17 พ.ย. เวลา 12:00 • หนังสือ

สรุปหนังสือ นาโงมิ สุข สงบ สมดุล

ความกลมกลืน ความเรียบง่ายและความสมดุลในชีวิตคือแนวคิดหลักของปรัชญาญี่ปุ่น “นาโงมิ” จุดกำเนิดของหลายๆปรัชญา เช่น อิคิไก, วะบิซะบิ, เซน, คินสึงิ และในบทความนี้เป็นการสรุปหนังสือที่ช่วยเปิดมุมมองใหม่ให้ทุกคนได้ตระหนักถึงวิธีการดำเนินชีวิตที่เต็มไปด้วยความสงบและความสุขในหนังสือ “นาโงมิ สุข สงบ สมดุล”
เคน โมงิ จบปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว เป็นนักประสาทวิทยา นักจัดรายการ นักเขียน เป็นนักวิจัยอาวุโสแห่ง SONY CSL และเป็นศาสตราจารย์รับเชิญในหลายๆ สถาบัน
มีหนังสือที่เป็นกระแส นั่นก็คือ อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่ ซึ่งอิคิไกมีความหมายว่า สิ่งที่ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีความสมดุล มีคุณค่า เป็นแรงผลักดันที่ทำให้เราอยากลืมตาตื่นในทุกๆ เช้า
สำหรับหนังสือเล่มนี้ นาโงมิ ได้อธิบายถึงหัวใจของความนิ่งสงบ ความสุข และความสมดุล ผ่านทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตเริ่มตั้งแต่อาหาร ความสัมพันธ์ และผู้คนในสังคม
เคน โมงิ เชื่อว่าหลังอ่านหนังสือเล่มนี้จบจะทำให้เราเข้าใจเสาหลัก 5 ประการ ได้แก่
1. มีความสัมพันธ์ที่มีความสุขกับคนที่รัก
2. ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และยังคงเป็นตัวเอง
3. มีความสงบสุขในสิ่งที่ทำ
4. ผสมผสานสิ่งต่างๆ ให้เข้ากันได้
5. เข้าใจปรัชญาชีวิตของชาวญี่ปุ่น
นาโงมิ คือ สภาวะจิตสำนึกของมนุษย์ที่มีลักษณะผ่อนคลายสบายใจ มีสมดุลทางอารมณ์ มีความผาสุก และมีความสงบเยือกเย็น เป็นต้นกำเนิดของแนวคิดอื่นๆ เช่น วะบิ ซะบิ, คึนสึงิ รวมไปถึงอิคิไก กล่าวได้ว่านาโงมิเป็นเสาหลักของวัฒนธรรมญี่ปุ่น
นาโงมิในอาหาร
ญี่ปุ่นมีชื่อเสียงในการใช้วัตถุดิบทำอาหารได้อย่างสร้างสรรค์ เกิดจากกระบวนการผสมผสานขององค์ประกอบต่างๆ อย่างแรกคือการทำให้อาหารเจริญตาด้วยการจัดวางอย่างประณีต อย่างที่สองคือเจริญลิ้นโดยเกิดจากการคัดสรรวัตถุดิบ
ข้าวเป็นส่วนสำคัญของทุกเมนูสำหรับคนประเทศญี่ปุ่น อย่างเช่นอาหารกล่องเบนโตะ มีหลักการคือเตรียมอาหารไว้หลายๆอย่างแต่ตรงกลางจะต้องมีข้าวเสมอเนื่องจากข้าวเป็นพืชสำคัญของญี่ปุ่น
ข้าวเกี่ยวข้องกับนาโงมิ คือข้าวมีลักษณะของความเป็นกลาง ไม่พยายามแสดงตัวตน แต่มีความสามารถโดดเด่นที่จะผสมเข้ากับรสชาติและส่วนประกอบอื่นๆ อุดมคติของชาวญี่ปุ่นก็เหมือนกับข้าวในเรื่องตัวตนทางสังคม คือการไม่โอ้อวดตนเอง
นอกจากนี้ญี่ปุ่นก็มีการรับวัฒนธรรมอื่นเกี่ยวกับอาหาร เช่น แกงกะหรี่หมูทอด ซึ่งการรับประทานเนื้อได้รับมาจากโลกตะวันตก ส่วนแกงกะหรี่ได้มาจากอินเดีย เรื่องนี้สะท้อนถึงการผสมผสานได้อย่างลงตัว ซึ่งเป็นตัวอย่างได้ดีของนาโงมิในอาหาร
นาโงมิในตัวตน
ชีวิตสมบูรณ์แบบไม่มีจริง บางคนอาจเชื่อว่าการมีเงินสามารถซื้อความสุขหรือความรักได้ แต่ในความเป็นจริงชีวิตไม่ได้น่าพึงพอใจเสมอ
โวหารที่หนังสือเปรียบเทียบ ได้แก่ กระสุนเงินและพรมวิเศษ กระสุนเงินคือความคิดว่าต้องมีวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดที่ไหนสักแห่ง ส่วนพรมวิเศษคือองค์ประกอบหลายอย่างที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น ดังนั้นเราควรเลือกการมีพรมวิเศษ โดยนำแง่มุมต่างๆมารวมกันเพื่อพัฒนาชีวิตมากกว่าการที่จะพึ่งพาแค่สิ่งเดียว
ความเคารพตนเองและการสร้างสมดุลในชีวิต ถือเป็นส่วนสำคัญของการบรรลุนาโงมิ การมีความมั่นใจในตนเองเป็นเรื่องที่ดี แต่หากมีมากไปก็อาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่สังคมหรือหากมีอัตตามากเกินไปก็จะทำให้เราขาดความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น
นาโงมิในความสัมพันธ์
ชาวญี่ปุ่นรักในแนวคิดเกี่ยวกับความบริสุทธิ์และความหลากหลายเพื่อค้ำจุนชีวิต และการรักษาความสามัคคีปรองดองคือสิ่งสำคัญ ต้องหลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์รุนแรงแม้จะมีความคิดเห็นที่ต่างกันก็จงอย่าทำลายความสัมพันธ์
ความสัมพันธ์ของมนุษย์มีเครือข่ายมากมายการปรับตัวเข้ากับคนอื่นจึงเป็นเรื่องที่ควรทำ เราไม่ควรเปลี่ยนผู้คนรอบตัวและมุ่งเน้นการมีตัวตนอย่างเป็นเอกลักษณ์ ถ้าในกรณีของคู่รักเราจะเรียกกันว่า “อีกครึ่งที่ดีกว่า”
นาโงมิในสุขภาพ
ชาวญี่ปุ่นขึ้นชื่อในเรื่องของการมีชีวิตที่ยืนยาวกว่าชนชาติอื่นบนโลกเหมือนว่ามีสูตรลับดั่งน้ำอมฤต แต่เคล็ดลับที่แท้จริงคือการมีทัศนคติแบบองค์รวม โดยมีนาโงมิเป็นศูนย์กลาง
อิคิไก ได้นำเสนอองค์รวมของการมีชีวิตประกอบด้วย “สิ่งที่คุณรัก” “สิ่งที่คุณทำได้ดี” “สิ่งที่โลกต้องการ” และ “สิ่งที่ทำแล้วสร้างรายได้” ซึ่งการมีทั้งหมดได้นั้นต้องเกิดจากความพึงพอใจมิใช่การหมกมุ่นจนทำให้ขาดอิสระภาพในการชีวิต
สรุปนาโงมิในแง่สุขภาพของชาวญี่ปุ่น คือ การมีแนวคิดหรือปรัชญาในชีวิต การเลือกรับประทานอาหารที่หลากหลาย การออกกำลังกาย การรับแสงแดด การอยู่กับธรรมชาติ เท่านี้ก็ถือว่าบรรลุแล้ว
สุดท้ายแล้วหนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการค้นหาความหมายและความสุขผ่านการใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายและสมดุลตามแนวทางของปรัชญาญี่ปุ่น “นาโงมิ”

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา