Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
•
ติดตาม
24 มี.ค. เวลา 04:00 • สุขภาพ
รักษานอนกรน ไม่ต้องใส่อุปกรณ์ด้วย...เลเซอร์ ErYAG
โดย รองศาสตราจารย์ นายเเพทย์วิชญ์ บรรณหิรัญ
American Board of Sleep Medicine, Certified International Sleep Specialist
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ปัจจุบันการใช้เลเซอร์ (Erbium-YAG laser) เริ่มเป็นที่นิยมในการนำมาใช้รักษานอนกรน และโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea) ระดับไม่รุนแรง ทีมีปัญหาเพดานอ่อน คอหอย หย่อนตัว เนื่องจากไม่มีความเจ็บปวด ไม่ต้องฉีดยา ไม่ต้องผ่าตัด มีความเสี่ยงตํ่า สามารถทำเสร็จแล้วกลับได้เลย
หลักการของเลเซอร์ คือ แสงจะทำปฏิกิริยากับนํ้าในชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิว ทำให้เกิดความร้อน มีการหดตัวของคอลลาเจน และกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนขึ้นมาใหม่ ผลดังกล่าวทำให้เนื้อเยื่อบริเวณเพดานอ่อน และผนังคอหอย มีความตึงตัวมากขึ้น
ขั้นตอนการรักษา
อาจมีการให้ยาชาฉีดพ่นก่อนทำ 5-10 นาที และทำการปิดตาผู้ป่วยเพื่อป้องกันแสงเลเซอร์ รวมถึงแพทย์ผู้รักษาจะใส่แว่นกันแสง หลังจากพร้อมจะเริ่มยิงเลเซอร์ในแต่ละครั้ง ใช้เวลาประมาณ 20 นาที และส่วนใหญ่ต้องทำอย่างน้อย 2-4 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 2-4 สัปดาห์ เนื่องจากไม่มีการตัดเนื้อเยื่อใด ๆ จึงไม่มีเลือดออก และไม่มีความเจ็บปวด แต่อาจระคายเล็กน้อย
ข้อควรพิจารณา
หลังทำผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีเสียงกรนลดลง หลับดีขึ้น สดชื่นขึ้น อย่างไรก็ตามไม่ใช่ผู้ป่วยทุกรายจะได้ผล เนื่องจากสาเหตุของการนอนกรนหรือโรคหยุดหายใจขณะหลับมีอีกหลายอย่าง เช่น เยื่อบุจมูกอักเสบเรื้อรัง ภูมิแพ้ จมูกคด ริดสีดวงจมูก นํ้าหนักตัวมากหรืออ้วน คางสั้น ลิ้นไก่ยาว ทอนซิลโต เนื้องอกในทางเดินหายใจส่วนบน กล้ามเนื้อหย่อนผิดปกติ และอื่น ๆ
คำแนะนำก่อนรักษา
ก่อนการรักษาควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับ (sleep specialist) หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น โสต ศอ นาสิกแพทย์เพื่อประเมินหาสาเหตุก่อน โดยแพทย์อาจพิจารณาแนะนำให้ทำการทดสอบการนอนหลับ (sleep test) ส่องกล้อง หรือฟิล์มเอกซเรย์ตามความเหมาะสม เมื่อผู้ป่วยทราบถึงข้อดี ข้อเสียของแต่ละวิธี และตัดสินใจร่วมกันจึงเริ่มกระบวนการรักษา
นอกจากนี้ผู้ป่วยควรทราบถึงทางเลือกในการรักษานอนกรนด้วยวิธีอื่น ๆ โดยอาจใช้การรักษาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือใช้ร่วมกัน ทั้งนี้แนวทางปัจจุบันนิยมใช้การรักษาแบบเฉพาะบุคคล (personalized therapy) โดยการเลือกพิจารณาวิธีรักษาจากลักษณะของผู้ป่วย เช่น อายุ เพศ โรคประจำตัว ดัชนีมวลกาย อาการความง่วงผิดปกติ ร่วมกับผลตรวจ sleep test ที่มาใช้ช่วยประเมิน ชนิด ลักษณะ ความรุนแรง และความเสี่ยงของโรค เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมที่สุด
si.mahidol.ac.th
SIRIRAJ ONLINE | Siriraj Hospital
ถาม-ตอบ ปัญหาสุขภาพ, อ่านบทความที่ได้รับการคัดสรรมาอย่างดีจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลศิริราช ที่ SIRIRAJ DOCTOR
อ่านเพิ่มเติม
การนอน
ศิริราช
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย