เมื่อวาน เวลา 17:11 • ความคิดเห็น
เขาถึงบอกว่าตอนอายุยังน้อยจึงต้องลองเยอะ ๆ ครับ คนที่ชอบบ่นว่าวิชานั้นวิชานี้ไม่ได้ใช้ เขาพูดตอนที่เขาแก่แล้ว เดินเข้าประตูไปแล้ว เด็ก ๆ ยังเลือกประตูอยู่เขาก็อยากให้ลองเยอะ ๆ ครับ
อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับความถนัด คือเด็กมักจะคิดว่าทำอะไรได้ง่ายแปลว่าถนัดสิ่งนั้น...เสียใจด้วย ไม่จริงครับ!
อะไรที่มีคุณค่าไม่มีทางที่จะง่ายครับ อย่าดูถูกโลกขนาดนั้น
สิ่งที่ถูกจริตเรา ไม่จำเป็นต้องง่ายสำหรับเรานะครับ แต่ว่าเราสามารถใช้เวลาฝึกฝนกับมันได้โดยไม่รู้สึกเหนื่อยมากเกินไป คือมันเหนื่อยแหละ ถ้าจะให้เก่งก็ยากด้วย แต่มันจะเพลินไปพร้อมกันไม่รู้สึกทรมาน
เด็กผู้ชายเกือบทุกคนน่าจะเคยอยากเล่นกีต้าร์เป็น แต่มีแค่บางคนเท่านั้นที่พยายามหัดจนเล่นเป็นจริง ๆ ผมหมายถึงพยายามหัดแล้ว เล่นผิดแล้วผิดอีก กดนิ้วจนเจ็บแต่ยังรู้สึกสนุกไม่ทรมาน ผมหมายถึงอย่างนั้นแหละ
หากวิ่งหาแต่สิ่งที่ง่าย หายังไงก็ไม่เจอครับ
องค์ประกอบของสิ่งที่เหมาะกับเราคือ
  • 1.
    ​เราทำได้ดี อย่างน้อยก็ในขั้นเบื้องต้น แปลว่าเรามีเซนส์ทางนี้ แต่จะให้เก่งลึกซึ้งก็ต้องฝ่าฟันต้องฝึกต้องเรียนเรื่องยาก ๆ อยู่ดี
  • 2.
    ​เราทำแล้วรู้สึกมีความสุข เพลิดเพลินจากภายใน ข้อ 1 กับข้อ 2 บางทีก็หนุนกัน เพราะชอบจึงทำได้ดี กับ เพราะทำได้ดีจึงชอบ ทั้งสองล้วนไม่ต่างกัน
  • 3.
    ​เรารู้สึกถึงคุณค่าของสิ่งที่ทำ ข้อ 1 ข้อ 2 จะไร้ความหมายหากเราไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันมีคุณค่าครับ จะเป็นคุณค่าต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อชุมชน ต่อประเทศ ไปจนถึงคุณค่าต่อมนุษยชาติ ไม่ว่าจะรู้สึกถึงคุณค่าระดับใดล้วนใช้ได้ทั้งสิ้น
คาดว่าผู้ถามเป็นนักเรียน บางโรงเรียนมีครูแนะแนว ถ้ามีก็ลองปรึกษาครูได้นะครับ หากไม่มีในอินเตอร์เนตก็มีแบบทดสอบความถนัดอยู่ ลองดูหลาย ๆ แบบทดสอบเพื่อค่อย ๆ ดูให้แน่ใจก็ได้ครับ
การเลือกทางเดินของชีวิตไม่ควรมักง่าย แต่คำตอบที่ถูกต้องไม่ได้มีคำตอบเดียว หากตั้งใจเลือกอย่างจริงจังไม่ฉาบฉวยตามใจหรือตามกระแส ไม่ว่าจะเลือกอะไรก็ล้วนนับเป็นคำตอบที่ถูกทั้งสิ้น ไม่ควรสำนึกเสียใจในภายหลัง
ขอให้โชคดีครับ
โฆษณา