16 ม.ค. เวลา 01:00 • ความคิดเห็น

90’s Romance จริงรึ? 🤔

เพื่อนร่วมรุ่นหลายคน ชอบเล่าย้อนระลึกถึงช่วงวัยรุ่น (ทำนอง “กินของขม ชมเด็กสวย ชอบเล่าความหลัง” หากครบองค์ประกอบนี้ ก็จงน้อมรับดาวแห่งความ “แก่” โดยพลัน (ฮา)
ยุคที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดคงหนีไม่พ้นยุค 90’s (1900 - 1999 : พ.ศ. 2533 - 2542) บางคนถึงขนาดพูดว่าเป็น “ยุคที่น่าอยู่ที่สุด” เพราะมองเห็นแต่เรื่องดีๆ จนกลายเป็นปรากฏการณ์แบบ Good Old Days -*- 🤨 แต่...มันใช่จริงรึ?
สำหรับผมไม่ปฏิเสธว่า...มันคือยุคแห่งความทรงจำมากมาย จนเกิดคำฮิตติดปากคนร่วมยุคเดียวกันว่า #วัยรุ่นยุค90 ซึ่งเป็นยุคที่สิ่งเก่าๆ ใกล้สิ้นสุด สิ่งใหม่เพิ่งเริ่มต้น ประกอบกับความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีที่กำลังทยอยตามมา
สิ่งใหม่อย่าง ‘เว็บบราวเซอร์’ (Web browser) เกิดในปี 1993 ปลายยุค 90’s คือยุค ดอท.คอม วัฒนธรรมเพลงป๊อปในบ้านเราก็เบ่งบานสุดขีด เกิดศิลปินดังและเพลงฮิตระดับตำนานมากมาย อาทิ 🎵 “คาใจ” เจ เจตริน (1993), “หมากเกมนี้” อินคา (1991), “...ก่อน” โมเดิร์นด็อก (1994), “รักคงยังไม่พอ” เสือ ธนพล (1994), “รบกวนมารักกัน” ทาทายัง (1995), 🎶 “ผ้าเช็ดหน้า” Triumph Kingdom (1999), “ไม่อาจเปลี่ยนใจ” เจมส์ เรืองศักดิ์ (1995) ฯลฯ
ที่มาภาพ : ‘I Made a Mixtape for You’ Shot on iPhone 16 Pro | Chinese New Year 2025
เทปคาสเซ็ท (cassette tape) 📼 ที่นิยมในยุค 70’s - 80’s ถูกแทนที่ด้วยแผ่น CD 💿 ปลายยุค 90’s (1998) โลกได้รู้จักไฟล์ MP3 ทำให้แผ่น CD ถูก disrupt โทรศัพท์มือถือ ถือกำเนิดต้นยุค 90’s ด้วยขนาดที่ใหญ่ (ถูกล้อเลียนว่า “มือถือกระดูกหมา”) และราคาแพงโคตรๆ (หลักแสนในสมัยนั้น) ทำให้มีคนจำนวนเพียงหยิบมือเท่านั้นที่ได้ใช้
ส่วนเทคโนโลยีราคาย่อมเยาว์กว่าอย่างเพจเจอร์ (Pager) หรือวิทยุติดตามตัว ที่รับข้อความได้อย่างเดียว (ยี่ห้อแรกชื่อ Packlink) ก็ได้รับความนิยมสูง ผู้ใช้ต้องโทรศัพท์เข้าศูนย์บริการ ฝากข้อความกับพนักงาน แล้วส่งข้อความเข้าเพจเจอร์อีกที (จนเกิดคำล้อเลียนว่า “ถ้าส่งข้อความหวานๆ จีบแฟน จะอายพนักงานไหม?”) ต่อมาถูก Nokia 3310 (2000) มือถือปุ่มกดยอดนิยมในตำนาน เข้ามา disrupt จนบริการเพจเจอร์ปิดตัวลง หลังจากนั้น smart phone (มือถือระบบสัมผัส) 📱 iPhone รุ่นแรก (2007) จึงมา disrupt ในทศวรรษถัดมา
หนังรักคลาสสิคระดับตำนานประจำยุคคือ Titanic (1997) กำกับโดย เจมส์ คาเมรอน สร้างปรากฏการณ์ในไทย โดยยืนโรงฉายนานกว่า 4 เดือน หลายคนดูไม่ต่ำกว่า 2 รอบ เพลง My Heart Will Go On ขับร้องโดย Celine Dion ก็โด่งดังไปทั่วโลก แน่นอนว่าหากพูดถึงปรากฎการณ์ระดับตำนานในยุคนี้ คงพูดได้ไม่รู้จบ
แต่...เพื่อความสมดุล มาดู #สายดาร์ก หรือด้านมืดประจำยุคนี้บ้าง 😈 อาทิ “พฤษภาทมิฬ” 2535 (1992) เหตุการณ์สลายการชุมนุมผู้ประท้วงขับไล่ พล.อ. สุจินดา คราประยูร กับวาทกรรมสุดคลาสสิก “เสียสัตย์เพื่อชาติ” มีคนไทยเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
• วิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตกครั้งเลวร้ายในประวัติศาสตร์ไทย “ต้มยำกุ้ง” 2540 (1997) ที่รัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท จนเกิดโดมิโนทางเศรษฐกิจสั่นสะเทือนไปทั่วเอเชีย
• อดีตผู้อำนวยการ อสมท. แสงชัย สุนทรวัฒน์ (ผู้บริหารน้ำดี) ถูกลอบสังหาร ปี 2539 (1996) เหตุจากขัดผลประโยชน์ต่อสัญญาบริหารคลื่นวิทยุสังกัด อสมท. ในภาคอีสาน
• โศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญ “รถแก๊สระเบิด” ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ ปี 2533 (1990) ไฟลุกท่วมจนกลายเป็นทะเลเพลิง มีผู้เสียชีวิต 92 คน ได้รับบาดเจ็บกว่า 100 คน จนภาพยนตร์เรื่อง “คนเห็นผี : The Eye” 2545 (2002) หยิบยกเหตุการณ์นี้เข้าไปเป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์
• โศกนาฏกรรมตึกถล่ม “โรงแรมรอยัลพลาซ่า” กลางเมืองโคราช 2536 (1993) มีผู้เสียชีวิต 137 คน บาดเจ็บกว่า 300 คน
ที่ยกตัวอย่างมานี้เรียกได้ว่าเบาะๆ แต่วัยรุ่นยุค 90’s ช่างฝัน เหมือนจะมองข้ามหมด คิดย้อนอดีตทีไร มักมองแต่เรื่องดีๆ • จริงๆ แต่ละทศวรรษ ล้วนมีทั้งเหตุสะเทือนขวัญและเหตุน่าชื่นใจไม่ต่างกัน พูดได้ยากว่ายุคไหนดีกว่ายุคไหนจริง เพราะต่างกันทั้งบริบท วัฒนธรรม เทคโนโลยี และองค์ประกอบแวดล้อมทางสังคม
อาจเพราะผมเติบโตมาในระหว่างยุคอนาล็อก (Analog) และดิจิตอล (Digital) มีโอกาสดูตั้งแต่ทีวีขาวดำจอตู้ 📺 จนถึงทีวีจอแบนบางเฉียบ 🖥 เลยรู้สึกเฉยๆ ต่อไปหากอายุยืนกว่านี้ คงได้เห็นอะไรๆ เปลี่ยนไปอีก
แต่...การได้หวนระลึกถึงความประทับใจครั้งวัยเยาว์ ถือเป็นอาหารใจอย่างหนึ่งที่แทบทุกคนถวิลหา แต่...ใช่ว่า หากได้นั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปได้จริงๆ แล้วจะเจอแต่เรื่องดีๆ อย่างในฝัน เพราะทั้งความสุขและโศกสลด ล้วนเป็นสิ่งปกติที่มีอยู่ประจำทุกยุค
แล้วคุณล่ะ! คิดเห็นอย่างไรกันบ้างครับ 😝
จิด.ตระ.ธานี: #เล่าสู่กันฟังนะครับ
#Jitdrathanee
#90s #Nostalgia

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา