30 ม.ค. เวลา 11:30 • การเกษตร

สินเชื่อเพื่อลด PM2.5 ก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล

“ฤดูฝุ่น” ในประเทศไทยมาพร้อมอากาศเย็นสบายของช่วงปลายปี ลมเย็นที่กระทบใบหน้าแฝงไปด้วยฝุ่น PM2.5 ที่เป็นตัวการให้หลายคนไอ จาม แสบจมูก แสบตา หายใจลำบาก ไปจนถึงอาการอื่น ๆ ที่รุนแรงขึ้นในผู้ที่มีโรคประจำตัว
ปัญหาฝุ่นที่เกิดขึ้นนี้ แม้จะมีที่มาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม มลพิษจากการจราจร ฝุ่นจากการก่อสร้าง แต่การเผาไหม้ขยะและวัสดุทางการเกษตรเป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญ และถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากที่สุดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา
1
พระสยาม BOT MAGAZINE จะพาผู้อ่านไปพบกับผู้ประกอบการและเกษตรกรในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่ถูกใส่ร้ายว่าเป็นต้นเหตุของมลพิษทางสิ่งแวดล้อม พูดคุยถึง “อ้อยไฟไหม้” พร้อมทั้งแนวทางที่พวกเขานำมาแก้ไขเพื่อปรับตัวให้เข้าใกล้ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
แรงงานหายาก ต้นเหตุของการเผา
ลึกเข้าไปภายในพื้นที่ของไร่อ้อยแห่งหนึ่งในอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ทางเข้าเป็นถนนลูกรังฝุ่นสีแดงคลุ้งยามล้อรถเคลื่อนผ่าน ต้นอ้อยสูงกว่า 2 เมตรเรียงรายทอดยาวไปสุดลูกหูลูกตา ที่โดดเด่นไม่แพ้กันคือ รถตัดอ้อย และรถบรรทุกอีกหลายคันที่จะต้องใช้ร่วมกับการเก็บเกี่ยว คุณพิริย์พล ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่จาก KSL Group ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย มาพร้อมกับทีมงานจาก KSL Group
เครือ KSL Group มีโรงงานผลิตน้ำตาลทั้งหมด 5 แห่งในไทย และอีก 1 แห่งในลาว สั่งสมประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจโรงงานน้ำตาลมายาวนานเกือบ 80 ปี (ตั้งแต่ปี 2488) ทั้งยังมีแนวคิดในการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบให้ได้มากที่สุดควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม จนนำไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ
เช่น เอทานอล ไฟฟ้าชีวมวล และปุ๋ยอินทรีย์ให้เกษตรกรเครือข่ายได้ใช้ปุ๋ยคุณภาพดีในราคาที่เหมาะสม คุณพิริย์พลยังเสริมว่าบริษัทได้ขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากช่วงเริ่มต้นที่เคยผลิตน้ำตาลได้ไม่ถึง 1 ตัน (น้ำตาล) ต่อวัน แต่ปัจจุบันสามารถผลิตได้ถึงวันละ 120 ตัน (อ้อย)
เกือบ 80 ปีที่ KSL Group เข้ามาอยู่ในวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ก็มีปัญหาต่าง ๆ ให้ต้องแก้ไขมาโดยตลอด แต่ปัญหาหลัก 3 เรื่องวนเวียนมาให้ต้องแก้ไขอย่างต่อเนื่อง คือ แรงงาน สิ่งปนเปื้อน และมลภาวะ ซึ่งเชื่อมโยงและส่งผลต่อกัน สะเทือนต่อทั้งระบบอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม
“บางครั้งการเผาก็เกิดจากความจำเป็นครับ และว่ากันตามความจริงไม่มีใครอยากเผา” คุณพิริย์พลเริ่มเล่าเมื่อเราถามถึงอ้อยไฟไหม้
“การตัดอ้อยเป็นงานที่ใช้แรงค่อนข้างมาก ผนวกกับความยากลำบากที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุ ทำให้แรงงานที่เป็นเด็กรุ่นใหม่เลือกที่จะทำงานนี้น้อยลง ส่งผลให้แรงงานที่ยังทำงานอยู่ในไร่อ้อยส่วนใหญ่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และหาแรงงานใหม่ยากขึ้นทุกที” ซึ่งปัญหาการขาดแคลนแรงงานนี้เองก็ส่งผลกระทบต่อเนื่องนำไปสู่ปัญหาถัดไป
“เมื่อแรงงานตัดอ้อยมีน้อยและต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อให้ทันในการส่งเข้าโรงงาน ก็เกิดปัญหา สิ่งปนเปื้อนที่ติดไปกับผลผลิตจำนวนมาก” ด้วยความจำเป็นที่ต้องส่งอ้อยที่ตัดแล้วเข้าไปที่โรงงานในวันเดียวกัน ไม่เช่นนั้นวัตถุดิบจะเสื่อมคุณภาพ และการทำความสะอาดอ้อยก่อนนำขึ้นรถบรรทุกต้องใช้เวลานาน จึงทำให้กระบวนการผลิตและประสิทธิภาพของโรงงานลดลง
อีกปัญหาที่กลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติคือ มลภาวะทางอากาศ แม้ว่าการเผาอ้อยจะเพิ่มความสะดวกในการเก็บเกี่ยว เพราะช่วยกำจัดกาบใบ และทำให้เกษตรกรตัดอ้อยได้ง่ายขึ้น แต่การเผาก็ทำให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมา
“อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นระบบแบ่งปันผลประโยชน์ เมื่อโรงงานประสิทธิภาพต่ำ ชาวไร่ก็จะได้ค่าอ้อยลดลง ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปทั้งระบบ แม้ว่าทุกภาคส่วนจะให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องการเผาอ้อย แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถจัดการปัญหาได้” คุณพิริย์พลย้ำ
รถตัดอ้อย ทางออกที่มาพร้อมต้นทุน
“จริง ๆ แล้ว ทั้งเกษตรกรและโรงงาน ไม่มีใครอยากได้อ้อยไฟไหม้ ไม่มีใครอยากเผาผลผลิตที่สร้างกับมือ เพียงแต่ว่าในบางจังหวะมันมีความจำเป็น เป็นเหตุสุดวิสัยที่มันเกิดขึ้นได้” คุณพิริย์พลย้ำ พร้อมทั้งอธิบายว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอ้อยเป็นหนึ่งในจำเลยสังคมว่าทำให้เกิดปัญหา PM2.5 แต่ในความเป็นจริง การทำเกษตรกรรมประเภทอื่น ๆ ก็ใช้การเผาเหมือนกัน เพียงแต่อาจเป็นการเผาภายหลังการเก็บเกี่ยว ขณะที่อ้อยเป็นพืชชนิดเดียวที่มีการเผาไหม้ก่อนเก็บเกี่ยวจึงมีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
แม้ในอุตสาหกรรมนี้จะมีคณะกรรมการจาก 3 ฝ่าย ได้แก่ โรงงาน เกษตรกร และภาครัฐ ที่ร่วมมือกันเก็บข้อมูลปริมาณ น้ำหนัก และกำหนดราคารับซื้ออ้อย โดยกำหนดให้ “อ้อยสด” มีราคารับซื้อที่สูงกว่า “อ้อยไฟไหม้” ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่ออกมาเพื่อช่วยลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ แต่การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นคือ การเข้ามาของ “รถตัดอ้อย” เพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องแรงงาน และได้ผลผลิตที่เป็นอ้อยสดสะอาดที่ไม่ผ่านการเผาเข้าสู่โรงงานเพิ่มขึ้น
แต่อุปสรรคมีเพียงข้อเดียวคือ รถตัดอ้อยมีราคาค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ยราคารถนำเข้าคันละประมาณ 10-12 ล้านบาท ราคารถตัดอ้อยในประเทศเฉลี่ย 5-8 ล้านบาท ดังนั้น แหล่งเงินทุนจึงเป็นตัวช่วยสำคัญในการเพิ่มจำนวนรถตัดอ้อยเข้าไปในระบบ เพื่อทดแทนแรงงานคนและการเผาอ้อย
คุณพิริย์พลเล่าว่า เมื่อนโยบายของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายคือการเพิ่มปริมาณอ้อยสด ลดการเผา ไปพร้อม ๆ กับแก้ปัญหาเรื่องแรงงาน นำไปสู่การประชุมเพื่อหาทางออกร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงกลางปี 2567 ที่ผ่านมา
ซึ่งต่อมาบริษัท น้ำตาลนิวกรุงไทย จำกัด (หนึ่งในเครือ KSL Group) ก็ได้ลงนามเข้าร่วมโครงการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (ESG) ช่วยลด PM2.5 ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย กับธนาคารกรุงไทย เพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สินเชื่อที่บริษัทน้ำตาลนิวกรุงไทยได้รับทำให้ซื้อรถตัดอ้อยเพิ่มขึ้นอีก 10 คัน รองรับการตัดอ้อยสดและลดอ้อยไฟไหม้ได้ถึง 100,000 ตันอ้อยต่อปี หรือเทียบเท่าพื้นที่ 1 หมื่นไร่ เฉพาะในส่วนของบริษัทน้ำตาลนิวกรุงไทย เมื่อรวมรถใหม่ก็จะมีรถตัดอ้อยไว้ใช้และให้บริการกับเกษตรกรสมาชิกถึง 50 คัน “ปัจจุบันในประเทศไทยน่าจะมีรถตัดอ้อยอยู่หลายพันคันแล้วครับ” คุณพิริย์พลเสริม
เมื่ออ้อยไฟไหม้ลดลงก็ย่อมลดการปล่อยมลพิษลงไปด้วย การลงทุนในรูปแบบนี้นอกจากจะเป็นการร่วมแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แล้ว ยังเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และสร้างความมั่นใจในการทำธุรกิจให้กับคู่ค้าของบริษัท ทั้งไทยและต่างประเทศด้วย
“เราเชื่อว่าการรักษาสภาพแวดล้อม จะช่วยรักษาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในภาพรวมเอาไว้ได้”
นอกจากเรื่องต้นทุนแล้ว การใช้รถตัดอ้อยยังมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ เพราะต้องมีรถบรรทุกขับขนาบข้างรถตัดอ้อยไปด้วยเพื่อรับผลผลิต และกว้างพอที่จะให้รถตัดอ้อยกลับรถ วิธีการนี้จึงเหมาะสำหรับแปลงปลูกขนาดใหญ่ ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องปรับปรุงไร่อ้อยของตนเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ในพื้นที่
เสียงสะท้อนจากเกษตรกร “คนตัดอ้อย หรือ รถตัดอ้อย”
คุณวัชรพงษ์ วิชัยวงษ์วัฒน เจ้าของไร่เกษตรโบว์แดง ซึ่งมีแปลงปลูกอ้อยขนาด 800 ไร่ในอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี เล่าให้ฟังว่าต้องการขยายแปลงปลูกอ้อยเพิ่ม ขณะที่แรงงานตัดอ้อยหายากมาก จึงได้ขอสินเชื่อจากธนาคารออมสินเพื่อนำมาซื้อรถตัดอ้อย จึงลดการใช้แรงงานลงไปมาก จากเดิมที่ต้องใช้ 50-70 คน เหลือเพียง 20 คนเท่านั้น
การตัดอ้อยโดยใช้รถยังมีข้อดีในเรื่องน้ำหนักอีกด้วย เพราะการลักลอบเผาอ้อยจะทำให้น้ำหนักอ้อยหายไป ทำให้ต้องขายในราคาที่ถูกลงด้วย โดยปกติอ้อยไฟไหม้จะถูกตัดราคาไป 30 บาทต่อตัน รวมถึงจะไม่ได้สิทธิในการเข้าร่วมโครงการ และเงินสนับสนุนจากภาครัฐนั่นเอง ซึ่งเป็นนโยบายที่ช่วยจูงใจให้เกษตรกรลดหรือยกเลิกการลักลอบเผาอ้อย และเปลี่ยนมาเก็บเกี่ยวอ้อยสดแทน
“การมีเครื่องจักรและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำการเกษตร ช่วยอำนวยความสะดวกหลาย ๆ อย่าง ซึ่งดีกับคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามารับช่วงต่อในการทำไร่อ้อยในอนาคตด้วย ที่สำคัญยังช่วยลดปัญหาฝุ่น PM2.5 แถมยังสามารถเอาใบอ้อยที่ตัดแล้วไปขายเป็นเชื้อเพลิงให้โรงงานผลิตไฟฟ้าได้ด้วย หรือหากปล่อยให้ย่อยสลายก็จะกลายเป็นปุ๋ยบำรุงดินได้ เพราะการเผาจะทำลายหน้าดินและทำให้ดินกระด้าง”
คุณชุนไล้ แซ่แต้ เจ้าของไร่ ป.เจริญ ซึ่งมีแปลงปลูกอ้อยขนาด 500 ไร่ ในอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี และมีปริมาณการผลิตอ้อย 8,000-10,000 ตันอ้อยต่อปี ได้เล่าให้ฟังว่า เขาได้รับช่วงต่อ การทำไร่อ้อยจากพ่อมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ในอดีตจะอาศัยแรงงานจากภาคอีสาน ช่วงหลัง ๆ คนงานมีจำนวนน้อยลง บางครั้งจ่ายเงินไปแล้วแต่ก็ไม่สามารถจัดหาแรงงานได้ตามที่ตกลงกันไว้ จึงเปลี่ยนมาหาคนจากพื้นที่ใกล้เคียงแทน แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะทำงานได้ทันกำหนดเก็บเกี่ยวอ้อยส่งโรงงานอยู่ดี
“แต่ก่อนที่ไร่ก็เคยเผา พอเผาก็จะเจอปัญหาดินไม่ดี เกิดโรคอ้อย ปลูกยากขึ้น และต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในการกำจัดวัชพืช แถมการเผาก็ทำให้เก็บเกี่ยวอ้อยได้เกินปริมาณที่จัดการได้ ทำให้มีอ้อยไฟไหม้ค้างคืน น้ำหนักอ้อยก็หายไป และถ้าโชคร้ายเจอฝนตก อ้อยแปลงนั้นก็จะใช้ไม่ได้เลย”
หลังจากที่ทำไร่มา 12 ปี ก็มีคนแนะนำให้ใช้รถตัดอ้อย แต่ซื้อไม่ไหวเพราะว่าราคาแพงมาก ดีที่ทางโรงงานน้ำตาลที่ท่ามะกา มีบริการรถตัดอ้อยพร้อมคนขับ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีปริมาณอ้อยที่ 10,000 ตัน คุณชุนไล้จึงได้รวมกลุ่มกับเพื่อนชาวไร่อ้อยคนอื่น ๆ เพื่อเช่ารถหนึ่งคันมาช่วยเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งก็ดีมากเพราะทำให้ได้อ้อยสดนำส่งโรงงานได้เลย แม้ว่าจะต้องรอคิวบ้างก็ตาม เมื่อเห็นถึงผลดีที่คุ้มค่าขนาดนี้ คุณชุนไล้จึงตัดสินใจว่าจะลงทุนซื้อรถตัดอ้อยคันเล็กไว้ใช้ในไร่ของตัวเอง
“ดีที่ได้รับสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จึงมีโอกาสได้ซื้อรถตัดอ้อยของตัวเอง ซึ่งก็ทำให้สามารถบริหารจัดการเวลาในการเก็บเกี่ยวอ้อยตามอายุและระดับความหวานที่พอดีได้ด้วยตัวเอง”
แม้ว่าจะต้องปรับปรุงพื้นที่แปลงปลูกให้เป็นแปลงใหญ่ แต่คุณชุนไล้ก็มองว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ช่วยย่นระยะเวลา และเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้นจากที่เคยได้ประมาณ 6,000-7,000 ตันอ้อยต่อปี ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 8,000-9,000 ตันอ้อยต่อปี ถ้าปีไหนมีปริมาณน้ำฝนดีก็ทำให้เก็บเกี่ยวได้สูงสุดถึง 12,000 ตัน”
แดดร่มลมเย็นขึ้น รถตัดอ้อยยังคงวิ่งเคียงคู่ไปกับรถบรรทุกที่มีอ้อยสดอยู่เต็มคัน คุณพิริย์พลได้ทิ้งท้ายว่า
“สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงก็คือ ความร่วมมือกับทุก ๆ คนที่อยู่รอบตัว งานทุกอย่างมันทำคนเดียวไม่ได้ แม้จะตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนไว้ดีเพียงใด แต่ถ้าผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ให้ความร่วมมือก็ไม่มีวันทำสำเร็จ ในเมื่อทุกคนต่างมีส่วนในการปล่อยคาร์บอน หากจะยั่งยืนได้ก็ต้องยั่งยืนไปด้วยกัน”
นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในอุตสาหกรรมหนึ่งเท่านั้น อย่างที่คุณพิริย์พลทิ้งท้าย เป้าหมายนี้ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว แต่ทุกคนคือส่วนสำคัญของความเปลี่ยนแปลง พวกเรานั่งรถกลับกรุงเทพฯ พร้อมความฝันถึงวันที่ประเทศไทยจะไร้ “ฤดูฝุ่น” ให้ลมหนาวพัดพามาเพียงอากาศสดใส สักวันคนไทยคงจะสูดหายใจเอาอากาศเย็น ๆ เข้าไปได้เต็มปอดเสียที
สินเชื่อนำร่องลดฝุ่น PM2.5 ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย
การสนับสนุนเงินทุนแก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในการปรับกระบวนการเก็บเกี่ยวเพื่อช่วยลดการเผาอ้อยและฝุ่น PM2.5 เป็นโครงการนำร่องภายใต้โครงการ Financing the Transition ที่ภาคสถาบันการเงินมุ่งมั่นตั้งใจสนับสนุนภาคธุรกิจปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะกับบริบทไทย ซึ่งควรต้องมีการปรับลดระดับความไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมลง (จาก brown เป็น less brown)
ที่ผ่านมาภาครัฐมีมาตรการอุดหนุนเพื่อจูงใจให้เกษตรกรตัดอ้อยสด ลดการเผาอ้อย แต่การตัดอ้อยสดอย่างมีประสิทธิภาพต้องอาศัยเงินทุนเพื่อปรับพื้นที่และซื้อเครื่องจักรทางการเกษตร ธปท. จึงได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ผลักดันโครงการนำร่องสินเชื่อเพื่อการปรับกระบวนการเก็บเกี่ยวอ้อยและซื้อเครื่องจักรการเกษตร เพื่อช่วยสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการยกระดับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสินเชื่อนี้ สามารถติดต่อผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการข้างต้นได้ทุกสาขา

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา