Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bank of Thailand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
24 ธ.ค. 2024 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
วิถีธนาคารกลางยุคใหม่ : การมีส่วนร่วมของประชาชน
ในอดีต “ธนาคารกลาง” ไม่ว่าจะเป็นแห่งไหนในโลกก็ตาม มักถูกวิจารณ์เกี่ยวกับการตัดสินใจที่มักกระจุกตัวอยู่กับผู้กำหนดนโยบายเพียงไม่กี่คน ด้วยบริบททางสังคมและเศรษฐกิจในยุคสมัยนั้นที่นายธนาคารกลางมีหน้าที่อธิบายเหตุผลการตัดสินใจให้เฉพาะคนบางกลุ่มฟังเท่านั้น จึงทำให้การสื่อสารเกี่ยวกับการทำงานของธนาคารกลางไม่ได้ส่งต่อไปถึงประชาชนทั่วไปเท่าใดนัก
ทว่าภายใต้บริบทของโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกหันมาตระหนักถึงความสำคัญของการทำความเข้าใจสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินเชิงลึกอย่างรอบด้าน เพื่อนำมาออกแบบนโยบายและมาตรการที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความต้องการของสาธารณชน ตลอดจนร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของธนาคารกลางรวมทั้งขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ
ที่ผ่านมา ธนาคารกลางต่าง ๆ จึงได้ปรับวิธีการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับมุมมองและข้อเสนอแนะของสาธารณะที่มีต่อเศรษฐกิจและการทำงานของธนาคารกลาง ตลอดจนสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มที่มีต่อการดำเนินงานของธนาคารกลางในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงิน นโยบายสถาบันการเงิน และนโยบายระบบชำระเงิน รวมถึงยกระดับระบบกำกับดูแลให้มีความโปร่งใส โดยยึดประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ
หลายทศวรรษที่ผ่านมา ธนาคารกลางส่วนใหญ่ได้ออกมาพูดคุยและรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนมากขึ้น ทั้งยังมีการลงพื้นที่ไปเพื่อติดตามสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะทำเพิ่มขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมในมิติของจำนวนและพื้นที่ในอนาคต และพร้อมจะปรับตัวให้เข้ากับบริบทของยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ
ตอบโจทย์การทำงานของธนาคารกลางยุคใหม่ผ่านการทำงานร่วมกับประชาชน
ปัจจุบันธนาคารกลางทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ที่เกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์การเงินที่ไม่เคยมีมาก่อน นวัตกรรมทางการเงินใหม่กำลังเข้ามา “ดิสรัปต์” ระบบการเงินแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของระบบการชำระเงินดิจิทัล ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือบริการการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ฯลฯ
แม้นวัตกรรมเหล่านี้จะช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงิน และเปิดความเป็นไปได้ใหม่ให้กับเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้เท่ากับระบบการเงินดั้งเดิม
ในบริบทเช่นนี้ ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งต้องปรับบทบาทการทำงานให้เท่าทัน โดยเริ่มตระหนักว่า ลำพัง “พลังความรู้เชิงวิชาการ” ซึ่งเคยเป็นจุดแข็งหนึ่งของธนาคารกลาง อาจไม่เพียงพอต่อการรับมือ
ความท้าทายในภูมิทัศน์การเงินใหม่ แต่ธนาคารกลางจำเป็นต้องทำงานร่วมกับประชาชนและภาคธุรกิจมากขึ้น เพื่อนำข้อมูลและประสบการณ์จริงมาประกอบกับความรู้ทางวิชาการ โดยใช้ “พลังปัญญารวมหมู่” ในการออกแบบและตัดสินใจเชิงนโยบายที่ตอบโจทย์สาธารณะได้อย่างแท้จริง
การปรับตัวที่เริ่มเห็นได้ชัดของธนาคารกลางต่างประเทศ เช่น ธนาคารกลางยุโรปที่ทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะการนำข้อมูลจากประชาชนและธุรกิจมาใช้เป็นองค์ประกอบในการวางแผนและตัดสินใจ เพื่อให้การดำเนินนโยบายสอดคล้องกับความต้องการของเศรษฐกิจมากขึ้น ผ่านกลไกสำคัญก็คือ การลงไปพูดคุยกับภาคธุรกิจในเชิงลึก การจัดกิจกรรมเวิร์กช็อป และการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง
อีกกรณีคือ ธนาคารกลางญี่ปุ่นที่เชิญประชาชนเข้าร่วมฟังคำชี้แจงและมีการทำประชาพิจารณ์ทางนโยบายอย่างเปิดเผย ซึ่งช่วยให้การตัดสินใจนโยบายสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่และประเทศมากขึ้น
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นอีกแห่งที่เปิดให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบายเช่นเดียวกับธนาคารกลางอื่น ๆ ด้วยความมุ่งหวังเพื่อให้การทำงานทุกด้านสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของสังคมอย่างแท้จริง โดยได้มีการก่อตั้งสำนักงานภาคแห่งแรกขึ้นมาตั้งแต่ปี 2507 ก่อนที่จะขยายผลจนครบทั้ง 3 ภูมิภาคหลัก (ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน) เพื่อเป็นกลไกสำคัญเชื่อมโยงระหว่าง ธปท. กับภาคประชาชน ธุรกิจท้องถิ่น และหน่วยงานภาครัฐในแต่ละภูมิภาค
นอกจากนี้ ธปท. ยังได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและภาคธุรกิจโดยตรงผ่าน โครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่าง ธปท. กับภาคธุรกิจ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “BLP” ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา โดยทุก ๆ ปี ทีม BLP ทั้งในส่วนกลาง และสำนักงานภาคจะมีการลงพื้นที่เพื่อไปพบปะและพูดคุยกับประชาชนและผู้ประกอบการเป็นประจำ เพื่อให้เห็นภาพสถานการณ์และประเด็นปัญหาสำคัญของแต่ละพื้นที่ได้ถูกต้อง
ไฮไลต์สำคัญในการทำงานของสำนักงานภาคคือ การทำงานภาคสนามอย่างใกล้ชิดกับภาคธุรกิจและประชาชน เพื่อนำข้อมูลกลับมาวิเคราะห์และกำหนดนโยบายระดับชาติ นอกจากนี้ สำนักงานภาคของ ธปท. ยังมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการและงานสัมมนาต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น และสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของท้องถิ่น
ซึ่งจะช่วยให้นำความเข้าใจเชิงลึกเหล่านี้ไปร่วมพิจารณาในการกำหนดนโยบาย เช่น การแก้ปัญหาหนี้ของเกษตรกรในภาคอีสาน การส่งเสริมทักษะความรู้ทางการเงินให้กับ SMEs ในภาคเหนือ และการช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ในภาคใต้
อีกหนึ่งภารกิจสำคัญของ ธปท. ก็คือ การสร้างเครือข่ายและพันธมิตรทั่วประเทศ ทั้งผ่านการสัมมนาสาธารณะที่มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทุกคนได้แสดงความคิดเห็นเชิงนโยบาย เช่น สัมมนาวิชาการของสำนักงานภาค ตลอดจนการประชุมร่วมกับหน่วยงานรัฐองค์กรต่าง ๆ เช่น หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพราะเล็งเห็นว่าทุกภาคส่วนควรมีบทบาทในการให้ข้อมูลเชิงลึกแก่ ธปท.
ซึ่งความร่วมมือในลักษณะนี้จะทำให้ ธปท. เข้าใจความต้องการของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อนำไปปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไปได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีช่องทางในการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการทำงานของ ธปท. ผ่านทางโซเชียลมีเดียที่หลากหลายเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึง ธปท. ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น
การทำงานร่วมกับภาคประชาชนและภาคธุรกิจไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ในการทำงานนโยบายของธนาคารกลางเท่านั้น แต่การได้มีส่วนร่วมของประชาชนในการเสนอแนะและออกแบบนโยบาย ยังช่วยทำให้ประชาชนรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของเศรษฐกิจ และอยากเข้ามาสนับสนุนและมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้นด้วย
เศรษฐกิจ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ข่าวรอบโลก
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย