30 ม.ค. เวลา 03:30 • ประวัติศาสตร์

“ปูติน” อาหารแห่งวัฒนธรรมที่ชาวควิเบกภาคภูมิใจ

เมื่อสักเดือนก่อน ได้มีโอกาสไปลิ้มลองสำรับอาหารแคนาดาแถวใกล้ ๆ ถนนสามเสน ใกล้ ๆ ถนนข้าวสาร แล้วรู้สึกว่าอร่อยดี ซึ่งที่ร้านจะมีอาหารเด็ดอยู่อย่างหนึ่งที่ร้านภูมิใจนำเสนอจนเอาชื่ออาหารดังกล่าวมาตั้งเป็นชื่อร้าน คือ “ปูติน” (Poutine) อาหารที่ได้ชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งอาหารประจำชาติแคนาดา (หรืออาหารประจำควิเบก)เลยทีเดียว ปูติน อาจจะดูเหมือนกับเฟรนช์ฟรายส์ราดซอสเกรวี่และชีสธรรมดา ๆ แต่เรื่องราวของมันนั้นก็ไม่ธรรมดาเลย
เล่ากันว่าปูตินเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงทศวรรษที่ 1950s ในรัฐควิเบก ซึ่งก็มีหลากหลายที่มาและหลากหลายร้านที่พากันเคลมเป็นเจ้าของอาหารจานนี้ ซึ่งเรื่องหนึ่งเล่ากันว่าที่มาของชื่อนั้นมาจากตอนที่ลูกค้าขอให้คนขายราดชีสลงไปในถุงเฟรนช์ฟรายส์ คนขายก็เลยบอกไปอารมณ์ประมาณว่า “มันจะโคตรเละเทะเลยนะ” ซึ่งปูตินในแคนาดาเป็นคำแสลงที่แปลว่า “เละเทะ” มันจึงเป็นการบ่งบอกถึงความเละเทะของปูตินที่ใส่นู่นใส่นี่เต็มไปหมดนี่เอง
ถึงแม้ว่าปูตินอาจจะถูกมองว่าเป็นอาหารประจำชาติแคนาดา แต่สำหรับมุมมองของชาวควิเบก (หรือเกแบ็ก) นั้น เขามองว่ามันเป็นอะไรที่ควรมีแค่ชาวควิเบกเท่านั้นที่เคลมได้ ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องแปลกเพราะมันมีอยู่ในเรื่องของความขัดแย้งระหว่างชาวควิเบกกับชาวแคนาดาที่ฝังรากลึกในประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน
เพราะชาวแคนาดาเสียดสีเย้ยหยันตีตราว่าปูตินมันก็แค่อาหารของชนกลุ่มน้อยล้าหลัง แต่อย่างไรก็ดีปูตินกลับได้รับความนิยมไปทั่วในช่วงศตวรรษที่ 21 ทำให้การเหยียดอาหารจานนี้ลดน้อยถอยลงไปบ้าง และกลายมาเป็นว่าแคนาดาเชิดชูอาหารจานนี้ไป ซึ่งสร้างความไม่พอใจในหมู่ชาวควิเบกจำนวนไม่น้อย ซึ่งมองว่ามันเป็นการที่ชาวแคนาดาฉกฉวยทางวัฒนธรรมของพวกเขาไป
ในปัจจุบันนี้ “ปูติน” ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งอาหารสำคัญที่ถูกส่งออกมาจากควิเบกในแคนาดาออกสู่สายตาชาวโลก ถึงแม้ว่าจะเป็นอาหารที่สุดแสนจะดูเหมือนธรรมดา แต่ความเป็นมา และเบื้องหลังของการต่อสู้ทางวัฒนธรรมที่ผูกติดกับอาหารจานนี้ ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลย ไหนใครเคยกินปูตินมาแล้วบ้าง มาเล่าให้เราฟังกันได้น้า~~
#จานโปรด #ควิเบก #แคนาดา #ปูติน #BBL #BangkokBank #ธนาคารกรุงเทพ
โฆษณา