Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Pawdoc Station.
•
ติดตาม
22 มี.ค. เวลา 02:00 • สัตว์เลี้ยง
Pawdoc station EP.4 : ภาวะสมองเสื่อมในสัตว์เลี้ยงสูงวัย: เข้าใจอาการและวิธีรับมืออย่างถูกต้อง
เคยสังเกตหรือไม่ว่าสัตว์เลี้ยงของคุณเริ่มหลงๆลืมๆ เดินไปเดินมาอย่างไม่มีจุดหมาย หรือดูสับสนกว่าปกติบ้างหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้อาจไม่ได้หมายถึงอายุที่สูงขึ้นเพียงอบ่างเดียว แต่อาจจะเป็นสัญญาณของภาวะสมองเสื่อมก็เป็นได้ ซึ่งพบได้บ่อยในสัตว์เลี้ยงสูงวัย
AAHA Senior pet care guidelines ระบุว่า ภาวะสมองเสื่อมในสัตว์เลี้ยงนั้นมีลักษณะคล้ายกับโรคอัลไซเมอร์ในคน โดยเกิดจากการเสื่อมของสมองและระบบประสาท ทำให้สัตว์มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การตอบสนองที่ช้าลง , จำสถานที่หรือคนในบ้านไม่ได้ หรือมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ เป็นต้น
การทำความเข้าใจกับภาวะสมองเสื่อมและการดูแลที่เหมาะสมจะช่วยให้สัตว์เลี้ยงของคุณมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แม้ว่าภาวะตรงนี้จะไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ก็ตาม หากเริ่มสังเกตแล้วว่าสัตว์เลี้ยงของคุณเริ่มมีปัญหาเรื่องพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ต่อไปเราจะมาเรียนรู้เรื่องราวต่างๆและการรับมือกับภาวะสมองเสื่อมไปพร้อมๆกันเลย
"ภาวะสมองเสื่อมในสัตว์ คืออะไรและเกิดขึ้นอย่างไร"
ภาวะสมองเสื่อมในสัตว์เลี้ยง (Cognitive Dysfunction Syndrome - CDS) เป็นภาวะที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์สมองและระบบประสาท ส่งผลให้สัตว์มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป รวมถึงความสามารถในการเรียนรู้ ความจำ และการรับรู้สิ่งรอบตัวลดลง AAHA Senior Pet Care Guidelines ระบุว่า ภาวะนี้พบได้บ่อยในสุนัขและแมวอายุ 10 ปีขึ้นไป
"สาเหตุของภาวะสมองเสื่อมในสัตว์สูงวัย"
1. การเสื่อมของสมองและระบบประสาทตามอายุ : เมื่อสัตว์เลี้ยงอายุมากขึ้น เซลล์ประสาทเริ่มตายและการส่งสัญญาณในสมองทำงานช้าลง พบการสะสมของสาร β-Amyloid ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบในโรคอัลไซเมอร์ของคน อาจเกิดขึ้นในสมองของสัตว์เลี้ยงเช่นกัน
2. การไหลเวียนโลหิตในสมองลดลง : เลือดไปเลี้ยงสมองลดลง ทำให้สมองขาดออกซิเจนและสารอาหาร ที่จำเป็นต่อการทำงาน โดยในสัตว์ที่มีโรคหัวใจ มีความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมสูงขึ้น
3. ความเครียดและการกระตุ้นสมองที่ลดลง : จากการศึกษาพบว่าสัตว์ที่ขาดการกระตุ้นทางจิตใจ (Mental Stimulation) หรือขาดปฏิสัมพันธ์กับเจ้าของ มีแนวโน้มเกิดภาวะสมองเสื่อมเร็วขึ้น นอกจากนี้ ความเครียดสะสม จากการเปลี่ยนแปลงในบ้าน หรือการสูญเสียบุคคคลหรือสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน อาจทำให้อาการแย่ลงได้
4. พันธุกรรมและโรคร่วม : จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า พันธุกรรมอาจมีบทบาท โดยเฉพาะในสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น พุดเดิ้ล หรือชิวาวา และในกลุ่มสัตว์ที่มีโรคต่างๆ เช่น โรคไต โรคเบาหวาน หรือโรคเกี่ยวกับฮอร์โมน อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมได้
ถึงแม้ว่าภาวะสมองเสื่อมจะเป็นส่วนหนึ่งของความชรา แต่การดูแลที่เหมาะสมสามารถช่วยชะลอความเสื่อมของสมองและทำให้สัตว์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
"อาการของภาวะสมองเสื่อมในสัตว์สูงวัย"
สัตว์เลี้ยงที่มีภาวะสมองเสื่อมอาจแสดงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ซึ่ง AAHA Senior Pet Care Guidelines ได้จัดกลุ่มอาการหลักไว้ดังนี้
1. สับสน หรือลืมสิ่งที่เคยทำเป็นประจำ
• เดินไปมาไร้จุดหมาย หรือเดินเข้ามุมห้องแล้วหาทางออกไม่เจอ
• จ้องผนังหรือวัตถุเป็นเวลานาน จำคนในบ้านหรือคำสั่งเดิมที่เคยฝึกไม่ได้
2. การนอนหลับผิดปกติ
• ตื่นและเดินไปมาในเวลากลางคืน แต่กลับง่วงนอนในเวลากลางวัน
• เห่า หรือร้องโดยไม่มีสาเหตุในเวลากลางคืน
3. ปฏิสัมพันธ์กับเจ้าของเปลี่ยนไป
• ไม่ค่อยตอบสนองเมื่อถูกเรียกชื่อ
• ขาดความสนใจ หรือเมินเฉยในการเล่นหรือทำกิจกรรมที่เคยชอบ
4. ปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่าย
• ถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระผิดที่ แม้ว่าจะฝึกขับถ่ายมาแล้ว
• มีอาการดูเหมือนจะลืมตำแหน่งของกระบะทรายหรือที่ขับถ่าย
นี้คือกลุ่มอาการต่างๆเบื้องต้น หากสัตว์เลี้ยงของคุณมีอาการเหล่านี้ ควรเริ่มดูแลสมองของพวกเขาให้มากขึ้น และปรึกษาสัตวแพทย์หากอาการรุนแรงขึ้น
"วิธีดูแลและชะลอภาวะสมองเสื่อมในสัตว์สูงวัยเบื้องต้น"
ถึงแม้ว่าภาวะสมองเสื่อมจะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตามอายุ แต่การดูแลที่เหมาะสมสามารถช่วยชะลอความเสื่อมของสมอง และทำให้สัตว์เลี้ยงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น AAHA Senior Pet Care Guidelines แนะนำว่าการดูแลสัตว์ที่มีภาวะสมองเสื่อมควรให้ความสำคัญกับ โภชนาการ การกระตุ้นทางจิตใจ และการปรับสภาพแวดล้อม เพื่อช่วยให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น วิธีการดูแลเบี้ยงต้นมีดังนี้
1. สารอาหารเสริมที่ช่วยบำรุงสมอง ได้แก่
- กรดไขมันโอเมก้า-3 (DHA & EPA) ช่วยลดการอักเสบของสมอง และเสริมสร้างการทำงานของเซลล์ประสาท พบได้ใน น้ำมันปลา น้ำมันคริลล์ หรืออาหารสูตรบำรุงสมอง
- สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) เช่น วิตามิน E, วิตามิน C, Coenzyme Q10 ช่วยลดความเสียหายของเซลล์สมอง โดยอาหารที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น บลูเบอร์รี ฟักทอง แครอท
- MCTs (Medium Chain Triglycerides) เป็นไขมันชนิดพิเศษที่พบใน น้ำมันมะพร้าว เป็นแหล่งพลังงานทางเลือกให้กับสมอง มีงานวิจัยพบว่า MCTs สามารถช่วยชะลออาการสมองเสื่อมในสุนัขสูงวัย
นอกจากนี้ ยังมีอาหารสำเร็จรูปสูตรต่างๆที่ช่วยดูแลระบบประสาทและสมอง เช่นสูตร Neurocare (ส่วนตัวไม่ค่อยพบเห็นในไทย) และวิตามินบำรุงประสาทหรืออาหารเสริมการทำงานของระบบประสาทในรูปแบบเม็ดเจลหรือแคปซูลที่สามารถเสริมให้ทานได้ง่าย(โดยส่วนตัวจะแนะนำวิธีการนี้) สามารถเลือกได้ตามสะดวกและเหมาะสมครับ
2. กระตุ้นสมองด้วยกิจกรรมที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้สมองมีการทำงาน กระตุ้นเซลล์ประสาทต่างๆให้ทำงานได้ดีขึ้น โดยกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นสมองมีแนวทางต่างๆดังนี้
- ฝึกคำสั่งง่าย ๆ ซ้ำ ๆ เช่น "นั่ง" "คอย" "มา" เพื่อกระตุ้นการใช้ความจำ และใช้ขนมเป็นรางวัล เพื่อให้สัตว์ยังคงสนใจการฝึก
- ของเล่นพัฒนาสมอง (Puzzle Toys) เช่น ของเล่นที่ให้สัตว์ค้นหาขนมซ่อนอยู่ ช่วยให้สมองต้องคิดและลดภาวะเครียด
- เปลี่ยนเส้นทางเดินเล่น หรือจัดสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ การเปลี่ยนบรรยากาศช่วยให้สัตว์ใช้สมองสำรวจสิ่งแวดล้อม รวมถึงฝึกคิดและจดจำสิ่งใหม่ๆ แต่ก็ไม่ควรเปลี่ยนแบบกะทันหัน เพราะอาจทำให้สัตว์เครียดได้มากขึ้น
ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า สัตว์ที่ได้ฝึกสมองเป็นประจำจะมีแนวโน้มเกิดภาวะสมองเสื่อมช้ากว่าสัตว์ที่ไม่มีการฝึก เพราะฉะนั้นอย่าลืมฝึกสมองสัตว์เลี้ยงของเราอย่างสม่ำเสมอนะครับ
3. ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับสัตว์สูงวัย ได้แก่
- หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ ในบ้าน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่เร็วและเยอะเกินไป อาจจะส่งผลให้สัตว์เกิดความเครียดได้มากขึ้น หากจำเป็นต้องย้ายเฟอร์นิเจอร์ ควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป
- ติดตั้งไฟกลางคืน สัตว์ที่มีภาวะสมองเสื่อมอาจเดินไปมาช่วงกลางคืน การเพิ่มแสงไฟอ่อน ๆ จะช่วยเพิ่มทัศนวิสัย ลดความสับสนและป้องกันอุบัติเหตุได้
- ใช้กลิ่นและเสียงที่คุ้นเคย เช่น เปิดเพลงเบา ๆ หรือใช้ผ้าห่มที่มีกลิ่นเจ้าของเพื่อช่วยให้สัตว์รู้สึกปลอดภัย สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมช่วยให้สัตว์รู้สึกมั่นคงและลดอาการวิตกกังวล
4. ดูแลพฤติกรรมการนอนและลดความเครียด มีแนวทางในการจัดการดังนี้
- ปรับเวลาทำกิจกรรมให้เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน เช่น ให้อาหาร การเล่น และพาเดินเล่นเป็นเวลา จะช่วยให้สัตว์รู้สึกปลอดภัยและลดความวิตกกังวลมากขึ้น
- หากสัตว์ตื่นและเดินไปมาในเวลากลางคืน อาจใช้ CBD Oil หรือเมลาโทนิน เพื่อช่วยให้สัตว์สงบลง (ต้องปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนใช้) และอาจปรับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมเพิ่มเติม เช่น ลดเสียงรบกวน และใช้เตียงนอนที่อุ่นสบาย
การสร้างกิจวัตรประจำวันที่คงที่ช่วยลดความเครียด และทำให้สัตว์ปรับตัวกับอาการสมองเสื่อมได้ดีขึ้น หากสัตว์เลี้ยงของคุณมีอาการสมองเสื่อมที่รุนแรงขึ้น อาจจะต้องมีการใช้ยาในการรักษาภาวะอาการต่างๆ ไม่แนะนำให้หายาหรืออาหารเสริมอื่นๆมาใช้ด้วยตัวเอง (โดยเฉพาะที่ขายในอินเตอร์เน็ต) แต่ควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาและดูแลที่เหมาะสมก่อนเลือกใช้ยาทุกครั้ง
"ข้อควรระวังในการดูแลสัตว์ที่มีภาวะสมองเสื่อม"
แม้ว่าการดูแลสัตว์ที่มีภาวะสมองเสื่อมจะช่วยให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่หากดูแลผิดวิธี อาจทำให้อาการแย่ลง หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เจ้าของสัตว์ควรระมัดระวังในเรื่องต่อไปนี้
1. หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างกะทันหัน
สัตว์ที่มีภาวะสมองเสื่อม มักสับสนและหลงลืมง่าย การเปลี่ยนที่อยู่ เฟอร์นิเจอร์ หรือแม้แต่การเปลี่ยนตำแหน่งของที่นอน อาจทำให้สัตว์เครียด และอาการแย่ลง หากจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป และใช้กลิ่นหรือของเล่นที่คุ้นเคยช่วยให้สัตว์ปรับตัว การรักษาความคุ้นเคยในสภาพแวดล้อมช่วยลดความเครียด และป้องกันอุบัติเหตุจากการเดินชนสิ่งของ
2. อย่าดุหรือลงโทษสัตว์ที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป
สัตว์ที่มีภาวะสมองเสื่อมอาจขับถ่ายผิดที่ หรือไม่ตอบสนองต่อคำสั่งที่เคยฝึกมาก่อน การดุหรือการลงโทษอาจทำให้สัตว์วิตกกังวลมากขึ้น และอาการสมองเสื่อมแย่ลง ควรใช้ การให้รางวัล (Positive Reinforcement) แทนการดุ เช่น ให้ขนมเมื่อสุนัขหรือแมวทำสิ่งที่ถูกต้อง สัตว์ที่มีภาวะสมองเสื่อมต้องการความเข้าใจจากเจ้าของ การใช้ความรุนแรงจะยิ่งทำให้พวกเขาสับสนและหวาดกลัวมากขึ้น
3. ระวังภาวะซึมเศร้าและความเครียดในสัตว์สูงวัย
สัตว์ที่มีภาวะสมองเสื่อม อาจเกิดภาวะซึมเศร้า เพราะพวกเขารู้สึกสับสน หรือรู้ตัวว่าตัวเองไม่เหมือนเดิม ควรให้เวลากับสัตว์มากขึ้น เล่นและพูดคุยกับพวกเขา เพื่อให้รู้สึกปลอดภัย หากสัตว์มีพฤติกรรมแยกตัว ซึม หรือไม่สนใจสิ่งรอบตัว ต้องปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อประเมินการใช้ยาช่วยลดความเครียดในการรักษาภาวะอาการดังกล่าว การให้ความรักและปฏิสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอช่วยให้สัตว์ที่มีภาวะสมองเสื่อมรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย
4. หลีกเลี่ยงการปล่อยสัตว์ไว้ลำพังเป็นเวลานาน
สัตว์ที่มีภาวะสมองเสื่อม อาจเกิดอาการวิตกกังวลเมื่อต้องอยู่ตัวคนเดียว หากจำเป็นต้องออกไปข้างนอกนาน ๆ ควรให้ของเล่นที่ช่วยกระตุ้นสมอง หรือเปิดเสียงเพลงเบา ๆ เพื่อให้รู้สึกไม่โดดเดี่ยว ในกรณีที่สัตว์มีภาวะสมองเสื่อมรุนแรง ควรมีผู้ดูแลอยู่ด้วยเสมอ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ สัตว์ที่อยู่คนเดียวเป็นเวลานาน อาจมีอาการเครียดและอาการสมองเสื่อมแย่ลงเร็วขึ้น
5. หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสมอง
อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง หรือมีโซเดียมมากเกินไป อาจทำให้การไหลเวียนโลหิตในสมองลดลง ควรหลีกเลี่ยง ขนมที่มีน้ำตาลสูง หรืออาหารแปรรูป ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพสมองและร่างกายโดยรวม ควรเลือก อาหารที่อุดมไปด้วยโอเมก้า-3, สารต้านอนุมูลอิสระ และ MCTs ซึ่งช่วยบำรุงสมอง เพราะโภชนาการที่ดีมีผลโดยตรงต่อการทำงานของสมอง และช่วยชะลอภาวะสมองเสื่อมได้
6. ตรวจสุขภาพสมองของสัตว์เป็นระยะ
หากอาการสมองเสื่อมแย่ลง หรือสัตว์เริ่มมีปัญหาด้านพฤติกรรมรุนแรงขึ้น ควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจประเมินสมอง สัตวแพทย์อาจใช้ แบบทดสอบ เพื่อประเมินระดับความรุนแรงของอาการและวางแผนการจัดการได้ถูกวิธี การตรวจสุขภาพเป็นประจำ ช่วยให้วางแผนการดูแลที่เหมาะสม และชะลอความเสื่อมของสมองได้ดีที่สุด หากพบว่าสัตว์มีอาการซับซ้อนขึ้น เช่น ไม่รู้จักเจ้าของ หรือลืมวิธีการกินอาหาร ควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์ทันที
ทั้งหมดที่ว่ามานี้ คือความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมในสัตว์เลี้ยง แม้ว่าสัตว์เลี้ยงของเราจะอายุมากขึ้นและเริ่มมีภาวะสมองเสื่อม แต่การดูแลด้วยความเข้าใจและความรัก สามารถช่วยให้พวกเขายังคงมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขในช่วงวัยชราได้นะครับ
ฝากกดไลค์ กดแชร์ กดติดตามพวกเรา Pawdoc station ทุกช่องทาง เพื่อที่จะไม่พลาดเนื้อหาใหม่ๆของพวกเรา
ติดตาม Pawdoc station ได้ที่
- Blockdit :
https://www.blockdit.com/pawdocstation
- Facebook :
https://www.facebook.com/profile.php?id=61573439400610
- Instagram :
https://www.instagram.com/pawdocstation/
- Youtube :
http://www.youtube.com/@PawDocStation
- Tiktok :
https://www.tiktok.com/@pawdocstation
สัตว์เลี้ยง
ไลฟ์สไตล์
ข่าวรอบโลก
1 บันทึก
3
1
1
3
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย