2 ก.พ. เวลา 04:51

Copayment บทส่งท้าย สรุปสาระสำคัญ และ การปรับตัวรองรับ

บทความเกี่ยวกับ Copayment ตอนที่ 4 นี้เป็นบทความตอนสุดท้ายในเรื่องนี้ เนื่องจาก Copayment เป็นเรื่องใหม่ที่กำลังจะถูกนำมาใช้กับระบบประกันสุขภาพแบบสมัครใจในบ้านเรา (ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง)ในฐานะที่ทำงานเกี่ยวกับการวางแผนการเงิน และการวางแผนประกันถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกๆ ของแผนการเงิน จึงนำเรื่องนี้มาขยายความเพื่อความเข้าใจของทุกคน
ขอสรุปสาระสำคัญจากบทความ 3 ตอนก่อนหน้าเพื่อทบทวนความเข้าใจกันครับ
1. Copayment ที่กำลังจะเริ่มใช้กับประกันสุขภาพฉบับใหม่ เป็นการเพิ่มหลักเกณฑ์เงื่อนไขการใช้ Copayment ในปีต่ออายุ หากเข้าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ไม่ใช่ประกันแบบ Copayment และไม่ใช่ประกันสุขภาพแบบรับผิดส่วนแรก (Deductible) ที่มีผลตั้งแต่เริ่มต้นกรมธรรม์ในปีแรก
2. เงื่อนไข Copayment นี้ใช้กับแบบประกันสุขภาพ ไม่รวมประกันโรคร้ายแรง และสัญญาเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้อง อาทิ OPD (การรักษาแบบผู้ป่วยนอก) หรือ ค่าชดเชยรายวัน ที่เป็นสัญญาเพิ่มเติมจากประกันสุขภาพ การทำความเข้าใจเรื่องนี้อาจต้องปรึกษาตัวแทนฯ ที่ดูแลกรมธรรม์ของเราเพื่อความกระจ่างยิ่งขึ้น
3. เงื่อนไขการบังคับใช้ Copayment เป็นแบบปีต่อปี จะบังคับใช้ในปีต่ออายุกรมธรรม์ถัดไปหากเข้าเงื่อนไขที่กำหนดไว้
4. แม้เงื่อนไขจะกำหนดไว้ว่าจะต้องเกิดการเข้ารักษาตั้งแต่ 3 ครั้ง และ มีค่าเคลมส่วนที่บริษัทจ่ายตั้งแต่ 200% กรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย หรือ 400% กรณีเจ็บป่วยทั่วไป (นับแยกจากกัน และไม่นำค่าเคลมจากการผ่าตัดใหญ่ และ โรคร้ายแรงมาคำนวณ) เราอาจไม่สามารถควบคุม % ค่าเคลมได้เนื่องจากรายละเอียดของการรักษาที่แตกต่างกัน แต่เราสามารถวางแผนควบคุมจำนวนครั้งที่่เข้ารับการรักษาได้ เพื่อเลี่ยงไม่ให้ครบเงื่อนไขที่กำหนดไว้เท่าที่จะเป็นไปได้
สาระอื่นๆ แนะนำให้ย้อนกลับไปอ่านบทความ 3 ตอนก่อนหน้า หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งอื่นๆ ครับ
การนำหลักเกณฑ์เงื่อนไข Copayment มาใช้มีที่มาจากหลายสาเหตุ หลักๆ มาจากสาเหตุการรักษาที่ไม่จำเป็นทางการแพทย์ (ซึ่งกรณีนี้ผู้ถือกรมธรรม์อาจพบกับการปฎิเสธเคลมจากบริษัทประกันได้) แม้จะเกิดจากผู้ถือกรมธรรม์หรือสถานพยาบาลส่วนน้อยแต่มีผลกระทบกับบริษัทประกันฯ เนื่องจากการคำนวณเบี้ยประกันฯ จะคำนวณจากโอกาสความน่าจะเป็นจากสถิติต่างๆ เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ผู้ถือกรมธรรม์ที่ต้องชำระเบี้ยประกันมากขึ้น
Credit : Freepik.com
ที่สำคัญปัจจุบันได้กำหนดให้การปรับเบี้ยประกันเป็นแบบยกแผง ทำให้ทุกคนได้รับผลกระทบแม้จะไม่ได้เป็นผู้รับการรักษาเกินความจำเป็น การนำหลักเกณฑ์ Copayment มาใช้จึงเป็นไปเพื่อช่วยให้บริษัทประกันสามารถบริหารจัดการค่าสินไหมหรือค่าเคลมได้อย่างเหมาะสม
แม้จะเข้าใจเหตุผลความจำเป็นที่ต้องนำหลักเกณฑ์เงื่อนไข Copayment มาใช้ แต่เมื่อหลักเกณฑ์เงื่อนไข Copayment ถูกกำหนดเข้าไปในแบบประกันสุขภาพฉบับใหม่ การวางแผนประกันสุขภาพจึงอาจต้องปรับเปลี่ยนไปจากแนวทางเดิมบ้าง เพื่อให้แผนการเงินของเรายังคงรองรับสถานการณ์ตามที่เราตั้งใจไว้
ในการวางแผนการทำประกัน มีหลักการเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองที่เพียงพอ ด้วยค่าใช้จ่าย (ต้นทุน) ที่เหมาะสม ดังนี้อาจจะต้องเปรียบเทียบการทำประกันสุขภาพเพิ่มเติม หรือ การวางแผนการเงินเพื่อใช้เป็นเงินสำรองหากต้องรับผิดชอบค่ารักษาบางส่วนเอง ว่าแบบใดเหมาะสมกับเรา โดยดูจากข้อมูลประวัติครอบครัวทั้งอายุขัยเฉลี่ย พันธุกรรมที่เกี่ยวกับสุขภาพ รวมถึงคำนวณค่าใช้จ่ายด้านเบี้ยประกันที่เราต้องจ่ายเพิ่มเติม ว่าแนวทางไหนที่เหมาะสมกับเรามากกว่ากัน หรือเราควรจัดสัดส่วนสองด้านนี้ไว้รองรับอย่างไร
การเตรียมเงินจำนวนหนึ่งไว้รองรับมีข้อดีคือหากไม่ได้ถูกนำไปใช้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ก็ยังสามารถใช้เป็นเงินสำหรับด้านอื่นๆ รวมถึงด้านมรดกได้ด้วย
อย่างไรก็ตามผู้ที่ถือกรมธรรม์ประกันสุขภาพก่อน หลักเกณฑ์เงื่อนไข Copayment เริ่มใช้ ก็ยังคงเป็นไปตามเดิม ไม่ได้มีการนำหลักเกณฑ์นี้มาบังคับใช้แต่อย่างไร จึงควรรักษากรมธรรม์ประกันสุขภาพไว้ไม่ให้เกิดการสิ้นผลบังคับ จากการชำระเบี้ยเกินกำหนดที่ระบุไว้
ตัวแทนฯ ในอนาคตก็อาจจะต้องทำหน้าที่ในการช่วยบริหารจัดการการเข้ารับการรักษาพยาบาลของผู้ถือกรมธรรม์ที่ตัวเองดูแลให้ใกล้ชิดขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะจำนวนครั้งในการเข้ารับการรักษา ที่สำคัญต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมในการให้คำแนะนำการเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม ไม่ใช่เพียงช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเข้ารับการรักษาอย่างดีที่สุดอีกต่อไป
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความทั้ง 4 ตอนจะช่วยให้เกิดความเข้าใจที่มากขึ้น ไม่ต้องวิตกกังวลกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น และเห็นถึงความสำคัญในการวางแผนด้านสุขภาพและแผนเงินทุนสำรองสำหรับอนาคตไว้รองรับอย่างเหมาะสมต่อไปครับ
โฆษณา