29 มี.ค. เวลา 02:00 • สัตว์เลี้ยง

Pawdoc station EP.5 : เตรียมพร้อมสัตว์เลี้ยงรับมือภัยพิบัติ: แผนฉุกเฉินที่เจ้าของต้องรู้ !

ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟป่า หรือพายุ เป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้และอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ นอกจากการเตรียมความพร้อมสำหรับตัวเราเองแล้ว การดูแลสัตว์เลี้ยงในช่วงวิกฤตเป็นสิ่งที่สำคัญที่ไม่ควรมองข้าม การวางแผนล่วงหน้าหรือการมีความเข้าใจในเรื่องของการรับมือกับภัยพิบัติจะช่วยให้สัตว์เลี้ยงปลอดภัย ลดความตื่นตระหนก และสามารถฟื้นตัวจากสถานการณ์ฉุกเฉินได้เร็วขึ้น
บทความนี้จะนำเสนอแนวทางการเตรียมตัวสำหรับสัตว์เลี้ยงในกรณีภัยพิบัติโดยอ้างอิงจาก 2024 AAHA Community Guideline for Small Animal Practice และแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออื่นๆร่วมด้วย แบ่งเป็น 3 หัวข้อหลักๆดังนี้
" การเตรียมตัวก่อนเกิดภัยพิบัติ "
การเตรียมความพร้อมสำหรับสัตว์เลี้ยงก่อนเกิดภัยพิบัติ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่หลายๆคนมองข้าม เพราะภัยพิบัติที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะไม่ได้พบเจอบ่อยมากนัก แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีว่ามันจะไม่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของสัตว์เลี้ยงของเรา ดังนั้นการเตรียมตัวจึงสำคัญ โดยแนวทางการเตรียมความพร้อมสำหรับสัตว์เลี้ยงก่อนเกิดภัยพิบัติมีดังนี้
1. สร้างแผนฉุกเฉิน
- การกำหนดสถานที่หลบภัย : ในช่วงเวลาแห่งการเกิดภัยพิบัติอาจสร้างความเสียหายและความไม่ปลอดภัยให้แก่บ้านของเราและสัตว์เลี้ยง ดังนั้นการมองหาสถานที่หลบภัยที่อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าไปได้อาจจะเป็นสิ่งที่ต้องเตรียมตัวไว้ ยกตัวอย่างเช่น ศูนย์พักพิงสัตว์เลี้ยง หรือโรงแรมสัตว์เลี้ยงที่อยู่ห่างจากบริเวณที่เกิดภัยพิบัติ (หากสามารถไปได้) หรือ บ้านญาติหรือคนรู้จัก เป็นต้น
เมื่อเราพอจะรู้สถานที่หลบภัยแล้ว เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเราจะสามารถวางแผนในการเคลื่อนย้ายและช่วยให้สัตว์เลี้ยงของเราปลอดภัยมากขึ้น
- การวางแผนอพยพไปที่ปลอดภัย : นอกเหนือจากการกำหนดสถานที่แล้ว การวางแผนเส้นทางการอพยพก็เป็นสิ่งที่สำคัญ หากสถานที่ที่เราอยู่เป็นสถานที่คุ้นเคย หรือเป็นภูมิลำเนาของเราอยู่แล้วเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่ปัญหาสักเท่าไหร่ แต่หากเป็นสถานที่ที่เรายังไม่คุ้นเคย เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ การกำหนดเส้นทางต่างๆถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน นอกจากนี้ควรมีการวางแผนทางเลือกสำรองไว้ด้วยในกรณีที่เส้นทางหลักถูกปิดกั้นหรือการจราจรติดขัดด้วย
- การกำหนดผู้ดูแลสำรอง : ในกรณีนี้หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น และเราไม่สามารถดูแลสัตว์เลี้ยงของเราได้ การมีผู้ดูแลสำรองก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน
2. การเตรียมชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินสำหรับสัตว์เลี้ยง
เมื่อเกิดภัยพิบัติ จำเป็นต้องมีการเตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉินต่างๆในแก่สัตว์เลี้ยงของเรา ได้แก่
o อาหารและน้ำสะอาดสำหรับอย่างน้อย 3-7 วัน
o ยาประจำตัวของสัตว์และอุปกรณ์ทางการแพทย์พื้นฐาน
o ปลอกคอ ป้ายชื่อที่มีข้อมูลติดต่อ และสายจูง
o กระบะทรายและทรายแมว หรือแผ่นรองฉี่สำหรับสัตว์เลี้ยง
o เอกสารสำคัญ เช่น สมุดวัคซีน บันทึกสุขภาพสัตว์เลี้ยง
o ของเล่นหรือผ้าห่มที่สัตว์เลี้ยงคุ้นเคยเพื่อลดความเครียด
อุปกรณ์ต่างๆเหล่านี้จะช่วยให้สัตว์เลี้ยงของเราอยู่รอดได้ในช่วงขณะหนึ่ง และสามารถยืดระยะเวลาในการหาทางรอดให้กับตัวเราและตัวสัตว์ได้
3. การฝึกสัตว์เลี้ยงให้คุ้นเคยกับการเคลื่อนย้าย
ในสถานการณ์ฉุกเฉินบ่อยครั้งจำเป็นที่จะต้องมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ออกจากที่อยู่อาศัย เพราะฉะนั้นการฝึกให้สัตว์คุ้นเคยกับการเดินทางไม่ว่าจะทางรถยนต์หรือการเดินทางในกระเป๋าใส่สัตว์เลี้ยงก็จะช่วยให้ลดความเครียดในระหว่างการเคลื่อนย้ายได้ นอกจากนี้พวกเขาอาจให้ความร่วมมือที่ดีขึ้นด้วย
" วิธีดูแลสัตว์ระหว่างเกิดภัยพิบัติ "
ในระหว่างเกิดภัยพิบัติ บางเหตุการณ์อาจจะไม่ได้มีความรุนแรงสักเท่าไรและอาจจะผ่านพ้นเรื่องราวร้ายๆเหล่านี้ไปได้อย่างรวดเร็ว แต่ภัยพิบัติบางอย่าง ก็ส่งผลที่ร้ายแรงและยาวนานได้เช่นเดียวกัน ฉะนั้นการดูแลสัตว์ระหว่างเกิดภัยพิบัติจึงมีความสำคัญ โดยมีแนวทางต่างๆดังนี้
1. หาที่อยู่ที่ปลอดภัย หากต้องอาศัยอยู่ในบ้าน ให้หาพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับสัตว์ เช่น ห้องที่ไม่มีหน้าต่างเพื่อลดความเสี่ยงจากเศษกระจกหรือวัตถุต่างๆที่จะปลิวเข้ามาในบ้าน แต่ หากต้องอพยพ ให้นำสัตว์เลี้ยงไปด้วยเสมอและใช้สายจูงหรือกล่องใส่สัตว์เพื่อลดโอกาสที่สัตว์จะตื่นตกใจ ซึ่งอาจนำไปสู่การวิ่งหนีหายไปได้
2. ลดความเครียดของสัตว์เลี้ยง โดยการพยายามรักษากิจวัตรเดิม ๆให้ได้มากที่สุด เช่น เวลานอน การให้อาหารหรือการพักผ่อน และหากสัตว์มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งอาจจะเกิดจากภาวะเครียดจากตัวสัตว์ ให้ใช้การตักเตือนที่อ่อนโยน และให้สัมผัสที่อ่อนโยนเพื่อสร้างความมั่นใจให้สัตว์เลี้ยง จะช่วยลดความเครียดและไม่เพิ่มความเครียดให้แก่สัตว์ได้
3. เฝ้าระวังสัญญานของความเครียดหรือบาดเจ็บ ควรหมั่นตรวจสอบพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงอยู่เสมอ หากมีอาการซึม กลัว ไม่ยอมกินอาหาร ให้ค่อยๆหาแนวทางการจัดการเพิ่มเติม เช่น การอยู่เคียงข้างสัตว์เลี้ยง ปลอบโยนด้วยขนมหรือความอบอุ่นกับตัวสัตว์ และหากสัตว์ได้รับอาการบาดเจ็บ ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นและปรึกษาสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุด
" การดูแลสัตว์เลี้ยงหลังภัยพิบัติ "
แม้ภัยพิบัติจะผ่านไปแล้ว แต่สภาพจิตใจทั้งคนและสัตว์เลี้ยงอาจจะยังคงมีบาดแผลหรือความเครียดสะสมได้ ทำให้การดูแลหลังผ่านภัยพิบัติก็เป็นสิ่งที่สำคัญ แนวทางในการดูแลหลังผ่านภัยพิบัติไป มีดังนี้
1. ตรวจสอบสภาพแวดล้อมก่อนปล่อยสัตว์ออกจากที่หลบภัย หลังการเกิดภัยพิบัติบ่อยครั้งบ้านของเรามักจะได้รับความเสียหายอยู่เสมอ เพราฉะนั้นหลังภัยพิบัติผ่านไป ควรที่จะตรวจสอบสิ่งต่างๆดังนี้
o ตรวจดูว่ามีสิ่งของอันตราย เช่น กระจกแตก สายไฟ หรือสารเคมีรั่วไหลหรือไม่
o หากบ้านได้รับความเสียหาย ตรวจสอบให้แน่ใจว่าพื้นที่ปลอดภัยก่อนปล่อยสัตว์กลับเข้าสู่บ้าน
2. เฝ้าระวังอาการผิดปกติของสัตว์เลี้ยง สัตว์บางตัวอาจมีอาการเครียดเป็นเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์หลังภัยพิบัติ ควรสังเกตพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด หากสัตว์มีอาการผิดปกติ เช่น ไม่กินอาหาร ซึมเศร้า หรือก้าวร้าวผิดปกติ ควรพาไปพบสัตวแพทย์
3. อัปเดตข้อมูลสัตว์เลี้ยงและเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ในอนาคต ตรวจสอบป้ายชื่อสัตว์เลี้ยงและไมโครชิปให้เป็นปัจจุบัน ปรับปรุงแผนฉุกเฉินและตรวจสอบชุดอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งานเสมอ
การเตรียมพร้อมสำหรับภัยพิบัติเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้สัตว์เลี้ยงรอดชีวิตและปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนล่วงหน้า การจัดเตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉิน หรือการดูแลสัตว์ระหว่างและหลังเหตุการณ์ การตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมตัวนี้จะช่วยลดความเสี่ยงและความเครียดทั้งต่อตัวเจ้าของและสัตว์เลี้ยงเอง การเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ จะทำให้เราสามารถดูแลสัตว์เลี้ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
***** ฝากกดไลค์ กดแชร์ กดติดตามพวกเรา Pawdoc station ทุกช่องทาง เพื่อที่จะไม่พลาดเนื้อหาใหม่ๆของพวกเรา *****
***** ติดตาม Pawdoc station ได้ที่ช่องทางหลัก ดังนี้
โฆษณา