมีฐานการผลิตอยู่แค่ในประเทศเดนมาร์ก อบคุกกี้ได้มากกว่า 25,000 ตันทุกปี และส่งออกคุกกี้เดนมาร์กไปยังตลาดกว่า 70 ประเทศทั่วโลก
Royal Dansk หรือ “คุกกี้กล่องน้ำเงิน”
กำเนิด “อิมพีเรียล”
คุกกี้เดนมาร์กตราอิมพีเรียลนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KCG หรือเดิมคือห้างหุ้นส่วนจำกัด กิมจั๊วพาณิชย์ ซึ่งก่อตั้งโดย คุณตง ธีระนุสรณ์กิจ ในปี 1958 เริ่มจากการดำเนินธุรกิจนำเข้าและเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าประเภทอาหารสำเร็จรูปจากต่างประเทศ
หจก.กิมจั๊วพาณิชย์ ตั้งโรงงานแห่งแรกก่อตั้งขึ้นบนถนนบางนา-ตราดในปี 1972 ภายใต้ชื่อ บริษัท ยูไนเต็ด แดรี่ ฟูดส์ จํากัด และขยายสายการพลิตให้ครอบคลุมทั้งอาหาร นม และขนมสําเร็จรูปต่าง ๆ อาทิ คุกกี้ แยมพลไม้ เยลลี่ อาหารสําเร็จรูป ฯลฯ
หนึ่งในสินค้าที่ หจก.กิมจั๊วพาณิชย์ นำเข้ามาในไทยคือคุกกี้เดนมาร์ก ซึ่งคุณตงได้มีโอกาสชิมขณะเดินทางปศึกษาดูงานที่เดนมาร์ก และมองว่า มีโอกาสเติบโตอย่างมากในไทย
เมื่อนำเข้ามา คุกกี้เดนมาร์กได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการที่สังคมไทยรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกในการให้คุกกี้เป็นของขวัญในช่วงเทศกาลสำคัญ โดยเฉพาะปีใหม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องเผชิญกับต้นทุนและปัญหาการขนส่งที่น่าปวดหัว คุณตงจึงได้เปลี่ยนแนวคิด หาลู่ทางซื้อลิขสิทธิ์การผลิตคุกกี้เดนมาร์กมาผลิตประเทศไทยแทน เกิดเป็น “อีมพีเรียล” ในปี 1985 นั่นเอง
อิมพีเรียลนั้นยังคงไว้ซึ่งรสชาติและหน้าตาของคุกกี้เดนมาร์ก รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่ยังคงเป็นกล่องที่ปิดได้สนิท ทำจากเหล็ก และมีกระดาษห่อกันกระแทก แต่มีความต่างตรงที่อิมพีเรียลเลือกใช้กล่องสีแดง และฝากล่องรูปทหารเดนมาร์กหน้าพระราชวังอมาเลียนบอร์ก (Amalienborg Palace) ซึ่งเป็นที่ประทับของราชวงศ์เดนมาร์ก
คาดว่าที่อิมพีเรียลใช้รูปฝากล่องเป็นพระราชวังดังกล่าวเพื่อสื่อว่าแบรนด์ยังคงไว้ซึ่งคุณภาพความเป็นคุกกี้เดนมาร์กไม่ต่างจากต้นตำรับ
ปัจจุบัน KCG เป็นผู้ผลิตสินค้าในกลุ่มอาหารหลายอย่าง ทั้ง แดรี่โกลด์ สินค้าประเภทเนยและชีส, อิมพีเรียล สินค้าประเภทนมเนย และบิสกิต, อลาวรี่ ประกอบไปด้วยสินค้าประเภทเนย ชีสและสเปรด, ซันควิก สินค้าประเภทน้ำผลไม้เข้มข้น ไปจนถึงอุปกรณ์สำหรับทำขนม
ด้วยฐานะหนึ่งในผู้เล่นเบอร์ใหญ่ของอุตสาหกรรมอาหารและขนม ทำให้ในปี 2023 ที่ผ่านมา KCG มีรายได้สูงถึง 7.12 พันล้านบาท โตขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 15.5% จาก 6.16 พันล้านบาท รวมถึงกำไรอยู่ที่ 305.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 22.6%
คุกกี้เดนมาร์กมีรูปร่างที่แตกต่างกัน 5 แบบ
กำเนิด “อาร์เซนอล”
ขณะที่บัตเตอร์คุกกี้ตราอาร์เซนอลนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท สยามร่วมมิตร จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตขนมขบเคี้ยวและขนมกรุบกรอบรายใหญ่ของประเทศ ก่อตั้งขึ้นในปี 1976 สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ ถนนประมวล สีลม และโรงงานตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางชัน
ไม่ชัดเจนว่าบริษัทเริ่มมีการผลิตคุกกี้ตราอาร์เซนอลตั้งแต่เมื่อใด แต่หลายคนคาดกันว่าเกิดหลังอิมพีเรียล โดยทางสยามร่วมมิตรคงเห็นโอกาสเช่นเดียวกับ KCG ว่า คุกกี้เดนมาร์กเป็นสินค้าที่มีโฮกาสเติบโตสูงมากในไทย จึงพัฒนาคุกกี้เดนมาร์กของตัวเองขึ้นมาเช่นกัน
คุกกี้อาร์เซนอลเลือกใช้บรรจุภัณฑ์เป็นกล่องเหล็กสีแดง แต่ใช้รูปฝากล่องเป็นทหารอังกฤษหน้าหอนาฬิกาบิ๊กเบนแทน
นอกจากอาร์เซนอลแล้ว สยามร่วมมิตรยังเป็นผู้ผลิตขนมขบเคี้ยวชื่อดังหลายยี่ห้อที่เรารู้จักดี ไม่ว่าจะเป็น ข้าวเกรียบกุ้งตราฮานามิ, ข้าวเกรียบกุ้งตรารวยเพื่อน, ขนมขึ้นรูปจากข้าวโพดตราคอร์นพัฟฟ์ และขนมถั่วลันเตาอบกรอบตราสแน็คแจ๊ค
สยามร่วมมิตรเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นสำคัญในตลาดขนม โดยในปี 2023 บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 2.14 พันล้านบาท โตขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 3.3% จาก 2.07 พันล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิคือ 125.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.1%
“อิมพีเรียล” และ “อาร์เซนอล” คุกกี้กล่องแดงในตำนาน
ทำไมต้องสีแดง?
ข้อสงสัยหนึ่งที่ผู้บริโภคอยากทราบคือ ทำไมทั้งที่ต้นตำรับบัตเตอร์คุกกี้เดนมาร์กเป้นกล่องสีน้ำเงิน แต่เมื่อเป็นแบรนด์ไทยแล้วถึงเลือกใช้สีแดง หลายคนอาจมองง่าย ๆ เพียงว่าทั้งสองแบรนด์ต้องการแตกต่างจากต้นตำรับ และไม่อยากถูกมองว่าเป็นแบรนด์ที่ก๊อบปี้เขามา
แต่แนวคิดเรื่องการเลือกใช้สีแดงนี้มีความลึกซึ้งกว่านั้น
มีการวิเคราะห์กันว่า สีแดงของกล่องคุกกี้เดนมาร์กอิมพีเรียลและอาร์เซนอลไม่ได้ถูกเลือกมาส่ง ๆ แต่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมของ “จีน”
เราต่างทราบกันดีว่า สังคมไทยได้รับอิทธิพลจากจีนมาไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องของความเชื่อที่ว่าสีแดงเป็นสีแห่งความสุข ความสำเร็จ และโชคลาภ มิหนำซ้ำสีแดงยังเป็นสียอดนิยมในช่วงเทศกาลของชาวจีน เช่น ตรุษจีน
เมื่อคุกกี้เดนมาร์กถูกมองว่าเป็นของขวัญที่มักให้กันในช่วงเทศกาลปีใหม่ การใช้สีแดงจึงสามารถสื่อถึงการอวยพร เป็นการบอกว่าการให้คุกกี้กล่องแดงเป็นของขวัญนี้เปรียบเสมือนการอวยพรและมอบความปรารถนาดีให้ผู้รับนั่นเอง
ไม่ใช่แค่คนไทย ทั่วโลกใช้กล่องคุกกี้เก็บอุปกรณ์เย็บผ้า
อีกหนึ่งเกร็ดที่อยากนำมาเล่าในวันนี้เกี่ยวกับคุกกี้เดนมาร์กคือเรื่องของตัวกล่องคุกกี้ที่หลังบริโภคมักถูกนำไปใช้เป็น “กล่องเก็บอุปกรณ์เย็บผ้า” โดยเฉพาะบรรดาแม่ ๆ ทั้งหลาย หรือหากเป็นรุ่นคุณตาคุณยายอาจเห็นพวกท่านเก็บเงินไว้ในกล่องคุกกี้
ซึ่งต้องบอกว่านี่ไม่ใช่พฤติกรรมที่เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั้งโลก!
Gastro Obscura ผู้ผลิตคอนเทนต์เกี่ยวกับการทำอาหาร เคยรวบรวมความเห็นจากแฟน ๆ ทั่วโลกว่า ที่บ้านของพวกเขามีกล่องคุกกี้หรือไม่ และถ้ามี ข้างในนั้นใส่อะไร?
จากเกือบ 250 ความเห็น ตั้งแต่เอลซัลวาดอร์ไปจนถึงแอฟริกาใต้ จากฮานอยในเวียดนาม ไปจนถึงรัฐเพนซิลเวเนีย พวกเขาบอกว่าสิ่งที่อยู๋ในกล่องคุกกี้ไม่เคยเป้นคุกกี้เลย แต่เป็นกล่องเก็บของและความทรงจำต่างหาก
ผู้แสดงความเห็นส่วนใหญ่ หรือประมาณ 100 คน เล่าว่าพวกเขาพบ “อุปกรณ์เย็บผ้า” ในกล่องคุกกี้ของครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดามากจนกลายเป็นหัวข้อสนทนาใน Reddit หรือมีมใน X
พริสกา จากโทรอนโต ประเทศแคนาดา บอกว่า “แม่ของฉันเก็บอุปกรณ์เย็บผ้าไว้ในกล่องคุกกี้ของเธอ ในตอนนั้น ฉันแค่คิดว่ามันแปลกนิดหน่อย แล้ววันหนึ่ง ฉันกำลังทำความสะอาดที่เก็บของของตายายใต้บันได และพบกล่องที่เคยเป็นของแม่ของยาย แล้วข้างในมีอะไรอยู่ร็ไหม? มันคืออุปกรณ์เย็บผ้าจากยุค 1920!”
อีก 71 ความเห็นบอกว่า พบกระดุมในกล่องคุกกี้ ถือเป็นของที่เก็บไว้มากเป็นอันดับ 2 ส่วนใหญ่บพบว่าทั้งกล่องเต็มไปด้วยกระดุม และมีบางส่วนที่พบกระดุมเหล่านี้อยู่ร่วมกับอุปกรณ์การเย็บผ้าอื่น ๆ
จูดิธ ซัมเมอร์ จากเมืองวูสเตอร์ รัฐแมสซาชูเซตส์ บอกว่า “คุณย่าของฉันเก็บกระดุมทุกเม็ดและเก็บไว้ในกล่องคุกกี้ เธอรอดจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อยังเป็นแม่ม่ายสาวที่ต้องเลี้ยงดูลูกชายและพ่อแม่ที่แก่ชราซึ่งต้องการการดูแล ดังนั้น เธอจึงยึดมั่นในหลักการไม่สิ้นเปลือง กระดุมจะถูกตัดออกจากเสื้อผ้าที่เสื่อมสภาพ และเก็บไว้ในกล่องคุกกี้ของเธอตลอดไป”
ส่วนของที่พบรองลงมาจากอุปกรณ์เย็บผ้าและกระดุมมีทั้งคุกกี้ยี่ห้ออื่นหรือคุกกี้ทำเอง กุญแจ รูปภาพ กล้องไม้ ฟันฉลาม อุปกรณ์ศิลปะ คอลเลกชันก้อนหิน แบตเตอรี่ ไพ่ทาโรต์ เครื่องมือแกะสลักฟักทอง ถุงมือ ไม้ขีดไฟ ไพ่ ลูกเต๋า ลวด มีดพก เครื่องราง อัญมณี อุปกรณ์ดูแลผมโบราณ คัมภีร์ไบเบิล ฯลฯ
กระแสการใช้กล่องคุกกี้มาใส่ของอย่างอื่นเริ่มต้นขึ้นได้อย่างไรและเมื่อใดนั้นยังคงเป็นปริศนา แต่ก็มีคำอธิบายที่น่าเชื่อถืออยู่บ้าง นั่นคือในขณะที่ Royal Dansk เริ่มผลิตกระป๋องในช่วงทศวรรษ 1960 พวกเขาไม่ใช่บริษัทแรกที่ทำเช่นนี้ แต่ Huntley and Palmers ซึ่งเป็นผู้ผลิตบิสกิตสัญชาติอังกฤษเป็นผู้ทำกล่องคุกกี้ออกมาก่อน
ด้วยความแข็งแกร่งของบรรจุภัณฑ์ ประกอบกับเมื่อการเดินทางข้ามมหาสมุทรเกิดขึ้นบ่อยขึ้นในศตวรรษที่ 20 ผู้คนต้องการกล่องเก็บของที่แข็งแรงใช้ใส่ของเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างการเดินทาง ผู้คนจึงเริ่มมองว่ากล่องคุกกี้ไม่ใช่ของใช้แล้วทิ้ง แต่เป็นกล่องเก็บของอะไรก็ได้ต่างหาก
ประวัติคุกกี้อิมพีเรียลและคุกกี้อาร์เซนอล
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/trick-trend/239359
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา