9 ม.ค. เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Financing the Transition สินเชื่อเคียงข้างภาคธุรกิจสู่ความยั่งยืน

ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นับว่าเป็นความท้าทายใหญ่ที่สุดในโลกตอนนี้ เพราะไม่เพียงแต่จะนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อสังคมและเศรษฐกิจในทุกมิติ แต่ยังเป็น “ตัวเร่ง” ให้ทุกคนต้องปรับตัว เพื่อให้สามารถคว้าโอกาสใหม่ ๆ ได้ทันการณ์อีกด้วย
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตระหนักดีว่า ภาคการเงินเป็นพลังสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและเอาชนะความท้าทายต่าง ๆ ได้
ที่ผ่านมา ธปท. จึงได้วางรากฐานระบบนิเวศเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในภาคการเงินผ่าน 2 กิจกรรมหลัก คือ การกำหนดความคาดหวังให้ธนาคารพาณิชย์ผนวกมิติด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงาน และการจัดทำ Thailand Taxonomy ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นมาตรฐานกลางในการจำแนกความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
การวางรากฐานเป็นเรื่องระยะยาวที่ต้องใช้เวลา แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจให้ภาคธุรกิจเกิดการปรับตัวอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ธปท. จึงได้ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ 8 แห่งทำ “โครงการ Financing the Transition หรือ การเงินเพื่อการปรับตัวสู่ความยั่งยืนของภาคธุรกิจ” ขึ้น ภายใต้โครงการนี้ ธนาคารพาณิชย์ มีการออกแบบและนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่สอดรับกับบริบทเฉพาะตัวของไทย
กล่าวคือเน้นที่การปรับกระบวนการดำเนินงานของธุรกิจที่มีหรือได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมสูง ไปสู่การดำเนินงานให้มีหรือได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมน้อยลง หรือจาก brown เป็น less brown ในภาคเศรษฐกิจสำคัญที่จำเป็นต้องปรับตัว โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเริ่มจากก้าวเล็ก ๆ ได้ก่อน โดยการกำหนดเงื่อนไขที่เหมาะสมและจูงใจให้ลูกค้าปรับตัวให้เกิดผลจริง
การมุ่งให้เกิดการปรับตัวได้จริงเป็นหัวใจสำคัญของโครงการนี้ ดังนั้น สินเชื่อภายใต้โครงการไม่ได้มีเพียงแต่แหล่งเงินทุนเท่านั้น แต่ยังมีการให้ความช่วยเหลือในด้านอื่น ๆ จากพันธมิตรของธนาคารอีกด้วย เช่น คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการปรับกระบวนการทำธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญ การพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและความรู้กับกลุ่มธุรกิจเดียวกัน นอกจากนี้ หากผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นที่อยากปรับตัวในลักษณะเดียวกันก็สามารถทำตามได้เช่นกัน เพื่อให้การปรับตัวขยายผลไปสู่เศรษฐกิจในวงกว้างยิ่ง ๆ ขึ้นไป
เพื่อให้เห็นภาพ วันนี้จึงขอพาทุกท่านไปดูการเดินทางสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของตัวแทนผู้ประกอบการจาก 3 ภาคธุรกิจ ได้แก่ ฟาร์มเลี้ยงหมูที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน โรงพยาบาลที่มุ่งสู่มาตรฐานโลกด้านสิ่งแวดล้อม และโรงแรมที่มีหัวใจเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ทั้งในด้านความพยายามในการปรับตัว การสนับสนุนจากธนาคารพาณิชย์ในรูปแบบต่าง ๆ และผลลัพธ์ที่ได้จากการเปลี่ยนแปลงจริง
ฟาร์มเลี้ยงหมูกับการแก้ปัญหามลพิษทางกลิ่น เพื่อการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างเป็นสุข
บรรยากาศนอกเมืองช่วงสิ้นปี ท้องฟ้าสดใส ต้นไม้ทุ่งนายังคงเป็นสีเขียว เพราะเพิ่งหมาดฝนไปได้ไม่นาน แม้อากาศจะร้อนแดด แต่ก็เย็นด้วยลมโชยที่ถ่ายเทอยู่ตลอดวัน
“ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะมีแต่กลิ่นขี้หมู” คุณสุนทร สิงห์โค เจ้าของ “สิงห์เจริญทรัพย์ฟาร์ม” ผู้ประกอบการเลี้ยงสุกรขุน ในอำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร พูดให้ฟังถึงปัญหาใหญ่ที่เกิดกับฟาร์มเลี้ยงหมูของตัวเองและยังส่งผลกระทบต่อชุมชน
เจ้าของฟาร์มเล่าต่อว่า เมื่อหลายสิบปีก่อนทำโรงงานลูกชิ้นชื่อลูกชิ้นวังชะโอน ซึ่งใช้แก๊สในการผลิต จึงคิดหาวิธีลดต้นทุนค่าแก๊สโดยการทำฟาร์มเลี้ยงหมู เพื่อนำมูลสุกรมาผลิตเป็นพลังงานทดแทน แต่กลับมีปัญหาตามมา
“ปีสองปีแรกยังไม่มีปัญหา แต่พอปีที่สาม ชุมชนเริ่มบ่นเรื่องปัญหาเรื่องกลิ่นเยอะ เพราะบ่อหมักแก๊สระบบไบโอของเราเริ่มจะมีปัญหา คือระบบน้ำเข้าเกิดท่อรั่ว ผ้าใบรั่ว กลิ่นก็เลยหลุดออกไป ซึ่งก็ได้แก้ไขเรื่องกลิ่นจากบ่อแก๊สไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังมีกลิ่นกากที่ออกมาจากท้ายพัดลมระบายอากาศ พอหน้าฝนก็จะมีกลิ่นที่หนึ่ง หน้าหนาวก็มีกลิ่นอีกที่หนึ่ง เปลี่ยนทิศไปตามแรงลม จนส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วพื้นที่ใกล้เคียง”
อีกปัญหาก็คือเรื่องน้ำเสียจากบ่อแก๊ส ซึ่งคุณสุนทรก็ได้แก้ปัญหาด้วยการทำนาข้าวแล้วใช้น้ำมูลสุกรบางส่วนเป็นปุ๋ยเสริมแร่ธาตุให้ดินก่อนหว่านข้าว น้ำอีกส่วนหนึ่งก็นำไปใส่ไร่อ้อย อีกส่วนใช้รดแปลงหญ้าที่ปลูกไว้สำหรับปศุสัตว์ในครัวเรือน ก่อนที่จะบำบัดน้ำเสียที่เหลือก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ สำหรับกากที่เหลือได้นำมากรองและตากแห้ง และนำไปใส่แปลงข้าวโพดเพื่อเพิ่มผลผลิตให้ฝักใหญ่ขึ้น
แม้จะหาสารพัดวิธีมาจัดการปัญหากลิ่นแล้ว แต่เสียงสะท้อนจากชุมชนยังไม่หมดไป
“สมัยก่อน ทางฟาร์มก็พยายามดูแลช่วยเหลือชุมชนเพื่อลดเสียงต่อว่าลง เช่น สนับสนุนเนื้อหมูในงาน ของชุมชน แต่ก็ไม่เคยล้มเลิกที่จะหาวิธีปรับเปลี่ยนกิจการให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนให้ได้อย่างยั่งยืน”
แดดร่มลมตกในช่วงเวลาเย็น ๆ คุณสุนทรได้พาเดินดูการก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงหมูหลังใหม่อย่างภาคภูมิใจ โดยมีนายช่างและทีมงานก่อสร้างกำลังทำงานกันอย่างขะมักเขม้น พร้อมเล่าไอเดียในการปรับปรุงฟาร์มแห่งนี้ให้เป็นมิตรต่อทั้งชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้ฟัง
“ธนาคารกรุงไทยเป็นเพื่อนคนสำคัญตั้งแต่สร้างฟาร์มเลี้ยงหมูครั้งแรก” ในครั้งนี้ก็เช่นกัน ธนาคารได้แนะนำสินเชื่อจากโครงการ Financing the Transition ในการต่อเติมความฝันการปรับปรุงฟาร์มอย่างที่ได้ตั้งใจเอาไว้
ธนาคารกรุงไทยไม่เพียงแต่สนับสนุนเรื่องเงินทุนเท่านั้น แต่ยังพาคุณสุนทรออกไปพบปะกลุ่มเพื่อนผู้ประกอบการที่ทำฟาร์มเลี้ยงหมูเหมือนกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ทั้งยังพาไปศึกษาดูงานหลายที่เพื่อหาไอเดียในการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับฟาร์มของตนมากที่สุด อีกทั้งยังได้ปรึกษาความเป็นไปได้จากบริษัทคู่ค้าหลายแห่งอีกด้วย
คุณสุนทรได้รับสินเชื่อหลากหลายประเภทจากทางธนาคารสำหรับนำมาปรับปรุงฟาร์มเลี้ยงหมูเพื่อลดกลิ่นและเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยธนาคารกรุงไทยได้ให้วงเงินสินเชื่อเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ทั้งสินเชื่อกรุงไทย SMEs รักกันยาว ๆ เพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจ
ที่นำมาใช้สร้างโรงเรือนเลี้ยงสุกรหลังใหม่ที่มีการสร้างม่านน้ำ 3 ชั้นเพื่อลดปัญหากลิ่น เพราะม่านน้ำจะช่วยกรองตะกอนซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดกลิ่นจากภายในโรงเรือน ก่อนที่พัดลมระบายอากาศจะดูดออกสู่ธรรมชาติ ทำให้แทบจะไม่มีกลิ่นมูลสุกรเหลืออยู่เลย และยังสนับสนุนวงเงินในการติดตั้งระบบ solar rooftop เพื่อผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์นำมาใช้ในกิจการ รวมถึงสินเชื่อกรุงไทยเพื่อสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่นำมาติดตั้งเครื่องแยกกากสำหรับนำของเสียออกไปใช้ประโยชน์
“เมื่อก่อนใช้ไฟฟ้าก็มีปัญหาเรื่องค่าไฟแพง ตอนนี้มีโซลาร์เซลล์แล้ว ก็เอาไฟฟ้าที่ผลิตได้มาใช้กับพัดลมและม่านน้ำ กรองกลิ่นได้ แถมไม่มีปัญหาสิ้นเปลืองพลังงานด้วย
“การได้รับสินเชื่อจากโครงการ Financing the Transition มาปรับปรุงกระบวนการทำฟาร์ม ทำให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นมาก สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างลงตัว แถมยังเหมือนมีธนาคารคอยเป็นที่ปรึกษาอยู่เคียงข้าง ทำให้รู้สึกว่าไม่ได้เดินอยู่คนเดียว เลยมีกำลังใจและมุ่งมั่นที่จะทำธุรกิจนี้ต่อไป”
โรงพยาบาลสีเขียวที่ใส่ใจสุขภาพคนควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อม
“โรงพยาบาลในเครือบางปะกอก-ปิยะเวทมีเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงมากกว่า 30% ภายในปี 2569” นายแพทย์พณะ จันทรกมล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลในเครือบางปะกอก-ปิยะเวท กล่าวถึงเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจ
ย้อนกลับไปในปี 2524 รองศาสตราจารย์พิทยา จันทรกมล และแพทย์หญิงเจรียง จันทรกมล ได้เปิดคลินิกเล็ก ๆ ชื่อว่า บางกอกโพลีคลินิก ขึ้นมา เพื่อเป็นสถานที่รักษาพยาบาลที่เต็มไปด้วยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย และการบริหารจัดการด้วยหัวใจ
ต่อมาจึงได้จัดตั้งโรงพยาบาลบางปะกอก 1 ขึ้น และขยายโรงพยาบาลในเครือไปทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจำนวน 9 แห่งเพื่อคอยช่วยเหลือดูแลสุขภาพของประชาชนมาทุกยุคสมัย และฝ่าฟันมาหลายวิกฤต
จวบจนปัจจุบันที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องที่นานาประเทศทั่วโลกต่างแสดงความกังวลและให้ความสำคัญมาโดยตลอด โรงพยาบาลในฐานะสถาบันที่คอยดูแลสุขภาพของประชาชนเอง ก็ไม่ควรที่จะละเลยสุขภาพสิ่งแวดล้อมเช่นกัน เพราะภาวะโลกร้อนก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลย้อนกลับมาถึงสุขภาพของผู้คนได้เช่นเดียวกัน
“สิ่งสำคัญที่บริษัทหรือองค์กรทั่วโลกต้องตระหนักถึงก็คือ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งแม้จะมีกฎเกณฑ์อยู่หลายข้อ แต่การรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ เราจึงตั้งเป้าว่าโรงพยาบาลในเครือบางปะกอก-ปิยะเวทต้องเป็น green hospital เพื่อลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ได้ภายในปี 2569
โดยเริ่มจากการเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้า และการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อลดการใช้น้ำมัน นอกจากนี้ ยังเน้นการลดและจัดการขยะติดเชื้อ เช่น การแยกขยะติดเชื้ออย่างเหมาะสม การลดใช้ฉลากพลาสติกบนขวดน้ำดื่ม และการรีไซเคิลขวดพลาสติก
อีกหมุดหมายที่สำคัญคือ ในปี 2570 โรงพยาบาลใหม่อีกหนึ่งแห่งในเครือบางปะกอก-ปิยะเวท จะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายใต้ชื่อ โรงพยาบาลปิยะเวท พรานนก เพื่อรองรับผู้ป่วยและผู้รักสุขภาพจากทั่วโลกด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยมุ่งสร้างมาตรฐานให้เป็นโรงพยาบาลสีเขียวที่ใส่ใจดูแลทั้งผู้คนและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป เริ่มตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้างอาคาร และการดำเนินงานที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เช่น การปรับระบบวิศวกรรม การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การลดการใช้เครื่องปรับอากาศ การใช้โซลาร์เซลล์ การติดตั้ง EV charger และการเพิ่ม carbon credit ด้วยการปลูกต้นไม้เพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ฯลฯ ซึ่งยังจะช่วยลดค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนบางส่วนของโรงพยาบาลด้วย
“ปัจจัยสำคัญของหมุดหมายนี้จึงเป็นการหาแหล่งเงินทุนในการก่อสร้าง เนื่องจากธุรกิจโรงพยาบาลไม่ได้มีกำไรสูง และใช้ระยะเวลาคืนทุนนาน การได้รับสินเชื่อเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการเข้ามาให้คำปรึกษาจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จึงยิ่งช่วยขับเคลื่อนให้เป้าหมายของโรงพยาบาลที่จะให้ได้มาตรฐาน LEED Gold
ในการลดก๊าซเรือนกระจกสามารถสำเร็จเป็นรูปธรรมได้จริง พร้อมทั้งช่วยให้การดำเนินการเป็นไปได้อย่างราบรื่น ที่สำคัญสินเชื่อดังกล่าวยังมีระยะเวลาการชำระเงินกู้ที่สมเหตุสมผลและอัตราดอกเบี้ยที่จูงใจ เพื่อให้ทางโรงพยาบาลมั่นใจและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง
สิ่งที่ทางโรงพยาบาลจะได้รับจากการดำเนินกิจการโรงพยาบาลสีเขียวอย่างจริงจังและเข้มงวด นอกเหนือไปจากเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ก็คือ การที่ผู้ป่วยได้รับพลังการเยียวยาจากต้นไม้สีเขียวภายในโรงพยาบาล การที่องค์กรมีภาพลักษณ์ที่ดี รวมถึงการได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนที่ใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่จะสำเร็จได้ บุคลากรก็ต้องเชื่อและตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมด้วย
“บุคลากรทางการแพทย์ของเราทุกคนล้วนมีความตระหนักถึงเรื่องความยั่งยืน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจังมาก ด้วยเชื่อว่าองค์กรที่ทำงานอยู่เป็นองค์กรที่ช่วยดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ และควรต้องเริ่มจากตัวเราเองเพื่อเป็นตัวอย่างก่อน”
“ไม่ใช่เฉพาะโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ว่าองค์กรหรือบริษัทต่าง ๆ ได้เริ่มตระหนักถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อนมากขึ้น อยากให้ทุกองค์กรร่วมกันรณรงค์ และปฏิบัติเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ ทั้งในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคม เพราะทุกสิ่งต้องเริ่มจากตัวเราเองก่อนครับ” นายแพทย์พณะสรุปทิ้งท้าย
จากบ้านพักตากอากาศสู่โรงแรมที่มีธรรมชาติเป็นหัวใจสำคัญ
การได้มาเที่ยวกับกลุ่มเพื่อนสนิททำให้ตกหลุมรักหัวหินและสร้างบ้านพักตากอากาศเอาไว้ จนในปี 2546 จึงได้เปิดร้านอาหารเล็ก ๆ ริมชายหาดบนที่ดินผืนนี้ เมื่อเวลาผ่านไป 20 ปี จากร้านเล็ก ๆ ก็ขยายเป็นร้านที่สามารถรองรับลูกค้าได้ถึง 120 คน โดยเน้นการสรรหาวัตถุดิบจากในท้องถิ่นมาผนวกกับสไตล์อาหารแบบตะวันตก ที่ยังคงเน้นความใกล้ชิดกับธรรมชาติ
ภายใต้ชื่อ Let’s Sea Hua Hin’s Beach Restaurant ขณะที่บ้านพักตากอากาศของกลุ่มเพื่อนก็ได้ถูกพัฒนามาเป็นโรงแรมชื่อ Let’s Sea Hua Hin Al Fresco Resort เพื่อแบ่งปันบรรยากาศอันน่าประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวที่รักธรรมชาติคนอื่น ๆ
นี่เป็นเรื่องราวของคุณชูศักดิ์ พิชิตธนารักษ์ ผู้จัดการทั่วไปของ Let’s Sea Hua Hin ซึ่งเล่าว่า การดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนานมีหลักสำคัญเพียงข้อเดียวคือ “การไม่ทำลายธรรมชาติ” ซึ่งได้ปลูกฝังให้กับพนักงานและผู้บริหารที่นี่จนกลายเป็น DNA ไปแล้ว ทั้งการออกแบบสถาปัตยกรรม การทำการตลาด ไปจนถึงกระบวนการทำงาน
“กิจการแห่งนี้ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล นั่นคือ ISO 14001 หรือมาตรฐานระบบการจัดการ สิ่งแวดล้อมมาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว” คุณชูศักดิ์กล่าวอย่างภาคภูมิใจ
“ทุกวันนี้สิ่งแวดล้อมน่าเป็นห่วงขึ้นเรื่อย ๆ” ก่อนที่คุณชูศักดิ์จะเล่าเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของหัวหินในอดีตว่า “เมื่อก่อนเวลาใครได้มากินอาหารที่ร้าน จะได้เจอกับนางอาย (ลิงลม) มองออกไปก็จะเห็นภูเขา ป่าไม้ เรียกว่าใกล้ชิดธรรมชาติสุด ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป 20 ปี ความเป็นเมืองขยายเข้ามา มีตึกสูง คอนโดมิเนียม และผู้คนมากขึ้น ถนนหนทางกว้างใหญ่สะดวกสบายมากกว่าเดิม
แต่สภาพแวดล้อมกลับเสื่อมโทรมลงอย่างมาก ป่าไม้ก็น้อยลง ทุกวันนี้ไม่มีนางอายออกมาให้เห็นแล้ว” คุณชูศักดิ์เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ที่ยิ่งฟังแล้วยิ่งย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนที่ทำมาตลอด
“ในแง่ของการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม จริง ๆ เราไม่ได้ปรับตัวอะไรมาก เพราะทำมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่การวางผังและออกแบบ สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ เราหยุดไม่ได้ ต้องหาทางที่จะปรับปรุงและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป”
การวางผังและออกแบบโรงแรมแห่งนี้ ใช้สถาปัตยกรรมแบบ tropical style ที่เหมาะกับพื้นที่เขตร้อนชื้น โดยจะเน้นความโปร่ง โล่ง เหมาะกับอากาศร้อนบ้านเรา และยังเป็นอาคาร low rise ที่ไม่ใช่ตึกสูง เพื่อให้แขกที่มาพักได้สัมผัสกับความเป็นส่วนตัว ไม่แออัด และยังใช้ผนังสองชั้นเพื่อช่วยรักษาอุณหภูมิภายในและป้องกันความร้อนจากแสงแดดภายนอกได้เป็นอย่างดี
การใส่ใจในทุกรายละเอียดยังอยู่ในทุกจุดแม้กระทั่งในสิ่งที่อาจมองไม่เห็นจากภายนอกอย่างชุดเครื่องนอน ที่เลือกใช้จำนวนเส้นด้ายที่เหมาะสมกับอากาศร้อน เพื่อช่วยให้สบายตัวและระบายอากาศได้ แม้จะไม่เปิดเครื่องปรับอากาศ และยังมีสระว่ายน้ำขนาดใหญ่อยู่ตรงกลางระหว่างอาคารห้องพัก ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย แต่ยังเป็นช่องให้ลมธรรมชาติพัดผ่านจากทะเลสู่ระเบียงห้องพักและส่วนต้อนรับ ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าไปได้อีกส่วนหนึ่ง
นอกจากนี้ ยังมี campaign ‘Eco-Chic’ ที่มีกิจกรรมหลายอย่าง ทั้งการจัดหาวัตถุดิบจากผู้ผลิตในท้องถิ่น การประหยัดเชื้อเพลิง การเลือกใช้ภาชนะที่ช่วยลดปริมาณขยะ การจดบันทึกสถิติปริมาณขยะที่เกิดขึ้น การงดใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว การยกเลิกการใช้ขวดพลาสติกมาเป็นขวดแก้ว ไปจนถึงการนำขยะอินทรีย์ไปใช้ประโยชน์
สิ่งที่ทำมาตลอดผลิดอกออกผลกลับมาในรูปของความพึงพอใจของลูกค้า ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานอีกด้วย คุณชูศักดิ์มองว่า หากมีแหล่งเงินทุนสนับสนุนในการปรับปรุงระบบให้ต่อเนื่องก็จะส่งผลให้กิจการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งแหล่งเงินทุนจากธนาคารไทยพาณิชย์ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ และธนาคารยังคอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินกิจการมาตลอดในทุกยุคทุกสมัย สำหรับการปรับปรุงกิจการในหลายด้าน
“ธุรกิจโรงแรมมีต้นทุนหลัก ๆ คือ คน ถัดมาคือ พลังงาน ซึ่งปัจจุบันมีระบบปรับอากาศที่สามารถให้ความเย็นมากกว่าแต่ใช้พลังงานน้อยกว่า ทำให้ช่วยลดการใช้ไฟฟ้าไปประมาณ 20-30% และยังช่วยประหยัดแรงงานและค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงได้ด้วย”
ลมทะเลโชยเข้ามาไม่ขาดสาย แสงแดดอ่อนลง นักท่องเที่ยวหลายคนนอนอาบแดดที่สระว่ายน้ำ คุณชูศักดิ์เล่าต่อว่า “ปัจจุบันเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียราคาถูกลง อีกทั้งยังสามารถช่วยวิเคราะห์ผลและรายงานแบบ real-time ซึ่งจะช่วยทำให้สามารถตอบสนองและบำบัดน้ำเสียได้อย่างรวดเร็วขึ้น แม้จะไม่ได้สะอาดถึงขั้นนำกลับมาดื่มได้ แต่ก็ช่วยให้เทศบาลลดภาระในการนำน้ำไปบำบัดต่อ เช่นเดียวกันกับระบบปั๊มน้ำที่ตอนนี้ก็มีเครื่องจักรที่ใช้พลังงานน้อยลงเช่นกัน”
“ตอนนี้กำลังเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการใช้งานของโรงแรมเรา ซึ่งผลจากการประหยัดก็ช่วยจ่ายคืนการลงทุนในตัวเองอยู่แล้ว ผมในฐานะผู้บริหารเห็นว่า แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ไม่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ช่วยทำให้การประกอบกิจการมีขั้นตอนที่รัดกุม ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และจะส่งผลกลับไปยังการดูแลลูกค้าในที่สุด”
ในแง่ของความคุ้มค่าในการลงทุนและการขอสินเชื่อ คุณชูศักดิ์เล่าว่า “ถึงแม้จะต้องลงทุนเพิ่ม แต่ระยะยาวต้นทุนจะลดลง และยังช่วยสนับสนุนภาพลักษณ์ของโรงแรม และอีกสิ่งหนึ่งที่อาจจะจับต้องไม่ได้ นั่นคือ คุณค่าทางความรู้สึกของแขกที่มาใช้บริการ โดยเฉพาะการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนที่มาพัก”
นอกจากนักท่องเที่ยวแล้ว คู่ค้าทางธุรกิจก็ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสำคัญที่ทำให้โรงแรมของเราไม่หยุดปรับตัว “คู่ค้าจากประเทศเพื่อนบ้านรอบ ๆ และทางยุโรปเริ่มมีข้อกำหนดทางการค้า โดยจะไม่ทำธุรกิจกับกิจการที่ทำธุรกิจแบบไม่ยั่งยืน ฉะนั้นโรงแรมของเราจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อจะได้ปรับตัวให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก”
Financing the Transition: การเงินเพื่อการปรับตัวสู่ความยั่งยืนของภาคธุรกิจ
ธปท. ได้ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ไทย 8 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารยูโอบี ดำเนินโครงการ Financing the Transition เพื่อผลักดันภาคธุรกิจให้ปรับตัวไปสู่ความยั่งยืน โครงการนี้มีจุดเด่น 3 ประการด้วยกัน
ประการแรก คือ มุ่งตอบโจทย์บริบทไทยที่โครงสร้างเศรษฐกิจยังมีกระบวนการทำธุรกิจที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในสัดส่วนสูง หรือยัง brown อยู่มาก และบางส่วนยังไม่พร้อมรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนมี SMEs เป็นจำนวนมากที่อาจจะไม่มีศักยภาพพอจะสามารถปรับตัวไปสู่ green ได้ ดังนั้น ผลิตภัณฑ์สินเชื่อภายใต้โครงการนี้จึงเน้นที่การเปลี่ยนให้ธุรกิจที่ brown เป็น less brown ตลอดจนเน้นให้ SMEs ปรับตัวให้เกิดผลจริงผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีเงื่อนไขที่เหมาะสมและจูงใจ
ประการที่สอง โครงการนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ธปท. กับธนาคารพาณิชย์ โดยให้ธนาคารซึ่งรู้จักลูกค้าดีที่สุด เลือกกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เหมาะสมกับความชำนาญของตัวเอง แล้วพิจารณาออกแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ตอบโจทย์ลูกค้า โดยแต่ละธนาคารมีความเชี่ยวชาญต่างกันไป จึงทำให้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อในโครงการนี้ครอบคลุมภาคเศรษฐกิจสำคัญที่จำเป็นต้องปรับตัว เช่น ภาคการผลิต ภาคก่อสร้าง ภาคอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ภาคโรงแรม
ประการที่สาม เน้นปฏิบัติได้จริง คือ ธนาคารพาณิชย์ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อและให้คำปรึกษาเพื่อให้ลูกค้าสามารถปรับตัวได้จริง ด้านลูกค้าก็ต้องมีการปรับตัวที่กระบวนการสำคัญและวัดผลได้ ตลอดจนคนอื่นที่อยากทำแบบเดียวกันสามารถทำตามได้ ขยายผลได้
ผู้ประกอบการที่สนใจสินเชื่อจากโครงการ Financing the Transition สามารถติดต่อรับคำแนะนำจากธนาคารพาณิชย์ที่ใช้บริการอยู่ได้
โฆษณา