14 ม.ค. เวลา 02:47 • ประวัติศาสตร์

“เบื้องญวน” ขนมพลัดถิ่นจากอานามสยามยุทธ

ถ้าพูดถึงขนมเบื้อง ในความคิดของคนเราในปัจจุบันก็จะคิดออกไปอยู่ 3 แบบ คือขนมเบื้องชิ้นเล็ก ๆ ปาดหน้าด้วยครีม, ขนมเบื้องโบราณชิ้นใหญ่ไร้ครีม, และขนมเบื้องญวน ซึ่งใน 3 แบบนี้ มีขนมเบื้องญวนที่หน้าตาต่างจากเพื่อน ทั้งวัตถุดิบ ตลอดจนต้นกำเนิดที่ต่างออกไป โดยในส่วนของขนมเบื้องไทยนี้ เราก็เคยเล่าไปแล้ว วันนี้เราจึงจะมาเล่าเรื่องของขนมเบื้องญวนกันบ้าง
ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นับว่าเป็นอีกช่วงหนึ่งที่สยามอยู่ในช่วงภาวะสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านมากมายโดยหนึ่งในนั้นคือ “อานามสยามยุทธ” ในสมัยรัชกาลที่ 3 อันเป็นสงครามระหว่างสยามกับอันนัมหรือเวียดนามเพื่อแย่งชิงอำนาจปกครองเหนือดินแดนกัมพูชา ซึ่งในเหตุการณ์รบกันนี้ก็ได้นำมาซึ่งการพลัดถิ่นของเหล่าเชลยศึกชาวเวียดนาม หรือชาวญวน เข้ามาในสยาม ซึ่งพวกเขาเองก็ได้นำเอาวัฒนธรรมทางอาหารติดตัวมาด้วย
ขนมเบื้องญวน หรือที่เรียกกันว่า บั๊ญแส่ว (Bánh xèo) ในเวียดนามกล่าวกันว่าอาจจะเป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลมาจากอาหารฝรั่งเศสจำพวกเครป โดยเวียดนามมีการติดต่อกับชาวฝรั่งเศสครั้งแรกตรงกับรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยา โดยหน้าตาของบั๊ญแส่วนี้จะเหมือนกับขนมเบื้องญวนคือพับครึ่ง แต่ก็มีขนมเบื้องญวนบางเจ้าที่พับสี่เหลี่ยมคล้ายกับพับโรตี ส่วนไส้จำพวก กุ้งแห้ง ถั่วงอก เต้าหู้ และแป้งละลายไข่สีเหลืองนั้นจะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกันมาก
นอกจากจะมาโผล่ที่ไทยแล้ว ขนมเบื้องญวนก็ไปโผล่ที่กัมพูชาเหมือนกัน โดยจะเรียกเป็นสำเนียงเขมรว่า “บัญแชว” (បាញ់​ឆែវ) ซึ่งคาดว่าน่าจะเข้ามาเพราะอิทธิพลของเวียดนามในดินแดนบางส่วนของกัมพูชาทั้งก่อนและหลังสงครามอานามสยามยุทธนั่นเอง
เรื่องราวของขนมเบื้องญวนนับว่าเป็นอีกหนึ่งการเดินทางของวัฒนธรรมอาหารอันเกิดจากสงครามซึ่งแตกต่างไปจากการค้าขาย เพราะมันเป็นความทุกข์ยากของเหล่าเชลยที่จากบ้านเมืองมายังถิ่นอื่นด้วยภัยสงคราม วัฒนธรรมอาหารเหล่านี้เองจึงเปรียบเสมือนกับเครื่องเตือนใจให้หวนรำลึกถึงบ้านเกิดเมืองนอนที่จากมา แต่อย่างไรก็ดีในท้ายที่สุดแล้วอาหารจากเชลยก็ได้กลายเป็นที่รับรู้ของคนในท้องที่และมีการรับเอามาประยุกต์จนเป็นที่นิยมและกลายเป็นวัฒนธรรมอาหารที่ส่งอิทธิพลลงมา ไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าเป็นของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
โฆษณา