Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Pawdoc Station.
•
ติดตาม
15 มี.ค. เวลา 02:00 • สัตว์เลี้ยง
Pawdoc station EP.3 : ดูแลสัตว์เลี้ยงสูงวัยด้วยอาหารที่ใช่: ปรับอย่างไรให้สุขภาพดีไปนาน ๆ
เคยสงสัยไหมว่า… สัตว์เลี้ยงของคุณยังควรกินอาหารแบบเดิมเมื่ออายุมากขึ้นหรือไม่? หลายคนอาจคิดว่า “ตราบใดที่สัตว์เลี้ยงยังดูแข็งแรง กินอาหารได้ดี ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนอาหาร” แต่ในความเป็นจริง ความต้องการทางโภชนาการของสัตว์เลี้ยงจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อพวกเขาเข้าสู่วัยชรา
สัตว์เลี้ยงสูงวัยจะมีการเผาผลาญที่ลดลง มวลกล้ามเนื้อเริ่มเสื่อมถอย ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง และอาจมีปัญหาสุขภาพ เช่น ข้อเสื่อม โรคไต โรคหัวใจ หรือภาวะน้ำหนักเกิน ดังนั้น การปรับอาหารให้เหมาะสมจึงเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยให้สัตว์เลี้ยงมีคุณภาพชีวิตที่ดีและอายุยืนยาว AAHA Senior Pet Care Guidelines แนะนำว่า อาหารของสัตว์สูงวัยควรได้รับการปรับให้เหมาะสมกับสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไป โดยไม่ใช่แค่ลดปริมาณอาหาร แต่ต้อง เลือกสารอาหารที่ช่วยบำรุงร่างกาย และลดความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ
ในบทความนี้ เราจะพาไปดูว่า สัตว์สูงวัยต้องการสารอาหารแบบไหน อาหารที่เหมาะที่สมควรมีอะไรบ้าง และเจ้าของควรปรับอาหารอย่างไรให้สัตว์เลี้ยงกินได้อย่างมีความสุขและสุขภาพดี หากคุณต้องการให้สัตว์เลี้ยงอยู่กับคุณไปนาน ๆ มาดูกันว่าควรเลือกอาหารอย่างไรให้เหมาะกับวัยของพวกเขา!
"ทำไมต้องปรับอาหารเมื่อสัตว์เลี้ยงเข้าสู่วัยชรา ?"
เมื่อสัตว์เลี้ยงอายุมากขึ้น ระบบร่างกายของพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงไปหลายด้าน ส่งผลต่อการย่อยและการดูดซึมสารอาหาร AAHA Senior Pet Care Guidelines ระบุว่า การปรับอาหารให้เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้สัตว์เลี้ยงสูงวัยมีสุขภาพแข็งแรง และลดความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ โดยเมื่อเข้าสู่วัยชราจะเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงในระบบต่างๆดังนี้
●
ระบบเผาผลาญพลังงานลดลง : เมื่อสัตว์อายุมากขึ้น อัตราการเผาผลาญลดลง ทำให้พวกเขาใช้พลังงานน้อยลง หากยังคงกินอาหารปริมาณเท่าเดิม อาจเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ดังนั้นควรลดแคลอรีลง หรือเลือกอาหารสูตรที่มีพลังงานเหมาะสมสำหรับสัตว์สูงวัย
●
มวลกล้ามเนื้อลดลง : สัตว์สูงวัยจะสูญเสียกล้ามเนื้อได้ง่ายขึ้น ส่งผลต่อ ความแข็งแรงและการเคลื่อนไหว ดังนั้นการเพิ่มโปรตีนคุณภาพสูง เช่น โปรตีนจากปลา ไข่ และไก่ จึงเป็นทางเลือกที่ดี
●
ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง : สัตว์สูงวัยอาจมี การย่อยและดูดซึมสารอาหารลดลง ทำให้มีปัญหาท้องอืดหรือท้องผูกได้ง่าย ควรมีการเพิ่ม ใยอาหาร (Fiber) และพรีไบโอติกส์ ในอาหารเพื่อช่วยการทำงานของลำไส้
●
ระบบไตและหัวใจเริ่มเสื่อมถอย : อาหารที่มี ฟอสฟอรัสและโซเดียมสูงอาจเพิ่มภาระให้กับไตและหัวใจ การลดปริมาณฟอสฟอรัสและโซเดียมในอาหารให้เหมาะกับสัตว์ที่มีแนวโน้มเป็นโรคไตหรือหัวใจจึงสำคัญ
●
ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลง : สัตว์สูงวัยบางตัว กินน้อยลง เพราะประสาทรับกลิ่นและรสเปลี่ยนไป อาจเลือกอาหารที่มีกลิ่นหอมขึ้น อาจใช้ อาหารเปียกหรือการเติมน้ำในอาหารเม็ดเพื่อเพิ่มความน่ากิน
ต่อไป "หลักการเลือกอาหารให้เหมาะกับสัตว์สูงวัย" ควรจะทำอย่างไร
AAHA Senior Pet Care Guidelines แนะนำว่า อาหารของสัตว์สูงวัยควรได้รับการปรับให้เหมาะกับความต้องการทางโภชนาการที่เปลี่ยนแปลงไป การเลือกอาหารที่ดีไม่ใช่แค่ดูจากอายุของสัตว์ แต่ต้องพิจารณาจาก ภาวะสุขภาพ น้ำหนัก และกิจกรรมในแต่ละวัน สารอาหารสำคัญที่ควรมีในอาหารของสัตว์สูงวัยได้แก่
●
โปรตีนคุณภาพสูง ช่วยรักษามวลกล้ามเนื้อ : สัตว์สูงวัยต้องการ โปรตีนที่ย่อยง่ายและมีคุณภาพสูง เพื่อช่วยชะลอการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ ตัวอย่างโปรตีนที่ดี เช่น เนื้อปลา ไข่ขาว เป็นโปรตีนย่อยง่ายและมีกรดอะมิโนจำเป็น อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโปรตีนต่ำเกินไป เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อลีบ ***ยกเว้น***สัตว์ที่มีปัญหาไต ซึ่งต้องปรับโปรตีนให้เหมาะสม
●
ไขมันที่ดีต่อสุขภาพ ช่วยบำรุงข้อต่อและสมอง : ไขมันช่วยให้สัตว์เลี้ยงมีพลังงานและช่วยดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน ควรเพิ่ม Omega-3 (DHA, EPA) ซึ่งมีประโยชน์ต่อข้อต่อ สมอง และหัวใจ ตัวอย่างแหล่งไขมันที่ดีได้แก่ น้ำมันปลาแซลมอนอาจลดการอักเสบของข้อต่อ หรือน้ำมันมะพร้าว (MCTs) อาจช่วยชะลอภาวะสมองเสื่อมในสุนัข
●
ใยอาหาร (Fiber) และพรีไบโอติกส์ ช่วยระบบย่อยอาหาร : สัตว์สูงวัยมีแนวโน้ม ท้องผูกและระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง ใยอาหารและพรีไบโอติกส์จะช่วยปรับสมดุลของลำไส้ และควบคุมน้ำหนักได้ดี
●
วิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกาย : วิตามิน E และ C ช่วยชะลอความเสื่อมของสมองและระบบประสาท , แอล-คาร์นิทีน (L-Carnitine) มีบทบาทในการเผาผลาญไขมันและรักษามวลกล้ามเนื้อ และโคเอนไซม์ Q10 (CoQ10) จะช่วยบำรุงหัวใจ
●
การควบคุมฟอสฟอรัสและโซเดียม สำคัญสำหรับสัตว์ที่มีโรคไตและหัวใจ : หากสัตว์มีแนวโน้มเป็นโรคไต ควรลดฟอสฟอรัสเพื่อชะลอการเสื่อมของไต และหากสัตว์มีโรคหัวใจ ควรลดโซเดียมเพื่อลดภาระต่อระบบไหลเวียนโลหิต ดังนั้นสัตว์ที่มีโรคไตหรือหัวใจควรเลือกอาหารสูตรเฉพาะ
ในเมื่อเรารู้แล้วว่าสัตว์สูงอายุมีความต้องการสารอาหารอะไรแบบใด ต่อไปจะเป็นวิธีปรับอาหารให้เหมาะกับสัตว์สูงวัย
AAHA Senior Pet Care Guidelines แนะนำว่า การเปลี่ยนอาหารให้เหมาะสมกับสุขภาพของสัตว์เลี้ยงสูงวัยควรคำนึงถึงภาวะร่างกายและโรคประจำตัวของสัตว์แต่ละตัว ไม่ใช่แค่เลือกอาหารสูตรสำหรับสัตว์สูงวัยเท่านั้น
"แนวทางการปรับอาหารให้เหมาะกับสัตว์สูงวัยในแต่ละกรณี"
1. สัตว์ที่เริ่มกินน้อยลง หรือเบื่ออาหาร
ปัญหา: สัตว์สูงวัยบางตัวกินอาหารน้อยลง เพราะประสาทรับกลิ่นและรสเปลี่ยนแปลง หรือมีปัญหาสุขภาพในช่องปาก แนวทางการปรับอาหารคือ
- อุ่นอาหารให้มีกลิ่นหอมขึ้น (อุณหภูมิอุ่น ๆ ใกล้เคียงอุณหภูมิร่างกาย)
- เติมน้ำอุ่นเล็กน้อยในอาหารเม็ด
- เปลี่ยนเป็น อาหารเปียก หรืออาหารกึ่งเปียก เพื่อให้เคี้ยวง่ายขึ้น
- เลือกอาหารที่มีรสชาติเข้มข้นขึ้น เช่น สูตรปลา หรือไก่
หากสัตว์ยังเบื่ออาหาร ควรตรวจสุขภาพฟัน หรือภาวะโรคต่างๆที่อาจทำให้กินอาหารลดลง
2. สัตว์ที่มีน้ำหนักเกิน หรือเริ่มอ้วนขึ้น
ปัญหา: ระบบเผาผลาญของสัตว์สูงวัยลดลง หากกินอาหารเหมือนเดิม อาจทำให้น้ำหนักเกิน และเพิ่มความเสี่ยงโรคข้อเสื่อมและโรคหัวใจ แนวทางการปรับอาหารคือ
- เลือก อาหารสูตรแคลอรีต่ำ (Senior Light Diet)
- ลดปริมาณขนม และใช้ ขนมแคลอรีต่ำ เช่น แครอท
- ให้สัตว์ออกกำลังกายเบา ๆ ควบคู่กัน เช่น เดินช้า ๆ หรือเล่นของเล่น
***อย่าลดปริมาณอาหารโดยไม่มีการปรับสูตร เพราะอาจทำให้สัตว์ขาดสารอาหาร***
3. สัตว์ที่มีปัญหาข้อต่อเสื่อม และเริ่มเดินลำบาก
ปัญหา: โรคข้อเสื่อมเป็นปัญหาพบบ่อยในสัตว์สูงวัย ส่งผลให้สัตว์เดินลำบาก และเจ็บปวดเมื่อลุกขึ้นหรือนอนนาน ๆ แนวทางการปรับอาหารคือ
- เลือกอาหารที่มี Glucosamine และ Chondroitin
- เสริม Omega-3 (EPA, DHA) จากน้ำมันปลาแซลมอน เพื่อลดการอักเสบของข้อต่อ
- ควบคุมน้ำหนักเพื่อลดภาระต่อข้อต่อ
4. สัตว์ที่มีปัญหาไต หรือโรคไตเรื้อรัง (CKD)
ปัญหา: โรคไตเรื้อรังทำให้สัตว์ต้องควบคุมสารอาหารบางชนิด เช่น ฟอสฟอรัสและโปรตีน แนวทางการปรับอาหารคือ
- เลือก อาหารสูตร Kidney Care ที่มีโปรตีนคุณภาพสูง แต่ลดฟอสฟอรัส
- ลดโซเดียม เพื่อป้องกันภาวะความดันโลหิตสูง
- เติมน้ำเพิ่มในอาหารเพื่อกระตุ้นการขับของเสียทางไต
อย่างไรก็ตาม ไม่ควรให้อาหารสูตรโปรตีนต่ำกับสัตว์ที่ไตยังปกติ เพราะอาจทำให้เสียมวลกล้ามเนื้อ
5. สัตว์ที่มีปัญหาหัวใจ และความดันโลหิตสูง
ปัญหา: โรคหัวใจมักทำให้สัตว์มีปัญหาเกี่ยวกับระบบการไหลเวียนเลือด การควบคุมเกลือในอาหารจึงมีความสำคัญ แนวทางการปรับอาหารคือ
- เลือกอาหารที่ ลดโซเดียม (Low Sodium Diet)
- เสริม Taurine และ L-Carnitine ซึ่งช่วยบำรุงหัวใจ
- ควบคุมน้ำหนัก และลดขนมที่มีเกลือสูง เช่น ชีส หรือขนมกรุบกรอบ
6. สัตว์ที่มีปัญหาท้องผูก หรือระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง
ปัญหา: สัตว์สูงวัยมักมี ระบบขับถ่ายที่เปลี่ยนแปลง อาจเกิดท้องผูกจากการเคลื่อนไหวของลำไส้ที่ลดลง แนวทางการปรับอาหารคือ
- เพิ่ม ใยอาหาร (Fiber) และพรีไบโอติกส์
- เติมฟักทองบด หรือ Psyllium Husk ในอาหารเพื่อช่วยให้ขับถ่ายง่ายขึ้น
- กระตุ้นให้สัตว์ดื่มน้ำมากขึ้น เพื่อช่วยระบบย่อยอาหาร
หากสัตว์มีปัญหาขับถ่ายเรื้อรัง ควรปรึกษาสัตวแพทย์ เพราะอาจมีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้หรือระบบประสาท
"ข้อควรระวังในการเปลี่ยนอาหารสัตว์สูงวัย"
การเปลี่ยนอาหารสัตว์สูงวัยต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อป้องกันปัญหาทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย ท้องอืด หรืออาเจียน นอกจากนี้ สัตว์บางตัวอาจปฏิเสธอาหารใหม่หากเปลี่ยนแบบกะทันหัน แนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆมีดังนี้
1. เปลี่ยนอาหารแบบค่อยเป็นค่อยไป
ควรใช้เวลา 7-10 วันในการเปลี่ยนอาหาร โดยผสมอาหารใหม่กับอาหารเดิมตามสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ วิธีเปลี่ยนอาหารอย่างถูกต้อง ได้แก่
• วันที่ 1-2: อาหารใหม่ 25% + อาหารเดิม 75%
• วันที่ 3-4: อาหารใหม่ 50% + อาหารเดิม 50%
• วันที่ 5-6: อาหารใหม่ 75% + อาหารเดิม 25%
• วันที่ 7-10: ให้กินอาหารใหม่ 100%
หากสัตว์มีอาการท้องเสีย อาเจียน หรือเบื่ออาหาร ควรชะลอการเปลี่ยนอาหารและปรับสัดส่วนใหม่ให้มีความละเอียดมากขึ้น
2. เลือกอาหารที่เหมาะสมกับสุขภาพของสัตว์แต่ละตัว
หากสัตว์มีโรคประจำตัว เช่น ไต หัวใจ หรือข้อเสื่อม ควรเลือกอาหารสูตรเฉพาะ , หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนอาหารบ่อยเกินไป เพราะอาจทำให้ระบบย่อยอาหารเสียสมดุล และหากต้องการทำอาหารปรุงเอง ควรปรึกษาสัตวแพทย์เฉพาะทางด้านโภชนาการ เพื่อให้มั่นใจว่าสัตว์ได้รับสารอาหารครบถ้วน
3. หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจเป็นอันตรายต่อสัตว์สูงวัย
อาหารบางอย่างอาจส่งผลเสียต่อสัตว์สูงวัยมากกว่าที่คิด ได้แก่
- อาหารที่มีฟอสฟอรัสสูงเกินไป (สำหรับสัตว์ที่มีปัญหาไต) เช่น เครื่องในสัตว์ ปลาทู ควรจำกัดปริมาณ
- อาหารที่มีโซเดียมสูง (สำหรับสัตว์ที่มีปัญหาหัวใจ) เช่น อาหารปรุงรส ขนมขบเคี้ยวของคน
- อาหารที่ย่อยยาก หรือมีไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน ชีส ของทอด อาจทำให้เกิดปัญหาตับอ่อนอักเสบ
- อาหารที่อาจกระตุ้นอาการแพ้ เช่น ผลิตภัณฑ์นม หรือธัญพืชบางชนิด ในสัตว์ที่แพ้อาหาร
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะเลือกอาหารที่เหมาะสมแล้ว แต่ควรสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกได้แก่ 1. กินอาหารได้ดีขึ้น หรือเบื่ออาหาร? 2. ขับถ่ายปกติ หรือมีท้องเสีย/ท้องผูก? 3. มีอาการแพ้อาหาร เช่น ผื่นขึ้น หรือเกาตัวผิดปกติหรือไม่? หากพบปัญหา ให้ปรับสูตรอาหารใหม่ หรือปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสม
"คำถามที่เจ้าของสัตว์สูงวัยมักสงสัยเกี่ยวกับโภชนาการ"
หลายคนอาจมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาหารของสัตว์สูงวัย ว่าควรเลือกแบบไหน? ต้องเสริมอาหารหรือไม่? หรือควรให้กินบ่อยแค่ไหน?
AAHA Senior Pet Care Guidelines ให้แนวทางที่ช่วยตอบคำถามเหล่านี้เพื่อให้เจ้าของสัตว์สามารถดูแลโภชนาการของสัตว์เลี้ยงสูงวัยได้อย่างถูกต้อง
1. สัตว์เลี้ยงสูงวัยควรกินอาหารเม็ดหรืออาหารเปียกดีกว่า?
- ขึ้นอยู่กับสุขภาพของสัตว์แต่ละตัว อาหารเม็ด จะช่วยลดคราบหินปูนและเสริมสุขภาพช่องปาก แต่ควรเลือกสูตรที่เคี้ยวง่าย ส่วนอาหารเปียก จะเหมาะกับสัตว์ที่ฟันไม่แข็งแรง หรือเริ่มเบื่ออาหาร เพราะมีกลิ่นหอมและเคี้ยวง่ายกว่า แต่ทั้ง 2 รูปแบบสามารถใช้ร่วมกัน โดยให้อาหารเม็ดเป็นหลัก และเสริมอาหารเปียกบางมื้อเพื่อเพิ่มความน่ากิน นอกจากนี้หากสัตว์มีโรคไตหรือปัญหาการขับถ่าย ควรเลือกอาหารเปียกที่มีน้ำสูงขึ้นเพื่อช่วยให้ดื่มน้ำได้เพียงพอ
2. สัตว์สูงวัยต้องกินอาหารเป็นมื้อ ๆ หรือให้กินได้ทั้งวัน?
- ในสุนัขจะแนะนำให้แบ่งเป็นมื้อ ๆ แทนการวางอาหารทิ้งไว้ตลอดวัน การแบ่งมื้ออาหารช่วยให้ควบคุมปริมาณแคลอรีได้ดีขึ้น และลดความเสี่ยงของภาวะน้ำหนักเกิน
- ส่วนในแมว ที่ปกติชอบกินทีละน้อย อาจใช้ Puzzle Feeder หรือที่ให้อาหารอัตโนมัติ แทนการเทอาหารทิ้งไว้ทั้งวัน
ทั้งนี้ หากสัตว์มีโรคเบาหวาน หรือโรคทางเดินอาหาร ควรปรึกษาสัตวแพทย์เรื่องเวลาการให้อาหารที่เหมาะสม
3. จำเป็นต้องให้วิตามินหรืออาหารเสริมเพิ่มเติมไหม?
- หากสัตว์ได้รับอาหารสำเร็จรูปในสูตรที่เหมาะสมอยู่แล้ว อาจไม่จำเป็นต้องเสริมวิตามินเพิ่ม แต่ในบางกรณี อาจต้องเสริมสารอาหารเฉพาะทาง เช่น Glucosamine , Chondroitin ในสัตว์ที่มีปัญหาข้อเสื่อม , Omega-3 (DHA, EPA) ช่วยลดการอักเสบของข้อต่อและบำรุงสมอง หรือ วิตามิน B-complex และแอล-คาร์นิทีน อาจช่วยเสริมพลังงานและรักษามวลกล้ามเนื้อ ทั้งนี้ ก่อนให้วิตามินเสริม ควรปรึกษาสัตวแพทย์ เพราะวิตามินบางชนิด เช่น วิตามิน A และ D หากได้รับมากเกินไป อาจเป็นพิษได้
4. สัตว์เลี้ยงสูงวัยควรกินน้ำมากขึ้นหรือไม่?
- คำตอบคือ ควรจะได้รับน้ำเพิ่มขึ้น เพราะ สัตว์สูงวัยต้องการน้ำมากขึ้นเพื่อช่วยให้ไตทำงานได้ดี และลดความเสี่ยงของภาวะขาดน้ำ วิธีช่วยให้สัตว์ดื่มน้ำมากขึ้น ได้แก่ 1.ใช้น้ำพุสำหรับสัตว์เลี้ยง เพื่อกระตุ้นการดื่มน้ำ 2. เติมน้ำลงในอาหาร 3. ใช้อาหารเปียกเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำ ในแมวสูงวัยมักมีแนวโน้มขาดน้ำ ควรหมั่นสังเกตปริมาณการดื่มน้ำและปัสสาวะ
5. สามารถให้อาหารของคนกับสัตว์เลี้ยงสูงวัยได้ไหม?
- แนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารคน เพราะอาจมีโซเดียมสูง หรือมีสารที่เป็นพิษต่อสัตว์ อาหารที่เป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง ได้แก่ ช็อกโกแลต, หัวหอม, กระเทียม, องุ่น, ลูกเกด , อาหารที่มีไขมันสูง เช่น หนังไก่ทอด หรือชีส , อาหารที่มีเกลือสูง เช่น แฮม หรือขนมกรุบกรอบ
สุดท้ายนี้ หากในคนยังต้องมีการคุมอาหาร แน่นอนว่าในสัตว์ก็ต้องมีการคุมอาหารเช่นเดียวกัน เนื้อหาในบทความนี้มุ่งเน้นไปที่การกินอาหารของสัตว์เลี้ยงสูงวัย แต่อย่างไรก็ตามในทุกๆช่วงวัยก็จำเป็นที่จะต้องมีการกินอาหารที่ดีเช่นเดียวกัน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งปัจจุบันและอนาคต หากต้องการใช้คุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยงของเรานั้นดี มีความสุขในการใช้ชีวิต การควบคุมการกินก็คือหนึ่งในสิ่งที่สำคัญเช่นกัน ขอให้คุณและสัตว์เลี้ยงของคุณมีความสุข สุขภาพแข็งแรง สวัสดีครับ
ติดตาม Pawdoc station ได้ที่
- Blockdit :
https://www.blockdit.com/pawdocstation
- Facebook :
https://www.facebook.com/profile.php?id=61573439400610
- Instagram :
https://www.instagram.com/pawdocstation/
สัตว์เลี้ยง
ไลฟ์สไตล์
ข่าวรอบโลก
2 บันทึก
3
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Pawdoc station Episode.
2
3
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย