13 ม.ค. เวลา 08:15 • ธุรกิจ

Generic Strategies กลยุทธ์สู่ผู้นำตลาดของ Michael

สำหรับธุรกิจแล้วการที่จะอยู่รอดและเติบโตได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ท่ามกลางผู้เล่นที่มีมากมายและตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา การสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันนั้นจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
Michael Porter หลายๆคนอาจเคยได้ยินชื่อของเขาจากทฤษฎีห้าแรงขับเคลื่อน (Five Forces) ซึ่ง Michael เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญและเป็นหนึ่งในนักคิดที่มีอิทธิพลต่อวงการบริหารธุรกิจ
ในครั้งนี้เราจะพามารู้จักและยกตัวอย่างอีกหนึ่งกลยุทธ์สู่ความเป็นผู้นำตลาดแบบฉบับของ Michael ที่ชื่อว่า ''Generic Strategies'' กันแบบให้เข้าใจง่ายๆ
โดยหลักการของกรอบแนวคิด Generic Strategies ของ Michael นั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 แนวคิดหลัก
1. Cost Leadership การเป็นผู้นำด้านต้นทุนต่ำ
หากพูดเรื่องธุรกิจก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าต้นทุนทางธุรกิจนั้นคือ ตัวชี้วัดที่ใหญ่ที่สุดที่จะกำหนดอนาคตของการดำเนินธุรกิจ
Michael ได้กล่าวไว้ว่า หากอยากเป็นผู้นำตลาด การมุ่งเน้นไปที่การลดต้นทุนการผลิตและการดำเนินงาน เพื่อให้สามารถนำเสนอสินค้าหรือบริการในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่ง เป็นสิ่งที่ยังไงคุณก็ต้องทำและแน่นอนว่ายังคงต้องรักษาคุณภาพของสินค้าหรือบริการที่ลูกค้าคาดหวังเอาไว้ด้วย
ตัวอย่าง IKEA ที่รู้จักกันในชื่อบริษัทเฟอร์นิเจอร์สไตล์โมเดิร์นในราคาที่เข้าถึงได้
เชื่อว่าหลายๆคนคงมีโอกาสได้ไปเดินเลือกซื้อหรือใช้งานสินค้าของ IKEA กันมาบ้างไม่มากก็น้อย สิ่งหนึ่งที่เราจะรู้สึกได้เลยเวลาลองใช้งานสินค้าของ IKEA นั่นก็คือ สินค้าแบรนด์นี้ทำไมประกอบง่ายจังไม่ยุ่งยากเลย
ซึ่งนั่นแหละคือหนึ่งในกลยุทธ์ Cost Leadership ที่แบรนด์นี้ใช้เพื่อให้พวกเขาเป็นผู้นำตลาด
การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้ยังคงสไตล์โมเดิร์นและสามารถประกอบได้ง่าย ผู้ซื้อก็สามารถประกอบเองได้ ช่วยให้พวกเขาสามารถลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการประกอบสินค้า
ซึ่งแม้ว่าจะฟังดูเหมือนเรื่องเล็กน้อยอย่างต้นทุนที่เกี่ยวกับการประกอบสินค้า แต่เมื่อเราลองนึกภาพว่า IKEA ขายสินค้าได้หมื่นชิ้นแสนชิ้น ต้นทุนดังกล่าวก็ดูจะไม่เล็กน้อยเลยใช่มั้ย แล้วถ้าเราลดต้นทุนตรงนั้นด้วยการให้ลูกค้านำไปประกอบเอง มันจะช่วยให้เราสามารถลดต้นทุนทางธุรกิจลงได้ขนาดไหน
ซึ่งนี้เป็น Key สำคัญเลยที่ทำให้ IKEA กลายมาเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดเฟอร์นิเจอร์ เนื่องด้วยพวกเขาสามารถเป็นผู้นำในด้านต้นทุนต่ำได้นั่นเอง
2. Differentiation ไม่เพียงแค่แตกต่างแต่ต้องโดดเด่น
ในธุรกิจ ไม่เพียงแค่ต้องทำให้สินค้าของคุณแตกต่างจากคู่แข่ง แต่ต้องทำให้มันโดดเด่นจนลูกค้ารู้สึกว่าไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้
หากการลดต้นทุนไม่ใช่ข้อได้เปรียบ หรือธุรกิจของคุณไม่สามารถแข่งขันในเรื่องของราคาได้
การสร้างความแตกต่างจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เราต้องมุ่งเน้นไปที่การสร้างมูลค่าให้กับสินค้าหรือบริการให้โดดเด่นและมีเอกลักษณ์ ซึ่งคู่แข่งเองต้องไม่สามารถเลียนแบบได้ หรืออย่างน้อยๆ ต้องไม่สามารถทำตามได้โดยง่าย
โดยความแตกต่างที่โดดเด่นนี้ไม่จำเป็นต้องจะเป็นเทคโนโลยีขั้นสุดหรือบริการอย่างเวอร์ๆ เพียงอย่างเดียว
ตัวอย่าง การสร้าง Ecosystem ของ Apple
Apple บริษัทที่ขึ้นชื่อว่ามี Brand Loyalty แข็งแกร่งเบอร์ต้นของโลก ซึ่งสิ่งนี้ก็ไม่ได้ได้มาด้วยโชคช่วย แต่เกิดจากการสร้างความแตกต่างที่โดดเด่นของแบรนด์
หากใครชอบใช้งานโทรศัพท์มือถือรุ่นเรือธง หรือคนในวงการโทรศัพท์มือถือจะรู้กันดีว่า Apple นั้นเป็นบริษัทแรกๆ เลยที่ออกแบบผลิตภัฑณ์ของพวกเขาให้มีความ Seamless หรือสามารถใช้งานบูรณาการร่วมกันระหว่างผลิตภัฑณ์ได้อย่างราบรื่น
เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ Apple อย่าง iPhone, iPad, MacBook, และ Apple Watch เราจะรู้สึกหรือสัมผัสได้ว่าไม่ว่าจะใช้งานฟังก์ชั่นอะไรมันก็ดูราบรื่นไปหมด
หากคุณกำลังเขียนอีเมลบน iPhone และต้องการย้ายไปใช้งานบน MacBook คุณสามารถหยิบ MacBook ขึ้นมาและเปิดงานนั้นต่อได้ทันทีโดยไม่ต้องทำการบันทึกหรือสร้างไฟล์ใหม่
หรือหากคุณกำลังดูวิดีโอบน iPad และต้องการย้ายไปดูต่อบน Apple TV คุณสามารถส่งวิดีโอนั้นจาก iPad ไปยัง Apple TV ได้ด้วยการกดเพียงปุ่มเดียว
ซึ่งแม้ในปัจจุบันเราจะเห็นอะไรลักษณะนี้กันบ่อยในแบรนด์ต่าง แต่ Apple นั้นเป็นผู้ริเริ่มแรกๆ เลยในเรื่องของความ Seamless ซึ่งนั้นทำให้พวกเขาสามารถกลายมาเป็นผู้นำในตลาดได้แม้ว่าผลิตภัฑณ์ของ Apple จะราคาที่สูงก็ตามนั่นเอง
3. Focus การมุ่งเน้นตลาดเฉพาะกลุ่ม
''ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องเอาด้วยกล'' วลีนี้คงเป็นวลีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับหลักการนี้
ในการที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำนั้นแม้ว่าการลดต้นทุนจะเป็นหนึ่งใน Key สำคัญแต่คู่แข่งเองก็สามารถทำสิ่งนี้ได้ด้วยเช่นกัน และแม้ว่าสินค้าและบริการของเราจะโดดเด่นขนาดไหนก็ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นจะทำตามไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะช้าหรือจะเร็วก็เท่านั้น
หากธุรกิจของเราไม่สามารถแข่งขันในตลาดที่ใหญ่และกว้างขวางได้ การ Focus เฉพาะกลุ่มก็อาจเป็นทางเลือกที่คาดหวังได้มากกว่า
การที่มุ่งเน้นไปที่การสร้าง Loyalty หรือความภักดีของลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะเจาะจง จะสามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดใหญ่และช่วยให้สามารถนำเสนอบริการหรือผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีกว่าการเสนอทั่วไปในตลาดที่กว้าง
ซึ่งกลยุทธ์การ Focus นี้เรามักจะพบในหมู่แบรนด์หรูที่มักจะชอบนำเสนอสินค้าและบริการที่เลอค่าแก่ลูกค้าเฉพาะกลุ่มของพวกเขา
ตัวอย่าง แบรนด์รถยนต์หรูอย่าง Rolls-Royce
เมื่อพูดถึงกลุ่มลูกค้าเฉพาะเจาะจง แน่นอนว่าพวกเขาจะมีความพิเศษกว่ากลุ่มทั่วไป เนื่องด้วยพวกเขาจะมีความต้องการหรือสิ่งที่คาดหวังไว้อย่างชัดเจน
ในกรณีของ Rolls-Royce ที่เป็นแบรนด์รถยนต์หรูแน่นอนว่าไม่ใช่ว่าใครจะซื้อก็ซื้อได้ด้วยราคาที่สูงและเงื่อนไขเฉพาะของแบรนด์
Rolls-Royce นั้นจะมีการมุ่งเน้นการนำเสนอสินค้าและบริการไปที่ความต้องการที่เฉพาะเจาะลงของลูกค้า ซึ่งลูกค้าในที่นี่คือ กลุ่มที่มีรายได้สูงกว่าปกติที่มีสัดส่วนน้อยในสังคม ซึ่งกลุ่มลูกค้าเหล่านั้นมักต้องการความพิเศษมากกว่าคนอื่นและต้องโดดเด่นไม่ซ้ำใคร หากได้ตามต้องการพวกเขาก็ยินดีที่จะจ่าย
ดังนั้น Rolls-Royce จะให้ลูกค้าสามารถเลือกและปรับแต่งรถยนต์ได้ตามความต้องการ เช่น สีของตัวรถ, สีภายใน, วัสดุต่าง ๆ (หนัง, ไม้, โลหะ), และแม้แต่การออกแบบลายที่ตกแต่งภายใน
แต่ละคันจะถูกสร้างขึ้นโดยใช้เวลาและความใส่ใจในทุกรายละเอียด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ทั้งในแง่ของความสวยงามและการใช้งาน ซึ่งทำให้ทุกคันมีความเป็นเอกลักษณ์และไม่ค่อยมีรถคันไหนที่เหมือนกันในตลาด
อีกทั้ง Rolls-Royce ยังใช้วัสดุที่มีคุณภาพสูงและบางครั้งก็หายาก เช่น หนังที่มีการคัดเลือกจากแหล่งที่มีชื่อเสียง, ไม้ที่มาจากต้นไม้ที่มีอายุหลายร้อยปี, โลหะที่มีการประมวลผลและคัดเลือกพิเศษ
ซึ่งที่กล่าวมานี้เป็นสิ่งที่หายากและไม่สามารถหาได้จากแบรนด์รถยนต์ทั่วไป เพราะแบรนด์รถยนต์ทั่วไปพวกเขาจะเน้นไปที่การประหยัดต่อขนาด หรือ Economies of Scale ด้วยการใช้วัสดุเดียวกันและการผลิตแบบเดิมในปริมาณที่เยอะเพื่อลดต้นทุน ซึ่งสิ่งนี้อาจไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะกลุ่มได้
การมุ่งเน้นไปที่ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม จะทำให้ธุรกิจสามารถทุ่มเททรัพยากรและใช้มันได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด เนื่องจากรู้ถึงความต้องการชัดเจนของลูกค้าแล้ว ไม่จำเป็นต้องเสียทรัพยากรของธุรกิจเพื่อทดลองตลาดใหม่ๆ
แนวคิดนี้จึงทำให้เราสามารถกลายเป็นผู้นำตลาดในกลุ่มที่เฉพาะเจาะจงได้นั่นเอง
การที่จะเป็นผู้นำตลาดในยุคปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นการมุ่งเน้นการลดต้นทุน, การสร้างความแตกต่างที่โดดเด่น หรือการเลือก Focus ไปที่ตลาดเฉพาะกลุ่ม
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและเติบโตในตลาดที่มีความท้าทายสูง การเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์และทรัพยากรของธุรกิจจะทำให้เรามีโอกาสในการเป็นผู้นำตลาดนั้นๆ
แต่ไม่ว่าจะเลือกใช้กลยุทธ์ใด การมุ่งมั่นในการสร้างความได้เปรียบที่ยั่งยืนและรู้จักปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ถือเป็นสิ่งที่จะทำให้เราได้เปรียบมากที่สุดและสามารถกลายเป็นผู้นำในตลาดได้อย่างแท้จริงนั่นเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา