4 ม.ค. เวลา 16:01 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

จีนกับการก้าวสู่การเป็นชาติมหาอำนาจทางทหาร

ซึ่งไม่ใช่แค่ในด้านขนาดกองทัพแต่รวมถึงการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีทางการทหาร
โดยในรอบไม่กี่ปีมานี้เราจะได้ยินข่าวจีนกับการเปิดตัวยุทโธปกรณ์ใหม่ ๆ ที่พัฒนาเองและเริ่มเห็นแนวโน้มการพัฒนาที่รวดเร็วจนเริ่มทัดเทียมและอาจจะกำลังแซงหน้าขึ้นเป็นผู้นำ
อย่างเช่น ในรอบปีที่ผ่านมาก็ได้มีการเปิดตัวเครื่องบินขับไล่ Gen 5 อย่าง J-20 ซึ่งถูกนำไปเปรียบมวยกับเครื่องบินขับไล่รุ่นล่าสุดอย่าง F-35 และ F-22 ของฝั่งอเมริกา
ซ้าย: J-20 ขวา: F-22
และมาเมื่อปลายธันวาคมที่ผ่านมาในวันครบรอบวันเกิดของ เหมา เจ๋อตุง ก็ได้มีคลิปแชร์ในโลกออนไลน์ซึ่งคาดว่าเป็นการบินทดสอบของเครื่องบินปริศนาที่กำลังบินคู่อยู่กับ J-20 ใกล้กลับโรงงานของกลุ่มบริษัทอากาศยานเฉิงตู (CAC) ผู้ผลิต J-20
1
ซึ่งเครื่องบินลำดังกล่างมีลักษณะเป็นปีกสามเหลี่ยมมี 3 เครื่องยนต์ไม่มี Vertical Stabilizer และมีขนาดขนาดใหญ่กว่า J-20 พอสมควร และจากลักษณะภายนอกทำให้คาดเดาได้ว่ามีคุณสมบัติในการหลบหลีกเรดาห์ได้
คำถามที่ผุดขึ้นในโลกออนไลน์ของเหล่าผู้ติดตามเทคโนโลยีทางการทหารก็คือ มันเป็นเครื่องบินประเภทไหนและมีไว้ทำภารกิจแบบไหน?
2
จากการวิเคราะห์ของหลายสำนักและแหล่งข่าวของ SCMP(South morning china post) พอสรุปได้ว่าเจ้าเครื่องบินปริศนานี้น่าจะเป็นเครื่องบินขับไล่ล่องหนยุคที่ 6 (Gen 6 Stealth fighter)
แต่แน่นอนว่ายังไม่มีข้อมูลอะไรเกี่ยวกับเครื่องบินรุ่นนี้เลย อยู่ดี ๆ ก็มีคลิปโผล่มา แต่จากการซูมรูปดูจะเห็นรหัส 3042 ที่ลำตัวเครื่องทำให้มีการคาดเดาว่ามันน่าจะเป็น J-30 ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนพัฒนา
ข้อมูลของ J-30 ที่ได้จากแกะจากในคลิป
โดยจากคลิปประเมินว่าเจ้า J-30 นี้มีความยาวปลายปีกประมาณ 20 เมตร(เทียบกับ J-20 ที่ 13.5 เมตร) มีขนาดห้องเก็บสรรพาวุธที่ยาวเกือบ 7 เมตร ทำให้คาดการณ์ว่าสามารถติดตั้งมิสไซล์ PL-17 ที่มีรัศมีทำการไกลกว่า 400 กิโลเมตร มีเครื่องยนต์ 3 เครื่องติดตั้งโดยมีช่องอากาศเข้า 2 ช่องด้านล่างลำตัวและอีกช่องด้านบนหลังห้องนักบิน
ซึ่งจากการเปิดเผยของแหล่งข่าวของ SCMP ระบุว่าเครื่องยนต์นี้จีนพัฒนาขึ้นใช้เอง และการที่มีถึง 3 เครื่องยนต์อาจมีความเป็นไปได้ว่าจะทำให้ J-30 สามารถทำความเร็วในระดับ Hyper sonic ได้(โดยมีทั้งเครื่องยนต์ Turbo fan ทำงานร่วมกับ Ram jet เมื่อบินด้วยความเร็วสูง) รวมถึง J-30 อาจมีเพดานบินที่สูงกว่าเครื่องบินรบปกติเพื่อขยายขอบเขตภารกิจออกจากน่านฟ้าไปสู่อวกาศ
5
ทั้งนี้ในคลิปจะเห็น J-30 ที่บินด้วยระดับต่ำและไม่ได้บินเร็วมากพร้อมกางล้อบินอยู่ตลอดซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังเป็นการบินทดสอบในช่วงแรกเท่านั้น ทำให้คาดกันว่า J-30 ยังคงต้องใช้เวลาทดสอบอีกพักใหญ่ก่อนจะสามารถนำเข้าประจำการได้
ซึ่งนี่ไม่ใช่แค่รุ่นเดียว เพราะในช่วงเวลาไล่ ๆ กันก็ได้มีคลิปการบินทดสอบของเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6 ของกลุ่มบริษัทอากาศยานเสิ่นหยางผู้ผลิตเครื่อง J-16 แต่ข้อมูลมีน้อยกว่ามาก ซึ่งจากที่เห็นคอนเซปการออกแบบค่อนข้างมีความแตกต่างกันพอสมควรโดยเครื่องต้นแบบของเสิ่นหยางนั้นดูมีความเป็นเครื่องบินขับไล่มากกว่า J-30 และมีขนาดเล็กกว่า
2
เครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6 ของเสิ่นหยาง
นั่นทำให้ยิ่งสร้างความสงสัยต่อไปว่าแท้จริงแล้วบทบาทของ J-30 อาจไม่ใช่เป็นเครื่องบินขับไล่ที่เข้าปะทะโรมรันกับเครื่องบินขับไล่ของศัตรูเพราะด้วยรูปร่างแล้วการเข้าทำการบินต่อสู้ประชิดตัวน่าจะเสียเปรียบดีไม่ดี J-30 อาจจะไม่มีปืนใหญ่อากาศติดตั้งเสียด้วยซ้ำ
แต่หน้าที่หลักอาจเป็นเครื่องสนับสนุนฝูงบินขับไล่ยุคที่ 5 อย่าง J-20 ด้วยการยิงมิสไซส์จากแนวหลังนอกระยะตรวจจับของศัตรูด้วยความสามารถล่องหนและเพดานบินที่สูงลิบ หรือใช้เป็นเครื่องบินล่าสังหารเครื่องบินตรวจการ(AWACS)ของศัตรู และอาจจะใช้เป็นเครื่องบินโจมตีดาวเทียมวงโคจรต่ำของศัตรูด้วยขีปนาวุธ Hypersonic
มาดูฝั่งกองทัพเรือกันบ้าง แน่นอนว่าก็ต้องเป็นข่าวการเปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบินฝูเจี้ยน ซึ่งถือเป็นลำที่ 3 ของจีน รวมถึงการนำเรือโจมตียกพลขึ้นบก Type 075 ถึง 3 ลำเข้าประจำการในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้สร้างความตึงเครียดให้กับใต้หวันและอเมริกา
เรือบรรทุกเครื่องบินฝูเจี้ยนและกองเรือยกพลขึ้นบก Type 075
แต่ที่น่าสนใจคือเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาจีนก็ได้เปิดตัวเรือยกพลขึ้นบก Type 076 เข้าประจำการ ซึ่งเป็นเรือโจมตียกพลขึ้นบกลำแรกของโลกที่ติดตั้งระบบดีดส่งเครื่องบินด้วยรางแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแบบเดียวกับที่ใช้ในปืนใหญ่แม่เหล็กไฟฟ้า (Railgun)
ข้อมูลเบื้องต้นของ Type 076
ที่น่าสนใจก็เพราะว่าระบบส่งตัวเครื่องบินรบแบบใหม่นี้จะทำความเร็วต้นในการออกตัวให้กับเครื่องบินได้เร็วกว่าด้วยระยะทางวิ่งที่สั้นกว่าระบบส่งตัวแบบเดิมที่มีใช้กันอยู่ ทำให้ Type 076 นี้อาจมีเครื่องบินขับไล่/โจมตียุคที่ 5 หรือแม้แต่รองรับการประจำการของเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 6
ทั้งนี้ระบบส่งตัวด้วยรางแม่เหล็กไฟฟ้านี้เพิ่งจะมีติดตั้งบนเรือประเภทนี้เป็นลำแรกของโลก(เรือบรรทุกเครื่องบินฝูเจี้ยนที่เพิ่งเปิดตัวไปก็มีระบบนี้เหมือนกัน)
แต่แน่นอนว่าหน้าที่หลักของเรือลำนี้คือเป็นเรือยกพลขึ้นบกมากกว่าเป็นเรือบรรทุกเครื่องบิน สำหรับ Type 076 นี้มีข่าวการพัฒนามาตั้งแต่ปี 2020 มีระวางขับน้ำ 40,000 ตัน คาดว่าสามารถบรรทุกได้ทั้งเครื่องบินขับไล่และอากาศยานไร้คนขับ เฮลิคอปเตอร์สำหรับการยกพลขึ้นบก
ระบบป้องกัน และอาวุธต่าง ๆ ที่ติดตั้งบนตัวเรือ Type 076
การเปิดตัวกองเรือรัว ๆ แบบนี้ย่อมส่งผลต่อดุลย์อำนาจทางทหารในคาบสมุทรเกาหลีและทะเลจีนใต้ และในอนาคตจีนอาจแผ่ขยายอิทธิพลออกไปยังมหาสมุทรแปซิฟิค
ที่น่าจับตาก็คือการพัฒนาเทคโนโลยีทางทหารของจีนที่มีอัตราเร็วขึ้นเรื่อย ๆ จนในหลาย ๆ ด้านอาจพูดได้ว่าเริ่มก้าวนำประเทศฝั่งตะวันตกแล้วก็ว่าได้และเป็นการพัฒนาใช้เองในประเทศเสียด้วย อย่าลืมว่าจีนเป็นชาติเดียวที่สามารถส่งยานไปสำรวจดาวอังคาร ด้านไกลของดวงจันทร์ และมีสถานีอวกาศเป็นของตัวเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา