12 ม.ค. เวลา 12:00 • หนังสือ

สรุปหนังสือ Feel Good Productivity ทำงานได้ผล เริ่มต้นที่รู้สึกดี

“ทำงานหนักสิ แล้วความสำเร็จจะตามมา” ประโยคที่เราได้ยินมาตลอดชีวิต การทำงานหนักมักถูกมองว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญของคนที่อยากประสบความสำเร็จ ความจริงที่หลายคนพบเจอคือการทำงานหนักเกินไปอาจนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ตรงกันข้ามอย่างการหมดไฟ
แล้วเราควรทำงานหนักอย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าโดยไม่สูญเสียสิ่งสำคัญในชีวิต? หนังสือที่จะนำมาสรุปวันนี้จะพาคุณไปสำรวจมุมมองที่สมดุลเกี่ยวกับการทำงานหนัก พร้อมแนวทางที่ช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายโดยไม่ต้องแลกกับความสุขและความสมดุลในชีวิตของคุณ
Ali Abdaal เรียนจบคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ เป็นแพทย์อินเทิร์นอยู่ 2 ปี หลังจากนั้นได้ลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัวและเป็นยูทูบเบอร์ซึ่งมีผู้ติดตามปี 2568 มากกว่า 6 ล้านคน
อาลีสมัยที่เป็นนักเรียนก็ขยันมาก เมื่อเจออุปสรรคก็แค่พยายามทำงานให้หนักขึ้น พอมาเป็นนักศึกษาแพทย์ความกดดันเพิ่มขึ้น ชีวิตของทุกคนมีค่ามากๆ และเป้าหมายของอาลีคือต้องประสบความสำเร็จ ดังนั้นมันจึงจำเป็นที่จะต้องทำงานให้หนักขึ้นอีกเป็นเท่าตัว
แต่เมื่อการทำงานหนักขึ้นเริ่มไม่ได้ทำให้เข้าใกล้คำว่าประสบความสำเร็จอีกทั้งยังทำให้ชีวิตไม่มีความสุข เสียสุขภาพ เสียความสัมพันธ์ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้อาลีได้กลับมาทบทวนกับตนเองอีกครั้ง
หนังสือเล่มนี้มีทั้งหมด 3 ตอน ได้แก่
ตอนที่ 1 เพิ่มพลัง: อธิบายวิธีใช้ผลจากความสุขเพื่อเพิ่มพลังชีวิต
ตอนที่ 2 ปลดล็อก: สำรวจสิ่งที่ทำให้เรามักผัดวันประกันพรุ่ง
ตอนที่ 3 ประคับประคอง: สำรวจภาวะหมดไฟพร้อมทั้งวิธีแก้ไข
ตอนที่ 1
ปล่อยให้ตัวเองได้สนุกบ้างก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลก
อาลีได้เสนอวิธีเมื่อเราต้องทำงานที่ไม่อยากทำ คือ ให้ถามว่าถ้างานนี้มันสนุกจะหน้าตาเป็นอย่างไร จะทำมันในแบบอื่นได้ไหม อย่างการใส่เพลง เพิ่มอารมณ์ขัน ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปและสุดท้ายคือให้รางวัลตัวเองตอนที่ทำงานเสร็จ
ควรจริงใจมากกว่าจริงจัง
ถ้าลองนึกถึงเวลาที่เราได้เล่นเกมแล้วมีคนที่จริงจังกับเกมมากเกินไปย่อมทำให้การเล่นเกมไม่สนุก แต่ถ้าเล่นกับคนที่มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และไม่ได้ยึดติดกับการแพ้หรือชนะนี่คือตัวอย่างของคนจริงใจ
การทำงานก็เช่นกันถ้าอยากจริงใจให้เราจดจ่อกับกระบวนการทำงานมากกว่ายึดติดผลลัพธ์สุดท้าย ลองมองหาหรือขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ๆ มากกว่าการใช้ความคิดของตนเองเพียงลำพัง สิ่งที่ได้กลับมาไม่ว่าจะเป็นมิตรภาพ ทักษะทางสังคม ยังทำให้งานของเรามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ก้าวแรกของความสำเร็จ
ในปัจจุบันทุกคนน่าจะพอรู้จักคำว่า “Mindset” หรือภาษาไทยเรียกว่าชุดความคิด สิ่งนี้คือก้าวแรกของความสำเร็จ ตามที่แบนดูรานักจิตวิทยาที่ได้นำเสนอแนวคิดการรับรู้ประสิทธิภาพของตนเอง (Self-efficacy) สรุปง่ายๆคือ “สิ่งที่คุณพูดมักกลายเป็นสิ่งที่คุณเชื่อ”
วิธีเพิ่มความมั่นใจให้ตนเอง
บอกกับตัวเองด้วยถ้อยคำเชิงบวก เช่น ฉันทำได้ ฉันเก่งมาก
เรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่น เช่น อ่านหนังสือ ฟังพอดแคสต์ ดูวิดีโอที่เกี่ยวกับเรื่องที่เราอยากมั่นใจ
ทำให้บ่อยเหมือนยังเป็นมือใหม่ เพราะคนที่เริ่มต้นมักจะมีความกระหายในความรู้เสมอ
สร้างมิตรภาพด้วยการเป็นผู้ให้และผู้รับ
ในบทบาทของการเป็นผู้ให้เรารู้สึกดีเสมอจากงานวิจัยของอลัน ลักซ์ ผู้นำองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร พบว่าเวลาเราช่วยเหลือผู้อื่น สมองของเราจะหลั่งสารเคมีต่างๆ อย่างออกซิโทซินที่เป็นฮอร์โมนแห่งความสุข ทำให้เรารู้สึกดีมีพลังบวก เพิ่มระดับเอนดอร์ฟินทำให้เราทำงานได้หนักขึ้น
ในบทบาทการเป็นผู้รับ (บางคนมักชอบเกรงใจ ลองมาปรับความคิดไปด้วยกัน) มีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Benjamin Franklin Effect ได้อธิบายว่าเมื่อเราขอให้ใครสักคนช่วยเรา เขาคนนั้นมักคิดกับเราในทางที่ดีและมันยังช่วยให้เขารู้สึกดีอีกด้วยซ้ำ ดังนั้นลองขอความช่วยเหลือจากคนอื่นดูบ้าง สำหรับวิธีขอความช่วยเหลือคือ ไม่ลังเลที่จะถาม ขอความช่วยเหลือด้วยตนเอง และใช้ภาษาในเชิงบวก
ตอนที่ 2
การผัดวันประกันพรุ่ง
สิ่งที่ทำให้เรามักผัดวันประกันพรุ่งไม่ว่าจะเป็น ความกลัว ความไม่มั่นใจ ความไม่แน่นอนและการที่เราไม่รู้ว่าทำไปทำไม ดังนั้นทางออกของมันคือต้องมีวิธีการพึ่งแรงจูงใจและการมีวินัย
การมีแรงจูงใจ คือ การทำสิ่งที่เราอยากทำ
การมีวินัย คือ การต้องทำไม่ว่าจะอยากทำหรือไม่อยากทำ
“วิธีการปลดล็อก” ของหนังสือเล่มนี้ด้วยการตั้งคำถามเหล่านี้
ทำอย่างไรให้ฉันอยากทำ>>ทำอย่างไรให้ฉันอดทนทำ>>อะไรขัดขวางไม่ให้ฉันทำ
ทำไม หลายๆครั้ง
อย่างที่บอกไปข้างต้นนิสัยการผัดวันประกันพรุ่งเกิดจากการที่เราขาดแรงจูงใจ ดังนั้นวิธีแก้ไขคือการตั้งคำถามบ่อยๆครั้งว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นเราทำไป “ทำไม” ให้เราหาจุดประสงค์ของการทำสิ่งนั้น จากนั้นมันจะตามมาด้วยคำถาม จะทำอย่างไรและทำเมื่อไหร่
การตั้งเป้าหมายแบบ NICE
หลังจากที่เรารู้ว่าทำไปทำไมแล้วก็นำมาสู่การตั้งเป้าหมาย ซึ่งหลายๆคนมักจะรู้จักหลักการตั้งเป้าหมายแบบ SMART เราสามารถใช้วิธีนี้ในการตั้งเป้าหมายระยะยาว งั้นเราลองมาดูวิธีการตั้งเป้าหมายแบบ NICE การตั้งเป้าหมายระยะสั้นที่จะเน้นการมอบความสุขระหว่างการลงมือทำ
NICE ประกอบด้วย
Near-term: การตั้งเป้าหมายในระยะสั้น รายวันหรือรายสัปดาห์
Input-based: เน้นกระบวนการมากกว่าเป้าหมายสุดท้าย โดยสนใจสิ่งที่เราทำขณะนี้
Controllable: สามารถควบคุมและทำได้จริง
Energising: ตั้งเป้าหมายที่เพิ่มพลังชีวิตให้แก่เรา
ตัวอย่างการตั้งเป้าหมายแบบ NICE
• ออกกำลังกายวันละ 30 นาทีทุกวัน เน้นกิจกรรมที่สนุก
• เขียนบทความ 500 คำ ให้ได้ทุกวันโดยเป็นเรื่องที่ฉันสนใจ
• ใช้เวลาสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง เพื่อฝึกทักษะที่น่าสนใจ
ตอนที่ 3
นิยามของภาวะหมดไฟขององค์การอนามัยโลก (WHO) คือ ปรากฏการณ์ทางอาชีพซึ่งมีองค์ประกอบคือ ความรู้สึกหมดพลังหรืออ่อนล้า การไม่สามารถจดจ่อกับงาน ความรู้สึกเชิงลบและประสิทธิภาพการทำงานลดลง
ภาวะหมดไฟ 3 แบบ ได้แก่ ภาวะหมดไฟจากการทำงานมากเกินไป ภาวะหมดไฟจากการพร่องพลังงานและภาวะหมดไฟจากความไม่สอดคล้อง
ภาวะหมดไฟจากการทำงานมากเกินไป
ความเชื่อของการทำงานหนักแล้วจะทำให้งานมีประสิทธิภาพยังคงมีอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่ว่าเราต้องขี้เกียจแต่ความจริงคือเราทำมากไปและเร็วไป วิธีแก้ไขคือการสงวนพลังงานหรือการ “ทำน้อยแต่ได้มาก”
สิ่งที่เราควรมีคือ พอร์ตการลงทุนพลังงาน (Energy Investment Portfolio) ให้เราทำรายการสองช่อง ช่องแรกเป็นรายการเป้าหมายความฝัน ช่องที่สองเป็นรายการที่เกิดขึ้นอยู่ การลงทุนพลังงานควรคำนึงถึงเวลา คำแนะนำคือพยายามให้ตารางช่องที่สองมีรายการให้น้อยเข้าไว้
การทำงานหนักมักเกิดจากการที่เรารับงานมามากเกินไปหรือก็คือเราไม่รู้จักการปฏิเสธ วิธีแก้ไขคือเมื่อมีงานเข้ามาให้เราตอบแค่ว่า “ได้ยิ่งกว่าได้หรือไม่ละ” ไม่ควรมีตรงกลางถ้าคำตอบนอกเหนือจากได้ยิ่งกว่าได้ ก็คือไม่คุ้มที่จะทำนั่นเอง
ภาวะหมดไฟจากการพร่องพลังงาน
การทำงานอย่างต่อเนื่องไม่ส่งผลดีเราควรมีเวลาพักบ้าง แต่ในช่วงการพักก็ควรเป็นแบบมีประสิทธิภาพ อย่างการไถมือถือนี่เป็นตัวอย่างในสิ่งที่ทำให้รู้สึกหมดพลังได้ ดังนั้นเราควรมองหาวิธีการพักที่สามารถฟื้นฟูพลังของเราได้
วิธีฟื้นฟูพลังอย่างสร้างสรรค์ ได้แก่ การออกไปเดิน การอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ การนั่งสมาธิ การนอนอยู่เฉยๆ การทำงานศิลปะ การทำงานอดิเรก
ภาวะหมดไฟจากความไม่สอดคล้อง
ภาวะหมดไฟประเภทนี้มันเกิดจากความรู้สึกเชิงลบเมื่อเป้าหมายของเราไม่สอดคล้องกับตัวตนภายใน การที่เราทำงานแล้วมันไม่สอดคล้องกับเป้าหมายในชีวิต เช่น การถูกบังคับให้เรียนหรือทำงาน ความกดดันทางสังคม การทำตามกระแส
ทางออกคือใช้วิธีการมองชีวิตในระยะยาว มีข้อมูลหนึ่งที่สำรวจเจ้าหน้าที่ศูนย์การแพทย์ VAMC เกี่ยวกับเป้าหมายในชีวิตก่อนและหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว พบว่าหลังจากที่ผ่านประสบการณ์เฉียดตาย พวกเขาให้ความสำคัญกับเป้าหมายภายในมากขึ้น ดังนั้นวิธีที่เรานำมาปรับใช้คือ ลองคิดถึงปลายทางชีวิตและใช้มันประเมินว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ
จากนั้นให้มองอนาคตในระยะกลางอย่างการวางแผนในช่วง 1 ปี และสุดท้ายคือการลงมือทำเป้าหมายระยะสั้นอย่างรายสัปดาห์หรือรายวัน เพียงเท่านี้ก็จะทำให้เราขยับเข้าใกล้ชีวิตที่เราต้องการ
เรื่องราวของอาลีสะท้อนให้เห็นว่าความสำเร็จไม่ได้มาจากการทำงานหนักเพียงอย่างเดียว แต่คือการทำงานอย่างมีเป้าหมายพร้อมกับรักษาสมดุลในชีวิต บทเรียนครั้งนี้จะทำให้เราหันกลับมาทบทวนตัวเองและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างชีวิตที่ทั้งประสบความสำเร็จและเปี่ยมไปด้วยความสุข ลองนำแนวคิดเหล่านี้ไปปรับใช้ แล้วคุณอาจค้นพบเส้นทางใหม่ที่เหมาะสมกับตัวเองมากยิ่งขึ้น

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา